"EF เปรียบเหมือน CEO ของสมองที่คอยบริหารจัดการองค์ประกอบต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม เป็นตัวกลางที่คอยควบคุมกระบวนการทั้งหมด ให้เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียง สอดคล้องต้องกัน
โดยดูตัวอย่างจากภาพยนตร์แอนิเมชั่น ‘Inside Out’ ที่บอกเล่า 5 อารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ ความสุข ความกลัว ความโกรธ ความรังเกียจ และ ความเศร้า ผ่านตัวละครที่เป็นตัวการ์ตูนให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆ
“พื้นฐานของ EF ด้านหนึ่ง คือ เรื่องการอดทนรอคอย การยับยั้งชั่งใจ ซึ่งเป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่กระบวนการให้นมแม่ ซึ่งการดูดนมจากเต้านมมารดา และการดูดนมขวดมีการไหลไม่เหมือนกัน
โดยพบว่าการดูดนมแม่จะยากกว่าการดูดนมขวด เนื่องจากเด็กต้องใช้แรงในการดูดมากกว่า เป็นการฝึก EF ในแง่ของการอดทนรอคอย และเมื่อโตขึ้นมาในช่วงอายุ 2 – 3 ปี เด็กส่วนใหญ่ในช่วงวัยนี้จะซนกันโดยธรรมชาติ ซึ่งหากได้รับการฝึกให้รู้จักการยับยั้งชั่งใจ จะทำให้พฤติกรรมในเรื่องซนของเขาดีขึ้นได้
โดยสรุปแล้ว EF ต้องเริ่มฝึกกันตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียน แต่ปัญหาที่เราพบ คือ เด็กไม่เคยได้ฝึก จะมาฝึกกันก็ต่อเมื่อเด็กได้เรียนชั้นประถมขึ้นไปแล้ว ซึ่งจะฝึกได้ยากกว่า”
และจากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องยังพบต่อไปอีกว่า แม่ที่ให้ลูกดูดนมของตนเองจะมีความรักใคร่ผูกพันกับลูก มากกว่าแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ ได้อธิบายว่า นมแม่มีความสัมพันธ์กับทักษะสมอง EF โดยขณะที่ลูกดูดนมจะมีการสื่อสารระหว่างลูกกับแม่ และมีการสร้างความผูกพันเป็นพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมั่นต่อคนอื่นๆ อีกด้วย
ซึ่งสารอาหารในน้ำนมแม่เพียงพอและเหมาะสมแล้วในการพัฒนาสมอง ในขณะที่พบว่านมที่มีการเติมสารอาหารตามในโฆษณา อาจจะเป็นการเพิ่มปริมาณสารอาหารที่มากจนเกินความจำเป็น ซึ่งอาจไปรบกวนการดูดซึมสารอาหารที่เด็กควรจะได้รับตามปกติได้
“ในกรณีที่คุณแม่เองไม่สามารถให้นมได้ตลอด คุณแม่อาจปั๊มนมเก็บเอาไว้แช่ตู้เย็น แล้วตอนกลางวันให้คนเลี้ยง ซึ่งอาจเป็นปู่ ย่า ตา ยาย เอานมนั้นมาป้อนให้เด็ก ซึ่งถึงอาจจะต้องดูดจากขวดนม แต่เวลาให้นมควรจะต้องทำในลักษณะเดียวกับที่แม่ทำด้วย กล่าวคือ มีการสบตากัน ร้องเพลงกล่อม และกอดสัมผัสกัน เพื่อทดแทนการดูดนมจากเต้าของแม่ ซึ่งกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการให้นมแม่ ไม่ใช่แค่ว่าลูกได้สารอาหารครบ แต่ปฏิสัมพันธ์ที่มีระหว่างการให้นมก็เป็นเรื่องที่สำคัญ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ กล่าวแนะนำเพิ่มเติมทิ้งท้าย
ที่มา : สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล