facebook  youtube  line

“คุณหมอคะ ทำไมหนูพูดอะไรลูกก็ไม่ฟังเลย”

3703
 

เพราะอะไรบ้านนั้นแม่เขาพูดอะไรลูกก็ฟัง บ้านนี้แม่พูดอะไรลูกก็ไม่ฟังนั่นสิ เพราะอะไรคำพูดของคุณแม่ไม่ศักดิ์สิทธิ์เอาเสียเลย

เพื่อจะตอบคำถามนี้ คือเพราะอะไรคำพูดของเราไม่ศักดิ์สิทธิ์เอาเสียเลย  เราควรทบทวนเรื่องต่อไปนี้ดูก่อน

เรื่องใหญ่ที่สุดและน่าจะเป็นปัญหาของแทบทุกบ้านคือเรื่องผู้ใหญ่ในบ้านพูดไม่ตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสำคัญที่สุดสองคนพูดไม่ตรงกัน

การที่คุณแม่ไม่สามารถธำรงตนเป็นเสาหลัก ของการพูดหรือคำสั่งสอน มักจะสร้างปัญหามากและมากขึ้นทุกขณะตามฤทธิ์เดชของเด็กที่กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้นทุกวัน  ทำอะไรต่อมิอะไรหรือฝ่าฝืนได้สารพัด

ดังนั้นกฎข้อแรกๆ คือทำให้เสียงของเรามีความศักดิ์สิทธิ์ในบ้านก่อนนะครับ วิธีการคือขอคุยกับคุณพ่อตรงๆ ว่าเราขอเรื่องหลักๆ อะไรบ้างที่เราสองคนควรพูดตรงกันหรือทำอะไรเหมือนกัน เช่น วินัยการกินข้าว วินัยการใช้มือถือ วินัยการเข้านอน เป็นต้น

โดยถือหลักเจรจาต่อรองและแลกกัน บางเรื่องหรืออาจจะหลายเรื่องที่เราจ่ายคืนคุณพ่อไป ให้เขาได้ทำอะไรตามใจแต่ไม่สร้างความเสียหายร้ายแรงกับใคร เพื่อขอแลกกับเรื่องใหญ่ๆที่จะมีผลต่อวินัยและพัฒนาการของลูกในวันหน้า

การขัดแย้งกันต่อหน้าลูกเป็นข้อห้าม จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของคำสอนหรือคำสั่งของพ่อแม่ลดลงทั้งคู่ ดังนั้นอยากจะทะเลาะกันเพียงใดควรอดใจสงบปากสงบคำไปหาที่ถกเถียงกันเป็นส่วนตัว แล้วเอาข้อสรุปมาให้ลูก

เป็นคู่สมรส ควรยอมกันไปยอมกันมาอยู่แล้ว ผิดๆ ถูกๆ บ้างเป็นเรื่องรอง

ท่องไว้เสมอว่าตอนนี้ลูกยังไม่กี่ขวบเลย ปัญหาที่ลูกจะถามหรือจะก่อจะมากกว่านี้อีกมากเมื่อเขาเข้าใกล้วัยรุ่นหรือถึงวัยรุ่นแล้ว ดังนั้นสองท่านฝึกเจรจาต่อรองพูดตรงกันเอาไว้ก่อนคือดีที่สุด

ความสามัคคีของพ่อแม่มิเพียงใช้ได้กับลูกแต่สามารถใช้ได้กับเสียงอื่นๆ ในบ้านที่เห็นไม่ตรงกันในการฝึกวินัยแก่เด็กๆ ได้แก่ ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา เป็นต้น

หลักการเหมือนกันกล่าวคือท่านเป็นบุพการีมีพระคุณแก่เรา อะไรเรายอมให้ได้ มีความเสียหายแก่ลูกเล็กน้อยเราก็ยอมไป เช่น ทำอาหารไม่สะอาด คิดเสียว่าท้องเสียรักษาได้ แต่ดูหน้าจอก่อนสองขวบหากโชคร้ายไม่พูดอีกเลยและรักษาไม่ค่อยจะได้ เช่นนี้เห็นทีจะถึงเวลาต้องแลกกัน

เราจะเอาทุกอย่างจากบุพการีก็เหมือนจะเอาทุกอย่างจากคู่สมรสหรือเด็กๆ เราทำไม่ได้ ชีวิตเต็มไปด้วยการแลกกันเสมอ เมื่อเรื่องใหญ่ๆ ตกเป็นของเรา ทั้งบ้านยอมเราหมด ลูกก็จะยินยอมด้วยครับ

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

 

Q&A กับ คุณหมอประเสริฐ "เรื่องไหนบ้างที่ต้องเข้มงวดกับลูก"

2419

Q&A กับ คุณหมอประเสริฐ "เรื่องไหนบ้างที่ต้องเข้มงวดกับลูก"

" หากความเข้มงวดที่คุณแม่ว่ามามี 3 อย่าง คือ เข้มงวดเวลากินข้าว เวลาเข้านอน และการดูทีวี กิจกรรมทั้งสามอย่างนี้ต้องการความเอาจริงเอาจังของพ่อแม่ ไม่มีการต่อรอง และสมควรเข้มงวด

สมัยใหม่อาจจะเพิ่มอีกข้อคือการนั่งคาร์ซีทก่อนออกรถในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปพ่อแม่จะดูแลกติกาเรื่องเวลากับพฤติกรรมพื้นฐาน ได้แก่ การกิน และการนอน เด็กที่รู้ว่าเวลากินคือกี่โมง วันละสามครั้ง ตามด้วยเวลาเข้านอนคือกี่โมง อย่างตรงเวลาทุกๆวัน

เด็กจะกำหนดหมุดหมายของชีวิตลงไปวันละ 4 จุดโดยไม่รู้ตัวแล้วความสามารถที่จะควบคุมตัวเองให้ทำตามกติกาจะมาโดยอัตโนมัติ รวมทั้งรู้ว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้

เวลาเป็นนามธรรม (abstract) ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา เด็กเล็กไม่รู้จักเวลา พ่อแม่ที่ชาญฉลาดจึงแปลงเวลาที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรม (concrete) ด้วยการวางนาฬิกามีเข็มเห็นเด่นชัดให้ลูกเห็นวันละ 4 ครั้งคือเวลากินข้าวและเข้านอน

ด้วยวิธีนี้เด็กๆจะเห็นเข็มสั้นและเวลาเริ่ม เข็มยาวและเวลาหยุด กินข้าวด้วยตนเองบนโต๊ะได้เมื่อเข็มยาวเดินจากขีดหนึ่งไปที่อีกขีดหนึ่งที่พ่อแม่ชี้ให้ดูด้วยนิ้วชี้  คำสั่งสอนของพ่อแม่บัดนี้กลายเป็นนิ้ว เป็นรูปธรรม

กินข้าวคือกินข้าวสถานเดียว ไม่เล่นบนโต๊ะอาหาร ไม่อ่านหนังสือและไม่ดูหน้าจอ เวลากินข้าวคือเวลากินและพูดคุยกับพ่อแม่ให้เสร็จใน 30-45 นาทีจนกระทั่งเป็นกติกาประจำชีวิต เข้านอนตรงเวลาทุกวันเมื่อเข็มสั้นและเข็มยาวเข้าที่ ประจำตำแหน่ง และนอนคือนอน ขึ้นเตียง ปิดไฟ และหลับตา ไม่ทำอย่างอื่นบนเตียงนอนจนติดเป็นนิสัยนอนไม่หลับ เพราะเตียงมิได้มีไว้นอนจนเป็นความเคยชิน

นอกเหนือจากการกลั้น และการกิน รวมไปถึงการนอน เด็กพัฒนาต่อไปจากศูนย์กลางของร่างกายเลื่อนออกมาถึงกล้ามเนื้อลายที่ต้นแขนต้นขาตามด้วยกล้ามเนื้อลายที่ปลายแขนปลายขา นี่คือกล้ามเนื้อใหญ่ของร่างกายที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของกล้ามเนื้ออย่างหยาบ (gross motor) เป็นอีกหนึ่งความสามารถที่จะมีมาเองอัตโนมัติโดยไม่ต้องสอน

วันหนึ่งเด็กจะตีพ่อแม่ได้ เตะปู่ย่าตายายได้ ขว้างอาหารบนจานทิ้ง วิ่งหนีพ่อแม่เมื่อพ่อแม่เรียกอาบน้ำ ดิ้นด้วยกำลังแรงเมื่อพ่อแม่จับแปรงฟัน ความสามารถของกล้ามเนื้อใหญ่ที่มีพลังมหาศาลนี้เกิดขึ้นเอง ที่เราสอนจึงเป็นเรื่องกฎ กติกา มารยาท อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ "

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล


 

กิจวัตรประจำวัน..สอนเด็กรู้วินัย

กิจวัตรประจำวัน -วินัย-เด็กอนุบาล- โรงเรียนอนุบาล- เด็กพิเศษ- สุขภาพเด็ก- พฤติกรรมเด็ก- โรคในเด็ก- กิจกรรมสำหรับเด็ก- พัฒนาสมอง 

กิจวัตรประจำวัน..สอนเด็กรู้วินัย

พ่อแม่ต้องสอนกิจวัตรประจำวันให้ลูกค่ะ เพราะกิจวัตรประจำวันสามารถสร้างและสอนวินัยลูกได้เป็นอย่างดี 

Routine for kids

7.00 น. ตื่นนอน

7.00-7.30 น. อาบน้ำ แต่งตัว

7.30-8.00 น. กินข้าวเช้า

8.00-8.30 น. ไปโรงเรียน


15.00-15.30 น. กลับจากโรงเรียน พักผ่อน กินของว่าง

15.30-16.30 น. ทำการบ้าน

16.30-17.00 น. เล่นของเล่น ดูทีวี ผ่อนคลาย

17.00-17.30 น. ช่วยคุณแม่ทำงานบ้าน

17.30-18.30 น. กินข้าวเย็น + นั่งพักผ่อน

18.30-19.00 น. อาบน้ำ

19.00-20.00 น. อ่านนิทาน นั่งล้อมวงคุยกันในครอบครัว เตรียมการเรียนในวันต่อไป

20.00-20.30 น. ไหว้พระ สวดมนต์ เตรียมตัวเข้านอน

หมายเหตุ : ตารางนี้เป็นตัวอย่างของกิจวัตรประจำวันที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้กับครอบครัวตนเองได้ โดยสามารถย่อหย่อนให้ลูก 15-20 นาที ตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัวได้ค่ะ


ตารางที่เห็นอยู่นี้ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ และถ้าทำสำเร็จ จะสร้างลูกที่มีวินัยได้

มาดูกันว่า ตารางกิจวัตรประจำวันที่กล่าวมาในข้างต้นนั้นจะสร้างวินัยให้ลูกได้อย่างไร

Routine สร้างวินัย

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะจัดการชีวิตประจำวันให้เป็นไปตามตาราง แต่เด็กอนุบาลเริ่มเป็นวัยที่มีกิจวัตรประจำวันที่ซับซ้อนขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าลูกไม่ได้รับการปลูกฝังที่ดีพอ ก็อาจจะส่งผลกระทบกับวินัยและการจัดการในชีวิตประจำวันในอนาคตต่อ ๆ ไปของเขาได้

ซึ่งวินัยที่เราจะฝึกให้ลูกได้ตั้งแต่วันนี้ ควรเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใกล้ตัวเขาค่ะ เพราะจะช่วยให้ลูกเข้าใจคำว่า “วินัย” ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • ฝึกลูกให้กินเป็นเวลา

จะช่วยให้ลูกรู้จักการรอคอย สอนให้มีระเบียบวินัย และรู้จักเวลามากยิ่งขึ้น เพราะลูกจะรู้ว่าช่วงเวลาไหนเป็นเวลาที่ควรจะกินมื้อหลัก เวลาไหนเป็นเวลาของว่าง และช่วงเวลาไหนที่ไม่ควรจะกินอะไรเลย

นอกจากจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การกินอาหารให้เป็นเวลายังช่วยลดภาระงานของคุณแม่ ในการเก็บล้างภาชนะบ่อยครั้ง ได้อีกด้วย

  • ใช้ชีวิตตามเวลา

ไม่ว่าจะเป็นการทำการบ้าน การรับผิดชอบหน้าที่ส่วนตัว หรือแม้กระทั่งการให้ลูกได้ช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้านเช่นการเก็บข้าวของ การเก็บจานหลังกินข้าวเสร็จ การช่วยคุณแม่เก็บเสื้อผ้า ฯลฯ เหล่านี้จะช่วยควบคุมความอยาก หรือความต้องการของลูกได้ดีขึ้น

ทั้งนี้หากเด็กๆ ไม่สามารถควบคุมตนเองและไม่สามารถรับผิดชอบหรือจัดการงานที่ได้รับมอบหมายได้ ต่อไปก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการเรียน และหน้าที่การงานของเขาได้ค่ะ

  • นอนและตื่นให้ตรงเวลา

เด็กๆควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้ต่อมใต้สมองได้ผลิตโกรว์ทฮอร์โมนออกมาอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกัน การที่เด็กได้นอนหลับในช่วงเวลา 2 ทุ่มจนถึง 7 โมง จะช่วยให้ลูกไม่รู้สึกง่วง หรืองอแงไม่อยากตื่น

เพราะหากลูกนอนหลับไม่เพียงพอ อารมณ์ก็จะไม่แจ่มใส และไม่สามารถจัดการตัวเองได้ ทำให้เขาพลาดโอกาสที่จะได้แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว หรือทำอะไรด้วยตัวเอง ที่สุดแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็จะเป็นคนจัดการให้ลูก ยิ่งสร้างความหงุดหงิดเพิ่มขึ้นอีก

 
ปลูกวินัยให้ลูกรัก...ไม่ยาก

ทำด้วยกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยให้ลูกไม่รู้สึกว่าตนเองนั้นถูกบังคับ และเมื่อเขาทำได้สำเร็จคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องชมเชย หรือให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เพื่อไม่ให้ลูกติดรางวัล เช่น ให้ลูกเป็นคนเลือกสถานที่ที่เขาอยากเที่ยว หรือให้ในสิ่งที่เขาอยากได้ เป็นของเล่นเล็กๆ น้อยๆ ที่ราคาไม่แพง

การทำตามกรอบเพื่อให้ลูกเข้าใจความหมายของเวลา และรู้จักการรอคอย เพราะหากลูกไม่ได้ฝึกก็จะไม่รู้จักการอดทนรอคอย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะฝึกให้ลูกลูกดูเข็มนาฬิกา หรือนั่งนับวินาทีในช่วงเวลารถติด เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจเวลาและการเผื่อเวลาได้

การสอนวินัยให้กับลูกนั้นไม่ยากเลย เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องปฏิบัติตาม ตารางของตนเองอย่างเคร่งครัด แต่ก็ผ่อนปรนได้บ้างตามสถานการณ์ละความเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับกิจวัตรประจำวันของเจ้าตัวน้อย และจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกด้วย

..........................................................................................................................................................

เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ อาจารย์แพทย์หญิงดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

 

ฝึกวินัยให้ลูกเริ่มได้ตั้งแต่ลูกวัยเตาะแตะ

4183

 

การฝึกวินัยให้ลูกสามารถเริ่มง่ายๆ ตั้งแต่ลูกวัยเตาะแตะ โดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ปฏิบัติ และใช้สถานการณ์ในบ้านเป็นเครื่องมือที่ดีในการฝึกหัด เด็กวัยเตาะแตะนี้จะเรียนรู้ผ่านการเล่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงสามารถฉวยโอกาสนี้มาฝึกวินัยให้ลูกซะเลย ซึ่งการเก็บของเล่นเข้าที่หลังเล่นเสร็จแล้วจะเป็นการฝึกให้ลูกเป็นเด็กมี ระเบียบวินัย และยังเป็นการปูทางไปสู่การฝึกมารยาทในการเล่นกับคนอื่น รวมไปถึงมีน้ำใจช่วยคนอื่นเก็บสิ่งของอีกด้วย

สอนลูกให้รู้จักเก็บของ ค่อยๆสอน ค่อยๆฝึกอย่างไรดี

หากลูกเกิดอาการเกเร ไม่สนใจ งอแง ไม่ยอมเก็บของเล่นที่วางเกลื่อนกราดอยู่ในห้องแล้วล่ะก็ คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นไว้ก่อน อย่าเพิ่งโมโห บังคับ หรือทำโทษลูก เพราะบางครั้งการที่ลูกไม่ทำตามสิ่งที่คุณต้องการ อาจเป็นเพราะเขากำลังเพลิดเพลิน หรือกำลังมีสมาธิอยู่กับของเล่นตรงหน้า ทางที่ดีควรค่อยๆ ฝึกฝนลูกอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่คาดหวังมากจนเกินไป เพราะถึงอย่างไร ลูกก็เป็นเพียงเด็กเล็กๆ ที่รักการเล่นมากกว่าสิ่งอื่น

คุณอาจจะให้เวลากับลูกสักพักรอจนเขาเริ่มเบื่อของเล่นแล้วค่อยๆ ตะล่อมให้เขาเก็บ บอกเกริ่นกับลูกล่วงหน้าว่า เดี๋ยวลูกต้องเลิกเล่นเพราะต้องไปอาบน้ำนะ อย่าลืมเก็บของเล่นก่อนล่ะ ใช้เรื่องอื่นเป็นสิ่งล่อใจ เช่น เก็บเสร็จแล้วเราไปอ่านหนังสือนิทานกันต่อ เป็นต้น ยึดหลักสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำบ้างไม่ทำบ้าง คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่าง เก็บให้ดู อย่าลืมชื่นชม ให้กำลังใจเมื่อลูกทำได้ หากล่องหรือลังใบใหญ่ สีสันสดใส เพื่อดึงดูดใจ

ลูก “ดื้อ” รับมือให้ได้



3095

คุณหมอครับ คำถามอะไรที่คุณหมอได้รับบ่อยเป็นอันดับ 1 ?

"ดื้อ" คือคำตอบสุดท้าย

ดื้อแปลได้มากมาย โดยรวมๆ คือพูดไม่ฟัง มากกว่านี้คือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ยกตัวอย่างเช่นพฤติกรรม x y หรือ z ยกตัวอย่างไปเถอะ
การจัดการเด็กดื้อแต่โบราณเราใช้หลักการของจิตวิทยาคลาสสิกคือการวางเงื่อนไข (conditioning) ได้แก่การทำโทษ การเพิกเฉย และการให้รางวัล

การทำโทษ มีหลายวิธี ดุ ด่า กักขัง ตี เหล่านี้เราพบว่าไม่ได้ผลดีเท่าไรนัก สร้างบาดแผลและมักทำให้พฤติกรรม xyz หายไปชั่วคราว มันจะกลับมาใหม่ด้วยความซับซ้อนและร้ายกาจกว่าเดิมเสมอ ไม่นับว่าการตีเด็กในหลายประเทศผิดกฎหมาย ครูตีก็ผิด พ่อแม่ตีก็ผิด

การเพิกเฉย มีตั้งแต่ทำไม่เห็นรอเขาหายเองไปจนถึงการไทมเอาท์สมัยใหม่บางตำราแผลงเป็นไทมอินเพื่อเน้นย้ำว่าเรามิได้กักขัง ทอดทิ้ง หรือเดินหนี ไทมเอาท์เท่ากับการนั่งลงเป็นเพื่อน สงบสติด้วยกัน รอเขาสงบลง แล้วจึงปลอบหรือกอด ทำให้เด็กรู้ว่ากริยาเมื่อสักครู่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เขาก็จะค่อยเรียนรู้และเลิกทำในที่สุด

การให้รางวัล เป็นวิธีที่ดี ช่วยให้เด็กรู้ว่าควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไรเด็กจะพัฒนาจากการทำความดีเพราะพ่อแม่ปลื้มไปจนถึงทำความดีเพราะเป็นเรื่องสมควรทำตามพัฒนาการของวิธีคิดเชิงรูปธรรมไปสู่นามธรรม  การทำความดีมีข้อแม้อยู่บ้างแต่โดยรวมๆ เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดี ดีมากเมื่อเราชมเชยให้มากกว่าตำหนิ จะช่วยให้เด็กมีเซลฟ์เอสตีมรู้ว่าตนเองทำดีก็ได้มิได้แย่เสมอไป แล้วทิศทางพัฒนาการจะไปในทางที่ดีเอง

จิตวิทยาคลาสสิกเริ่มอ่อนกำลังลง มาถึงจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) จิตวิทยาเชิงบวกใช้หลักการเคารพและเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์  ประกอบด้วยวิธีการต่างๆ ที่ช่วยให้เด็กได้เห็นความสามารถของตนเอง การกำหนดทางเลือกการตัดสินใจ แล้วรับผลลัพธ์ที่ตนเองเลือก ล่วงรู้อารมณ์ตนเอง แล้วพัฒนาต่อไป

จิตวิทยาเชิงบวกมิใช่การพูดหวานๆ แต่เป็นศาสตร์ที่มีหลักการและวิธีการที่จำเพาะ ชัดเจน และได้ผล ต้องการผู้เชี่ยวชาญที่รู้จริงช่วยชี้แนะ
แล้วเราก็มาถึงยุคที่ชีวิตมีทางเลือกมากมายเพราะไอที เด็กจะเลือกทำหรือไม่ทำ จะไปหรือไม่ไป กลายเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่จะเข้าไปกะเกณฑ์บังคับเหมือนสมัยก่อน 

เด็กสมัยใหม่ควรได้รับการพัฒนาให้ควบคุมตนเองได้ บริหารความจำใช้งานได้ดี แล้วคิดยืดหยุ่นได้หลากหลาย จากนั้นนำพาชีวิตของตนเองไปสู่จุดหมายที่ตนเองกำหนด คือ Executive Function(EF)

หากเด็กคนหนึ่งควบคุมตนเองและคิดยืดหยุ่นได้  พ่อแม่สมัยใหม่จะยินดีนั่งดูมากกว่าเข้าไปบังคับ ยินดีเดินตามแล้วคอยแนะนำหรือช่วยเหลือตามความจำเป็น  

เช่นนี้คำว่าดื้อก็จะเลือนหายไป

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

 

ลูกมีมือถือของตัวเองได้เมื่อไร

3203

 

ต่อคำถามที่ว่าเราควรให้ลูกมีมือถือของตนเองเมื่อไร หรือเราควรให้มือถือแก่ลูกเมื่อไร ควรใช้หลักการลูกดูแลตนเองและพื้นที่สาธารณะได้เมื่อไร ทบทวนหลักการดูแลตนเอง ให้สอนและประเมินความสามารถในการดูแลตนเอง 4 พื้นที่จากร่างกายของตนเองเป็นศูนย์กลางขยายออกไปรอบตัว

พื้นที่ที่ 1 ดูแลร่างกายของตนเองได้ เรื่องพื้นฐานได้แก่ กินข้าวด้วยตนเอง อาบน้ำและแปรงฟันด้วยตนเอง
พื้นที่ที่ 2 ดูแลพื้นที่รอบตนเองได้ได้แก่สมบัติของตนเอง เช่น เก็บของเล่น เก็บที่นอน เก็บจานไปล้าง
พื้นที่ที่ 3 ดูแลพื้นที่ที่ขยายออกไปอีก นั่นคือทำงานบ้าน เช่น กวาดบ้านถูบ้าน ล้างจานเก็บจาน ซักผ้าตากผ้า และรวบขยะทั้งบ้านไปเทหน้าบ้าน
พื้นที่ที่ 4 ดูแลหน้าบ้าน นอกบ้าน และที่สาธารณะ ได้แก่ดูแลขยะหน้าบ้านให้เรียบร้อย หน้าบ้านสะอาด รอบบ้านสะอาด ไปนอกบ้านรู้จักเข้าคิว ข้ามถนนบนทางม้าลาย ไม่ทิ้งขยะลงบนถนน ไม่ส่งเสียงดังในที่สาธารณะ เป็นต้น

จะเห็นว่ากว่าที่เราจะสอนและฝึกลูกให้ทำงานบนพื้นที่ทั้งสี่จากในไปนอกนี้ได้สำเร็จเด็กๆจะพัฒนา Executive Function(EF) สำเร็จด้วย  เพราะงานทั้งหมดที่เล่ามาไม่สนุกและยากลำบากอีกทั้งเสียเวลาเล่น  เด็กๆ ไม่สามารถทำได้หากไม่มีความสามารถหลัก 3 ประการของ EF คือ
ควบคุมตนเองซึ่งประกอบด้วยความตั้งใจมั่น ไม่ว่อกแว่ก และอดเปรี้ยวไว้กินหวาน
บริหารความจำใช้งาน
คิดยืดหยุ่น

อาจจะเขียนใหม่ได้ว่าเด็กควรมี 3 วิชาพื้นฐานแล้วเรียบร้อยนั่นคือ ลำบากก่อนสบายทีหลัง ถอนตัวจากความสนุก และอดทนทำงานที่ไม่ชอบได้จนสำเร็จ เพราะการทำงานต้องใช้ความสามารถ 3 ประการนี้แน่

การมีมือถือของตนเองแล้วเด็กสามารถรับผิดชอบเครื่องมือชิ้นนี้ได้ ใช้มันเพื่อการเรียนรู้และเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของตนเอง มิใช่ถูกมันใช้ หรือถูกมันกลืนกิน หรือถูกมันดึงดูดเข้าหาโดยไม่ลืมหูลืมตา
ไปจนถึงสามารถใช้มันตามกติกาสังคม เช่น ไม่เปิดมือถือในที่ห้ามเปิด ไม่คุยโทรศัพท์ในที่ห้ามคุย ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากจนเป็นอันตรายต่อตนเองไปจนถึงเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เช่น ไม่แอบถ่ายรูปคนอื่น ไม่ใช้รูปภาพหรือบทความของผู้อื่นโดยไม่บอกกล่าวหรือไม่ขออนุญาตหรือบอกที่มาที่ไปไปจนถึงไม่กลั่นแกล้งผู้อื่นด้วยกลไกของโซเชียลเน็ตเวิร์ค

อย่าลืมว่าการฝึกทำงานทำได้ด้วยหลักการพื้นฐาน 4 ข้อคือทำให้ดู จับมือทำ ทำด้วยกัน และปล่อยเขาทำ เราคอยให้กำลังใจและชมเชยเมื่อเขาทำได้

ก่อนให้มือถือแก่เขาเราควรมีกติกาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าจำนวนหนึ่งด้วย กติกาเหล่านี้มีอะไรบ้างขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละบ้าน ข้อสำคัญคือให้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าซึ่งเด็กๆ มักจะทำตามโดยง่าย  อย่าประมาทที่จะปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุแล้วค่อยมาตกลงกติกาทีหลัง เพราะมักจะสายเกินแก้

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

 

สอนอะไรลูกก็ไม่ยอมเชื่อฟังแม่เลย

3438

สอนอะไรลูกก็ไม่ยอมเชื่อฟังแม่เลย เพราะสามีคอยตามใจตลอด ทะเลาะกัน ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เครียดมากค่ะ

วิชาจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ รวมทั้งจิตวิเคราะห์มีหลักการพื้นฐานอยู่ เหมือนการแพทย์ทุกสาขาถ้าเราไม่ละเมิดหลักการพื้นฐาน เรื่องต่างๆจะเดินหน้าไปเองตามครรลองที่ถูกต้อง หากจะมีอะไรเกิดขึ้นนอกเหนือความคาดหมายบ้างก็เป็นธรรมดาของชีวิตคนเราที่มีความผันผวนได้ แต่ก็จะไม่มากนักหรือไม่รุนแรงจนเกินไป

การเลี้ยงลูกก็เช่นกัน มีหลักการพื้นฐานที่หากบ้านใครทำได้เรื่องก็จะง่ายขึ้นมาก หนึ่งในหลักการพื้นฐานสำคัญคือคือเรื่องสามเหลี่ยมครอบครัว เรามาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง

หลักการนี้มีอยู่ว่าพ่อแม่ควรรักกันมากที่สุด สมมติว่ารักกันมากเท่ากับ 3 กิโลกรัม จากนั้นจึงส่งความรักไปที่ลูกคนละ 1 กิโลกรัมก็พอ

ที่ไม่ควรทำคือรักลูกมากกว่าคู่สมรส หรือรักลูกด้วยจำนวนกิโลกรัมที่ไม่เท่ากัน เช่น พ่อรักลูก 1 กิโลกรัม แต่แม่รักลูก 5 กิโลกรัม เช่นนี้สามเหลี่ยมจะเสียสมดุล คู่สมรสมักจะหมดพลังอย่างรวดเร็ว
 


หลักการพื้นฐานข้อที่ 2 คือพ่อแม่สามัคคีกันไว้ก่อน

หลักการนี้คือเรื่อง coordination คือพ่อแม่พูดตรงกันเสมอต่อหน้าลูก โดยไม่พะวงมากเกินไปว่าอะไรถูกหรือผิด ที่ควรทำคือควรรอมชอมและโอนอ่อนให้ผลัดกันทดลองกันได้บ้าง ผิดๆ ถูกๆ มิควรเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในตอนแรกๆ

โลกสมัยใหม่ มีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกมากมายที่ไม่มีคำตอบขาวหรือดำ เต็มไปด้วยอาจจะ เป็นไปได้ คือความน่าจะเป็น ดังนั้นคู่สมรสควรผลัดกันได้ทำสิ่งที่ตนเองเห็นว่าถูกได้ แต่ที่สำคัญคือต้องประเมินผลด้วย เช่น ให้ลูกเล็กดูทีวีไป 1 เดือนแล้วเขากลายเป็นหุ่นยนตร์ไปแล้ว ก็ต้องเลิก เป็นต้น

การที่พ่อแม่ปรองดองกันตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหน้าลูกจะทำให้ลูกรู้ว่าบ้านนี้เทพเจ้าเป็นใหญ่อยู่สององค์ และสององค์นี้รักกันมาก ทำให้ลูกเรียนรู้ได้ว่าไม่สามารถต่อรองอะไรได้มากนัก จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเลี้ยงดูไปจนถึงอบรมสั่งสอนลูกไปได้นานมากกว่า เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นจะเชื่อฟังพ่อแม่มากกว่า

การที่พ่อแม่ขัดแย้งกันตลอดเวลา ทำให้ลูกเรียนรู้วิธีต่อรอง อีกทั้งลูกเรียนรู้ว่าพ่อแม่ไม่มั่นคง ไม่แม้แต่จะมั่นใจว่าคำแนะนำหรือคำสั่งสอนที่ให้มานั้นดีจริงหรือเปล่า มีเหตุผลสมควรหรือเปล่า ลูกที่ชาญฉลาดจะไปถึงระดับเล่นการเมืองภายในบ้านได้ด้วย ก็อยากได้ลูกฉลาดดีนัก

มีคำแนะนำน้อยมากที่ชัดเจน เช่น ห้ามดูทีวีก่อน 2 ขวบ เป็นต้น อะไรเช่นนี้พ่อแม่ควรศึกษาหาความรู้ร่วมกัน อย่างไรก็ตามหากฝ่ายหนึ่งดึงดันจะทำอะไรที่เป็นความเสี่ยง อีกฝ่ายหนึ่งต้องตัดสินใจว่าจะยินยอมหรือไม่

ชีวิตคู่ที่อยู่ด้วยกันเห็นหน้ากันทุกวันทุกคืนนั้นต้องการการรอมชอมและประนีประนอมมาก ไม่มากก็น้อยที่เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเขา  แต่ก็มีบางเรื่องที่เราไม่อาจจะยินยอมได้เพื่อเรา  ไม่มีคำตอบตายตัวกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้  มีแต่คนสองคนที่จะต้อง “พยายามเรียนรู้จักกันทุกวันทุกคืน” ว่าเราจะแลกเปลี่ยนกันอย่างไร

จึงจะมีความสุขชั่วกัลปาวสานพร้อมลูกที่น่ารัก เชื่อฟัง และดูแลตนเองได้ในอนาคต

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

 

หนักใจ พี่น้องชอบทะเลาะกัน

3103

 ขอปรึกษาเรื่องพี่น้องชอบทะเลาะกันอีกครั้งได้ไหมคะ หนักใจมากๆ ค่ะ

ก่อนอื่น ขอเราตรองดูสักนิด  ลูกๆ ทุกคนจะได้อยู่ด้วยกันรักกันและตีกันในบ้านของเราถึงประมาณอายุ 18 ปีคือจบมอ 6

บางบ้านจบ ม 3 ก็ไปเรียนที่ไกลแล้ว  บางบ้านอาจจะได้อยู่จนถึงรับปริญญาตรีถึงจะได้ไปเรียนที่ไกล  แต่ส่วนมากขนของออกไปอยู่หอพักกันเมื่อเข้าอุดมศึกษาปีที่ 1

คิดดูดีๆ ว่าหลังจากนั้นพวกเขาจะไม่ได้อยู่ใต้ชายคาเดียวกันอีกเลย  เรามีเวลาประมาณมากกว่าสิบปีที่จัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย  ก่อนที่พวกเขาจะเหินห่างกันทางกายภาพตลอดไป

หลักการอย่างสั้นที่สุดน่าจะเป็นว่า “ความรักที่แท้เกิดจากการร่วมทุกข์ร่วมสุข”

พี่น้องทะเลาะกันแบ่งเป็น 2 กรณี

กรณีที่หนึ่ง พี่น้องทะเลาะกันโดยมิได้ทำร้ายร่างกาย
ในกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่มิควรรีบร้อนเข้าไปไกล่เกลี่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิควรรีบร้อนเข้าไปสืบสาวหาความว่าเกิดอะไรขึ้น มากไปกว่านี้คือพยายามค้นหาว่าใครเป็นคนเริ่มต้นก่อน หรือแม้กระทั่งใครทำอะไร

เพราะไม่ว่าท่านจะพูดหรือถามอะไร ท่านไม่สามารถสร้างความพึงพอใจหรือยอมรับของคู่กรณีได้เลย คนหนึ่งจะไม่ยอมรับ โต้เถียง ไปจนถึงเก็บความน้อยเนื้อต่ำใจเอาไว้เสมอไม่ว่าเรื่องจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม คำตอบต่อคำถามที่ว่าใครเริ่มก่อนไม่เป็นจริงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว หลายครั้งที่ไม่มีใครรู้ว่าใครเริ่มก่อนด้วยซ้ำไปแม้แต่เจ้าตัวเอง

ที่เราควรทำคือรอสักพัก และเปิดโอกาสให้พี่น้องได้เจรจาต่อรองหรือแม้กระทั่งฝึกทักษะการโต้เถียงกันเอง หาทางออก หรือสงบสติอารมณ์กันเอง อย่าลืมว่าเรามีเวลาอีกหลายปีที่จะให้พวกเขาได้ฝึกทักษะการอยู่ร่วมกัน ผลัดกันให้ผลัดกันเสีย ผลัดกันรุกผลัดดันรับ

ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าความรักระหว่างพี่น้องเกิดจากการร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นเวลานานพอสมควร และ มิได้เกิดจากคำสั่งของพ่อแม่ให้ใครรักใครหรือใครต้องเสียสละให้ใคร ไม่ว่าจะเป็นพี่ผู้เสียสละหรือน้องผู้เสียสละก็ตาม

กรณีที่สอง คือพี่น้องทำร้ายร่างกายกันและกัน
การทำร้ายร่างกายเป็นข้อห้ามพื้นฐานของมนุษย์ ระหว่างพี่น้องเราห้ามทำร้ายร่างกายด้วย หากเกิดเหตุคุณพ่อคุณแม่ควรละทิ้งงานตรงหน้าแล้วเข้าไปหยุดทันที แยกพี่น้องออกจากกัน
ดีที่สุดคือพาออกจากพื้นที่เกิดเหตุไปนั่งสงบสติอารมณ์ที่อื่น บอกพวกเขาว่าเมื่อเย็นลงแล้ว ให้ออกมาเล่นด้วยกันใหม่ อาจจะย้ำไปด้วยก็ได้ว่า แม่ชอบให้เล่นด้วยกัน
 


นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล


 

เมื่อพ่อแม่มีอยู่จริง การอ่านนิทานฝึกนิสัยจะได้ผลดี

3067

การอ่านนิทานเชื่อมโยงกับการฝึกวินัย ฝึกทักษะชีวิตอย่างไรได้บ้าง?

พูดเสมอคือพ่อแม่เป็นผู้อ่านนิทานด้วยตนเอง สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง ผลที่ได้คือพ่อแม่ที่มีอยู่จริงเมื่อเรามีอยู่จริงแล้วจะพูดอะไรก็ฟัง จะฝึกวินัยอะไรก็ง่าย

นอกเหนือจากตัวเราที่มีอยู่จริงแล้ว ยังมีสายสัมพันธ์ สายสัมพันธ์เปรียบเหมือนเส้นใยหรือเชือกที่เชื่อมระหว่างเราและลูก (จะพูดว่าล่ามก็ได้แต่อาจจะฟังดูไม่ไพเราะเท่าใดนัก) เมื่อมีเชือกจูงเสียแล้ว (ไม่ไพเราะจนได้) จะสอนหรือฝึกอะไรลูกก็ทำได้โดยง่าย
 
โดยทั่วไปเราอยากให้อ่านนิทานที่เปิดกว้างให้เด็กได้คิดต่อ เพราะความคิดที่เสรีจะมีคุณต่อเด็กในอนาคตมาก การอ่านนิทานหมวดคำสั่งสอน หรือฝึกวินัย ฝึกทักษะ มักได้เฉพาะเรื่องเฉพาะกิจ แต่ถ้าชอบหรือจำเป็นก็ทำได้
 
เมื่อพ่อแม่มีอยู่จริง การอ่านนิทานฝึกนิสัยก็จะได้ผลดี ด้วยกลไกที่พ่อแม่มีอยู่จริงพูดอะไรก็น่าเชื่อถือน่าติดตาม อีกกลไกหนึ่งเราเรียกว่ากลไกสวมรอยตัวละครในนิทาน คือ identification ว่าที่จริงแล้วกลไกการสวมรอยจะทำงานได้ดีเมื่ออายุประมาณ 3 ขวบขึ้นไป นั่นแปลว่าจะอย่างไรก็อาจจะต้องรอให้พ่อแม่มีอยู่จริงเสียก่อน ตามด้วยตนเอง (คือ self)ที่มีอยู่จริง ซึ่งบอกเป็นนัยว่าเด็กมีอีโก้ (คือ ego)แล้ว จึงจะสวมรอยได้ เพราะหน้าที่สวมรอยหรือ identification นี้เป็นหน้าที่ของอีโก้  เราเรียกว่า ego function
 
อ่านนิทานหนูนิดติดเกมหนูแป๋งแปรงฟัน หนูไก่ไม่นอน พฤติกรรมที่เห็นได้ด้วยตานั้นอ่านให้เด็กๆ สวมรอยได้ไม่ยาก มีนิทานเช่นนี้มากมายในท้องตลาด
 
อ่านนิทานหมีน้อยขี้กลัว หมาป่าตาร้อน นกน้อยขยันยิ่ง ลักษณะนิสัยเหล่านี้มิได้เห็นด้วยตาเปล่า ไม่สามารถบรรยายได้ด้วยภาพเพียงภาพเดียวแต่ต้องใช้เนื้อเรื่องทั้งเล่ม การสวมรอยก็จะยากขึ้นอีกระดับเพราะเด็กต้องตั้งใจจดจ่อและบริหารความจำใช้งานได้นานพอจนจบเล่มจึงจะเข้าใจ มีนิทานเช่นนี้ในท้องตลอดมากมายเช่นกัน

ขึ้นชื่อทักษะคือ skills เป็นเรื่องต้องฝึก มิได้มาเอง ทักษะชีวิตก็เช่นกัน ทักษะย่อยๆ เช่น การกิน แปรงฟัน การนอน เหล่านี้ควรได้รับการฝึกในเวลาไม่นานหลังการอ่าน เช่น อ่านคืนนี้ พรุ่งนี้ทดลองฝึกได้เลย เด็กมักให้ความร่วมมือดีกว่าเพราะแม้แต่หนูนิด หนูแป๋ง และหนูไก่ก็ทำได้ แม่ในนิทานเป็นปลื้มแม่ในชีวิตจริงก็ควรจะปลื้มเช่นกัน
 
มิใช่อ่านเสร็จแล้วปล่อยพี่เลี้ยงฝึก หรือยกให้ปู่ย่าตายายฝึก หมีน้อย หมาป่าน้อย นกน้อยนิสัยดีก็ควรได้รับการฝึกฝนหลังการอ่านได้ไม่นานนัก ซึ่งแปลว่าอาจจะไม่ต้องรอเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นเพราะไม่รู้เราจะพบแมงมุมตัวต่อไปเมื่อไร แต่เราฝึกได้ในวันรุ่งขึ้นด้วยการเล่นสมมติ การเล่นสมมติหรือการเล่นละครเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้เสมอหากพ่อแม่จะมีเวลาและเห็นความสำคัญที่จะลงไปเล่นด้วยตนเอง
 
อ่านปุ๊บฝึกปั๊บน่าจะดีที่สุดครับ


นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล