พัฒนาการสมองทารกในครรภ์เก่งยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์อีกนะแม่
พัฒนาการสมองทารกในครรภ์เก่งยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์อีกนะแม่
สมองของลูกทารกในท้องแม่พัฒนาได้ไว และสามารถทำงานได้แล้วตั้งแต่ยังไม่คลอดเลยนะคะ สำหรับใครที่ท้องอยู่ลองมาเช็กกันหน่อยว่าแต่ใหญ่แค่ไหน โตยังไง และพัฒนายังไง คุณแม่ต้องรู้ และเรามีวิธีกระตุ้นพัฒนาการทางสมองลูกได้ตั้งแต่ในท้องมาแนะนำด้วย
พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์ตลอด 9 เดือน
- พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์เดือนที่ 1
หลังการปฏิสนธิประมาน 18 วัน เนื้อเยื่อสมองเริ่มปรากฏขึ้น เริ่มแรกจะเป็นเพียงแผ่นบางๆ ค่อยโค้งเข้าหากันเหมือนหลอดกาแฟ ในระยะต่อมาก็จะโป่งพองและกลายเป็นสมอง ในแต่ละส่วน
- พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์เดือนที่ 2 และ 3
เซลล์สมองเริ่มมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ประมาณ 250,000 เซลล์ทุกๆ นาที ซึ่งสามารถแบ่งแยกระหว่างสมองและไขสันหลังได้ชัดเจน และช่วงนี้เริ่มมีเส้นใยประสาทโผล่ออกมาให้เห็นแล้วค่ะ
- พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์เดือนที่ 4
ระบบสมองของลูกเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น สมองของลูกในระยะนี้จะมีขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วแขกค่ะ เส้นใยประสาทเริ่มมีมันสมองมาล้อมรอบ ซึ่งช่วงนี้ประสาทสัมผัส หู ตา ของลูกน้อยเริ่มทำงานได้แล้ว
- พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์เดือนที่ 5 และ 6
คุณแม่คงจะรู้สึกกันแล้วใช่ไหมค่ะว่าลูกกำลังดิ้นอยู่ นั่นเป็นเพราะเซลล์สมองได้เริ่มเคลื่อนย้ายตัวเองไปยังตำแหน่งของเส้นประสาทอย่างทั่วถึง ลูกเริ่มรับรู้ประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น รสชาติอาหารของคุณแม่ หรือการเริ่มได้ยินเสียงพูดคุย เพราะ ระบบประสาทของลูกนั้นมีการพัฒนาจนเริ่มที่จะสมบูรณ์แล้ว
- พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์เดือนที่ 7
สมองของลูกจะเริ่มมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนนี้ค่ะ เซลล์สมองเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับเส้นใยและจุดเชื่อมต่างๆ
- พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์เดือนที่ 8 และ 9
ตอนนี้เซลล์สมองของลูกสามารถทำงานประสานกันได้แล้วค่ะ อีกทั้งรอยหยักของสมองเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งรอยหยักของสมองนี้เองที่เป็นตัวเพิ่มฟื้นที่ให้กับสมองของลูกน้อย
สมองมีเซลล์สมองอยู่ประมาณ 1 แสนล้านเซลล์ ไม่มีการสร้างเพิ่มเติมอีก แต่เราสามารถสร้างเส้นใยประสาทได้โดยการกระตุ้นการเรียนรู้และส่งเสริมประสบการณ์ให้กับลูกได้ค่ะ
เคล็ดลับส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการทางสมองให้ลูกในท้อง
- คุณแม่ควรวางแผนตั้งครรภ์และกินกรดโฟลิกก่อนการตั้งครรภ์ล่วงหน้าประมาณ 1-3 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดกรดโฟลิก คุณแม่ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ผักโขม ควบคู่กับการกินโฟลิกชนิดเม็ด
- กินอาหารที่มีกรดโฟลิกหรือ"โฟเลต" ที่มีความสำคัญในการสังเคราะห์ DNA ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเซลล์ต่างๆ และมีบทบาทต่อการสร้างสารคาร์บอน อันเป็นกลไกการทำงานของดีเอ็นเอในการถ่ายทอดคำสั่งทางพันธุกรรมเพื่อสร้างโปรตีนชนิดต่างๆ และที่สำคัญ กรดโฟลิกมีความจำเป็นต่อการสร้างเซลล์ประสาทและเซลล์สมองของลูกอย่างมาก