เคยสงสัยไหมคะว่าทำไมเด็กผู้ชายต้องใส่เสื้อผ้าสีฟ้าและเด็กผู้หญิงใส่เสื้อผ้าสีชมพู อยากรู้ว่าเพราะอะไร มาหาคำตอบพร้อมกันค่ะ
ไขปริศนาเด็กผู้ชายสีฟ้าเด็กผู้หญิงสีชมพู
เรื่องของสีกับเด็กนั้นผ่านมาหลายยุคหลายสมัยเลยค่ะแม่ๆ เริ่มแรกเป็นความนิยมของชาวตะวันตก ในอดีตนั้นเด็กๆ จะสวมชุดเสื้อผ้าสีต่างๆ หลากหลาย เด็กหญิงเด็กชายสวมใส่เสื้อผ้าทั้งสีฟ้า และสีชมพูเท่าๆ กัน
แต่เนื่องจากเด็กผู้ชายสมัยก่อนจะตัวเล็ก สีแดงเป็นสีที่สะท้อนความแข็งแรงและความกล้าหาญ แต่เนื่องจากเป็นชุดสำหรับเด็กจึงปรับลดความร้อนแรงลงมาเป็นสีชมพู ส่วนสีฟ้าเป็นสีของความอ่อนโยน นุ่มนวล จึงน่าจะเหมาะกับเด็กผู้หญิงมากกว่า
ในปี 1918 มีบทความที่ชื่อ “Pink or Blue” เขียนลงในวารสาร The Infants' Department ว่า สีชมพูเป็นสีแห่งความเด็ดเดี่ยวและแข็งแรงกว่าเหมาะสำหรับเด็กผู้ชาย ส่วนสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน ดูบอบบางและอ่อนโยน จึงควรเป็นสีของผู้หญิงมากกว่า ดังนั้นคุณจึงจะเห็นผู้หญิงใส่สีน้ำเงินและผู้ชายสวมชุดสีชมพูทำงานในโรงงาน ในบ้าน และทุกๆ ที่ในช่วงเวลานั้น
แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณปี 1953) ความนิยมเรื่องสีก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง สีชมพูกลายเป็นสีของผู้หญิงทันทีเมื่อ ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา และ มามี ไอเซนฮาวร์ (Mamie Eisenhower) สตรีหมายเลขหนึ่งในขณะนั้นก็สวมชุดสีชมพูฟูฟ่องและสวมถุงมือโอเปร่าสีชมพูในวันที่สามีรับตำแหน่งด้วย เธอบอกว่าสีชมพูช่วยขับให้ผิวและดวงตาสีฟ้าของเธอสวยสะดุดตาผู้คน
นอกจากจะสวมชุดสีชมพูในวันรับตำแหน่งของสามีแล้ว มามี ยังเคยเปิดทำเนียบสีชมพูต้อนรับนักข่าวอีกด้วย ซึ่งมามีเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากประชนเป็นอย่างมาก จากกระแสนี้เองเลยเป็นที่มาให้นักธุรกิจในยุคนั้นนำเรื่องสีฟ้าและสีชมพูมาแบ่งเพศเด็กชายเด็กหญิงอีกครั้ง
ซึ่งคราวนี้แรงกระเพื่อมมากกว่าเดิม เพราะแบรนด์ของเล่นของใช้เด็กหลายๆ แบรนด์ก็ผลิตสินค้าโดยใช้สีเป็นตัวกำหนดเพศสำหรับเด็ก เช่น บาร์บี้และซุปเปอร์ฮีโร่ต่างๆ
สำหรับเด็กเล็กอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องเพศลึกซึ้งนัก แต่ช่วง 5-10 ขวบจะเริ่มเข้าใจบทบาทเพศชายเพศหญิงมากขึ้น และถึงตอนนั้นลูกอาจจะไม่ได้สนใจสีฟ้าหรือสีชมพูแล้ว เพราะโลกนี้ยังมีสีอีกหลายสีที่เขาอาจจะชื่นชอบ และไม่ว่าลูกจะชอบสีอะไรควรเป็นสิทธิที่เขาได้เลือกเช่นกัน