อาจไม่ใช่การสร้างกฎข้อบังคับเสียทีเดียว แต่เป็นการทำข้อตกลงหรือต่อรองซึ่งกันและกัน ว่าสิ่งไหนที่ลูกสามารถทำได้ สิ่งไหนที่ทำไม่ได้ และถ้าหากลูกไม่หยุดหรือไม่ยอมเชื่อฟัง เขาก็ต้องได้รับบทลงโทษ แต่ทั้งนี้พ่อกับแม่ต้องไม่ใช้อารมณ์หรือความรุนแรงกับลูก เพราะการใช้อารมณ์ ใช้ไม้เรียว หรือแม้แต่คำพูดที่รุนแรงจะทำให้ลูกรู้สึกแย่และเห็นเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีได้ ซึ่งเขาก็อาจนำไปใช้กับผู้อื่น หรือมีการต่อต้านคุณพ่อคุณแม่เกิดขึ้น
แม้ว่าในบางครั้งที่ลูกอาจจะก้าวร้าว เกเร ดื้อ ซน แต่ถ้าเขาไม่ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของให้เสียหาย เขาก็ยังสามารถแสดงอาการเหวี่ยงวีนออกมาได้ ตราบใดที่เขาไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะธรรมชาติของลูกเป็นแบบนั้นค่ะ
ควรให้ลูกได้ช่วยเหลือตนเองบ้าง ให้เขาได้แสดงความคิดตามขอบเขตของเขา และไม่ว่าจะผิดหรือถูก ลูกมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นค่ะ เพียงแต่พ่อกับแม่ต้องคอยสอนว่าอะไรควรไม่ควร อาจจะให้คำแนะนำ หรือใช้คำถามในลักษณะที่เกิดการต่อยอดหรือเกิดความคิดในการแก้ไขปัญหา
เพราะเรื่องของความรู้สึกเราห้ามกันไม่ได้ค่ะ ยิ่งเด็ก ๆ ที่มักจะอารมณ์อ่อนไหวง่าย ในยามโกรธ เสียใจ ทุกข์ใจ พ่อแม่ต้องไม่ปิดกั้นอารมณ์ของลูกค่ะ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ลูกมีปัญหาได้ เขาจะไม่เชื่อใจตนเอง ในขณะที่เด็กบางคนอาจจะก้าวร้าวรุนแรง หรือบางคน ก็เป็นเด็กขี้วิตกกังวล ขณะเดียวกันถ้าเด็กคนไหนที่ได้รับการฝึกฝนมาบ่อย ๆ ฝึกมาแล้วจากที่บ้าน เขาก็จะสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้
เด็กวัย 3-6 ปี เป็นวัยที่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้แล้ว โดยเฉพาะช่วงอายุ 5 ปีนั้น เป็นวัยที่สามารถพูดคุยรู้เรื่อง เชื่อมโยงความคิด รู้จักยืดหยุ่น คุยกับผู้ใหญ่รู้เรื่อง และรับมือกับอะไรได้อย่างมากมาย ดังนั้น พ่อแม่จึงควรสอนลูกให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองได้ตั้งแต่ช่วงวัยนี้ เพราะเด็กจะพูดคุยได้ง่ายขึ้น ให้ความร่วมมือมาก หรือสอนง่ายขึ้นนั่นเองค่ะ