เรารู้จัก “แคลเซียม” กันมานานในแง่ของการช่วยให้กระดูกแข็งแรง พ่อแม่หลายคนที่อยากให้ลูกสูง จึงพยายามหาอาหารเสริมที่เป็นแคลเซียมให้ทาน แล้วแคลเซียมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของวัยคิดส์ที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร “ความสูงสัมพันธ์กับแคลเซียมอย่างไร” เรามีคำตอบมาฝาก
ความสูงหลากปัจจัย
แคลเซียมเป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูก แต่การที่ร่างกายจะเติบโตได้ดีหรือไม่นั้นขึ้นกับปัจจัยอื่นอีกหลายอย่าง หากมองในเรื่องของความสูง เกิดจากการเจริญเติบโตด้านความยาวของกระดูกค่ะ ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกคือ กรรมพันธุ์ จึงเห็นว่าคนยุโรปหรืออเมริกันมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าคนเอเชีย หรือเด็กที่พ่อแม่ตัวสูงมักจะสูงกว่าเด็กที่พ่อแม่ตัวเตี้ย
นอกจากกรรมพันธุ์แล้ว อาหารและการออกกำลังกายยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกอีกด้วย ส่วนการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความสูงและความแข็งแรงของกระดูก ได้แก่ กีฬาที่มีการกระโดดหรือวิ่ง เช่น บาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล เป็นต้นค่ะ
สารอาหารที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของกระดูกมีหลายชนิด ได้แก่ โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ฟลูออไรด์ ทองแดง แมงกานีส วิตามินซี วิตามินดี และวิตามินเค ไม่ใช่แคลเซียมเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการส่งเสริมการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของกระดูกจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อจะได้รับสารอาหารต่างๆ อย่างครบถ้วนและเพียงพอ แต่ที่มีการรณรงค์เรื่องแคลเซียมกันมากที่สุด เพราะคนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ กินแคลเซียมจากอาหารได้ไม่เพียงพอนั่นเองค่ะ
แคลเซียมตัวจริงมากประโยชน์
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีปริมาณมากที่สุดในร่างกาย ร้อยละ 99 ของแคลเซียมอยู่ที่กระดูกและฟัน จึงอาจกล่าวได้ว่ากระดูกเป็นแหล่งสะสมของแคลเซียมในร่างกายค่ะ
หน้าที่สำคัญของแคลเซียมคือ การสร้างกระดูก ส่วนแคลเซียมอีกร้อยละ 1 อยู่ในเลือดและเนื้อเยื่ออื่นๆ มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ช่วยในการแข็งตัวของเลือดและควบคุมการเข้าออกของสารต่างๆ ผ่านผนังเซลล์ ถ้าร่างกายขาดแคลเซียมจะทำให้กระดูกไม่แข็งแรง หักง่าย เป็นตะคริว มือจีบเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุกและหัวใจเต้นผิดปกติค่ะ
กระดูกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการสลายกระดูกเก่าและสร้างกระดูกใหม่ทดแทน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 20 ปีจะมีการสร้างกระดูกมากกว่าการสลาย ทำให้ปริมาณมวลกระดูกเพิ่มขึ้น เมื่ออายุ 20-35 ปี อัตราการสลายและการสร้างกระดูกจะใกล้เคียงกัน ทำให้ปริมาณมวลกระดูกค่อนข้างคงที่ หลังอายุ 35 ปีปริมาณมวลกระดูกจะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากมีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างค่ะ
ดังนั้นในวัยเด็กและวัยรุ่นจึงควรส่งเสริมให้มีการสร้างกระดูกให้มากที่สุด โดยกินอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกให้ครบถ้วนและเพียงพอ ร่วมกับออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ จะทำให้ร่างกายมีการสะสมมวลกระดูกได้อย่างเต็มที่ คนหนุ่มสาวที่มีมวลกระดูกมาก จะมีความสูงได้เต็มที่ตามกรรมพันธุ์ และเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุซึ่งเป็นวัยที่มวลกระดูกลดลง ผู้ที่มีมวลกระดูกสะสมไว้มากจะเกิดโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักน้อยกว่าผู้ที่มีมวลกระดูกน้อยค่ะ
อาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมสำหรับเด็กวัย 3-9 ปีเช่น
เด็กควรดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว จะได้รับแคลเซียมจากนมประมาณร้อยละ 50-70 ของความต้องการในร่างกาย ส่วนที่เหลือควรได้รับจากการกินอาหารอื่นที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เต้าหู้ ผักกาดเขียว และผักคะน้าค่ะ
โดยปกติร่างกายจะมีกลไกรักษาสมดุลของแคลเซียมในเลือด ภาวะที่ร่างกายขาดแคลเซียม และปริมาณแคลเซียมในเลือดต่ำ ร่างกายจะมีการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารมากขึ้น แต่ถ้าร่างกายไม่ขาดแคลเซียมหรือกินอาหารที่มีแคลเซียมมากเกินไป แคลเซียมส่วนเกินจะถูกขับออกทางปัสสาวะ นอกจากนี้แต่ละคนยังมีความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมได้แตกต่างกัน เช่น ทารกและวัยรุ่นจะดูดซึมแคลเซียมได้มากกว่าผู้ใหญ่และคนสูงอายุค่ะ
แคลเซียมเสริม...ตอบโจทย์จริงหรือ
ถ้าเด็กสามารถกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงได้เพียงพอตามความต้องการของร่างกายแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมเสริมในรูปของยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารค่ะ เนื่องจากการได้รับแคลเซียมมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เนื่องจากแคลเซียมในเลือดสูง ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก เบื่ออาหาร และเกิดนิ่วในไตได้ การกินแคลเซียมเสริมในรูปของยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรทำเฉพาะในคนที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ โดยเสริมในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการแคลเซียมตามวัยเท่านั้น ไม่ควรเสริมมากเกินไปค่ะ
หากลูกมีความจำเป็นต้องกินแคลเซียมในรูปของยาหรือผลิตภัณฑ์ที่เสริมอาหาร ควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปริมาณแคลเซียมที่เด็กควรได้รับประจำวัน ข้อดีข้อเสีย และราคาของผลิตภัณฑ์ ไม่ควรกินตามความนิยมโดยขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว การได้รับแคลเซียมมากเกินไปอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายอีกด้วยค่ะ
“การที่เด็กจะตัวสูงหรือไม่นั้นขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เด็กจะเติบโตได้อย่างเต็มที่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและเพียงพอ ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ”