ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์และจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จากงาน รักลูก @hospital โรงพยาบาลวิภาวดี
พัฒนาการองค์รวมมีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา (ซึ่งเป็นพัฒนาการเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา) แต่ด้วยวิทยาการที่กว้างไกลขึ้น เราเข้าใจลึกซึ้งไปถึงสมอง และในทางจิตวิทยาเราพบว่า พัฒนาการองค์รวมเพิ่มอีก 2 ด้าน คือ พัฒนาการด้านตัวตน และพัฒนาการด้าน EF (ทักษะสมองส่วนหน้า)
ทีนี้เราก็จะมองลูกใหม่ เวลาที่เขาเดินมาหาเรา ลูกไม่ได้มีแค่พัฒนาการ 4 ด้าน ลูกมีตัวตน และมีสมองของเขาเอง ความหมายของคำว่า พัฒนาการ คือการเปลี่ยนแปลง แบบมีขั้น มีระยะ ส่วนพัฒนาการทางด้านร่างกาย เช่น จากคืบไปคลาน แล้วก็นั่ง ยืน เดิน วิ่ง แต่ระยะพัฒนาการของลูกคือ คืบสักพักแล้วค่อยคลาน พอคลานได้สักพักแล้วถึงนั่ง จากนั่งสักพักก็เกาะยืน แล้วเมื่อยืนได้สักพักก็ค่อยเดิน เมื่อเดินคล่องแล้วจึงวิ่ง
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร
ส่วนใหญ่พ่อแม่ให้ความสำคัญด้านร่างกายคือ กิน นอน ส่วนพัฒนาการด้านสติปัญญา ก็เน้นไปที่เรื่องเรียน ทำการบ้าน แต่สิ่งที่เรามองข้าม คือ พัฒนาการด้านอารมณ์ และสังคม ทำให้วิธีการสอนและสื่อสารกับลูกมักทำให้ลูกเสีย Self (สูญเสียตัวตน) และไปยับยั้งพัฒนาการด้านการคิด
สำหรับพัฒนาการด้านอารมณ์เหมือนพัฒนาการด้านร่างกายคือมีขั้น มีระยะ มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน แต่การเปลี่ยนแปลงหรือมีพัฒนาการนั้นอาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ เช่น เด็กเล็กเขาจะอารมณ์เดียว คือ โกรธ เศร้า หิว ชอบ เขาสามารถจัดการและควบคุมได้และก็เปลี่ยนได้ง่ายเช่นกัน
เมื่ออายุ 3 ขวบขึ้นไป พัฒนาการด้านอารมณ์จะเริ่มเปลี่ยนแปลง สลับซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เด็กไม่รู้วิธีจัดการอารมณ์ตัวเอง จึงแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สิ่งที่พ่อแม่ต้องปรับใหม่คือ Mind Set เช่น หากลูกกำลังโกรธมาก แล้วแสดงพฤติกรรมอย่างหนึ่ง เช่น ทำลายข้าวของ ตีพ่อแม่ อย่าเพิ่งคิดไปที่จุดจบว่าลูกเราจะต้องเป็นคนแบบนั้น
เพราะถ้าเราเข้าใจว่าพฤติกรรมสอดคล้องกับอารมณ์ว่า เศร้าก็ร้องไห้ โกรธก็ทำลายข้าวของ พ่อแม่ขัดใจแล้วเถียง เหล่านี้เรียกว่าพฤติกรรมสอดคล้องกับอารมณ์แปลว่าลูกปกติ แต่สิ่งที่ลูกขาดคือ “ทักษะ” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องสอนและฝึกฝนจนเป็นนิสัย แต่หลายครั้งที่ลูกแสดงพฤติกรรมสอดคล้องกับอารมณ์ พ่อแม่กลับคิดว่าลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จึงดุลูก และสิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ลูกเสียตัวตน (Self) EF หรือสมองส่วนคิดไม่ทำงาน
ทีนี้เรามามองพัฒนาการ 4 ด้านใหม่ เข้าใจธรรมชาติของลูกว่า หากลูกแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม แสดงว่าลูกขาดทักษะเราต้องสอนและวิธีการสอนนั้น สอนอย่างไรให้มีตัวตน ไม่เสีย Self (ตัวตน)
เข้าใจ Self เข้าใจลูก เพื่อสร้างตัวตน
6 เดือนแรก พัฒนาการตัวตน ขั้นที่ 1 รู้ว่าวัตถุมีอยู่จริง (Object Constancy) วัตถุแรกที่ลูกควรรู้ว่ามีอยู่จริงคือ พ่อแม่ เมื่อลูกคลอดออกมายังไม่รู้ว่ามีตัวตน ช่วงนี้การไม่เห็นพ่อแม่อยู่ในสายตาแปลว่าไม่มีพ่อแม่ สร้างให้พ่อแม่มีอยู่จริงได้อย่างไร คือเมื่อลูกร้องไห้หิวนมพ่อแม่เดินมาให้เห็นหน้า อุ้ม สัมผัสให้นมแล้วอิ่ม เป็นแบบนี้วนไปตลอด 6 เดือน
6 เดือนต่อมา ลูกร้องไห้ หิวนม พ่อแม่ส่งเสียงมาแต่ยังไม่เดินมาให้เห็น ลูกหยุดร้องไห้ได้ เพราะมีภาพจำในหัว ว่าเดี๋ยวพ่อแม่จะมามองหน้า มาอุ้มรู้สึกปลอดภัย ภาษาจิตวิทยาเรียกว่า “ความมั่นคงทางจิตใจแรกของลูก” ตัวตนของลูกเกิดจากพ่อแม่มีอยู่จริง สามารถกำกับอารมณ์ตัวเองได้ นี่คือความมั่นคงทางจิตใจแรกของลูกมีความสำคัญมาก ช่วยให้ลูกสร้างความผูกพัน ทำให้เกิดพัฒนาการตัวตนขั้นที่ 2 และเมื่ออายุ 8 เดือน เริ่มสานสัมพันธ์และเรียนรู้ว่าคุณภาพของความผูกพันนี้เป็นแบบปลอดภัยหรือไม่
ช่วงอายุ 0-2 ขวบ เป็นขั้นสุดท้ายของพัฒนาการด้านตัวตนหมายความว่า ลูกปลีกตัว แยกตัว ออกจากพ่อแม่ ลูกเพิ่งรู้ว่าตัวเองเป็นคนละหน่วยกับพ่อแม่ตอน 2 ขวบ ทำไมลูกถึงเพิ่งรู้ว่าเป็นคนละคน เพราะพัฒนาการ 4 ด้านเริ่มพัฒนา ช่วงนี้เด็กจะเริ่มมีพัฒนาการทางภาษาด้านร่างกาย 2 ขวบ เริ่มเดิน เริ่มพูดและเริ่มรู้ว่าตัวเองแยกหน่วยออกจากพ่อแม่ บอกให้ไปทางซ้ายแต่ลูกจะไปอีกทาง นั่นคือพัฒนาการปกติ เขากำลังเห่อความสามารถเริ่มรู้ว่าอะไรที่เราพูดไปมีผลกระทบเหมือนลูกบอลที่เด้งแล้วเด้งกลับ ลูกเริ่มเกิดการเรียนรู้ รู้แล้วว่าเขามีความรู้สึกนึกคิด
3 ขวบ จะเป็นช่วงสุดท้ายที่ลูกรู้ว่าเขามีตัวตนที่แยกออกจากพ่อแม่ มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเองเป็นไปตามสัญชาตญาณ เป็นไปตามพัฒนาการ ยังไม่รู้ว่าทักษะของการควบคุมอารมณ์คืออะไร ลูกต้องการพ่อแม่สอน เพราะฉะนั้นพ่อแม่ที่มีอยู่จริง คือพ่อแม่ที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับลูกได้ อยู่ประคองได้
สำหรับพัฒนาการตัวตนสำคัญมาก มันคือความรู้สึกนึกคิด หากไม่มีใครได้ยิน ได้ฟัง ก็เริ่มที่จะไม่คิด แต่เมื่อคิดออกมาแล้วไม่ถูกได้ยินก็จะไม่กล้าคิด นานๆ ไปก็จะกลายเป็นไม่คิด
เมื่อไหร่ที่ลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม นั่นคือเรากำลังต้องการให้ลูกใช้ทั้งพัฒนาการทั้ง 3 ด้าน (พัฒนาการ 4 ด้าน Self ตัวตน และทักษะสมอง EF) อย่างสมดุล คือใช้ EF กำกับพฤติกรรมตัวเอง หากลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมวิธีการที่เราพูดกับลูกอาจทำให้ลูกเสีย Self ถ้าลูกเสีย Self ลูกจะตกลงไปอยู่ระดับ 1 เราต้องประคอง Self ลูกให้ไปใช้ EF ให้ได้ นั่นคือวิธีเชิงบวก ซึ่งพ่อแม่ต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าในวันหนึ่งพูดคำว่าอะไรกับลูกบ่อยที่สุด คำนั้นสำคัญมาก เพราะสมองเหมือนกระปุก เมื่อได้ยินคำนั้นบ่อยๆ จะทำให้ลูกมองตัวเองว่าเป็นอย่างนั้น เขามีคุณค่าไหม มีความสามารถหรือเปล่า เป็นที่รักของพ่อแม่ไหม หากคำพูดของพ่อแม่
ไม่เป็นคำสั่ง
ไม่เป็นคำตัดสิน
ไม่เป็นคำตีตรา ถือว่าเราผ่านขั้นที่หนึ่ง
อีกคำที่มักจะเกิดขึ้นกับสถานการณ์พ่อแม่บ่อยที่สุด คือ ปลอบหรือดุ ความหมายของการปลอบคือ ปลอบอารมณ์ลูก ไม่ว่าลูกจะอารมณ์ดีสุดโต่งหรือแย่สุดๆ ให้ปลอบไว้ก่อน
ปลอบ=ลูกมีตัวตน
เช่น ถ้าลูกกำลังโมโหแล้วตีเพื่อน อย่าเพิ่งดูว่าถูกหรือผิด ให้พ่อแม่อยู่กับอารมณ์ลูกก่อน ปลอบลูก เห็นอารมณ์ลูกอย่างไรพูดไปแบบนั้น เช่น แม่รู้ว่าลูกกำลังโมโห นั้นคือการเป็นพวก
ในวันหนึ่งๆ ถ้าเราปลอบลูกมากกว่าเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งต้องปลอบทุกอารมณ์ เพราะลูกอยู่ในขั้นพัฒนาการอารมณ์ จะต้องเรียนรู้และพบเจอกับอารมณ์อีกหลากหลายรูปแบบ แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ที่เราดูว่ารุนแรงจริงๆ มันถูกที่ถูกทางแล้ว ยังไม่มากจนลูกเสียอนาคต หรือยังไม่มากจนทำให้การตัดสินใจของลูกมีผลกับอนาคต เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสดีที่จะไปปลอบอารมณ์และเข้าข้างลูก