เรื่องพี่น้องแกล้งกันหรือตีกันนี้พบเสมอ เรื่องที่ควรรู้ไว้ก่อนคือเรามีเวลาสิบปีที่จะรอให้เขารักกัน เวลาสิบปีนั้นนานมาก เราไม่จำเป็นต้องบีบบังคับให้เขารักกันวันพรุ่งนี้
อย่าลืมว่าความรักมิสามารถบังคับกัน แม้แต่ความรักระหว่างพี่น้องเราก็บังคับให้ใครรักใครไม่ได้ และอย่าลืมว่าความรักเกิดจากการร่วมทุกข์ร่วมสุขเสมอ มิได้เกิดจากการร่วมสุขอย่างเดียว ดังนั้นหลักการข้อแรกๆ คือ เราสามคนคือ แม่-พี่-น้อง อยู่ด้วยกันมากที่สุด มิใช่พอมีน้อง ส่งพี่ไปให้คนอื่นเลี้ยง ส่งไปโรงเรียนพอดี หรือส่งไปนอนกับคนอื่นในยามค่ำคืน
สมมติว่ามีพี่เลี้ยงหรือคนช่วยเลี้ยง เราจ่ายงานธุรการหรืองานวิ่งซื้อของหรืองานเดินหยิบของให้เราแก่ผู้ช่วย แต่งานแตะเนื้อต้องตัวลูกสองคนเป็นของเราเสมอ ใช้ผู้ช่วยให้ถูกวิธีด้วย
หลักการถัดมาคือให้ความสำคัญแก่พี่มากกว่าน้องเล็กน้อยเสมอ ประโยคนี้มิได้บอกให้ลำเอียงเพียงแต่ทำให้พี่เขารู้ตัวว่าเขาเป็นคนสำคัญ เขาเกิดก่อน ตัวใหญ่กว่า มีสิทธิบางประการมากกว่าเล็กน้อย ให้เกียรติแก่เขา เขาจะรับเกียรตินั้นเอาไว้
ทำให้พี่เขารู้ว่าเขาช่วยเหลือแม่ได้ ถ้าแม่เป็นนายอำเภอ ติดดาวผู้ช่วยนายอำเภอให้เขา เขาช่วยแม่ได้เมื่อไรเขาจะช่วยน้องได้ด้วย
ผู้ช่วยนายอำเภอก็ต้องมีเงินเดือน พี่จึงได้ขนมมากกว่าน้อง-เล็กน้อย มีไอติมมาสองก้อน พี่เอาก้อนใหญ่กว่า-เล็กน้อย ซื้อใจเขาให้ได้ วันหนึ่งเขาจะแบ่งขนมและไอติมให้น้องเอง
ในทิศทางตรงข้าม น้องก็จะได้เรียนรู้ว่าพี่ใหญ่ เราควรเคารพพี่บ้างมิใช่เถียงคำไม่ตกฟาก แย่งของพี่มาเป็นของตัว มิหนำซ้ำมีแม่ถือหางเสียอีก
ด้วยหลักการนี้เราจะไม่มีคำว่าลูกคนกลาง มีแต่ลูกคนที่ 1 และ 2 และ 3 และไล่ไปเรื่อยๆ ถ้าไม่กลัวยากจน แต่ทุกคนจะได้รับความรักจากแม่เท่ากันแต่แม่ทำให้ดูว่าพี่คนโตเป็นผู้ช่วยนายอำเภอ ความรักนั้นจะไหลท่วมพี่แล้วล้นลงไปหาน้องๆ ตามลำดับ เรื่องนี้เป็นจิตวิเคราะห์ กล่าวคือความรักนั้นมีปริมาณและท่วมตายได้ถ้าไม่ไหลล้นออกไปเสียบ้าง
บางบ้าน ปัญหาเรื่องพี่ “รู้สึก” ว่าไม่เป็นที่ต้องการนี้เกิดจากคำพูดของคนรอบข้างได้ เช่น แต่นี้ไปเป็นหมาหัวเน่าแล้ว ทำนองนี้ หรือแม้กระทั่งทุกคนในบ้านแสดงความสนใจน้องที่เกิดใหม่กันอย่างออกนอกหน้าและพร้อมเพรียง ดังนั้นเวลามีน้องใหม่ อย่าลืมให้พี่ขายตั๋วก่อนเข้าเยี่ยมน้อง
พี่น้องทะเลาะกันเราควรเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้เวลาเจรจาต่อรองและเรียนรู้นิสัยใจคอของกันและกัน อย่าผลีผลามเข้าไปตัดสินความ จะได้ไม่คุ้มเสีย พวกเขาจะทะเลาะกันอีกหลายครั้ง อีกหลายปี แล้วจะเรียนรู้จักกันในที่สุด แล้ววางตำแหน่งของตัวเองอย่างถูกต้องต่อไป เรา-พ่อแม่-มีหน้าที่เพียงแค่ห้ามทำร้ายร่างกายกันเท่านั้น
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

5 วิธีแก้ปัญหาพี่น้องตีกัน
ถ้าบ้านเริ่มมีบรรยากาศการทะเลาะกัน อิจฉากันของลูก ๆ คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งหนักใจไป เพราะเป็นธรรมชาติของเด็ก ๆ ถ้าคุณพ่อคุณแม่จัดการกับการทะเลาะของลูกได้อย่างถูกต้อง ลูกจะได้ใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่จะรักและดูแลซึ่งกันและกัน รวมทั้งคนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเรามีข้อแนะนำมาฝากค่ะ
วิธีแก้ปัญหาพี่น้องตีกัน
1.ให้ความใส่ใจและใช้เวลากับลูกเฉพาะคน (คุณกับลูก) ทุกคนเท่าเทียมกันในทุก ๆ วัน วิธีนี้จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองก็เป็นคนพิเศษสำหรับพ่อและแม่
2.อย่าเอาลูกมาเปรียบเทียบกัน ไม่ว่าเรื่องใดๆ และไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กอื่นๆในลักษณะที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า
3.สนับสนุนให้ลูกแต่ละคนสนใจในกิจกรรมที่แตกต่างกันไป กิจกรรมที่ต่างกันช่วยลดความรู้สึกอิจฉาในหัวใจน้อย ๆ ของลูกลงได้
4.พยายามให้ลูก ๆ รับผิดชอบและทำงานร่วมกัน เช่น ช่วยกันเก็บของเล่นเข้าที่ หรือร่วมกันจัดโต๊ะอาหาร พ่อแม่ต้องทำให้เห็นว่าการช่วยเหลือกันจะทำให้งานสำเร็จ
5.ใจเย็นเข้าไว้ พยายามแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างลูก ๆ คลี่คลายสถานการณ์ แยกแยะเหตุผลให้ลูกเข้าใจ และไม่ใช้มาตรการว่า "เป็นพี่ต้องเสียสละ" ลูกจะเรียนรู้ได้จากสิ่งที่คุณสอนและบอกเขาค่ะ

Q&A มีลูกหัวปี ท้ายปี ลูกคนที่สองจะไม่แข็งแรง พัฒนาการไม่ดีจริงไหม
Q: เพิ่งคลอดลูกชายไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ค่ะ พอพฤศจิกายนมีอาการแปลกๆ เลยไปตรวจ ปรากฏว่าตั้งท้อง ตอนนี้เครียดมาก เพราะลูกก็ยังเล็กและติดแม่มาก แล้วเขาบอกว่ามีลูกติดกันแบบหัวปีท้ายปีแบบนี้ ร่างกายแม่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ จะทำให้ลูกคนที่สองไม่แข็งแรง พัฒนาการไม่ดีจริงหรือเปล่าคะ
A:ความจริงแล้วคุณแม่ควรตั้งครรภ์ห่างกันอย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากการตั้งครรภ์แรก รูปร่างและน้ำหนักตัวเริ่มเข้าที่ หรือลูกคนแรกก็อาจจะเริ่มเข้าโรงเรียน ทำให้คุณแม่ไม่รู้สึกว่าทรุดโทรมหรือเหนื่อยมากจนเกินไป เพราะลูกคนแรกช่วยเหลือตนเองได้แล้ว อีกทั้งเสื้อผ้าเครื่องใช้ก็ใช้ต่อด้วยกันได้ ไม่ต้องซื้อหาใหม่ ประหยัดเงินได้อีกด้วย ลูกไม่รู้สึเหงาเพราะวัยไล่เลี่ยเป็นเพื่อนเล่นกันได้
แต่ในกรณีนี้ที่ท้องแล้วก็ไม่เป็นไรครับ ดูแลเขาให้ดีที่สุดดีกว่า การเครียดต่างหากที่อาจจะทำให้ลูกไม่แข็งแรงได้ คุณแม่ควรฝากท้องทันทีเมื่อรู้ว่าท้อง ดูแลตัวเองในด้านโภชนาการให้ดี รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อให้ร่างกายมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ควรเน้นอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง ลดอาหารจำพวกแป้งและไขมัน ทานยาบำรุงเลือดตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง บุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
ท้องสองคุณอาจจะรู้สึกว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปกติโดยเฉพาะคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรคนแรกไม่กี่เดือน ทั้งนี้เป็นเพราะร่างกายยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะเดิม ดังนั้นจึงควรควบคุมอาหารให้ดี อย่าให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากเกินไป พยายามให้น้ำหนักตัวเพิ่มทีละน้อยตามเกณฑ์ แต่ในบางรายคุณแม่อาจจะรู้สึกเหนื่อยมากจากการเลี้ยงดูลูกคนแรกทำให้เบื่ออาหาร ทานไม่ลง ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้ คุณแม่ที่มีภาวะโภชนาการที่ดีจะมีน้ำหนักตัวขึ้นตามเกณฑ์ปกติ ถ้าน้ำหนักตัวไม่ขึ้นตามที่ควรจะเป็นก็ควรเพิ่มปริมาณสารอาหารตามความเหมาะสม
เมื่อรู้ว่าท้องคุณแม่อาจจะเกิดความลังเล ความกังวลใจ ความไม่พร้อม ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเครียดขึ้นมาจนทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สดชื่นไม่สบายใจในการท้องครั้งใหม่ คุณแม่ต้องพยายามปรับตัวเตรียมใจให้พร้อมที่จะต้อนรับสมาชิกใหม่ มั่นใจต่อการท้องครั้งนี้ให้มาก อาจมองในแง่ดีว่าเป็นความโชคดีที่เคยมีประสบการณ์จากท้องแรกมาแล้ว และหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะส่งผลเสียต่อตัวคุณแม่และลูกน้อย
คุณแม่ควรมีเวลาพักผ่อนให้มากกว่าตอนที่ท้องแรกเพราะจะเหนื่อยจากการเลี้ยงลูกคนแรก คุณพ่อควรช่วยเลี้ยงลูกในเวลากลางคืน ให้คุณแม่มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น การออกกำลังกายจะช่วยให้คุณแม่คลายความเครียด รู้สึกสดชื่น กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น อาจเป็นการเล่นโยคะ กายบริหารเล็กน้อย แต่ถ้าคุณแม่ไม่มีเวลาออกกำลังกายก็สามารถเลือกใช้เวลาระหว่างการดูแลลูกคนแรกมาออกกำลังกายร่วมด้วย เช่น การพาลูกคนแรกนั่งรถเข็นเดินเล่น
นอกจากสภาพร่างกายที่คุณแม่จะต้องดูแลเป็นพิเศษแล้ว สภาพจิตใจก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพราะด้วยสภาพร่างกายของคุณแม่ท้องที่เริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย อยากพักผ่อน แต่ขณะเดียวกันหากลูกคนแรกยังเล็กก็ต้องการการดูแลเอาใจใส่จากคุณแม่ ซึ่งกรณีนี้จะทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย เป็นสาเหตุให้อารมณ์แปรปรวน ทั้งยังไม่มั่นใจกับสภาพร่างกายตัวเอง กังวลว่าสามีจะเบื่อหน่าย ซึ่งภาวะเช่นนี้อาจจะทำให้คุณแม่เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งไม่ดีแน่สำหรับคุณแม่ที่ท้องและต้องเลี้ยงลูกเล็กครับ
รศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

ตั้งท้องลูกคนที่ 2 ควรห่างจากคนแรกกี่ปีถึงจะดี และต้องเตรียความพร้อมอะไรบ้าง บ้านไหนกำลังจะตั้งครรภ์ที่ 2 ต้องอ่านเพื่อเตรียมตัวเองและเตรียมดูแลพี่คนโตให้ดีค่ะ
พ่อแม่ควรรู้ มีลูกคนที่ 2 อายุห่างพี่คนโต ลูกคนแรกกี่ปีถึงจะดี
อยากมีลูกคนที่ 2 ต้องวางแผนใหญ่ทั้งเงินทั้งความพร้อม ที่สำคัญจะต้องมีลูกคนที่ 2 ห่างจากลูกคนแรกกี่ปีถึงจะดีแบบพ่อแม่ไม่ต้องเหนื่อยทั้งงานนอกบ้านในบ้านและงานเลี้ยงลูก
คิดจะมีลูกคนที่ 2 ต้องคิดถึงเรื่องต่อไปนี้ก่อนทันที
-
เวลาสำหรับดูแลลูกทั้งสองอย่างเพียงพอ
-
ค่าใช้จ่าย ในการเลี้ยงดูที่เพิ่มขึ้น
-
อายุ และความสมบูรณ์ของร่างกายคุณแม่
-
ความพร้อมและความสัมพันธ์ระหว่างสามี
จะมีลูกคนที่ 2 ห่างจากลูกคนแรกกี่ปีถึงจะดี
- มีลูกคนที่ 2 แบบหัวปีท้ายปีต่อกันไปเลย
คุณแม่หลายคนรีบมีลูกคนถัดไปทันทีหลังจากคลอดคนแรกได้ไม่นาน เพราะอาจจะคิดว่ายอมเหนื่อยทีเดียว คราวเดียว เดี๋ยวต่อไปจะได้สบาย ซึ่งก็ต้องยอมรับถึงความเหนื่อยที่ต้องเจอในระหว่างที่ต้องเลี้ยงลูกเล็กและตั้งครรภ์ไปด้วย แถมถ้าคนที่สองคลอดออกมาแล้ว จะยิ่งวุ่นเพราะลูกคนโตก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้ และต้องดูแลคนเล็กด้วย เว้นเสียแต่ว่ามีญาติพี่น้อง หรือคนคอยช่วยเหลือเลี้ยงดูลูกๆ ซึ่งก็จะช่วยแบ่งเบาไปได้ส่วนหนึ่ง
- มีลูกคนที่ 2 ห่างจากลูกคนแรก 1 ปี
คุณแม่หลายคนก็ไม่อยากให้พี่น้องอายุห่างกันมากเกินไป ทิ้งช่วงสัก1 ปี ก็มีคนถัดไป ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นเวลาที่ยังเหน็ดเหนื่อยอยู่เช่นกัน และยิ่งลูกคนโตเป็นวัยกำลังเตาะแตะ เล่นซน ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ ต้องคิดด้วยว่าจะวิ่งไล่จับลูกคนโตไหวไหม
- มีลูกคนที่ 2 ห่างจากลูกคนแรก 2 ปี
ลูกคนโตได้ 2 ขวบแล้ว แม่ก็เริ่มตั้งครรภ์ กว่าจะครบกำหนดคลอด ลูกก็เกือบ 3 ขวบแล้ว ถือว่าเป็นเวลาที่ลูกเริ่มพอรู้เรื่อง และช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว คุณแม่อาจจะไม่เหนื่อยมาก ในหลายๆ เรื่อง แต่ก็ต้องใช้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะลูกกำลังซน และกำลังเป็นวัยช่วงสำรวจ จะปล่อยให้คลาดสายตาไม่ได้
- มีลูกคนที่ 2 ห่างจากลูกคนแรก 3 ปี
หลายๆ ครอบครัว วางแผนมีลูกในช่วงระยะเวลาประมาณนี้ เพราะคิดว่าไม่ห่างกันไปนัก และลูกคนโตก็พอรู้เรื่องแล้ว จะไม่เหนื่อยมากจนเกินไป
- มีลูกคนที่ 2 ห่างจากลูกคนแรก 4 ปีขึ้นไป
เป็นช่วงระยะเวลาที่ไม่น่ามีปัญหาแล้ว สำหรับการมีลูกคนถัดไป เพราะลูกคนโตจะอยู่ในวัยรู้เรื่องแล้ว สามารถปล่อยให้อยู่กับคนอื่น หรือให้พ่อคอยดูแลได้ แบบสบายๆ แล้ว สามารถพาไปไหน มาไหน ช่วยเหลือตัวเองได้ดี และยังอาจจะคอยช่วยเหลือดูแลน้องได้ด้วย แต่ในทางกลับกันในวัยนี้ก็ต้องไม่ทอดทิ้ง หรือละเลยกับลูกคนโต เพราะลูกอาจจะเกิดอาการน้อยใจ ว่าพ่อแม่ หรือครอบครัวไม่รัก ไม่ให้ความสำคัญกับเขาเหมือนที่เคยได้รับมาหลายปี
สุดท้ายแล้ว ช่วงเวลาการมีลูกคนถัดไปที่เหมาะสมนั้นไม่มีเวลาที่ถูกต้องแน่นอน เพราะแต่ละครอบครัวก็มีความพร้อมที่แตกต่างกันไป ซึ่งถ้าคิดถ้วนถี่และพร้อมสำหรับการมีลูกคนถัดไปแล้ว ก็ลุยกันได้เลยค่ะ
การสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่น คือการเตรียมความพร้อมให้ลูกทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง เพื่อให้ลูกรู้จักปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ มีเพื่อนใหม่ และการเรียนรู้ใหม่ๆ หากไม่เริ่มตั้งแต่เด็กๆ โตไปอาจจะสอนยากขึ้นนะคะ เราจึงมีคำแนะนำในการสอนให้ได้ผลดังนี้ค่ะ
ลูกเราจะ‘ช่วยเหลือแบ่งปัน’กันได้เอง ถ้าพ่อแม่ฝึกฝนด้วย 5 วิธีต่อไปนี้
- ปล่อยให้ลูกคิดและลงมือทำเอง
เด็กๆ อยู่ในวัยอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง คุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองคิดและลงมือทำเอง ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่คอยดูแลและสนับสนุนอยู่ใกล้ๆ เพื่อทำให้ลูกมีความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ทุกวันค่ะ
- สอนให้เข้าใจผู้อื่น
โดยสอนจากเรื่องใกล้ตัวได้ เช่น เวลาหนูโดนเพื่อนตีแรงๆ หนูจะเจ็บและไม่อยากเล่นกับเพื่อนคนนั้น ถ้าหนูไปตีเพื่อน เพื่อนก็จะเจ็บไม่อยากเล่นกับหนูเหมือนกันให้สอนทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ ลูกจะได้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น
- การสอนให้แบ่งปัน
คุณแม่สอนได้ง่ายๆ ด้วยการให้ลูกแบ่งขนมหรือของเล่นกับคุณแม่ก่อน จากนั้นค่อยๆ สอนให้แบ่งกับเพื่อน ซึ่งจะช่วยให้ลูกไม่หวงของ รู้จักแบ่งปัน
- สอนให้ช่วยเหลือผู้อื่น
สิ่งเหล่านี้จะได้ติดเป็นนิสัยที่ทำโดยอัตโนมัติ ไม่หวังสิ่งใดตอบแทนใดๆ เริ่มจากให้ลูกช่วยแม่ถือของ ให้ลูกช่วยพ่อรดน้ำต้นไม้ หรือหากไปเจอเหตุการณ์คนอื่นช่วยคนแก่ข้ามถนน ก็ให้สอนว่าลูกว่า เขากำลังทำความดีอยู่ หากลูกมีโอกาสได้ช่วย ก็ควรช่วยนะ
- พาทำกิจกรรมจิตอาสา
ให้คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกมาเลือกของเล่น หรือเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาค นอกจากจะช่วยฝึกให้เขารู้จักแยกแยะของที่จำเป็น และไม่จำเป็นแล้ว ยังช่วยฝึกให้ลูกรู้จักกิจกรรมจิตอาสาแบ่งปันผู้อื่น และเมื่อโตขึ้นกว่านี้ ลูกจะเข้าใจได้เองว่าทำไมต้องช่วยเหลือผู้อื่น
ไม่ยากเลยใช่ไหมคะที่จะสอนให้ลูกมีน้ำใจ รู้จักแบ่งปัน อีกหนึ่งวิธีที่เด็ดที่สุดคือ พ่อแม่นี่ล่ะค่ะต้องทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นเสมอ เช่น พ่อแม่แบ่งขนมให้ลูก แบ่งขนมกับคนข้างบ้าน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสอนเรื่องน้ำใจแล้ว ยังเป็นการสร้างสังคมเพื่อนที่ดีที่คอยช่วยเหลือกันได้ด้วยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สะเทือนใจคนเป็นพี่ ประโยคนี้ห้ามพูดกับลูกเด็ดขาด
เป็นปกติที่พ่อแม่อยากให้พี่น้องรักกัน ยิ่งถ้าคนเป็นพี่อายุห่างกับน้องก็ยิ่งอยากให้เขาเป็นพี่ที่น่ารัก รักน้อง แบ่งปันช่วยเหลืือน้อง แต่เชื่อไหมคะว่าคำพูดบางประโยคเหมือนจะหวังดี แต่มันทิ่มแทงใจคนเป็นพี่เหลือเกินค่ะ
9 คำพูดสะเทือนใจ ห้ามพูดกับพี่เด็ดขาด
- เป็นพี่ต้องดูแลน้อง
- เป็นพี่ต้องแบ่งปันน้อง
- เอาให้น้องก่อน
- ยอมน้องไม่ได้หรือ
- น้องยังเล็กอยู่
- กิ๊วกิ้ว ตกกระป๋องแล้ว
- ใครนะเป็นหมาหัวเน่า
- พ่อแม่รักน้องใหม่แล้ว
- พ่อแม่ไม่สนใจแล้ว
5 วิธีปลูกฝังให้พี่น้องรักกัน
1. ให้ความใส่ใจและใช้เวลากับลูกเฉพาะคน (คุณกับลูก) ทุกคนเท่าเทียมกันในทุก ๆ วัน วิธีนี้จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองก็เป็นคนพิเศษสำหรับพ่อและแม่
2. ให้ลูกรู้บทบาทของตนเอง พี่เป็นพี่เพราะเกิดก่อนส่วนน้องเป็นน้องเพราะเกิดทีหลัง พี่เกิดก่อน จึงแข็งแรงกว่าน้อง ตัวโตกว่าน้อง แถมยังดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ดีกว่าน้อง พี่ไม่จำเป็นต้องเสียสละให้น้อง แค่พี่รักน้อง เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับน้อง พูดกับน้องเพราะๆ สอนวิธีการเล่นของเล่นให้น้อง ช่วยแม่ดูแลน้อง ส่วนน้องเองก็ต้องเคารพพี่ เชื่อฟังพี่ เล่นกับพี่ตามกติกาที่ตกลงกันไว้ แม้ตอนเป็นเด็กลูกอาจไม่เข้าใจ แต่โตขึ้นต้องรักกันแน่นอน
3. ไม่เปรียบเทียบลูกไม่ว่าเรื่องใดๆ และไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กอื่นๆในลักษณะที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า
4. สนับสนุนให้ลูกแต่ละคนสนใจในกิจกรรมที่แตกต่างกันไป กิจกรรมที่ต่างกันช่วยลดความรู้สึกอิจฉาในหัวใจน้อย ๆ ของลูกลงได้
5. พยายามให้ลูก ๆ รับผิดชอบและทำงานร่วมกัน เช่น ช่วยกันเก็บของเล่นเข้าที่ หรือร่วมกันจัดโต๊ะอาหาร พ่อแม่ต้องทำให้เห็นว่าการช่วยเหลือกันจะทำให้งานสำเร็จ

เทคนิคง่าย ๆ สอนให้พี่น้องรักกัน ไม่สร้างปมให้พี่รู้สึกน้อยใจอิจฉาน้อง
“ตอนนี้หนูกำลังจะได้เป็นพี่คนโตแล้ว เพราะมีน้องเล็กอีกคนอยู่ในท้องคุณแม่” ความรู้สึกหนึ่งของพี่คนโตก็ดีใจ แต่อีกใจกลัวว่าจะตกกระป๋อง และอาจเลยเถิดไปถึงขั้นอิจฉาน้องได้ แบบนี้มาช่วยส่งเสริมให้พี่คนโตสวมบทพี่ตัวจริงด้วยความมั่นใจ ภูมิใจ และไม่อิจฉาน้องกันค่ะ
เข้าใจพี่ก่อนมีน้อง
สำหรับเด็กวัย 4-5 ขวบ การมีสมาชิกเพิ่มเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา เด็กรู้สึกว่าทุกคนในบ้านเปลี่ยนไปเทคะแนนให้เจ้าตัวเล็กอีกคนกันหมด พอจะเข้าไปดูน้องหรือร่วมวงสนทนาด้วย ก็ถูกกีดกันออกมาเพราะกลัวว่าเขาจะไปทำให้น้องร้องไห้ สุดท้ายเลยต้องอยู่หัวเดียวกระเทียมลีบ แล้วก็นึกโทษว่าเป็นเพราะน้องที่แย่งทุกอย่างจากเขาไป
หลังจากนั้นพี่จะเริ่มเรียกร้องความสนใจ ทำพฤติกรรมเหมือนเด็กทารก พัฒนาการถดถอย เช่น ขอดูดนมแม่ ไม่ได้ดังใจก็ร้องไห้โวยวายหรือร้องให้อุ้ม ร้องไห้แข่งกับน้อง แต่ถ้าพ่อแม่เริ่มวางแผนรับมือแต่เนิ่น ๆ เหตุการณ์ทั้งหมดข้างต้นจะไม่เกิดขึ้น ลองนำเทคนิคต่าง ๆ นี้ไปใช้ดู
เทคนิคสอนพี่คนโตให้รักน้อง
1. ยิ่งบอกเร็วยิ่งดี
เนื่องจากลูกวัยนี้มีพัฒนาการทางอารมณ์ซับซ้อนขึ้น เช่น โกรธ น้อยใจ โมโห เหงา จึงต้องการระยะเวลาในการปรับตัวและปรับอารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้าคุณวางแผนจะมีน้องอยู่แล้ว ลองเริ่มถามลูกดูว่า อยากมีน้องไหม ถ้ามีแล้วใครจะช่วยเลี้ยงน้อง

2. หน้าที่ดูแลน้องเป็นของทุกคน
พ่อและทุกคนในบ้านควรมีบทบาทตั้งแต่แม่เริ่มท้องค่ะ เพื่อให้ลูกเห็นว่าทุกคนในบ้านช่วยกันดูแลน้องเล็กอีกคน และควรเปิดโอกาสให้เขาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย เช่น เตรียมของ ดูแลแม่ ดูแลกิจวัตรของตัวเอง
3. ไปโรงพยาบาลด้วยกัน
พี่จะได้เห็นและรับรู้ว่าน้องอยู่ในท้องแม่ และครั้งหนึ่งพี่ก็เคยอยู่ในท้องแม่เหมือนกัน กว่าจะโตแม่ต้องคอยดูแลหนู แต่ตอนนี้แม่มีพี่มาช่วยดูแลน้องเพิ่มขึ้นอีกคน
4. ครั้งแรกที่เจอหน้ากัน
ลองคุยกับลูกคนเล็กให้พี่ได้ยินว่านี่คือพี่หนูนะ เขารักหนูและจะช่วยแม่ดูแลหนู พี่จะภูมิใจกับความเป็นพี่สุด ๆ เลยค่ะ
5. ให้ของขวัญพี่คนโต
พ่อแม่ควรจะให้ญาติสนิทที่มาเยี่ยมให้ซื้อของสัก 1-2 ชิ้น ฝากลูกคนโตด้วย แล้วบอกว่านี่คือรางวัลที่พี่ช่วยแม่ดูแลน้อง จังหวะนี้ควรก็เล่าให้ญาติฟังว่าพี่คนโตช่วยดูแลแม่และน้องก่อนคลอดอย่างไรบ้าง เท่าที่วัยอย่างเขาทำได้
6. อย่าเบื่อที่จะอธิบาย
ถ้าเกิดอาการอิจฉาขึ้นมาจริง ๆ หรือเรียกร้องความสนใจเป็นครั้งคราว เช่น ตีน้อง ให้รีบจับแยกทันทีแล้วบอกให้พี่รู้ว่าน้องเจ็บ แต่ต้องดูด้วยว่าเกิดจากน้องคว้าผมหรือดึงผมให้พี่เจ็บหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นอธิบายให้พี่รู้ว่าน้องเล่นด้วยแต่ยังไม่รู้กำลังของตัวเอง และบอกด้วยว่าถ้าจะเล่นกับน้องควรทำอย่างไรจึงจะไม่ถูกดึงผม เช่น รัดผมให้เรียบร้อย
7. มีส่วนร่วม
ถ้าพี่คนโตมาป้วนเปี้ยนอยากเล่นกับน้อง ก็ให้เขามีส่วนร่วมกับการดูแลน้อง เช่น หยิบของใช้ ดูน้องระหว่างแม่เข้าห้องน้ำ ใช้เพลงจากที่โรงเรียนมากล่อมน้อง แต่ข้อควรระวังคือ อย่าบังคับจนพี่คนโตรู้สึกว่าน้องเป็นภาระ จนอดไปเล่นหรือทำกิจกรรมที่เขาชอบ
8. พูดคุยกับพี่คนโตบ่อย ๆ
ระหว่างให้นมลูก ให้พี่ช่วยลูบเท้าหรือขาน้อง พ่อแม่อาจจะคุยและถามเรื่องทั่ว ๆ ไป หรือให้เขาทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ อย่าปล่อยให้ลูกคนโตนั่งทำตาปริบ ๆ อยู่ข้าง ๆ เพราะทำตัวไม่ถูก
9. หาเวลาอยู่กับพี่คนโต 2 คน
อาจจะขอความช่วยเหลือจากสามีหรือปู่ย่าตายายว่าแม่จะขอไปเที่ยวกับลพี่คนโตสัก 3 ชั่วโมง พาพี่คนโตไปเล่นนอกบ้าน เที่ยวสวนสนุก เข้าคาเฟ่ พาไปกินไอศกรีมที่พี่ชอบ เพื่อให้เขารู้ว่าแม่ไม่เคยละเลยเค้า และพี่ยังเป็นคนสำคัญของพ่อแม่
10.ตามใจพี่คนโตบ้าง
หากพี่คนโตอยู่ในวัยที่ไม่ห่างจากน้องคนเล็กมากนัก ถ้าพี่หย่านมไปแล้วแต่อ้อนอยากกินนมเหมือนน้อง แม่สามารถปั๊มนมให้ลูกกินได้เลยค่ะ แต่ให้บอกพี่ว่า แม่แค่ให้ชิมและมีนมน้อยสำหรับน้องเท่านั้น เพราะน้องตัวเล็กกินนมทีละน้อย แต่หนูเป็นพี่ต้องดื่มนมจากแก้ว ถ้าน้องโตกว่านี้แม่ก็ให้น้องดื่มนมจากแก้วเหมือนกัน เพราะแม่ไม่มีน้ำนม
11. หาเพื่อนใหม่ให้ลูก
เช่น คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่น ลูกจะได้ไม่รู้สึกว่าถูกทิ้ง อีกอย่างเด็กวัยนี้เริ่มมีช่วงเวลาส่วนตัวที่เขาอยากเล่นคนเดียวแล้วค่ะ
12. อย่าพูดกับพี่คนโตแบบนี้
ประโยคต้องห้ามอย่าเผลอพูดไปนะ เพราะจะยิ่งสร้างปมให้พี่น้อยใจ รู้สึกพ่อแม่ลำเอียง
- เป็นพี่ต้องดูแลน้อง
- เป็นพี่ต้องแบ่งปันน้อง
- เอาให้น้องก่อน
- ยอมน้องไม่ได้หรือ
- น้องยังเล็กอยู่
- ห้ามดื้อ ห้ามซนด้วย ดูซิน้องยังไม่ดื้อเลยนะ สู้น้องก็ไม่ได้
ทั้งหมดนี้เป็นแค่หนทางรับมือกับบางสถานการณ์เท่านั้นค่ะ แต่เชื่อแน่ว่าความเป็นพ่อเป็นแม่ของคุณ จะทำให้ผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ เด็กบางคนปรับตัวเร็ว บางคนปรับตัวช้า จึงต้องให้เวลาและโอกาสลูกในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ด้วยค่ะ

ได้ยินคุณหมอสอนว่าเวลาพี่น้องทะเลาะกัน เราต้องเอาพี่ก่อน แบบนี้มิใช่ลำเอียงหรือคะ
ไม่เคยเขียนว่า “ต้องเอาพี่ไว้ก่อน” และไม่เคยบอกว่า “ให้ลำเอียงไปทางพี่” อธิบายใหม่ครับ
ที่เขียนและพูดเสมอคือ
1.เมื่อจะมีน้อง (ไม่ใช่เมื่อทะเลาะกัน) เราควรให้ความสำคัญแก่พี่มากกว่าน้องเล็กน้อย ทำให้คนพี่รู้ตัวว่าเขาจะเป็นคนสำคัญมากสำหรับแม่ เขาเก่งพอจะช่วยแม่ดูแลน้องที่จะเกิดมา ติดดาวนายอำเภอให้คนพี่ แล้วขอให้เขาช่วยนายอำเภอดูแลน้องๆ
ประเด็นคือซื้อใจเขาให้ได้ ให้เกียรติเขาแล้วเขาจะรับเกียรตินั้นไว้ เขาจะไม่เพียงดูแลน้อง เขาจะแบ่งขนม แบ่งของเล่น และเขาจะคอยป้องกันน้องในอนาคตด้วย ทำได้เช่นนี้บ้านจะสงบ พี่รักน้อง น้องเคารพพี่ สองคนจะรักกันไปอีกนาน หากเราทำให้คนพี่รู้สึกว่าพ่อแม่ลำเอียง คราวนี้ปัญหาจะตามมาเป็นพรวน
ที่เขียนเสมอคือพยายามไม่แยกห้องนอนพี่ออกไป หรือให้ไปนอนกับคนอื่น ในวันที่น้องเกิดมา
อีกเรื่องที่เขียนและพูดเสมอคือ
เมื่อพี่น้องทะเลาะกัน เราควรนั่งดูไปก่อน ให้เวลาเขาสองคนเรียนรู้นิสัยใจคอกัน แล้วปรับตัวเข้าหากัน ให้พี่รู้ว่าน้องมันขี้แย ขี้ฟ้อง ให้น้องรู้ว่าพี่เฉไฉเจ้าเล่ห์เพทุบาย ก็แค่นิสัยไม่เหมือนกันและยังยอมรับกันไม่ได้ ปล่อยพวกเขาจัดการกันเอง ถ้าเราเข้าไปแทรกคนหนึ่งจะรู้สึกได้ทันทีว่าเราลำเอียงอย่าลืมว่าก่อนเกิดเหตุการณ์เราไม่เห็นด้วยตา ทันทีที่เราฟังคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งจะงัดเล่ห์กลออกมาจนได้ ทั้งที่ในตอนต้นไม่มีใครเป็นฝ่ายผิดเลย สองคนกำลังเล่นด้วยกันและปรับตัว
เตือนตนเองเสมอว่าเรามีเวลาเป็นสิบปีที่เขาจะได้ทะเลาะกันอีกหลายครั้ง ยินยอมให้อีกฝ่ายเอาเปรียบ ก็รักไงถึงได้ยอม ให้อีกฝ่ายรู้น้ำใจของอีกฝ่าย ให้พวกเขาได้ร้องไห้ด้วยกัน เสียใจที่ทำร้ายกัน เราบังคับใครรักใครไม่ได้ มีแต่ให้พวกเขาร่วมทุกข์ร่วมสุขกอดคอกันร้องไห้จึงจะรักกัน
เราจะเข้าไปหยุดเมื่อเขาตีกันทำร้ายร่างกายกัน หยุดทันทีแต่ไม่ตัดสินอยู่ดี แยกวงเขาออกจากกัน บอกทั้งสองคนว่าหายโกรธแล้ว ออกมาเล่นด้วยกันใหม่นะ แม่ชอบ เอาเท่านี้ เขาก็จะได้เรียนรู้ว่าคนเราโกรธได้ หายได้ แต่ตบตีกันนั้นมิได้ เท่านี้เอง
ตอนที่พวกเขาเข้าสู่วัยรุ่นพวกเขาจะรำคาญและเหม็นขี้หน้าได้ด้วย ซึ่งเป็นธรรมชาติของพวกเขา ปล่อยเขาเรียนรู้กัน ทะเลาะกันแล้วดีกันด้วยตนเอง พวกเขาจะทำได้และรักกันมากยิ่งขึ้นไปอีกในตอนท้าย คอยท่องเสมอว่าที่เราอยากให้เป็นคือเมื่อเราตายไป พวกเขายังคงรักกัน งานนี้นานหลายปี
สมมติมีคนหนึ่งชอบแย่งของเล่นอีกคนไม่ยอมเลิกจริงๆ และเรารู้สึกว่าเขาไม่พัฒนาเอาเสียเลย เราสามารถแทรกแซงได้ แต่การแทรกแซงนั้นจำเป็นต้องทำก่อนเกิดเหตุ เราควรไวพอจะเข้ากั้นกลางเมื่อรู้ล่วงหน้าว่าเขาจะแย่งแน่แล้ว ทั้งนี้เพื่อหยุดเขาให้ทัน ที่สำคัญคือช่วยให้เขาหยุดตัวเองทัน ที่สำคัญยิ่งกว่าคือช่วยให้เขารู้ว่าเขาหยุดตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องแย่งของกันและกันเสมอไป แล้วกล่าวชมทันที
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล