การแท้งลูก (abortion) มักเกิดในช่วงตั้งครรภ์อ่อนไตรมาสแรก หรือ 12 สัปดาห์ ซึ่งมีสาเหตุได้อย่าง เช่น ความผิดปกติของทารก ฮอร์โมน ภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น
แท้งลูกเสียแล้ว! 3 เรื่องที่ต้องทำหลังเกิดภาวะแท้งลูก จำเป็นต้องขูดมดลูกไหม
สาเหตุของการแท้งลูกเกิดจากอะไร
- แท้งลูกจากความผิดปกติที่เกิดจากตัวอ่อน ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าเป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติ เพราะตัวอ่อนที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะไม่สมบูรณ์จึงทำให้เกิดการแท้ง
- แท้งลูกจากความผิดปกติที่เกิดจากแม่ จะแบ่งได้ทั้งจากความผิดปกติของมดลูก เช่น เนื้องอกมดลูก และความผิดปกติของฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ คือ ปริมาณฮอร์โมนที่สนับสนุนการตั้งครรภ์ให้ดำเนินไปได้มีปริมาณน้อย
- แท้งลูกจากเกิดจากการรับประทานยา ยาบางชนิด เช่น ยารักษาสิว โรแอคคิวแทน ทำให้ต้องมีการยุติการตั้งครรภ์
ส่วนใหญ่ภาวะเสี่ยงการแท้งจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 หรือในช่วง 1-12 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวอ่อนกำลังเจริญเติบโต หากตัวอ่อนไม่แข็งแรงหรือเกิดอาการผิดปกติ ทำให้ช่วงนี้เกิดการแท้งได้บ่อย และเมื่อแท้งลูกแล้ว คุณแม่จำเป็นต้องรู้และทำ 3 สิ่งต่อไปนี้ค่ะ
1. แท้งลูกแล้วต้องขูดมดลูกไหม
สำหรับการแท้งแล้วจำเป็นต้องขูดมดลูกไหม ขึ้นอยู่กับการแท้งค่ะ หากเป็นการแท้งครบ คือ แท้งแล้วมีถุงน้ำ รก ตัวเด็กออกมาครบหมด ปากมดลูกปิด และมีอาการปวดท้องน้อยลงเรื่อย ๆ แบบนี้ไม่จำเป็นต้องขูดมดลูก แต่หากเป็นการแท้งไม่ครบ คือ ชิ้นส่วนของรกและถุงน้ำไม่ออกมากับเลือด คุณแม่ปวดท้องและปากมดลูกปิด ต้องขูดมดลูก เพราะหากทิ้งไว้อาจจะเสียเลือดมาก และเกิดการติดเชื้อได้
2. หลังแท้งแล้วต้องดูแลร่างกายตัวเองอย่างไร
- หลังแท้งแล้วเลือดที่ออกจากช่องคลอดจะน้อยลงเรื่อย ๆ อาการปวดท้องจะบรรเทาลงมากหรือไม่ปวดเลย โดยเลือดจะหยุดภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากเลือดไม่หยุดไหลแถมยังมีชิ้นเนื้อ มีกลิ่นเหม็น ปวดท้อง มีไข้ ต้องรีบพบคุณหมอเพราะอาจจะเกิดจากการติดเชื้อได้
- อย่าเพิ่งรีบตั้งครรภ์หลังแท้ง ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ครั้งต่อไป เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูและหากมีการติดเชื้อในมดลูกควรจะรักษาให้หายก่อน
- 2 สัปดาห์หลังแท้งควรพบคุณหมอเพื่อตรวจภายใน และฟังผลการตรวจชิ้นเนื้อจากการแท้ง โดยคุณหมอจะใช้โอกาสนี้ตรวจภายใน และตรวจมะเร็งปากมดลูก ดูการติดเชื้อ ตรวจเบาหวาน ตรวจเลือด และดูสุขภาพโดยรวมด้วย
- หากตั้งครรภ์หลังแท้ง ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เช่น คุณหมอจะแนะนำให้รับประทานโฟเลตล่วงหน้าก่อนตั้งครรภ์ ตรวจร่างกายและเจาะเลือดเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ และรักษาโรคบางอย่างที่อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ให้เรียบร้อยก่อน
3. หลังแท้งแล้วควรดูแลจิตใจอย่างไร
หลังแท้งลูกแล้ว สภาพจิตใจของคุณแม่จะอยู่ในภาวะซึมเศร้า เสียใจมากค่ะ ดังนั้นนอกจากการดูแลสภาพจิตใจด้วยตัวเองแล้ว คุณพ่อ ครอบครัว และคนรอบข้างมีความสำคัญมากในการช่วยดูแลสภาพจิตใจของคุณแม่หลังแท้ง
- ไม่โทษว่าเป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คุณพ่อควรเปลี่ยนมาให้กำลังใจ เป็นคำพูดหวานๆ บอกภรรยาว่าทุกอย่างเริ่มต้นใหม่ได้ เพียงมีเราสองคน และช่วงนี้ควรอยู่ข้างๆ ไม่ไปไหนไกล เพราะคุณแม่บางคนอาจจะเครียดแล้วเกิดอาการซึมเศร้าได้
- ไปเที่ยวพักผ่อน เปลี่ยนบรรยากาศ หรือหากิจกรรมที่ชอบ เลี่ยงกิจกรรมที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเด็ก เพราะบ่อน้ำตาจะแตกได้ง่าย
- บอกญาติสนิทหรือเพื่อน เพื่อเลี่ยงคำถามถึงการท้อง และไม่ควรถามถึงสาเหตุการแท้ง ล้วนทำให้น้ำตาปริ่มเอาง่าย ๆ และเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นสร้างบรรยากาศเฮฮาจะดีกว่า
ขอบคุณข้อมูล
พญ.กันดาภา ฐานบัญชา สูติแพทย์โรงพยาบาลบี แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์