เด็กๆ จะมีความสามารถในการคิดสอดคล้องกับพัฒนาการด้านสติปัญญาที่มีเพิ่มมากขึ้นตามวัย ซึ่งความคิดของเขาจะพัฒนามาตั้งแต่ขวบปีแรกแล้ว
โดยการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวจากปฏิกิริยาอัตโนมัติ ซึ่งควบคุมไม่ได้ เช่น เวลาที่ได้ยินเสียงดัง ก็จะผวา หรือหากโดนกระตุ้นที่ลำตัวก็จะถอยขาหนี เป็นต้น ความคิดของเด็กจะพัฒนาไปตามพัฒนาการด้านร่างกายที่จะเติบโตขึ้น รวมทั้งการได้สัมผัสสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่มากขึ้น ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ซึ่งพัฒนาการทางความคิดก็จะเริ่มซับซ้อนมากขึ้นตามวัยค่ะ
วัยซนกับความคิดเชิงซับซ้อน
ความคิดของเด็กๆ ในช่วงวัยนี้จะไม่ได้ซับซ้อนเหมือนกับผู้ใหญ่ ที่สามารถคิดวิเคราะห์และวางแผนได้ แต่ความคิดเชิงซับซ้อนของเด็กจะซับซ้อนเท่ากับความสามารถทางสติปัญญาตามวัย ของเขา เช่น เมื่อลูกเข้าสู่วัย 1-2 ปี จะมีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ผ่านกิจกรรมที่ลูกได้ทำ เช่น เรียนรู้ว่าเวลาที่เตะลูกบอล ลูกบอลก็จะกลิ้งไปข้างหน้าได้ หรือการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา เช่น หากอยากขีดเขียนบนโต๊ะ แต่มีสิ่งของวางอยู่เต็มโต๊ะต้องทำอย่างไร ซึ่งการเรียนรู้ของเด็กเล็กๆ จะเป็นการเล่นคนเดียว เพราะยังไม่รู้วิธีเล่นกับคนอื่น โดยเด็กๆ จะเริ่มเล่นกับคนอื่นตอนอายุ 3 ปีขึ้นไป
การรู้จักเล่นกับคนอื่นจะทำให้พัฒนาการในด้านการคิดดีมากขึ้น เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง จะช่วยให้เด็กๆ ได้ใช้ความคิดในการแก้ปัญหา และคิดวางแผนที่จะเล่นด้วยกัน แบ่งของให้กัน และรู้จักวิธีประนีประนอมต่อกัน ซึ่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดเชิงซับซ้อนของเด็กวัยซน จะกระทำผ่านการเล่นนั่นเองค่ะ
เล่นแบบนี้เสริมความคิด
พ่อแม่เป็นคนสำคัญที่จะต้องเล่นและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก ไม่ควรปล่อยให้ลูกเล่นกับของเล่นเพียงลำพัง ซึ่งการเล่นกับลูกวัยซนแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
- เล่นในบ้าน สามารถใช้สิ่งของในบ้านมาเป็น การเรียนรู้ให้ลูกได้เสมอ โดยอาศัยทักษะการสังเกต หรือแยกสิ่งต่างๆ เช่น ให้ลูกสัมผัสสิ่งของที่มีพื้นผิวต่างๆ พร้อมกับบอกลูกว่าสิ่งนี้ทำจากอะไรบ้าง เช่น ทำมาจากผ้า พลาสติก หรือยาง พร้อมกับให้ลูกเรียนรู้เรื่องสีต่างๆ ไปพร้อมกัน เช่น โซฟาสีน้ำตาล เสื้อสีฟ้า ผ้าม่านสีเหลือง จากนั้นสามารถต่อยอดการเรียนรู้โดยให้ลูกใช้สีมาขีดเขียนหรือวาดรูป ลูกก็จะเกิดการจดจำ และต่อยอดทางความคิดได้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ควรเล่นกับลูกด้วยความสนุก ซักถามลูก เปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้ความคิดในการเล่น รวมทั้งพ่อแม่ต้องพัฒนาความคิดของตัวเอง ในการชวนลูกเล่นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
- เล่นนอกบ้าน การเล่นนอกบ้านเป็นกิจกรรมที่เด็กจะได้ใช้ร่างกายในการเคลื่อนไหว นอกจากจะช่วยให้กล้ามเนื้อต่างๆ ได้พัฒนาแล้ว ยังช่วยส่งเสริมทักษะด้านต่างๆ ที่จะทำให้เด็กได้พัฒนาความคิดเชิงซับซ้อนได้ด้วย เช่น เล่นโยนบอลลงห่วง วิ่งไล่จับ เดินรับส่งของไปมา เตะฟุตบอล เก้าอี้ดนตรี ถอดรองเท้าเหยียบย่ำบนสนามหญ้า ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ลูกได้ฝึกการประสานกันระหว่างมือและตา ฝึกการทรงตัว ได้สัมผัสสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อลูกได้เรียนรู้มากขึ้น ลูกจะนำมาใช้ในกระบวนการคิด โดยพ่อแม่อาจจะกระตุ้นให้ลูกได้สร้างสรรค์การเล่นเอง เช่น ฝึกการทรงตัวโดยเปลี่ยนจากการวิ่งเป็นกระโดด ช่วงแรกๆ พ่อแม่อาจจะแนะนำการเล่นให้ลูกได้รู้จักก่อน แต่เมื่อเขาได้เล่นมากขึ้น เขาก็จะรู้จักใช้ความคิดเชิงซับซ้อนมาพัฒนาการเล่นให้สนุกและท้าทายมากขึ้นค่ะ ถ้าลูกได้รับการฝึกให้คิดอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการตามวัย จะเป็นพื้นฐานของ “ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ” (Executive Functions : EF) ด้าน Working memory หรือความจำที่นำมาใช้งาน ต่อยอดไปสู่เรื่องการเรียนรู้ในอนาคต ลูกจะสามารถปรับตัวเข้ากับสังคม มีความมั่นใจในตัวเอง เมื่อต้องเจอกับอุปสรรคในชีวิต ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้