นอกเหนือจากการตั้งครรภ์ยากแล้ว ว่าที่คุณแม่วัย 35 ปีขึ้นไปยังต้องระวังความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการ ตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้
โรคเบาหวานและภาวะความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในรายที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน
ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ของมารดา ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่มารดาตรวจพบโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
การแท้งบุตร โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในช่วงสามเดือนแรกในทุกช่วงอายุมักมีความเสี่ยงต่อการแท้งอยู่บ้าง แต่เมื่ออายุมากขึ้นความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยผู้หญิงในวัย 35 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 20 ขณะที่ผู้ที่มีอายุ 40 ปี จะอยู่ที่ร้อยละ 35
ภาวะรกเกาะต่ำ หรือภาวะที่รกเกิดการฝังตัวหรือเกาะอยู่ใกล้กับบริเวณปากมดลูก หรือขวางปากมดลูก ทำให้มีเลือดออกโดยไม่มีอาการเจ็บครรภ์ หรือเกิดการเสียเลือดมากขณะคลอดซึ่งอาจแก้ไขได้โดยใช้วิธีผ่าคลอดแทนการคลอด แบบธรรมชาติ
ความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารก โดยเฉพาะดาวน์ซินโดรมซึ่งความเสี่ยงมักเพิ่มสูงขึ้นตามอายุของมารดา โดยอัตราความเสี่ยงในกลุ่มของหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุเกิน 35 ปี อยู่ที่ 1 ใน 400 ขณะที่ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี จะอยู่ที่ 1 ใน 100
การคลอดก่อนกำหนด และทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ
ทารกเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์มารดา (Stillbirth) มักเกิดขึ้นหลังจาก20 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ โดยหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุเกิน 40 ปีจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น 2 - 3 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 20 ปีเลยทีเดียว
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ และความก้าวหน้าต่างๆ ถึงแม้จะตั้งครรภ์เมื่ออายุค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าดูแลครรภ์อย่างดี ฝากครรภ์ และปฎิบัติตามที่คุณหมอแนะนำก็สามารถมีลูกน้อยที่แข็งแรง สุขภาพดีได้ไม่ยากค่ะ