อย่างนี้สิ...อีคิวดี
เรื่อง นี้ แพทย์หญิงสุธิรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์ประจำสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น อธิบายไว้ง่ายๆ โดยแยกลักษณะของเด็กที่มีอีคิวดีเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ
1. ดี สามารถควบคุมอารมณ์ได้เป็นอย่างดี รู้ความต้องการของตนเอง รวมทั้งเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
2.เก่ง ไม่ใช่เก่งแค่เรื่องเรียนนะคะ แต่หมายถึงความสามารถในการสร้างกำลังใจให้ตนเอง แก้ปัญหาต่างๆได้ รวมทั้งเก่งในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนนอกครอบครัวอย่างคุณป้าข้างบ้าน ได้ด้วยค่ะ
3.มีความสุข เด็กๆควรจะมีอารมณ์ขัน สดชื่น ร่าเริง เห็นคุณค่าและความสำคัญของตนเอง รู้ตัวเองว่ามีความหมายสำหรับพ่อแม่และคนใกล้ชิด ซึ่งน้องหนูวัย 2-3 ขวบ เขายังมีพัฒนาการด้านอีคิวจำกัดค่ะ อย่าเพิ่งรีบร้อนหรือยัดเยียดให้ลูกจนเกินไป เพราะต้องให้เหมาะกับวัยของลูกด้วย เพียงแต่ลองพิจารณาพฤติกรรมการแสดงออกคร่าวๆ เหล่านี้ดูค่ะ
อีคิวดี อยู่ที่...
พัฒนาการสมอง ยิ่งอายุมากขึ้น พัฒนาการของเด็กจะมากขึ้นด้วย ทำให้การเรียนรู้ทางอีคิวดีตามไปด้วย ความฉลาดและความสามารถของสมองจึงเป็นส่วนที่สำคัญ คือ ถ้าความฉลาด (ในที่นี้หมายถึง IQ นะคะ) สูง การเรียนรู้ อีคิว จะดี
พื้นฐานอารมณ์ หมั่นสังเกตลูกๆสิคะว่า แต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์หรือนิสัยอย่างไร เลี้ยงง่าย อารมณ์ดี ปรับตัวง่าย ขี้หงุดหงิด ปรับตัวยาก โดยดูรวมๆว่าค่อนไปทางไหน ซึ่งถ้าลูกมีพื้นฐานอารมณ์ที่เลี้ยงง่าย เขาก็พร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆ ปรับตัวเข้ากับคนอื่นง่าย เป็นเด็กที่ดูมีความสุข หรือที่เขาเรียกว่าอีคิวดีนั่นแหละ
การอบรมเลี้ยงดู อย่าเพิ่งหนักใจไปค่ะ ถ้าเจ้าหนูของคุณเป็นเด็กเลี้ยงยาก เพราะคุณสามารถเลี้ยงลูกให้มีอีคิวดีได้ โดยการปรับการเลี้ยงดู และเข้าใจลูกก่อนว่าเป็นเด็กนิสัยอย่างไร มีความสามารถมากน้อยแค่ไหน
สร้างอีคิว พ่อแม่ช่วยได้
พัฒนาการวัย 2-3 ขวบ เป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวและภาษา คือเริ่มเดิน วิ่ง กระโดด ไปที่ไหนๆ ตามใจต้องการ ช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น แถมยังจ้อเป็นต่อยหอยอีก และเริ่มมีหลากหลายอารมณ์ เช่น โกรธ ดีใจ เสียใจ ถ้าคุณเป็นคนชอบบังคับลูกล่ะก็ มีหวังเกิดการต่อต้าน อาละวาด ร้องตะโกนใส่ หรือเอาแต่พูดคำว่า "ไม่" ท่าเดียวแน่ๆ มาช่วยกันพัฒนาอีคิวลูกตั้งแต่ตัวเล็กๆ ด้วยวิธีง่ายๆ กันดีกว่าค่ะ
1.ฝึก พัฒนาการด้านอื่นไปพร้อมกัน จะมีอีคิวได้ ควรมีพัฒนาการที่ดี ดังนั้นจึงควรฝึกให้แกช่วยเหลือตัวเอง เช่น แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว ทานข้าว ยกของเก็บ โดยที่พ่อแม่คอยช่วยได้บ้าง และควรให้กำลังใจหรือชมบ้าง แต่อย่ามากเกินไปนะคะ
2.ฝึกเรียนรู้การแก้ปัญหา จะได้รู้จักหาทางออกให้ตัวเอง เช่น ถ้าทะเลาะกับพี่น้อง คุณควรเบี่ยงเบนความสนใจลูก แต่ถ้าออกกำลัง อาละวาด คงต้องจับแยกพักยกก่อน วิธีง่ายๆ แบบนี้ช่วยให้ลูกเรียนรู้และซึมซับไปเองค่ะ
ขอขอบคุณ แพทย์หญิง สุธีรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์ประจำสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ