เมื่อตกที่สูงเด็กมักเอาศีรษะลงก่อน เพราะในเด็กศีรษะมีน้ำหนักมาก เมื่อศีรษะเป็นส่วนนำ โอกาสเกิดการบาดเจ็บสมอง เลือดออกในสมอง และกระดูกต้นคอหักก็มีสูง เมื่อมีกระดูกต้นคอหักมักเป็นข้อต่อระดับบนๆ คือข้อต่อที่ 2-3 ส่งผลให้เกิดอัมพาตแขนขาทั้งหมด รวมทั้งไม่สามารถหายใจได้เอง
ดังนั้นเมื่อเด็กตกที่สูง หมดสติ ผู้ดูแลเด็กต้องตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ อย่ากลัว หากเด็กยังหายใจได้เอง และตกลงบนที่ที่ไม่อันตราย อย่าขยับเขยื้อนเด็ก โทร. 1669 ตาม “หน่วยกู้ชีพ” มาช่วยเหลือ เพราะการขยับเขยื้อนผิดวิธีจะทำให้กระดูกต้นคอที่หักกดลงบนไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตได้
หากไม่หมดสติแต่ตกสูงกว่า 3 เมตร (ประมาณตึก 1 ชั้น) และมีบาดเจ็บศีรษะ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกันคือให้นอนราบ โทร. 1669 ตาม “หน่วยกู้ชีพ” มาช่วยเหลือ หน่วยกู้ชีพจะเคลื่อนย้ายเด็กอย่างระมัดระวัง หากจะต้องยกก็จะยกเด็กพร้อมๆ กันทั้งศีรษะ คอ ลำตัว ไม่ให้คดงอ และจะวางบนกระดานแข็ง ใช้หมอนทรายหนุนศีรษะทั้งสองด้าน ไม่ให้ขยับไปมาระหว่างนำส่งโรงพยาบาล
ถ้าพ่อแม่ตกใจอุ้มแบบที่เราอุ้มกันเป็นประจำคือ มักเอามือหนุนคอและใต้เข่า ศีรษะเด็กมักห้อยลงบนแขน หรือถ้าแย่กว่านั้นพ่อแม่อุ้มเด็กขึ้นมากอดร้องไห้ เขย่าให้ลูกตื่นคืนสติ ยิ่งอันตรายกันเข้าไปใหญ่ ดังนั้นต้องตั้งสติให้ดี
ในกรณีที่เด็กตกต่ำกว่า 120 ซม. ตื่น ไม่หมดสติ ลุกขึ้นนั่ง ยืนได้ ร้องไห้เสียงดังดี ไม่มีบาดเจ็บศีรษะรุนแรง คุณพ่อคุณแม่สามารถพยุงพาเดินไปที่รถ พาส่งโรงพยาบาลได้เอง ถ้ามีเลือดออกอย่าลืมหาผ้าสะอาดกดไว้ด้วย หากตกที่ความสูงระหว่าง 120 ซม. ถึง 3 เมตรให้พิจารณาเป็นรายๆ ไป เพราะมีโอกาสทั้งเบาและหนัก ถ้าไม่แน่ใจนอนนิ่งไว้ก่อนและโทร.1669 ให้มารับ
ในกรณีที่มีเลือดออกในสมอง อาจไม่มีอาการแต่แรก แต่มักมีอาการภายใน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการล่าช้าก็ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ต้องให้เด็กนอนพักและสังเกตอาการ ถ้าเด็กปวดศีรษะ ซึมลง อาเจียน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเกิดเลือดออกในสมอง ให้ผู้ดูแลเด็กมารับการตรวจที่โรงพยาบาล