ทักษะสังคม (Social Skills) คือ กลุ่มของทักษะต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกันในสังคม ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร การพูด การฟัง การทำงานร่วมกันเป็นทีม รวมถึงความเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ เข้าใจกติกาของสังคม และรู้จักคำนึงถึงคนรอบข้าง เพราะฉะนั้นทักษะทางสังคมจึงเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในวัยเด็กที่กำลังเรียนรู้โลกกว้าง จำเป็นต้องได้รับการวางรากฐาน และฝึกฝนทักษะทางสังคมอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในด้านอื่นๆ ในอนาคตข้างหน้า
เตรียมเจ้าหนู สู่ 5 สถานการณ์
1. เล่นกับเพื่อนที่สวนสาธารณะ
การเล่นที่สวนสาธารณะครั้งแรก ที่มีเพื่อนวัยเดียวกันเพียบ เครื่องเล่นก็น่าสนุก แล้วเจ้าตัวเล็กของเราจะชอบใจไหมหนอ สำหรับการเล่นนอกบ้านกับเพื่อนใหม่ครั้งแรก คุณแม่ควรเล่นไปพร้อมกันกับลูก และสอนให้เขาได้เรียนรู้วิธีการเล่นเครื่องเล่นแต่ละชนิด จากนั้นลองปล่อยให้เขาเล่นกับเพื่อนสักครู่ แล้วสังเกตสีหน้าท่าทีของลูกว่า มีปฏิกิริยาอย่างไร ชอบหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกวัย 1-3 ปี จะเล่นกับเพื่อนได้ไม่นานนัก สักพักเขาจะแยกตัวออกมาเล่นคนเดียว คุณแม่ก็ไม่ต้องแปลกใจไปนะคะ
2. กินข้าวนอกบ้าน
ลูกคงตื่นเต้นไม่น้อยกับบรรยากาศในร้านอาหาร บางทีอาจวิ่งพล่านไป-มา หรือมุดใต้โต๊ะโน้นโผล่ใต้โต๊ะนี้จนวุ่นวายไปหมด ขอให้คุณพ่อคุณแม่อย่าอาย หรือ ถือเป็นเรื่องหน้าแตก แต่ให้อธิบายกับลูกว่า เราไม่ทำแบบนี้ต่อหน้าคนเยอะๆ หากพูดแล้วไม่ได้ผล เจ้าตัวแสบยังคงควบคุมตัวเองไม่ได้ วิ่งวุ่นอยู่อย่างนั้น ให้ขอโทษเพื่อนโต๊ะอื่นที่ลูกไปรบกวน แล้วพาลูกออกไปคุยกันข้างนอก อธิบายว่าลูกวิ่งแบบนั้นไม่ได้เพราะอะไร และย้ำกับลูกว่าเมื่อกลับเข้ามาในร้านจะไม่รบกวนผู้อื่นอีก แต่หากลูกทำแบบเดิมอีก ควรพาลูกกลับบ้าน และครั้งต่อไปก่อนออกมากินข้าวนอกบ้าน ควรมีการตกลงเงื่อนไขกันล่วงหน้าด้วย
3. ซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า
เวลาเห็นลูกคนอื่นทั้งร้องทั้งนอนดิ้นกับพื้น เพียงเพื่อแลกกับรถบังคับ หรือตุ๊กตาตัวเดียว คุณแม่รู้สึกอย่างไร แล้วถ้าลูกเราทำแบบนี้บ้างล่ะ จะปล่อยให้เขา ชักดิ้นชักงออยู่ต่อไป หรือใช้วิธีที่ดีกว่า บอกเหตุผลกับเจ้าจอมแสบว่า ที่บ้านมีหุ่นแบบนี้อยู่หลายตัวแล้ว เราตกลงกันแล้วว่าจะซื้อของตามรายการที่ลิสต์มาเท่านั้น ซึ่งลูกก็สัญญาตั้งแต่ก่อนออกจากบ้าน และชวนให้ไปดูอย่างอื่นกัน แต่ถ้าใช้แหตุและผลแล้ว ลูกยังไม่มีทีท่าอ่อนลง ให้ทำอย่างไรก็ได้(ด้วยวิธีสันติ) เพื่อพาลูกออกจากมุมของเล่นมุมนั้น แล้วหามุมให้ลูกได้สงบสติอารมณ์ อาจเป็นที่รถ หรือมุมนั่งเล่นที่คนไม่พลุกพล่าน เมื่อลูกสงบแล้วจึงค่อยทวนเงื่อนไขก่อนออกจากบ้าน แล้วพาซื้อของต่อจนเสร็จ
4. เยี่ยมญาติ
นอกจากพ่อแม่แล้ว ลูกควรได้มีโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย เริ่มจากญาติพี่น้องใกล้ตัวนี่ล่ะ ให้ลูกได้เล่นกับญาติที่เป็นเด็กด้วยกันหรือผู้ใหญ่ก็ตาม โดยก่อนที่จะพาไปเจอตัวเป็นๆ ลองเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของลูกกับญาติคนนั้น เอารูปให้ลูกดู หรือความสามารถพิเศษของญาติให้ลูกฟังก่อน เช่น คุณป้าทำของเล่น ได้หลายแบบ ลูกสาวคุณป้าก็ทำขนมอร่อย เป็นต้น แล้วอย่าลืมหาของฝากติดไม้ติดมือ ให้ลูกไปมอบแก่ญาติด้วยตัวเอง เพื่อที่เขาจะได้สัมผัสกับคำขอบคุณ และการแสดงความชื่นชมยินดีของผู้รับด้วย
5. เที่ยวที่ทำงานแม่
เมื่อเทศกาลปิดเทอมมาถึง พ่อแม่หลายครอบครัวจำเป็นต้องพาเจ้าตัวเล็กไปที่ทำงานด้วย ซึ่งเด็กบางคนอาจกลัวคนแปลกหน้าอย่างพี่เข้มเพื่อนคุณพ่อ หรือป้าเมาท์ปากแดงเพื่อนคุณแม่ แต่อย่าเพิ่งกังวลไปนะคะ แนะนำว่าพ่อแม่ลองพาเขาไปสวัสดีป้าๆ น้าๆ ในออฟฟิศ แล้วให้ผู้ใหญ่ค่อยๆ สร้างความคุ้นเคยกับลูกทีละน้อย เมื่อเห็นว่าลูกคุ้นเคยดีแล้ว ค่อยส่งลูกให้คนอื่นดูแลในช่วงเวลาสั้นๆ โดยที่คุณแม้ยังอยู่ใกล้ๆ ด้วย ถ้าลูกมีอาการกลัวคนแปลกหน้าน้อยลง และเล่นกับคนอื่นได้บ้างแล้ว ค่อยหลบให้พ้นสายตาลูกสักพัก ถ้าลูกยังร้องหาคุณแม่ค่อยลองใหม่ภายหลัง ไม่นานลูกก็จะคุ้นเคยกับเพื่อนของพ่อแม่ค่ะ
ทักษะทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องปลูกฝังให้ลูกร่วมกับทักษะด้าน อื่น และเมื่อเขามีทักษะที่ดีแล้ว ก็ถือเป็นใบเบิกทางสำคัญสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคต