งานวิจัยมากมายฟันธงว่า นมแม่ ทำให้ลูกน้อยแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย สุขภาพดี อารมณ์ดี และควรให้ลูกกินนมแม่จนถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นยังสามารถนำมาทำเป็นเมนูนมแม่ อาหารเสริมที่ประโยชน์สูงให้ลูกได้ด้วย
มาดูเมนูที่นำนมแม่ในสต็อกมาทำอาหารเสริมตามวัย สุดอร่อยให้ลูกได้หม่ำๆ กัน
รู้จักกับนมแม่ ที่มีความแตกต่างกัน 3 ระยะ
ระยะที่ 1 นมแม่ที่คลอดวันแรกๆ มีลักษณะเข้มข้น มีสีเหลืองเรียก colostrums มีสารแคลเซียม โปแตสเซียม โปรตีน วิตามินเอ ดี อี เค และมีภูมิต้านทานสูง มีปริมาณประมาณ 100 มิลลิลิตรหลั่งออกมาหลังคลอดในวันแรกถึงวันที่สาม ซึ่งทารกแรกคลอดจำเป็นต้องได้รับนมแม่ในระยะนี้จากคุณแม่เพื่อช่วยเสริม สร้างภูมิต้านทาน
ระยะที่ 2 หลังคลอด 4-10 วัน น้ำนมอยู่ในระยะ Transitional milk เป็นนมที่มีส่วนผสมของ colostrums กับ Mature milk ยังมีสีเหลืองปนอยู่
ระยะที่ 3 หลังคลอด 10 วัน เป็นน้ำนมมีสีขาว อุดมด้วยคุณค่าอาหาร ให้พลังงาน 0.8 แคลอรี่ต่อซีซี ไขมัน 0.4 กรัมต่อซีซี มีโปรตีนเวย์ เคซีน และแลคโตส เพียงพอ และเหมาะสมกับระบบการย่อยของลูกน้อย
เมื่อลูกอายุ 6 เดือนจำเป็นต้องเสริมอาหารที่มีธาตุเหล็ก เพราะน้ำนมแม่ธาตุเหล็กไม่พอกับเด็กวัยนี้ ดังนั้นขอแนะนำคุณแม่ที่มีน้ำนมปริมาณมากให้ปั๊มน้ำนมใส่ขวดที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้วหรือใส่ถุงแช่แข็งไว้เก็บได้ 2 สัปดาห์ เมื่อจะให้ลูกกินก็นำออกจากช่องแช่แข็งล่วงหน้า แล้วนำมาเก็บไว้ในช่องแช่เย็น เมื่อจะให้ลูกกินก็นำมาแช่ในน้ำอุ่น |
ห้ามลืม!! ก่อนปรุงนมแม่
1.ห้ามร้อน ทุกครั้งที่จะนำนมแม่มาทำอาหาร ห้ามใช้ความร้อนในการปรุงนมแม่ เพราะจะทำให้คุณค่าของนมแม่สูญหายไป
2.ใส่หลังสุด ขอให้นมแม่เป็นเครื่องปรุงสุดท้าย เพราะถ้าเติมไปตั้งแต่แรกๆ ถึงนมแม่จะไม่ได้ผ่านความร้อน แต่ความร้อนในเครื่องปรุงอื่นๆ ก็จะมาทำลายสารอาหารในนมแม่ได้
3.ประโยชน์ต้องมาก่อน นมแม่อาจจะไม่ให้ความหอม หวาน มัน เหมือนนมข้น นมสดทั่วไปในท้องตลาด แต่อย่ากลัวไม่อร่อย เพราะความหวานของวัตถุดิบ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์อื่นๆ ก็จะออกมาจากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำตาลหรือนมอื่นๆ ลงไปอีก ปล่อยให้นมแม่ทำหน้าที่มอบคุณประโยชน์ไปดีที่สุด
แนะนำ เมนูนมแม่
1.ซุปน้ำนมข้าว (สำหรับลูกวัย 6-8 เดือน)
เครื่องปรุง
-ข้าวสวย 2 ช้อนโต๊ะ -แครอต 2 ช้อนโต๊ะ -ไข่แดง ½ ฟอง -น้ำนมแม่ ½ ถ้วย
วิธีทำ
1.ต้มแครอตกับน้ำ ½ ถ้วย
2.รอให้แครอตสุกจนเปื่อยแล้วใส่ไข่แดงกวนให้เข้ากัน
3.นำทั้งหมดมาครูดผ่านกระชอน
4.ผสมนมแม่คนให้เข้ากัน
TIPS ไข่แดงมีธาตุเหล็กสูงและมีสารลูทีนซึ่งบำรุงประสาทตาเมื่อผสมกับนมแม่ ซึ่งลูกน้อยมีความคุ้นเคย จะทำให้ลูกกินได้ง่ายขึ้น ถ้ากลัวลูกเบื่อแครอตอาจใช้ข้าวโอ๊ต ถั่วเขียวซีก มันฝรั่ง ผักใบเขียวหรือฟักทองหมุนเวียนเพื่อให้ได้สารอาหารหลากหลาย และเมื่อลูกคุ้นกับซุปน้ำนมข้าวแล้ว สามารถแปลงเป็นพุดดิ้งข้าวได้เลยโดยเพิ่มปริมาณข้าวเป็น 4 ช้อนแล้วเคี่ยวข้าว แครอต ไข่แดง พอเปื่อยได้ที่ จึงเติมนมแม่คนให้เข้ากัน
2.ฟักตุ๋นนม (สำหรับลูกวัย 8-10 เดือน)
เครื่องปรุง
-ฟักหั่นเต๋าเล็ก 2 ช้อนโต๊ะ -แครอตหั่นเต๋าเล็ก 1 ช้อนโต๊ะ -หมูสันในบด 1 ช้อนโต๊ะ -แอปเปิ้ลหั่นเล็ก 1 ช้อนโต๊ะ -ข้าวสวยบดหยาบด้วยช้อน 2 ช้อนโต๊ะ
-นมแม่ ½ ถ้วย
วิธีทำ
1.ต้มข้าว หมูบด แอปเปิ้ล แครอตกับน้ำ ½ ถ้วย ก่อนจะนำมาใส่โถปั่นละเอียด
2.จากนั้นเทส่วนผสมที่ปั่นแล้วลงหม้อ ใส่ฟักตุ๋น ตั้งไฟอ่อนหมั่นคนจนฟักเปื่อย
3.ปิดไฟคนส่วนผสมให้คลายร้อน จากนั้นใส่นมแม่ลงคนให้เข้ากัน
TIPS หากไม่มีโถปั่นไฟฟ้าให้ใช้กระชอนแทน โดยครูดส่วนผสมผ่านกระชอนเพื่อให้อาหารมีเนื้อสัมผัสเนียน ช่วยประหยัดเวลา สำหรับฟักไม่นำมาบดเพื่อให้หนูน้อยได้ฝึกใช้เหงือกย้ำและให้รู้จักลักษณะอาหารที่มีเนื้อหยาบบ้าง เวลาต้มขอให้สังเกตว่าฟักเปื่อยจริง นมแม่ใส่ทีหลังเพื่อสงวนคุณค่าโปรตีน ไม่ให้ถูกทำลายด้วยอุณหภูมิสูง
ที่ปรึกษาทางโภชนาการ : กิ่งกมล กิติภูมิวงศ์ นักโภชนการ โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์อินเตอร์เนชั่นแนล