HOW TO การนับลูกดิ้น สัญญาณสำคัญที่แม่ตั้งครรภ์ต้องรู้
ความสำคัญของการนับลูกดิ้น สัญญาณที่บ่งบอกให้คุณแม่ทราบว่าลูกในครรภ์ยังมีชีวิต คือ การดิ้นของลูก ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าลูกยังมีสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีในระหว่างตั้งครรภ์ ดังนั้นการนับทารกดิ้นจะช่วยในการตรวจค้นคว้า หรือแก้ไขภาวะที่อาจทำให้ทารกเสียชีวิต การที่คุณแม่รู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงนับเป็นสัญญาณอันตราย ต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไปว่าทารกในครรภ์มีสุขภาพที่ไม่ดีจริงหรือไม่
องค์ประกอบที่มีผลต่อการดิ้นของลูก
- ปริมาณน้ำคร่ำ
- อาหารที่คุณแม่ได้รับ
- ระดับน้ำตาลในเลือดของแม่
- สิ่งภายนอกที่มากระตุ้น แสง เสียง
อาการแบบไหนที่เรียกว่าลูกดิ้น
- ถีบ, เตะ
- กระทุ้ง
- หมุนตัว
- โก่งตัว
จำนวนครั้งในการดิ้นของลูก
- 20 สัปดาห์ ลูกจะดิ้นประมาณ 200 ครั้ง
- 30-32 สัปดาห์ ซึ่งจะดิ้นมากถึง 375-700 ครั้ง
- 33 สัปดาห์ขึ้นไป ลูกจะเริ่มดิ้นน้อยลง เพราะลูกตัวโตขึ้น ทำให้มีพื้นที่ดิ้นน้อยลง
3 วิธีนับลูกดิ้น (เริ่มนับลูกดิ้นเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์)
- การนับลูกดิ้นแบบ “Count to Ten” ตั้งแต่เช้า-เย็น หรือประมาณ 10-12 ชั่วโมง วิธีนับคือ ลูกดิ้นมากกว่า 10 ครั้งถือว่าปกติ
หมายเหตุ : ถ้าดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้งต่อ 2 ชั่วโมงติดกัน ถือว่าผิดปกติ ควรไปพบแพทย์
- เทคนิคการนับลูกดิ้นแบบ “Sadovsky Technique” หลังกินอาหารเสร็จ เป็นช่วงที่น้ำตาลในเลือดสูง วิธีนับคือ ลูกดิ้นไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ซึ่งการขยับตัวติดต่อกันจะถือว่าเป็นการดิ้น 1 ครั้ง เช่น “ตุ๊บ ตุ๊บ พัก” โดยเมื่อนับจำนวนการดิ้นหลังอาหาร 3 มื้อรวมกันแล้วมากกว่า 10 ครั้ง ถือว่าปกติ
หมายเหตุ : หากลูกดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมงให้นับต่ออีกทันที 1 ชั่วโมง และหากยังน้อยกว่า 3 ครั้งอีก ควรไปพบแพทย์
- การนับลูกดิ้นใน 1 ชั่วโมง เลือกเวลาไหนก็ได้ที่สะดวก (แต่ต้องเป็นเวลาเดิมทุกวัน) ใน 1 ชั่วโมงต้องนับได้ 3 ครั้งหรือมากกว่า
การดิ้นของทารกในครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกว่าลูกน้อยมีชีวิตปกติดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง อาจเป็นสัญญาณว่าลูกน้อยในครรภ์อาจกำลังตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะเมื่อใกล้ครบกำหนดคลอดถ้าลูกดิ้นน้อย หรือดิ้นห่างลงไปเรื่อยๆ หรือหยุดดิ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับลูก อาจร้ายแรงมากจนลูกเสียชีวิตได้
ที่มา:
1.หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ “การเคลื่อนไหวของลูก” (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์) หน้า 132-133.
2.หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด “ลูกดิ้นมาก ดิ้นน้อย จะทำอย่างไร” (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ) หน้า 151-153.