สธ. เพิ่มสิทธิประโยชน์ แม่ท้องอายุ 35 ขึ้นไปตรวจหาดาวน์ซินโดรมได้ฟรี
สธ. เพิ่มสิทธิประโยชน์ แม่ท้องอายุ 35 ขึ้นไปตรวจหาดาวน์ซินโดรมได้ฟรี
สำหรับผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ที่แต่งงานช้า มีลูกช้า หรือว่าที่คุณแม่ที่กลัวว่าจะมีความเสี่ยงเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้คุณแม่ที่อายุ 35 ขึ้นไป สามารถตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมได้ฟรี เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมาของประเทศไทย มีการตั้งครรภ์อยู่ 700,000 ครรภ์ต่อปี มีทารกเกิดใหม่เป็นดาวน์ซินโดรมปีละ 1 พันคน
กรมอนามัยชี้แจงว่า ในจำนวนคุณแม่ตั้งครรภ์ 7 แสนคนต่อปี พบว่ามีประมาณ 1 แสนคน มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่มีความเสี่ยงให้กำเนิดทารกดาวน์ซินโดรมมากกว่าวัยอื่น 2-4 เท่า ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่เกิดจากแม่อายุเกิน 35 ปีขึ้นไปเป็นดาวน์ซินโดรม 1 ต่อ 800 คน ส่วนเด็กที่เกิดจากแม่อายุต่ำกว่า 35 ปีลงมา เป็นดาวน์ซินโดรม 1 ต่อ 1 พันคน ซึ่งการรู้ก่อนจะช่วยให้ครอบครัววางแผนได้ หากทารกมีความผิดปกติมาก พิการซ้ำซ้อนอาจจะตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ หากทารกมีความผิดปกติไม่มาก และครอบครัวมีความพร้อมต้องการตั้งครรภ์ต่อ ก็จะมีการช่วยวางแผนการดูแลเด็กต่อไป
ความผิดปกติของทารกในครรภ์มาจากอะไรบ้าง
- พันธุกรรมแม่สู่ลูกมีคุณแม่จำนวนไม่น้อย ตั้งครรภ์โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจางหรือธาลัสซีเมีย รวมถึงโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมที่แม้ไม่แสดงอาการแต่สามารถส่งต่อความผิดปกติของยีนไปแสดงออกที่ลูกได้ ขณะที่โรคยอดฮิตอย่างโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ และคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าครรภ์ปกติ
- ยาที่มีผลต่อทารกในครรภ์ยาบางตัวมีผลต่อเด็ก เช่น ยาความดัน ยาไทรอยด์ ยารักษาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ และยากันชักบางตัวที่เป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ ในกรณีที่จำเป็นอาจต้องเปลี่ยนยาหรือปรับขนาดของยาเพื่อลดผลกระทบ
- เชื้อโรคที่มากับเด็กเล็กคุณแม่ตั้งครรภ์ภูมิต้านทานต่ำลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อที่ปนเปื้อนทางอากาศและสิ่งแวดล้อมสูง เช่น เชื้อหัดเยอรมัน Cytomegalovirus : CMV ที่มักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยเชื้อนี้เป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ อาจทำให้หูหนวก ตาบอดได้ โดยเชื้อชนิดนี้สามารถติดต่อผ่านน้ำลาย และฝุ่นละอองโดยไม่แสดงอาการ
ดังนั้นเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี คุณแม่ควรรีบมาแพทย์ในทันที เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยง และวางแผนการเลี้ยงดูได้อย่างเหมาะสมนะคะ