มีเรื่องปรึกษาค่ะ ช่วงนี้เจอปัญหาชอบหยิบของคนอื่น (เช่น ของเล่น) เอากลับมาบ้าน คุณแม่ได้ตักเตือนแล้ว ก็ยังทำอีกค่ะ เกรงว่าจะติดเป็นนิสัยค่ะ
หลักการทั่วไปคือ จูงมือเขาเอาของไปคืนทันที แล้วสอนเขาพูดคำว่าขอโทษ โดยที่เราไม่ดุด่า แค่บอกกล่าว และสอน วันไหนไม่มีเหตุการณ์อย่างที่เล่า อย่าลืมกล่าวชม ทำให้เขารู้ว่าแม่ชอบอะไร ปลื้มอะไร ชัดๆ อย่าหยุดแค่คำสั่งสอน ชมในวันที่เขามิได้ทำอะไรด้วย เขาจึงจะเข้าใจ
สมมติเอาไปคืนทันทีมิได้ เช่น ดึกเกินไปแล้ว ตอนเช้าควรรีบไปเร็วที่สุด เท่ากับส่งสัญญาณให้เขาทราบว่าเรื่องนี้สำคัญสมมติหยิบของจากร้านที่เปิด 24 ชั่วโมง ถ้าไม่ดึกจนอาจจะเป็นอันตราย ควรพาเขาออกนอกบ้านไปคืนทันที ด้วยอาการสงบ
สมมติเป็นของของเพื่อน ถ้าไม่ดึกเกินไป เราควรโทรศัพท์ไปแจ้งแก่คุณพ่อคุณแม่ของเพื่อน เพื่อบอกกล่าวและเอ่ยคำขอโทษให้ลูกเห็น จากนั้นสอนลูกพูดคำว่า “ขอโทษครับ” สั้นๆ ถ้าเขาไม่ยอมพูด ไม่ต้องสู้กัน พูดให้เขาดูก็พอ แล้วพรุ่งนี้ต้องพาไปคืนด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องให้ลูกสัญญาว่าต่อไปจะไม่ทำอีกแล้ว และไม่จำเป็นต้องบังคับลูกสัญญา
สมมติเมื่อถึงเวลาไปคืนของ เขาไม่ยอมไหว้และไม่ยอมเอ่ยคำขอโทษ ให้จับมือเขาไหว้ หรือไหว้แทน และเอ่ยคำขอโทษแทน ไม่สู้กัน เราเพียงแสดงให้ดูว่าเรื่องนี้สำคัญ เราเอาจริง และเราควรทำอย่างไร
สอนได้ว่าเราไม่อนุญาตให้เขาเอาของคนอื่นกลับบ้าน ถ้าเป็นเด็กที่เล็กมาก เขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าของที่หยิบมานั้นเปลี่ยนสถานที่ได้ กล่าวคือยางลบในกระเป๋าเพื่อนที่โรงเรียนเมื่อเช้า มิใช่ยางลบในกระเป๋าตัวเองที่บ้าน
ด้วยความที่อวกาศและเวลา (space & time) ไม่คงที่ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา สถานที่ เวลา วัตถุ ล้วนไม่นิ่งและไม่คงที่เท่าไรนัก การหยิบของชิ้นหนึ่งกลับบ้านจึงมิใช่ความหมายเดียวกับคำว่า “ขโมย” เราจึงไม่ใช้คำว่าขโมย หรือ ขี้ขโมย หรือ โตขึ้นสันดานขโมยแน่ๆ
สำหรับเด็กโต เขาอาจจะเจตนาทำจริงๆ แต่เราไม่ใช้คำนี้อยู่ดี เราทำคล้ายๆ เดิมคือพาตัวเอาไปคืน เอ่ยคำขอโทษ สอนสั้นๆ ว่าเราห้ามมิให้ทำเช่นนี้อีก แต่ไม่ลามไปถึงการกระทำรุนแรงทั้งร่างกายและวาจา เพราะเวลาเด็กโตทำ เขาทำเพราะทำได้อยู่แล้ว และเขาทำเพราะมีเหตุผล เหตุผลที่พบบ่อยคืออยากได้แต่พ่อแม่ไม่ให้ อีกเหตุผลหนึ่งคือเพื่อให้พ่อแม่สนใจ
กับเด็กโต เราควรเผชิญหน้าตรงไปตรงมา ว่าเราให้อะไรหรือไม่ให้อะไร ด้วยเหตุผลอะไร ชี้ให้เขาเห็นว่าเขาได้อะไรและมิได้อะไร ตามความเหมาะสม และถ้าเขาคิดว่าพ่อแม่ไม่ให้โดยไม่มีเหตุผล ขอให้มาบอกอีกครั้งหนึ่ง และเราจะฟัง หากถึงเวลานั้น เราต้องฟังให้มาก โดยทั่วไปหากฟังมากพอ เด็กมักจะอ่อนลง เพราะ “เขาได้รับความสนใจ” เรียบร้อยแล้ว
การหยิบของคนอื่นกลับบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยิบของจากร้านค้ากลับบ้านเป็นสัญญานเตือนว่าการสื่อสารในบ้านเราไม่ปกติแน่นอนแล้ว เราจำเป็นต้องรีบทบทวนเวลา 24 ชั่วโมงที่ใช้ร่วมกันโดยด่วน ใช้เวลาร่วมกับเขามากขึ้นโดยเร็ว และเล่นด้วยกันมากๆ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล