แม่ท้องตอนอายุ 35+ อาจมีความเสี่ยง เช่น ลูกเป็นดาวน์ซินโดรม เสี่ยงแท้ง เป็นต้น การตั้งครรภ์ตอนอายุ 35 ปี ท้องตอนอายุเยอะจึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพให้ดี
มีลูกตอนอายุ 35+ เสี่ยงจริงไหม ต้องทำอย่างไรถึงท้องอย่างปลอดภัย
ตั้งครรรภ์เมื่ออายุเกิน 35 ปี ทำได้ไหม
การตั้งครรภ์เมื่ออายุเกิน 35 ปี สามารถทำได้ โดยจำต้องตรวจสุขภาพและความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ก่อน เนื่องจากอายุที่มากขึ้นทำให้สุขภาพของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร รวมถึงสุขภาพและคุณภาพของไข่ที่อาจไม่สมบูรณ์เท่าช่วงอายุเจริญพันธุ์ (20-30 ปี) ดังนั้น หากตัดสินใจจะตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี จึงควรศึกษาภาวะเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมด้วย
ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง
- อาจมีปัญหาบุตรยาก เนื่องจากการตกไข่ลดลงหรือไข่ไม่สมบูรณ์
- ภาวะแท้งโดยไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ เพราะเข้าใจว่าประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด หรือแท้งบุตรง่ายจากสาเหตุบางอย่าง เช่น ไข่ไม่สมบูรณ์ ฮอร์โมนจากรังไข่ไม่เพียงพอต่อการตั้งครรภ์ในระยะแรก โดยพบว่าอายุ 35 ปี มีความเสี่ยงแท้งบุตรร้อยละ 12-15 และหากอายุ 40 ปี ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25
- ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือภาวะดาวน์ซินโดรมหรือทารกในครรภ์เติบโตช้า หากทารกคลอดก่อกำหนด มีน้ำหนักน้อยกว่าปกติอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หายใจเร็วเนื่องจากปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่
- คุณแม่ตั้งครรภ์เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูงหรือหากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทารกจะตัวโตมากกว่าปกติทำให้เกิดปัญหาการคลอดยากตามมา "ตรวจสุขภาพ" ลดความเสี่ยงลูกน้อยพิการแต่กำเนิด
คุณแม่ตั้งครรภ์วัย 35 ปีขึ้นไป หากพบความเสี่ยง แพทย์จะวางแผนการรักษาทันที เพราะโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมีมากกว่าการตั้งครรภ์เมื่ออายุยังน้อย โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติหรือคนในครอบครัวเสี่ยงเกิดโรค เช่น ดาวน์ซินโดรม ครรภ์เป็นพิษ หรือโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน เป็นต้น
ตั้งท้องตอนอายุ 35 ปีขึ้นไปต้องดูแล 11 เรื่องต่อไปนี้
- ทำอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจดูอายุครรภ์และติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์เกินวัย 35 ปีขึ้นไป จะมุ่งเน้นไปที่การตรวจวิเคราะห์หาสัญญาณการเกิดภาวะแทรกซ้อนและความผิดปกติของทารก
- การตรวจเลือดคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อคัดกรองดาวน์ซินโดรม หรือความผิดปกติทางโครโมโซมอื่นๆ ของทารกในครรภ์
- การเจาะน้ำคร่ำ เพื่อวินิจฉัยทารกในครรภ์ว่าเป็นดาวน์ซินโดรมหรือมีความผิดปกติทางโครโมโซมอื่นๆ หรือไม่
- รับประทานโฟลิกให้เพียงพอ เพราะกรดโฟลิกช่วยให้สมองและกระดูกสันหลังของลูกเติบโตดี พบมากในผักใบเขียว ข้าวซ้อมมือ กล้วย นม ไข่ เป็นต้น และ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้เต็มอิ่มประมาณ 8-10 ชั่วโมง/วัน
- งดเครื่องดื่มแอลกฮอล์ และการสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายแบบเบาๆ หรือปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการออกกำลังกายอย่างปลอดภัย
- เมื่อไม่สบาย ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะยาหลายชนิดสามารถส่งผ่านจากแม่ และมีผลต่อทารกในครรภ์อาจเกิดการแท้งบุตรได้
- ควบคุมน้ำหนัก เพราะหากมีน้ำหนักมากเกินไปอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือครรภ์เป็นพิษได้
- ห้ามเครียด และ หาวิธีผ่อนคลายจิตใจให้สดใสอยู่เสมอ เพราะอารมณ์ของคุณแม่มีผลต่อการตั้งครรภ์
- พบแพทย์ตรวจครรภ์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงและทราบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ขอบคุณข้อมูลจาก: นพ.วิศิษฐ์ ค้อสุวรรณดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลนนทเวช