A : อาจเป็นได้ทั้งพัฒนาการตามวัยสำหรับเด็กบางคน หรือมากเกินพัฒนาการตามวัย ตรงนี้บอกได้ยากจากข้อมูลที่คุณแม่ให้มาครับ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อยากช่วยเหลือตัวเอง อยากให้คนนั้นทำสิ่งนั้นคนโน้นทำสิ่งโน้นให้ เมื่อไม่ถูกใจก็จะรู้สึกคับข้องใจ ที่ยังไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้ผ่านคำพูดได้ดีประกอบกับความสามารถในการควบคุมตัวเองยังทำได้ไม่ดีนัก นำมาซึ่งอาการกรี๊ดร้องอย่างที่คุณแม่สังเกตเห็นครับ
ส่วนที่มาที่ไปหรือมีอะไรส่งเสริมให้อาการรุนแรงขึ้นกว่าที่เป็นคงบอกได้ยากครับ ด้วยความที่สาเหตุของปัญหาพฤติกรรมมักเกิดจากหลากหลายปัจจัยร่วมกันทั้งในส่วนของตัวเด็กเอง สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู การถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งสาเหตุจากที่คุณแม่สงสัยมานั้น เป็นไปได้ทั้งหมดครับ แต่ถึงหาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน เรารับมือได้ด้วยหลักการเดียวกัน และวิธีใกล้เคียงกันเพียงปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้แตกต่างกันบ้างตามบริบทครับ
หลักการปลี่ยนปัญหาพฤติกรรมลูกชาย อันดับแรกเลยคุณต้องเข้าใจลูกก่อนว่า เด็กทุกคนเกิดมาเหมือนผ้าขาว เขาจะเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆผ่านการปฏิบัติของผู้คนรอบข้างนี่เอง หนึ่งในนี้เป็นบทบาทหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่เป็นคนสอนให้ลูกได้รู้ว่าควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ตามบรรทัดฐานของที่บ้านและสังคมครับ
ต่อไปคุณแม่ต้องเข้าใจการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกว่าต้องอาศัยองค์ประกอบหลากหลายด้วยกัน เช่น ต้องรู้จักลูก ต้องเข้าใจเขาว่า ลูกเรามีลักษณะอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร เพื่อจะได้ปฏิบัติต่อเขาได้อย่างเหมาะสม ต้องรู้จักตัวเองว่าตอนไหนเราควบคุมตัวเองได้ ตอนไหนควบคุมตัวเองไม่ได้สติแตกจะได้รู้ว่า ต้องเตรียมตัวรับมือกับลูกอย่างไร นอกจากนั้นต้องเท่าทันสิ่งแวดล้อมรู้ต่อไปอีกว่า แล้วคุณยาย 3 ท่านปฏิบัติกับลูกเราอย่างไร หลังจากนี้นำข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์เข้าด้วยกันครับ ต่อจากนั้นตามด้วยเข้าใจหลักง่ายๆของการปรับพฤติกรรมครับ ง่ายมากจริงๆ เพียงแต่คุณแม่ส้มนำไปประยุกต์ให้เหมาะสมนะครับ
คุณแม่ส้มมองหาพฤติกรรมที่ดีของลูก แล้วพยายามส่งเสริม ถ้าส่งเสริมได้มากพฤติกรรมดีมากมีมากขึ้นพฤติกรรมไม่ดีจะลดลงไปโดยปริยาย ตรงนี้ใช้การเสริมแรง เช่น ชมกัน ให้รางวัล อ่านหนังสือนิทาน เล่านิทาน พาไปเดินออกกำลังกาย และลูกมีพฤติกรรมอะไรที่เราไม่ต้องการ ก็ต้องบอกให้ลูกรู้อย่างเหมาะสม แต่ทุกคนในบ้านควรปฏิบัติต่อเขาอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน เพื่อให้เขารับรู้จริงๆว่า พฤติกรรมนี้ไม่มีใครต้องการ ก็เริ่มจากเบี่ยงเบนความสนใจไปจากสถานการณ์ในขณะนั้น ถ้ายังไม่สำเร็จก็เพิกเฉยเสีย หรือถ้าบริเวณนั้นไม่อันตรายก็อาจแยกตัวเองออกไปจากเขา พอเขาสงบค่อยกลับมาพูดคุยอธิบายว่า พฤติกรรมนั้นไม่ดีและคุณแม่คาดหวังอยากให้เขาปฏิบัติอย่างไร ซึ่งถ้าลูกเรียกร้องด้วยพฤติกรรมไม่เหมาะสมแล้วเขาได้อย่างที่ตัวเองต้องการ รับรองเลยว่า พฤติกรรมนั้นไม่มีทางหายครับ แต่อาจทวีความรุนแรงหรือเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้นตามวัยของเขา หากผู้ใหญ่รอบข้างทุกคนปฏิบัติได้เหมือนกันก็จะหายได้เร็ว
แต่ถ้าคุณแม่ส้มไม่สามารถทำให้ทุกคนทำตามที่เราต้องการได้ ก็ทำเท่าที่ทำได้ครับ ไม่อย่างนั้นเราอาจจะเสียผู้เลี้ยงดูลูกที่ดีไปอีก 3 คนนะครับ เราทำของเรากับคนที่เห็นด้วย ลูกจะเรียนรู้และแยกแยะออกได้ว่าเขาควรปฏิบัติต่อคนที่ตอบสนองต่อเขาแตกต่างกันอย่างไร ไม่ต้องกังวลและผู้ใหญ่ไม่ต้องทะเลาะกันเองครับ เมื่อเริ่มเปลี่ยนการตอบสนองอาการอาจรุนแรงขึ้นไม่ต้องตกใจครับ ตั้งสติให้ดี ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า การตอบสนองต่อพฤติกรรมทั้งที่ดีและไม่ดีลักษณะนี้ต้องปฏิบัติกันด้วยความสม่ำเสมอ หนักแน่น และอดทนครับ อย่าคาดหวังว่า เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมลูกได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เร็วหรือช้าขึ้นกับหลายหลายปัจจัยครับ เพียงแต่ท่องคาถาผมไว้นะครับ “หนักแน่น สม่ำเสมอ และอดทน” พฤติกรรมนี้แค่บทเรียนแรกๆของคุณแม่ส้มเองครับ กว่าลูกชายจะโตคุณแม่คงต้องฝึกบรือฝีมืออีกมากมาย สู้ๆครับ