
ข้อห้ามเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ไม่ให้ดูหน้าจอใดๆ มีข้อยกเว้นเรื่องการคุยผ่านหน้าจอกับพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย แม้ว่าจะไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนนักว่าเพราะอะไรจึงอนุญาต แต่สมมติฐานเป็นดังนี้
การคุยผ่านหน้าจอกับปู่ย่าตายายไม่เหมือนหน้าจออื่นๆ ที่ความเร็วของการเปลี่ยนภาพ คลิปหนัง หนังโฆษณา การแสดงดนตรี หรือแม้กระทั่งสารคดีชีวิตสัตว์ เหล่านี้มักเปลี่ยนภาพหน้าจอรวดเร็วเพื่อตรึงคนดูให้ดูจนจบหรือมิให้เปลี่ยนไปช่องอื่นโดยง่าย
ความเร็วนั้นเองที่สร้างปัญหาต่อการพัฒนาเซลล์สมองและวงจรประสาท กล่าวคือเด็กเล็กอาจจะพัฒนาสมองเพื่อจับเฉพาะภาพที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เรื่องอื่นๆ ไม่สนใจ
การคุยผ่านหน้าจอมักเป็นภาพที่ค่อนข้างนิ่ง ภาพที่ค่อนข้างนิ่งนั้นเป็นภาพใบหน้าของคนที่เด็กคุยด้วยค่อนข้างชัดเจน ฉากหลังก็มักจะนิ่งไม่มีอะไรน่าสนใจ ในแง่นี้เด็กมีเวลาจับภาพใบหน้าคนนานพอสมควร คือวงกลมสองวงมีสันจมูกตรงกลางและมีริมฝีปากเรียวโค้งด้านล่าง แม้ว่าภาพที่เห็นจะเป็นภาพดิจิตอลสองมิติแต่ก็ยังดีกว่าภาพเคลื่อนไหวอื่นๆ อย่างไรก็ตามภาพใบหน้าแม่สำคัญที่สุด
ดังนั้นแม้ว่าจะไม่มีข้อห้ามเรื่องการคุยผ่านหน้าจอแต่มีข้อควรใส่ใจบางประการ
1.กำหนดเวลา เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเด็กเล็กควรเป็นไปเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ และการประสานงานระหว่างสายตาและกล้ามเนื้อ ดังนั้นแม้ว่าปู่ย่าตายายจะคิดถึงหลานมากแต่ควรแจ้งให้ท่านทราบว่าเราจะกำหนดระยะเวลา คำแนะนำทั่วไปคือไม่ควรเกินวันละ 15-30 นาที ดังนั้นปู่กับย่าหรือตากับยายแบ่งคนละครึ่งให้เรียบร้อย
2.ความสม่ำเสมอ เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของปู่ย่าตายายเอง กล่าวคือเด็กๆเรียนรู้จากความสม่ำเสมอ-เสมอ หากปู่ย่าต้องการให้หลานจำตัวเองได้รวดเร็ว แม่นยำ รับรู้ว่าเรามีอยู่จริง เราควรกำหนดเวลาติดต่อให้ตรงเวลาทุกวันหรือทุกสัปดาห์ วยวิธีนี้เด็กมักเรียนรู้และจดจำได้ว่าเมื่อถึงเวลาใครกันที่จะโผล่หน้ามา และหัวเราะเอิ้กๆ ได้เป็นที่ชอบอกชอบใจ
3.เวลาที่กำหนดไว้ควรเป็นเวลาที่เด็กผ่อนคลาย ว่างๆ อยู่กับที่ มิใช่เลือกเวลาหิวหรือง่วงนอน พอเด็กไม่สนใจปู่ย่าตายายกลับจะกลายเป็นโทษให้เราหงุดหงิดหรือเสียใจได้โดยประมาท
4.เราเองควรเตรียมเครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้พร้อมก่อนการเริ่มพูดคุย เช่น หากต้องการอวดของขวัญ หนังสือ ของเล่น ขนม หรืออะไรก็ตามให้เตรียมไว้ข้างตัวให้พร้อมแล้วหยิบขึ้นมาอวดหลานได้ในทันที มิใช่มัวแต่เดินหารอบบ้านกลับมาอีกทีหลานหลับไปแล้วหรือหลานเลิกสนใจไปแล้วต้องมาบิวด์กันใหม่อีก
5.ฝึกพูดหน้าจอด้วยตาสบตาให้คล่อง อย่าลืมว่าเวลาพูดผ่านหน้าจอให้จับจ้องที่กล้องมิใช่จับจ้องที่ใบหน้าคนที่พูดด้วย หากปู่ย่ามัวแต่จับจ้องใบหน้าหลานหลานจะพบว่าปู่ย่ามิได้มองมาแบบตาสบตา อาจจะทำให้เด็กขาดความสนใจได้ ทั้งนี้ยังไม่นับว่าการสื่อสารด้วยตาสบตาเป็นเรื่องสำคัญมากในเด็กเล็ก การกลับจะกลายเป็นว่าปู่ย่าสอนให้เด็กพูดแบบตาไม่มองตาไปเสียฉะนั้น
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

ง่ายที่สุดควรไปที่เว็บไซต์หรือเพจของกลุ่มโฮมสคูลตรงๆ ได้เลยนะครับ มีคำแนะนำทั้งทางธุรกรรม วิชาการ และวิธีเริ่มต้น
โฮมสคูล(homeschool) คำสั้นๆ นี้มักหมายถึงบ้านเรียนเต็มรูปแบบ กล่าวคือไม่ไปโรงเรียนเลย อยู่บ้านเต็มเวลา เรียนหนังสือที่บ้าน แต่เชื่อได้ปัจจุบันไม่มีใครเขาเรียนหนังสือที่บ้านกันแล้ว เด็กๆ โฮมสคูลจะเรียนรู้ที่บ้าน การเรียนหนังสือเป็นเรื่องรอง การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้
ข้อกล่าวหาที่มักได้ยินคือพ่อแม่โฮมสคูลมักรวย อย่างน้อยคือรวยมากพอที่คนหนึ่งไม่ต้องออกไปทำงานและอยู่บ้านเต็มเวลา เข้าใจว่าข้อนี้คนบ้านเรียนสามารถช่วยตอบได้ว่าคำว่ารวยแปลว่าประมาณไหน คงมิได้ถึงกับใช้คำว่ารวยแต่มีเงินมากพอจัดการได้ ซึ่งต้องคิดด้วยนะครับว่างบประมาณบ้านเรียนนั้นสามารถจัดการให้น้อยกว่าค่าเล่าเรียน ค่ากวดวิชา และค่าใช้จ่ายกิจกรรมไร้สาระต่างๆ นานาที่โรงเรียนได้
ส่วนเรื่องต้องมีอย่างน้อย 1 คนอยู่บ้านเต็มเวลานั้น ความจริงเป็นเช่นไรลองถามพวกบ้านเรียนอีกเช่นกัน แต่อย่าลืมว่าเรามาถึงยุคสมัยที่พ่อแม่ทำงานหาเงินที่บ้านได้แล้วด้วย มิใช่จำเพาะต้องขายของออนไลน์ มีงานออฟฟิศจำนวนมากทำที่บ้านได้แล้วยังไม่นับงานในรูปแบบใหม่อีกสารพัดมากกว่านี้คือให้ลูกๆ ช่วยทำงานหาเงินพร้อมเรียนรู้ไปในตัว มิใช่เอาแต่ขอเงินพ่อแม่ไปเรียนพิเศษ
ข้อกล่าวหาที่บ้านเรียนมักได้รับอีกข้อคือเด็กบ้านเรียนไม่มีสังคม ข้อกล่าวหานี้ไม่จริงตั้งแต่แรกด้วยทราบกันดีว่าเด็กบ้านเรียนมีสังคมอาจจะเป็นสังคมอีกแบบหนึ่งที่มิใช่สังคมโรงเรียน อย่างไรก็ตามเมื่อโลกมาถึงศตวรรษที่ 21 การทำงานเป็นทีมคือ collaboration ของเด็กบ้านเรียนจะทวีความเข้มข้นขึ้น การเรียนรู้หรือทำโครงงานคนเดียวไม่เพียงพอ การทำงานเป็นทีมโดยมีเป้าหมายร่วมของทีมจะเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก ซึ่งทำได้ไม่ยากด้วยการสร้างทีมออนไลน์ แล้วนัดพบกันบนสถานที่จริงเป็นประจำ
ที่พ่อแม่บ้านเรียนต้องมีมากกว่าคนอื่นแน่ๆ คือจิตใจที่มุ่งมั่น ชัดเจน เห็นอนาคต และพร้อมยืนต้านกระแสคัดค้าน สงสัย ไปจนถึงดูหมิ่นจากรอบทิศเสียมากกว่า ดังนั้นหากอยากทำบ้านเรียน เรื่องแรกคือถามตัวเองว่ามุ่งมั่นและชัดเจนเพียง ถามกลุ่มบ้านเรียนได้ด้วยว่าจะทำอย่างไรจึงชัดเจนมากขึ้นทุกๆ เรื่องเราเรียนรู้ได้เหมือนลูกตัวเองนั่นแหละ มิใช่ว่าต้องรู้ทุกอย่างชั่วข้ามคืน
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

มีคำถามเสมอว่าควรเลือกโรงเรียนอย่างไร ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าชนชั้นกลางระดับกลางหรือสูงมีกำลังจ่ายค่าเล่าเรียนโรงเรียนทางเลือก หรือทำโฮมสคูลในขณะที่ชนชั้นกลางระดับกลางหรือล่าง รวมทั้งชนชั้นล่างไม่มีกำลังจ่าย รู้ทั้งรู้ว่าการศึกษาสมัยใหม่เป็นอย่างไรก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนอกจากส่งเรียนโรงเรียนตามระบบ คือโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชน
มีงานวิจัยจากต่างประเทศว่าเวลาและกิจกรรมที่พ่อแม่มีให้แก่กันในช่วงปฐมวัยมีความสำคัญมากกว่าชื่อเสียงโรงเรียน มีงานวิจัยในระดับประถมทำนองนี้ด้วยแต่น้อยกว่า ผมมีคำแนะนำเพียงข้อเดียวเสมอนั่นคือ “เลือกโรงเรียนใกล้บ้าน”
ประสบการณ์ส่วนตัวผมส่งลูกสองคนเรียนใกล้บ้านจริงๆ ตอนปฐมวัยขับรถห้านาทีถึง ตอนประถมเดินไปกลับ ผมขับรถส่งลูกทุกวัน ห้านาทียังเล่นยิงขีปนาวุธใส่เต่าไฟกาเมร่าตามทางไม่เสร็จก็กลับถึงบ้านแล้ว ตอนเดินไปกลับผมเดินไปส่งทุกเช้าแล้วปล่อยสองพี่น้องเดินกลับเอง แต่ละจังหวัดต่างกัน
คำว่าใกล้บ้านควรมีความหมายว่า “เมื่อบวกลบปัจจัยทั้งหมดแล้ว เรามีเวลาคืนมาที่บ้านมากที่สุด” ปัจจัยต่างๆ ที่เอามาคิด ได้แก่ ระยะทางจากบ้านถึงโรงเรียน ระยะทางจากบ้านถึงที่ทำงานพ่อแม่ ระยะทางจากที่ทำงานพ่อแม่ถึงโรงเรียน จำนวนการบ้าน จำนวนกิจกรรมพิเศษของโรงเรียนทั้งที่เหลวไหลและมีสาระ เวลาทำโอทีของพ่อแม่ เป็นต้น
เหล่านี้บวกลบแล้วเหลือกี่ชั่วโมงต่อวันที่เราจะได้เล่นด้วยกัน และเหลือกี่ชั่วโมงในวันเสาร์อาทิตย์ที่เราจะได้เที่ยวด้วยกัน นั่นคือใกล้บ้าน
ภายใต้ข้อเท็จจริงอีกเช่นกันว่าทุกโรงเรียนมีจุดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนทางเลือก โฮมสคูล โรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชน เวลาที่คืนมาเราเอามาทำอะไรบ้าง?
หนึ่งคือเล่น อันนี้ต้องทำแน่ๆ เน้นย้ำอีกครั้งว่า “เล่นด้วยกัน” สองคือทำงานบ้าน เพราะงานบ้านสร้าง EF (Executive Function) ความสามารถระดับสูงของสมองเพื่อความสำเร็จในชีวิต อ่านนิทานก่อนนอน หรือเล่านิทาน หรือคุยกันก่อนนอน อันนี้เป็นกิจกรรมภาคบังคับ ต้องทำเช่นกัน ดังนั้นหาโรงเรียนที่การบ้านไม่มากนักเราจะได้มีเวลามีความสุขด้วยกันก่อนนอน
สำคัญที่สุดคือมีเวลาให้เราชดเชยความเสียหายที่ได้มาจากโรงเรียน พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าโรงเรียนไม่ดี แต่ชีวิตเป็นเรื่องทำนายไม่ได้ เราไม่รู้ว่าเด็กๆ พบอะไรในแต่ละวัน เขาตีความประสบการณ์ต่างๆ นานาเหล่านั้นอย่างไร สร้างความไม่สบายใจหรือคับข้องใจเพียงใด เพราะเราไม่รู้เราจึงต้องมีเวลาในแต่ละวันเหลือเอาไว้ “ล้างใจ”
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

คำตอบคือ ได้ คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากพออยู่แล้ว คนส่วนใหญ่อยู่ได้ เราก็ควรอยู่ได้ อยู่กับเด็กส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นคนชั้นกลางระดับกลางถึงล่างและชนชั้นล่างมีข้อดีในตัว
แต่ควรรู้ทันว่าโรงเรียนทั่วไปมีข้อเสียอย่างไรด้วย เราอย่าดูดายเตรียมชดเชย และโรงเรียนทางเลือกมีข้อดีอย่างไรเราอย่าทำเฉย โรงเรียนทั่วไปมีข้อเสียที่ไม่มีเสรีภาพห้ามคิด ห้ามพูด และห้ามทดลอง แต่งตัวตามระเบียบ ไม่ให้ใส่เครื่องประดับ เข้าแถวตรงเวลา เรียนตามหลักสูตร ห้ามพูดในห้องเรียน ห้ามคิดนอกเหนือหลักสูตร และตอบข้อสอบให้ตรงคำเฉลย จึงจะเรียนจบได้เป็นเด็กดี
แม้ว่าโรงเรียนบางแห่งจะว่าให้คิดวิเคราะห์แต่ให้น้อยเกินไป ไม่สามารถคิดวิเคราะห์เกินกว่าเฉลยข้อสอบหรือข้อกำหนดทางวัฒนธรรม โรงเรียนแบบนี้ไม่เหมาะกับศตวรรษใหม่ที่เด็กๆ มีไอทีอยู่บนฝ่ามือ และการควบคุมตนเองจากภายในจึงเป็นวินัยที่แท้มิใช่การควบคุมจากภายนอกซึ่งมักไม่ได้ผล
ดังนั้นไปโรงเรียนทั่วไปได้แต่พ่อแม่เองที่ใจควรเปิดกว้าง อนุญาตให้ลูก คิด พูด ทำนอกกรอบได้ตามสมควรตราบเท่าที่มิได้ละเมิดกฎ 3 ข้อพื้นฐานคือห้ามทำร้ายคน ห้ามทำลายข้าวของ และห้ามทำร้ายตัวเอง
นอกเหนือจากสามข้อนี้ เรายินดีให้ลองแต่ แต่มีข้อแม้คือบ้านเราจะมีชั่วโมงหรือเวลานั่งผ่อนคลายคุยกันบ่อยๆ ว่าลูกทำอะไรไปจนถึงทำอะไรลงไป การพูดคุยนี้ตั้งอยู่บนบรรยากาศของความไว้วางใจ คือ trust เรายินดีฟังทุกเรื่องโดยไม่ตำหนิ ไม่สกัด หรือไม่เป็นลม เรามาพูดคุยและแลกเปลี่ยนเท่านั้น ภายใต้ข้อเท็จจริงว่าเด็กๆ เติบโตเองได้แล้ว
ถ้ามีอะไรที่เราต้องการหาข้อมูลหรือความรู้เพิ่มเติม เราช่วยชี้ช่อง หรือลุกขึ้นชวนไปหาด้วยกัน หาในอินเทอร์เน็ต หาในห้องสมุด หรือไปหาในสถานที่จริง เราควรสละเวลาไปและใช้งบประมาณ ใช้โอกาสนี้สอนลูกด้วยว่า “ข้อมูล” และ “ความรู้” เป็นสองสิ่งที่ไม่เหมือนกัน ให้เขาเข้าใจว่าอะไรที่ได้มาเป็นข้อมูลหรือความรู้กันแน่ เป็น data หรือเป็น knowledge
นี่คือรูปแบบการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่เหมาะกับการเพิ่มพูนทักษะการไม่ยึดติดและพร้อมทดลองสิ่งใหม่ ประเมินผล คิดวิเคราะห์ แล้วปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าไปโรงเรียนทางเลือก จะได้ใช้กระบวนการเหล่านี้ร่วมกับเพื่อน แต่ก็ไม่เสมอไปโรงเรียนทางเลือกบางแห่งมิได้ใส่ใจการทำงานเป็นทีมมากเท่าที่ควร
ดังนั้นแม้ว่าเด็กๆ จะทำโครงงานมากกว่าโรงเรียนทั่วไป แต่ก็ยังคงเป็นการฉายเดี่ยวอยู่ดี เป็นที่ทราบกันแล้วว่าการฉายเดี่ยวคนเดียวจะคิดวิเคราะห์อย่างไรก็ไปได้เท่าที่คนคนหนึ่งจะไปได้
แต่การทำงานเป็นทีมคิดวิเคราะห์เป็นทีม คือ collaboration มีพลังขับเคลื่อนการเรียนรู้มากกว่านั้นสมองของเด็กๆ 1+1 จะมิใช่ได้เพียง 2 แต่มากกว่า 2 และการทำงานเป็นกลุ่ม 1+1+1+1+1 บนความหลากหลายจะได้มากกว่า 5
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล
ทักษะสำคัญของเด็กในยุคนี้ คือ ทักษะด้านการอยู่ร่วมและทำงานกับผู้อื่นในแบบทีมเวิร์ค เพราะเด็กแต่ละคนมีทักษะที่โดดเด่นหลากหลายต่างกันไป การทำงานร่วมกัน การช่วยเหลือกัน หรือการทำงานแบบทีมเวิร์คจึงเป็นทักษะสำคัญที่จะสนับสนุนซึ่งกันได้เป็นอย่างดี คุณพ่อคุณแม่ลองมาเช็คความสามารถของลูกกันหน่อยค่ะว่า ลูกเราชอบและมีทักษะในการทำงานแบบทีมเวิร์คดีแล้วหรือยัง
หนู / ผม
|
ใช่
|
ไม่ใช่
|
ชอบอยู่กับเพื่อนหรือคนเยอะๆ
|
|
|
ชอบถามความคิดเห็นคนอื่น รับฟัง และนำมาปรับใช้
|
|
|
ยิ้มเก่ง หัวเราะง่าย เข้ากับคนอื่นได้ดี เป็นที่รักของเพื่อนๆ
|
|
|
ชอบช่วยเหลือคนอื่น เช่น ช่วยยกของ ช่วยทำงานบ้าน
|
|
|
ไม่อายที่จะโดนตำหนิถ้าทำผิด และปรับปรุงตัวเอง
|
|
|
ชอบทำกิจกรรมกลุ่ม เล่นเป็นกลุ่ม
|
|
|
เห็นอกเห็นใจ และเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้ดี
|
|
|
ชอบแบ่งปัน ไม่งก ไม่หวงของ ไม่เห็นแก่ตัว
|
|
|
สนุกกับสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ทำ
|
|
|
ดีใจสุดๆ เมื่อ มีคนชมหรือพูดว่า “เก่งจัง ช่วยได้เยอะเลย ขอบคุณนะ”
|
|
|
ถ้าเด็กๆ ทำได้มากกว่า 5 ข้อ คุณพ่อคุณแม่ดีใจได้เลยค่ะว่าลูกเรามีพื้นฐานทักษะด้านการอยู่ร่วมและทำงานกับผู้อื่นในแบบทีมเวิร์คแล้ว ส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นไปได้ แต่ถ้าเด็กๆ คนไหนยังทำหรือมีน้อยกว่า 5 ข้อก็ยังสามารถพัฒนาและส่งเสริมได้ด้วยวิธีง่ายๆ ค่ะ รับรองเลยว่าถ้าทำได้และแนะนำกันอย่างสม่ำเสมอ ลูกเราอาจมีอนาคตได้เป็นถึงหัวหน้าโครงการใหญ่ๆ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว หัวหน้าพนักงานฝ่ายบุคคล หรือนักอาสาพัฒนาอย่างองค์กรได้เลยนะคะ
5 วิธีสอนลูกเข้าสังคม และทำงานกับผู้อื่นแบบทีมเวิร์ค
วิธีที่ 1 : เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นกับกลุ่มเพื่อน ทั้งเพื่อนที่โรงเรียนและเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน เพื่อให้เขาทำความคุ้นเคยกับการอยู่กับผู้คน ไม่กลัวที่จะกล้าแสดงออกทั้งความคิดและความเป็นตัวเอง (ทั้งนี้เด็กอายุน้อยกว่า 3-4 ปี อาจจะยังเล่นกับเพื่อนๆไม่เก่ง ก็ไม่ต้องตกใจนะค่ะ ค่อยๆฝึกและไม่ไปกดดันเมื่อลูกยังเล่นกับเพื่อนไม่เป็น)
วิธีที่ 2 : ร้องขอให้ลูกช่วยทำงานบางอย่างร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ เช่น ช่วยคุณแม่ล้างผักทำอาหาร ช่วยคุณพ่อขุดหลุมปลูกต้นไม้ ซึ่งควรเป็นกิจกรรมที่ลูกได้ร่วมทำไปด้วยกันกับคุณพ่อคุณแม่หรือคนอื่น
วิธีที่ 3 : สอนลูกใช้คำว่า “สวัสดี” “ขอบคุณ” “ขอโทษ” ให้ติดปากอยู่เสมอ เพราะเป็นการแสดงมารยาทและการเข้าสังคมอย่างอ่อนน้อม นอกจากจะน่าเอ็นดูสำหรับผู้ใหญ่แล้วเมื่อลูกใช้กับเพื่อนๆ ก็ช่วยแสดงออกถึงความจริงใจและการรู้จักกาละเทศะเช่นกันค่ะ
วิธีที่ 4 : ชี้ให้ลูกรู้จักและเห็นประโยชน์ของการแบ่งปัน เช่น ถ้าลูกแบ่งของเล่นกับเพื่อน เพื่อนก็จะดีใจ คราวหน้าเพื่อนก็จะแบ่งของเล่นให้ลูกเหมือนกัน และคุณพ่อคุณแม่ต้องแบ่งปันให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง เช่น คุณแม่แบ่งขนมให้คุณพ่อ ซึ่งจะทำให้ลูกเห็นว่าการแบ่งปันหรือช่วยเหลือผู้อื่นไม่ใช่เรื่องแปลก และทำได้ทุกวัน รวมถึงจะทำให้เป็นที่รักของผู้อื่นด้วย (เช่นเดียวกับการเล่นกับเพื่อน ขึ้นกับวัยของเด็กด้วย)
วิธีที่ 5 : ชื่นชมเมื่อลูกเล่นหรือทำงานร่วมกันผู้อื่นได้ดี คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจและชื่นชมเมื่อลูกเล่นกับเพื่อนได้โดยไม่แกล้งกัน ทำงานประดิษฐ์ร่วมกับเพื่อนๆ ออกมาได้เป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งจะช่วยให้ลูกภูมิใจและรู้สึกว่าการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ผลที่น่าพอใจ และได้รับการชื่นชม
การสอนและส่งเสริมให้ลูกมีทักษะด้านการอยู่ร่วมและทำงานกับผู้อื่นในแบบทีมเวิร์คเริ่มต้นได้จากที่บ้านค่ะ ถ้าเราปล่อยให้ลูกเรียนรู้ ได้ร่วมทำกิจกรรมหรือช่วยงานเล็กน้อย รวมถึงทำให้เขาภูมิใจในสิ่งที่ทำ แม้ว่าจะเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ แต่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นทักษะติดตัวไปใช้กับการทำงานในอนาคตได้อย่างยอดเยี่ยมค่ะ
ช่วงของการระบาดโรค COVID-19 มีคำถามเกิดขึ้นมากมายค่ะ เราจะเลี้ยงลูกอย่างไร ต้องปรับตัวอะไรบ้าง? ทั้งเรื่องสุขภาพ จิตใจ และปัญหาอื่น ๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น การเรียนออนไลน์ เป็นต้น
ทางรักลูกได้นำข้อมูลโรงพยาบาลพระราม 9 ได้แพร่ภาพสดพูดคุยกับคุณหมอด้านต่าง ๆ ในหัวข้อ COVID-19 โรคระบาดใหญ่ใกล้ตัวเด็ก จะดูแลลูกน้อยอย่างไรในยุค New Normal มาฝากค่ะ
รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ได้มาให้ความรู้เรื่อง COVID-19 กับภูมิแพ้ อาการใกล้เคียงกันมาก แต่มีข้อแตกต่าง และวิธีป้องกัน ดังนี้
อาการ COVID-19
1.มีไข้ และ ไม่มีไข้
2.ติดเชื้อทางเดินหายใจ ไอ น้ำมูก คัดจมูก
3.หายใจหอบเหนื่อย
4.คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
อาการ ภูมิแพ้
1.ผู้ป่วยจะจาม และคัดจมูก เมื่อสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้แพ้
วิธีป้องกัน COVID-19
1.ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล วิธีการถูแอลกอฮอล์เจลที่ถูกต้อง คือต้องถูให้เจลแห้งสนิทจะได้ประสิทธิภาพที่สุด
2.ห่างกัน 1-2 เมตร
3.ใส่หน้ากากอนามัย
4.ไม่พาตัวเองไปพื้นที่เสี่ยง ระวังการใกล้ชิดบุคคลที่มีความเสี่ยง หรือผู้ที่ติดเชื้อแล้ว
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ ?
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ไม่ได้มีความเสี่ยงโรค COVID-19 มากกว่าคนทั่วไป และถ้าหากผู้ป่วยภูมิแพ้ติดเชื้อ COVID-19 จะป่วยรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป อันนี้ก็ไม่จริงค่ะ ทั้งความเสี่ยงในการติดและเมื่อติดแล้วจะมีอาการป่วยเท่ากับคนทั่วไป
ทางด้าน คุณอลิสา รัญเสวะ ศูนย์กุมารเวชกรรม ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาคลินิก ได้มาให้คำแนะนำเรื่อง COVID-19 กับสภาพจิตใจเด็ก ๆ ในการอยู่บ้าน เรียนออนไลน์ พ่อแม่ต้องรับมืออย่างไรบ้าง
วิธีปรับตัวเด็กให้พร้อมกับช่วงของการระบาด COVID-19
1.ปรับตารางชีวิตของลูกใหม่ ถึงจะต้องเรียนอยู่บ้านก็ต้องให้เด็ก ๆ ตื่นเช้าปกติเหมือนไปโรงเรียน ไม่ตื่นสาย อาจจะทำใด้เด็กขี้เกียจได้
2.การเรียนออนไลน์
ระยะสั้น - สังเกตลูกว่าโฟกัสเรื่องการเรียนไหม เข้าใจบทเรียนหรือไม่
ระยะยาว - สังเกตว่าการเรียนออนไลน์ระยะยาวจะกระทบการเรียนหรือไม่ ความรู้ของลูกเท่าชั้นเรียนของลูกไหม ?
3.มอบหน้าที่ให้ลูกช่วยงานบ้านง่าย ๆ
4.ใช้เวลาร่วมกันกับลูกให้มากยิ่งขึ้น เช่น กิจกรรม นิทาน เวลานอน เป็นต้น
5.ไม่กดดันลูกในเรื่องการเรียน พ่อแม่ต้องเป็นคุณครูสอนให้ลูกเข้าใจในเนื้อหาการเรียนในช่วงเรียนออนไลน์
อ้างอิง
Facebook Page : Praram 9 hospital
วันที่แพร่ภาพสด : 9 มกราคม 2564
หัวข้อเรื่อง : COVID-19 โรคระบาดใหญ่ใกล้ตัวเด็ก จะดูแลลูกน้อยอย่างไรในยุค New Normal
รักลูก Community of The Experts
รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
คุณอลิสา รัญเสวะ ศูนย์กุมารเวชกรรม ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาคลินิก
โรงพยาบาลพระรามเก้า

ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย ทำเด็กเป็น Loss Generation อย่าปล่อยให้ลูกเกิดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยค่ะ มาหาทางรับมือกันก่อนจะสายเกินไป
Learning Loss ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย พ่อแม่ต้องทำอย่างไร เมื่อลูกเกิด Learning Loss
ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด 19 เป็นเวลาเกือบ 2 ปีที่เด็กไทยต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนในห้องเรียนมาเป็นการเรียนออนไลน์เกือบ 100% แต่จากการศึกษาในแวดวงวิชาการหลายสำนักกลับพบว่ายิ่งเรียนยิ่งมีปัญหา และภาวะ Learning Loss คือหนึ่งในนั้น
ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย หรือLearning Lossคืออะไร
Learning Loss เป็นผลของการเสียโอกาสในการเรียนรู้มีผลทำให้ทักษะต่าง ๆ ที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยสูญเสียตามไปด้วย เช่น ทักษะทางสังคม ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม เด็กสูญเสียโอกาสในการฟอร์มตัวเป็นบุคลิกของเขา ว่าเขาจะเป็นอัธยาศัยดี เป็นคนเก็บตัว เป็นคนขี้อาย หรือเป็นคนมั่นใจในตัวเอง
แต่เมื่อเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่มีเพื่อน ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ไม่ได้ทำอะไรหน้าชั้นเรียน หน้าเสาธง ก็ไม่ได้แสดงความเป็นผู้นำ สุดท้ายก็จะส่งผลให้เด็กเกิดภาวะ Learning Loss เนื่องจากการเรียน Online ไม่สามารถทำให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝนทักษะเหล่านั้นได้
Learning Lossทำให้เด็กต้องสูญเสียอะไรบ้าง
มีปัญหาพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร เมื่อเด็กต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านมักจะไม่ค่อยได้คุยกับใคร นอกจากพ่อแม่ก็ไม่ได้เล่นกับเพื่อน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคุณครู การดู YouTube เล่น iPad หรือเล่นเกมไม่ได้พัฒนาทักษะภาษาของเด็ก ๆ เมื่อต้องกลับเข้าสู่โรงเรียน ประสิทธิภาพในการเรียนรู้และศักยภาพในการใช้ภาษาของเขาก็จะลดลง
ทักษะด้านความสัมพันธ์ถดถอย เด็กบางคนอยู่บ้านจนเกิดความเคยชิน ถ้าถึงวันที่ต้องไปโรงเรียนอาจเกิดภาวะ School Phobia หรือกลัวการไปโรงเรียน ไม่ชอบ ไม่อยากไปขึ้นได้
ขาดระเบียบวินัยความรับผิดชอบ โดยเฉพาะเด็กอนุบาลหรือเด็กประถม เมื่อตอนที่ยังไปโรงเรียนได้ เด็กจะถูกฝึกจากโรงเรียน มีแรงจูงใจจากเพื่อน ๆ และคุณครู เมื่อเด็กมีวินัยทำตามกฎของโรงเรียน ของห้องเรียนก็จะได้รับคำชม เป็นกลไกหนึ่งในการหล่อหลอมเขา
บุคลิกภาพไม่ได้รับการพัฒนา เมื่ออยู่บ้านนานเกินไป เด็กจะขาดทักษะการเข้าสังคม ซึ่งการเข้าสังคม การคบเพื่อน การทำกิจกรรมกับเพื่อนของเด็ก ๆ เป็นการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างหนึ่งของเขา
การเรียนรู้ช้า ในแง่ของวิชาการอ่านเขียน เด็กอาจมีความรู้ความสามารถทางวิชาการที่ช้างลง
ลูกเรากำลัง Lossอยู่หรือเปล่า
เน่ื่องจากพัฒนาการของเด็กคน และแต่ละด้านไม่เท่า เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องคอยสังเกตลูกค่ะ ถ้าเราสังเกตลูกตลอดและเรารู้จักตัวตนของลูก แม้ว่าอะไรเปลี่ยนไปเราจะรู้ทันทีว่าลูกกำลังผิดปกติ เช่น จากที่เคยพูดคุยเยอะ ๆ วันหนึ่งถามคำตอบคำ พ่อแม่ต้องรีบเข้าไปพูดคุยว่าลูกเป็นอะไร มีปัญหาอะไรให้ช่วยไหม

เมื่อลูกกำลังจะ Loss พ่อแม่ต้องรับมืออย่างไร
จัดตารางเวลาที่บ้านให้เหมือนไปโรงเรียนตั้งแต่ตื่นนอน อาบน้ำ กินข้าว ให้พร้อมก่อนถึงเวลาเรียน และเมื่อถึงเวลาเรียนลูกต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะ พ่อแม่ต้องคอยประกบ และเมื่อลูกเรียนครบ 1 วิชาอาจจะให้ลูกไดด้พักเล่นอิสระไปก่อนสัก 10-15 นาทีก่อนเริ่มวิชาใหม่
คอยปรึกษาคุณครูเรื่องตารางการสอน การบ้าน และใบงานต่าง ๆ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วแม้การเรียนออนไลน์จะเป็นหน้าที่ของเด็ก ๆ แต่พ่อแม่ยังคงต้องเฝ้าดู ใส่ใจ และติดตามถามความคืบหน้าต่าง ๆ โดยเฉพาะในวิชาที่ต้องลงมือทำอย่างศิลปะสร้างสรรค์ เด็กไม่สามารถเตรียมอุปกรณ์เองได้ พ่อแม่ต้องช่วย
ให้คะแนนเป็นรางวัลกระตุ้นแรงจูงใจแก่ลูก เมื่อไปโรงเรียนคุณครูจะมีดาวหรือคะแนนให้เด็ก ๆ เราสามารถนำกติกานี้มาใช้ที่บ้านได้เช่นกัน สร้างแรงจูงใจให้ลูกเกิดการเรียนรู้และกระตุ้นให้อยากทำ เช่น ถ้าเก็บจานหลังกินข้าวจะได้ 1 ดาว ถ้าสะสมดาวครบ 5 ดวงจะได้ดู YouTube 20 นาที เป็นต้น
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องตระหนักคือ เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ช่วงแรกอาจจะเครียดบ้าง แต่เราสามารถปรับจูนกันได้ค่ะ
อ้างอิง : ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รับฟังและรับชมเพิ่มเติมที่ Podcast รายการ รักลูก The Expert Talk ทั้งหมดได้ที่>>> https://bit.ly/2PiemQ4
นอกจากประเด็นเรื่องความยากง่ายของการบ้าน มีสิ่งที่มากไปกว่านั้นคือ ระดับการเรียนรู้ที่เหมาะสมของเด็ก หากเด็กเรียนรู้สิ่งที่ยากเกินไปส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กอย่างไรบ้าง รวมไปถึงหลากหลายประเด็นที่คาใจพ่อแม่ ทั้งการเรียนที่ยากและการบ้านที่ต้องทำ
ฟังมุมมองนักวิชาการด้านศึกษา ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า อาจารย์สาขาวิชาประถมศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Apple Podcast:https://apple.co/3m15ytB
Spotify:https://spoti.fi/3cvAVcX
Youtube:https://bit.ly/3cxn31u
ลูกเรียนออนไลน์ไม่ได้เปิดแค่โปรแกรมเรียนเท่านั้น เพราะหลายครั้งจะต้องใช้เว็บไซต์ค้นหาความรู้ไปด้วย จะให้ลูกท่องเว็บยังไงให้ไกลจากบรรดาเว็บไม่เหมาะสม ทั้งเว็บโป๊ เว็บพนัน เว็บขายของหลอกลวง พร้อมการป้องกันที่ดีที่สุดคือการให้ลูกมี Digital Literacy จะสอนและทำได้อย่างไร แม่ดอยและป้าปอยมีวิธีการบอก
ติดตามรายการรักลูก podcast ได้ที่
Apple podcast : Rakluke Podcast
Spotify : Rakluke Podcast
YouTube Channel : Rakluke Club

การเรียนรู้ของลูกวัย 1-2 ปีจะต่อเนื่องมาจากช่วงวัยขวบแรกที่เน้นประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว ดังนั้นลูกจะเรียนรู้เรื่องร่างกายของตัวเองเป็นหลัก ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 และการเคลื่อนไหว โดยจะไล่จากส่วนหัวไปถึงเท้า สามารถเชื่อมโยงระหว่างสัมผัสการเคลื่อนไหวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้
เมื่อเข้าวัย 2-3 ปีจะเริ่มมีการพัฒนาด้านความคิด จินตนาการ เริ่มเรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องเห็นของเล่นหรือสัมผัส แค่คิดในใจก็สามารถเล่นได้ ดังนั้นการเล่นจะอยู่ในรูปแบบสมมติ หรือเห็นรูปภาพก็รู้ว่าภาพนั้นเป็นตัวแทนของของจริง รู้ว่ารูปแมวที่เห็นในหนังสือนิทานร้องอย่างไร สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่สัญลักษณ์ได้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้พร้อมๆ กันกับลูก ก็จะช่วยให้ลูกอยากเรียนรู้โลกมากขึ้นด้วย
หนังสือของเด็กวัย 1-3 ปี
ประเภทหนังสือนิทาน : หนังสือนิทานภาพ หนังสือนิทานกึ่งของเล่น เช่น หนังสือผ้า หนังสือลอยน้ำ และหนังสือ Board Books หนังสือนิทานป็อปอัพ
หนังสือควรมีภาพขนาดใหญ่ มองเห็นชัดเจน สีสันสดใสและหลากหลาย ลายเส้นไม่สลับซับซ้อนจนเกินไป อาจจะเพิ่มเติมลักษณะลายเส้นให้มากกว่าตอนลูกเล็กได้ แต่อย่าเพิ่งเลือกเล่มที่ลายเส้นยุ่งเหยิงวุ่นวายจนดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร และที่สำคัญหากเป็นภาพที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ควรเป็นภาพที่มีลักษณะคล้ายของจริงมากที่สุด เช่น นิ้วมือมี 5 นิ้ว
เนื้อเรื่องต้องสั้น เหตุการณ์ในนิทานไม่สลับซับซ้อนเกินไป สีสันสดใสและหลากหลาย ใช้ภาษาไทยถูกต้อง สั้น กระชับ เข้าใจง่าย และสุภาพ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้คำและภาษาไทยที่ถูกต้อง รูปเล่มมีความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน ไม่มีมุมแหลมคม ขนาดเล่มไม่หนาเกินไป ส่วนกระดาษที่ใช้ก็ไม่ควรบางและคมเกินไปเพราะวัยนี้เริ่มใช้มือเปิดหนา หนังสือเองได้แล้ว
เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดคุย ซักถามเรื่องราวในนิทานบ้าง เพราะเขาอยู่ในวัยช่างคุย สนุก และมีความสุขที่จะได้พูด ชวนให้ลูกถาม-ตอบ สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในนิทาน และจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มเติม อย่าลืมสร้างบรรยากาศการอ่านให้สนุกสนานและน่าสนใจ สร้างการจดจำที่ดีกับการอ่านให้หนังสือด้วย อย่าให้ทีวี เกม และคอมพิวเตอร์เร้าความสนใจของเด็กจนเกินพอดี เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ไม่พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้ บรรยากาศการอ่านที่เต็มไปด้วยความเครียดและความกดดันจากคุณพ่อคุณแม่ และหวังผลให้อ่านได้หลายๆ เล่ม จะทำให้ลูกไม่อยากอ่านหนังสือเพราะไม่มีความสุข หากในบ้านไม่มีหนังสือให้ลูกอ่านเลย มีแต่ของเล่นหรือคอมพิวเตอร์ ลูกก็จะหันไปหากิจกรรมอื่นแทนการอ่าน ทำให้ลูกไม่รักการอ่านในที่สุด

ดนตรีกระตุ้นพัฒนาการเด็กวัย1-3 ปี
ดนตรีเป็นเครื่องมือให้ลูกเรียนรู้ทางประสาทสัมผัสมาเป็นการเรียนรู้แบบลงมือทำมากขึ้น และพัฒนาการด้านร่างกายก็พร้อมเกือบเต็มที่ สามารถควบคุมแข้งขา กระโดดโลดเต้นได้อย่างใจ สามารถจับจังหวะของดนตรี อีกทั้งเสียงเพลงยังสร้างความสนุกและสุนทรียภาพในจิตใจ เสียงเพลงจึงเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นพัฒนาการอย่างครบถ้วน
หาของเล่นที่มีเสียง เช่น ของเล่นประเภทเคาะ หรือแบบเขย่าแล้วมีเสียง เช่น กลองใบเล็ก ลูกแซค เลือกที่ไซส์เล็กขนาดเหมาะมือลูก วัยเริ่มหัดพูดควรสอดแทรกการร้องเพลงไปพร้อมๆ กับการหัดพูด ลูกจะสามารถจับจังหวะเพลง ฮัมเพลงตามจังหวะ ร้องเป็นคำคล้องจอง แถมท่าทีประกอบเพลงด้วยจะสนุกมากเลย อัดเทปเสียงร้องของลูกให้ลูกฟัง เขาจะรู้สึกตื่นเต้นกับเสียงที่ได้ยิน กระตุ้นให้อยากส่งเสียงร้อง ร้องเพลงที่มีเนื้อร้องประกอบกิจวัตรประจำวัน ทำให้เด็กสนุกมากขึ้น เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน ช่วงวัยนี้ลูกจะเริ่มเป็นตัวของตัวเอง เรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งดนตรีกับการเคลื่อนไหวจะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว รู้จักฟัง และแสดงออกในจังหวะที่เหมาะสม เด็กก็จะมีการพัฒนาประสาทการรับรู้และการเคลื่อนไหวให้มีความสัมพันธ์และแม่นยำมากขึ้น
ของเล่นสำหรับเด็กวัย 1-3 ปี
การจะช่วยเสริมพัฒนาการของลูกน้อยนั้นไม่จำเป็นต้องไปซื้อของเล่นแพงๆ เพียงแค่เข้าใจพัฒนาการของลูกและร่วมเล่นกับลูกไปด้วยกัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเขาอย่างมีความสุขที่สุด
หนังสือนิทาน - หนังสือนิทานยังเป็นเครื่องมือชั้นยอดของการคิดสร้างสรรค์ เมื่อคุณพ่อคุณแม่อ่านให้ลูกฟังและให้เขาดูรูปตาม อาจจะตั้งคำถามปลายเปิดว่า ถ้าหนูเป็นหนูน้อยหมวกแดงจะเป็นยังไง หรือชี้ชวนให้ลูกดูรายละเอียดอื่นๆ ในภาพด้วย เช่น ดูแอบเปิ้ลว่ามีกี่ผล หมาป่าอยู่ตรงไหนนะ คุณควรจะใส่เอฟเฟคเสียงสูงต่ำ เพิ่มความน่าสนใจเข้าไปด้วย และควรมีหนังสือนิทานดีๆ ให้หลากหลายไว้ให้ลูกเลือกที่จะอยากฟังหรืออยากอ่านเอง แม้เป็นเรื่องซ้ำๆ ก็ไม่เป็นไร
จิ๊กซอว์ บล๊อกไม้ - ตัวต่อที่เหมาะสมตามวัยจะทำให้เจ้าหนูเกิดไอเดียต่อได้สารพัด และด้วยสีสันสดใสยิ่งทำให้เป็นจุดสนใจ ทั้งต่อยอดได้ตามจินตนาการ และแกะรื้อในเวลาเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกจิ๊กซอว์ที่ไร้มุมคมแหลม ได้คุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งอาจจะซื้อแบบที่มีจำนวนชิ้นมากหน่อยเพื่อการต่อยอดชิ้นงานขนาดใหญ่ ซึ่งจะดีกับลูกมากกว่าจิ๊กซอว์ที่มีตัวต่อแค่ 5-6 ชิ้น
ระบายสี - เตรียมกระดาษเปล่าขนาดใหญ่พร้อมกับสีเทียน ให้เจ้าตัวน้อยลงมือละเลงเล่นได้อย่างเต็มที่ในเนื้อกระดาษ แต่มีข้อห้ามอยู่ว่าอย่าใช้สมุดระบายสีที่มีกรอบรูปการ์ตูนเว้นช่องว่างให้ ระบายสี เพราะว่านั่นคือกรอบสกัดกั้นจินตนาการของลูกน้อย
ทรายและน้ำ - สร้างบ่อทรายเล็กๆ สักบ่อ พร้อมกับบล็อกพิมพ์ต่างๆ แบบตามชายหาด และน้ำสัก 1 ถัง ไอเดียการเล่นของเจ้าหนูจะพุ่งกระฉูดมากมาย เพราะทรายสามารถแปรเปลี่ยนเป็นรูปร่างอะไรก็ได้ ส่วนน้ำเป็นตัวช่วยให้ทรายยึดติดกัน ลูกจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์และข้อผิดพลาด
เล่นบทบาทสมมุติ - ลองชวนลูกมาเล่นละครสั้นๆ สนุกกัน หรือว่าจะเล่นเป็นนางเอก พระเอก พระราชา นางฟ้า ทหาร อาชีพต่างๆ อะไรก็ได้ที่ให้เจ้าหนูได้สวมบทบาทใดบทบาทหนึ่ง เพราะสมองของเขายังไม่ตั้งกฎกติกามากมาย การเล่นแบบนี้จะทำให้เขาคิดเป็นธรรมชาติ และได้ลองทำในสิ่งที่คิดดูจริงๆ ซึ่งจะสร้างประสบการณ์ให้เขาได้มากมาย
Painting Shadow - ออกไปกลางแจ้งตอนสายๆ หรือบ่ายๆ เอากระดาษมาวางบนพื้นแล้วให้ลูกวาดรูปเงาตัวเองที่พาดลงกระดาษ คุณพ่อคุณแม่ก็ทำด้วยจะได้เพิ่มความเข้าใจให้เจ้าหนู และลองเปลี่ยนอิริยาบถเป็นวาดเงาจากมือที่แปลงร่างเป็นผีเสื้อ หรือทำท่าทางตลกๆ แล้ววาดลงไปในกระดาษ เจ้าหนูจะเชื่อมโยงข้อเท็จจริงจากธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์ด้วยในตัว
ลูกโป่งว่าว - ใช้ลูกโป่งเป่าลมพร้อมตัดกระดาษเป็นรูปผีเสื้อ เครื่องบิน หรือนก ผูกติดกับลูกโป่ง และผูกปลายเชือกเข้ากับข้อมือเจ้าหนูอีกที แล้วปล่อยให้เขาวิ่งเล่นที่สวนสาธารณะ เจ้าหนูจะพาเครื่องบินลำเก่งไปที่เมฆก้อนไหนก็ได้
แป้งโดว์ - หนูๆ จะปั้นเป็นอะไรก็ได้ เปิดไอเดียสร้างสรรค์ของลูกมากๆ นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กอีกด้วย สามารถตั้งแสดงเป็นผลงานโชว์ในบ้านได้อีกด้วย
รักลูก The Expert Talk Ep.49 : ความบกพร่องทางการได้ยิน ปัญหาใหญ่ขัดขวางพัฒนาการสติปัญญา
เด็กแรกเกิดทุก 1,000 คน พบว่ามี 1 คนที่มีปัญหาการได้ยิน ส่งผลให้ไม่สามารถพูดได้ และหากไม่ได้รับการรักษา อาจจะทำให้เป็นเด็กพิการ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มองเห็นความสำคัญของพัฒนาการได้ยินของเด็ก ว่าเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่พัฒนาการที่ดี จึงจัดสิทธิประโยชน์คัดกรองและรักษาเพื่อคุ้มครองเด็กแรกเกิดที่มีภาวะบกพร่องการได้ยิน สำหรับเด็กไทยทุกคน เพื่อช่วยดูแลให้เด็กไทยมีพัฒนาการที่ดี
EP 49 : ฟังสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กมีความบกพร่องทางการได้ยิน โดย The Exeprt นพ. ดาวิน เยาวพลกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง โสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี
ปัจจัยสาเหตุที่ทำให้เด็กมีปัญหาการได้ยิน
สาเหตุที่พบได้บ่อย ที่พบได้ตั้งแต่แรกเกิด อาจจะเป็นตั้งแต่แรก หรือพบได้หลังจากนั้น อาจจะมาจากพันธุกรรม จากพ่อแม่ ปู่ย่า ที่มีปัญหาการได้ยิน ปัญหาจากการตั้งครรภ์ อาจจะได้รับการติดเชื้อไวรัสบางอย่าง เช่น ไวรัสหัดเยอรมัน การคลอดก่อนกำหนด ขาดออกซิเจนขณะคลอด มีหลายสาเหตุด้วยกัน ปัญหาการได้ยินอาจจะเกิดขึ้นตอน 2-3 ขวบ เนื่องจากปัญหาการได้ยินสังเกตได้ยาก มองเห็นไม่ได้ด้วยตา พ่อแม่ต้องสังเกตและต้องดูแลเป็นพิเศษ
โรคหรืออาการที่ทำให้เด็กไม่ได้ยิน
การเป็นภายหลังเกิดขึ้นคือหากไม่ได้มีปัจจัยตั้งแต่เกิด ก็มีโอกาสได้การได้รับยาบางอย่าง การติดเชื้อรุนแรง เช่น สมองอักเสบ
พฤติกรรม ยา ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ไม่ได้ยิน สิ่งที่ทำให้หูเสื่อมได้คือ การอยู่ในที่เสียงดังมากๆ ทำให้ประสาทหูเสื่อมโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น ไข้สมองอักเสบ ที่พบบ่อยในเด็ก ยามีหลายชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่ได้จากการรักษาทางการแพทย์ ก็จะทำให้มีปัญหาเรื่องนี้ได้ ซึ่งถ้าได้รับยากลุ่มนี้ก็จะได้รับการตรวจเช็กอยู่แล้ว
ระดับของเสียงที่ทำให้เกิดปัญหาการได้ยิน
ระดับของเสียงที่ดังกระทบกับการได้ยินผู้ใหญ่ด้วย เสียงที่ดังมากยิ่งมีผลมาก ถ้าดังมากๆ เวลาที่เราอยู่ในช่วงที่มีเสียงดัง แค่ไม่นานก็ทำให้ประสาทหูเสื่อมได้ เช่น ไปคอนเสริต์ออกมาหูอื้อ เป็นสัญญาณเตือนว่าเสียงดังเกินไป บางทีอาจจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ และบางทีก็อาจจะไม่ฟิ้นตัว แต่เสียงจากโรงงานอุตสาหกรรมถ้าอยู่เป็นเวลานานๆ หลายชม.ก็ทำให้มีปัญหาการได้ยิน
ระดับเสียงที่อันตราย ระดับเสียง90 เดซิเบล ทำให้ประสาทหูเสื่อม ถ้าอยู่นานระยะเวลาประมาณ 4 ชม. เสียงประทัดดังกว่า 90เดซิเบลอยู่แล้ว เกินกว่า 100-120 เสียงระเบิด เสียงยิงปืน แค่ปังเดียวก็ทำให้ประสาทหูเสื่อมได้เลย แต่ถ้าเสียงเบาๆ อาจจะใช้เวลานานที่ทำให้เกิดปัญหา
อาการประสาทหูเสื่อม
โดยทั่วไปจะค่อยๆ แย่ลง เคยได้ยินและไม่ค่อยได้ยิน ได้ยินไม่ชัด แย่ลงเรื่อยๆ อย่างผู้ใหญ่ก็จะมีอาการเสื่อม ซึ่งประสาทหูก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่เสื่อมตามวัยได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นพออายุมากก็มีปัญหาเรื่องหูตึง อาการเป็นมากน้อยขึ้นแต่ละคน
การดูแลระหว่างตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการได้ยิน
การดูแลการตั้งครรภ์ให้เป็นปกติ พบคุณหมอเป็นระยะ เพื่อให้การตั้งครรภ์และการคลอดเป็นไปอย่างปกติที่สุด การตรวจเช็กการได้ยินทำได้ตั้งแต่แรกเกิด พอคลอดก็จะมีอุปกรณ์ เครื่องมือคล้ายๆ หูฟังที่กดปุ่มดูว่าเด็กมีปัญหาหรือเปล่า พอจะบอกได้ว่าตรวจแล้วผ่านและตรวจแล้วไม่ผ่าน
ในรายที่ไม่ผ่านจะมีมาตรการตรววจซ้ำ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะใช้เครื่องมืออื่นๆ เพิ่ม ซึ่งโดยทั่วไปไม่มีการตรวจรู้ได้ตั้งแต่ตอนท้อง เราไม่สามารถตรวจได้ตั้งแต่ท้อง แต่ในรายที่เราพบว่าอาจจะมีความเสี่ยงของกลุ่มโรค อาการหรือมีประวัติพันธุกรรม เด็กกลุ่มนี้จะได้รับการคัดกรองตั้งแต่เกิด และติดตามเป็นระยะ คลอดก่อนกำหนดด้วยเช่น ที่ต้องมีการตรวจคัดกรอง
สถิติของเด็กที่คลอดมาแล้วมีปัญหาการได้ยินทั่วโลกทุกๆ 1,000 คนจะมีปัญหาการได้ยิน อาจจะเป็นมากน้อย หรือรุนแรงถึงหูหนวกแตกต่างกันไป เด็กที่มีปัญหาเรื่องหูหนวกก็มีจะมีปัญหาเรื่องพัฒนาการพูดตามมา
Apple Podcast:https://apple.co/3m15ytB
Spotify:https://spoti.fi/3cvAVcX
Youtube:https://bit.ly/3cxn31u
#รักลูกPodcast
#รักลูกTheExpertTalk
#Moms_Issues


เวลาทำงานบ้านแล้วเกิดรู้สึกว่ามันจุกจิกจู้จี้ซะทุกที เดี๋ยวคุณพ่อจะเอาอย่างนู้น คุณลูกก็จะเล่นอย่างนี้ เอาแบบนี้ดีกว่า ให้ลูกทำงานบ้านร่วมกับคุณแม่เสียเลยเป็นไง...
สมัยก่อนงานบ้านเป็นเรื่องยุ่งยากลำบาก ต้องมีพิธีรีตรอง ครั้นเจ้าหนูเข้ามาในครัวหรือมาตอนที่คุณแม่ยุ่งๆไม่วายจะต้องโดนดุให้ไปเล่นที่อื่น
ซึ่งคิดแบบนี้ น่าเสียดายนะคะเพราะว่างานบ้าน ช่วยสร้างทักษะEF ให้กับเจ้าหนู บางอย่างที่ทำร่วมกับคุณแม่ได้ แม้ว่าเลอะเทอะไปบ้าง ทำออกมาไม่สมบูรณ์แบบบ้าง แต่เจ้าหนูก็ยังสนุกที่ได้เล่น เอ๊ย!! ได้ทำงานบ้าน ดูลิสต์งานบ้านกันค่ะว่า คุณแม่และลูกจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
อันดับ 1 : สังเกตกันหน่อย
คุณจะมีเวลาศึกษาเจ้าหนูวัยซนว่าเขามีความถนัด และชอบที่จะทำอะไรแบบไหน มีความรอบคอบทำอะไรให้เสร็จเป็นอย่างๆ ละเมียดละไม หรือทำแป๊บเดียวทิ้ง จะได้หาวิธีแนะนำกันไป ที่สำคัญได้รู้จักลูกมากขึ้น
อันดับที่ 2 :ทักษะและพัฒนาการ
ลูกจะได้ฝึกพัฒนาการจากงานบ้าน เพราะการทำงานบ้าน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นงาน การทำงานทุกสิ่งล้วนแล้วแต่มีกระบวนการทักษะทางร่างกายนะคะโดยเฉพาะทักษะEF ซึ่งเราต้องมีการคิดและวางแผนเพื่อให้งานดีขึ้น เร็วขึ้น และแม่นยำยิ่งขึ้น
และที่แน่ๆ ลูกได้พัฒนากล้ามเนื้อในทุกกิจกรรม อย่างเช่น คุณแม่สอนลูกเด็ดใบตำลึง ได้ฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก แรกๆ ลูกอาจจะดึงทั้งก้านทั้งใบเสียช้ำไปหมด เมื่อเราบอกเราสอนมือน้อยๆ ก็จะเบามือลง นอกจากนั้นยังแยกแยะออกว่าอันไหนใบ อันไหนก้าน เมื่อบ่อยขึ้นก็จะทำเร็วขึ้น คล่องแคล่ว และเด็ดเก่งขึ้นในที่สุด
อันดับ 3 :วัยเลียนแบบ
เมื่อลูกอยู่ในวัยเลียนแบบแล้ว ก็ควรที่จะให้ได้เลียนแบบสิ่งที่ถูกที่ควรตั้งแต่เด็ก เพราะเมื่อลูกเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้าน ก็อย่าลืมชวนเขาทำ ให้ลูกคิดว่าเป็นเรื่องสนุก ผลงานในบ้านบางอย่างก็เป็นผลงานของลูกด้วย
เมื่อลูกได้รับคำชื่นชมและรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในบ้าน ก็ทำให้อยากจะทำงานบ้านต่อไป เป็นการทำให้ลูกได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากกว่าดูทีวี หรือเล่นเกม
พูดง่ายๆ ก็คือ...งานบ้านอาจเป็นสิ่งแรกที่ปลูกฝังความรับผิดชอบให้ลูกได้ เช่น เล่นแล้วเก็บ กรอกน้ำทุกวันอาทิตย์ เป็นต้น
ทักษะEF เพื่อชีวิตที่สำเร็จจากงานบ้าน
รดน้ำต้นไม้
การที่ลูกได้ใช้สายยางหรือบัวรดน้ำต้นไม้ในบ้าน พัฒนาการอย่างแรกที่ได้รับเลยคือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนที่จะต้องพยายามยกน้ำให้รดตรงต้นไม้ได้
อย่างที่สองหากลูกใช้สายยางรด ลูกจะเรียนรู้เรื่องการควบคุมและคะเนลักษณะและปริมาณเส้นสายของน้ำ ว่าอยากจะทำให้เป็นฝอยหรือไม่ หรือบังคับปล่อยน้ำลงดินไปดื้อๆ ซึ่งต้องใช้ทักษะEF ส่วนการวางแผนว่าต้นไม้ลักษณะนี้ต้องใช้สายน้ำแบบใด
คุณพ่อคุณแม่อาจจะสอนลูกว่าเราสามารถทำน้ำเป็นฝอยได้ ด้วยการใช้นิ้วโป้งหรือนิ้วชี้ควบคุมกดลงไป หรือถ้าใช้บัวรดน้ำเราก็จะบอกลูกว่ารดตรงใบด้วยนะจ้ะ เอาให้ดินเปียกและทั่วๆ ต้นไม้จะได้น้ำไปแบบอิ่มๆ ไง
โขลกๆ ตำ ๆ... ของสนุก
เรื่องในครัวไม่ว่าเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายก็กระหายใคร่รู้ทั้งนั้น เพราะครัวเต็มไปด้วยเครื่องมือ วัตถุดิบ และเครื่องเทศมากมาย หากคุณจะต้องโขลกพริกไทยให้ละเอียด ลองเรียกเจ้าหนูมา เพราะเรื่องอย่างนี้เขาถนัดนัก ใช้ครกบดยาอันเล็กให้ลองก่อน ใส่พริกไทยลงไป 4-5 เม็ด เอามือป้องไว้ ให้ลูกลองบดคลึง ครืด ครืด... พอเม็ดแตกแล้วค่อยตำ ถ้าลูกใจร้อนตำเลยมันก็จะเด้งออกไปหมด
ลูกจะได้เรียนรู้การกะน้ำหนักของแรงที่จะต้องกดลงไปเพื่อไม่ให้พริกไทยเด้ง ดูความละเอียดของพริกไทยว่าเป็นผงหรือยัง จะตำแรงหรือตำเบา ลูกได้ทักษะEFด้านความจำเพื่อเรียนรู้ เพราะครั้งที่แล้วตำแรงเม็ดกระเด็นเข้าตา ต่อมาตำเบาพริกไทยไม่ละเอียดสักที การย้อนความจำมาเพื่อเรียนรู้ จะทำให้การตำพริกไทยค่อยๆ ละเอียดขึ้น เสร็จแล้วก็ให้ลูกลองตักแล้วโรยในแกงจืดเอง รับรองซดหมดถ้วย
กวาดบ้าน
เป็นวิธีแก้เผ็ดเจ้าหนูที่ชอบทำรก เอ้ย..!! ไม่ใช่หรอกนะคะ แต่เป็นวิธีสอนให้ลูกรู้จักกับอุปกรณ์ในบ้านต่างหาก ลองเตรียมไม้กวาดอันจิ๋วให้ลูก แล้วกวาดให้ลูกดูไปพร้อมๆกับทำตาม ลูกได้เรียนรู้วิธีจับไม้กวาด การกวาดโดยให้ฝุ่นมากองรวมกัน แล้วลองแข่งดูสิว่าใครจะพาฝุ่นมากองรวมได้เยอะกว่า
เรื่องนี้ลูกต้องวางแผนว่ากวาดส่วนไหนของบ้านก่อนหลัง เพื่อไม่ให้ฝุ่นน้อยกลับไปจุดเดิมของบ้าน เป็นต้น
เช็ดทำความสะอาดของเล่น
ของเล่นใครก็ย่อมรัก วันนี้คุณแม่ลองชวนลูกมาเช็ดทำความสะอาดของเล่นที่หนูชอบ หาน้ำมาสักกระป๋อง นำผ้ามาชุบน้ำบิดให้หมาด มีผ้าประจำตัวคนละผืน ช่วยกันเช็ดช่วยกันทำ คอยสังเกตรอยดำแล้วถูให้สะอาด เจ้าหนูจะได้รู้จักดูแลข้าวของ มีความรับผิดชอบ เก็บของให้เป็นที่เป็นทางด้วย
เก็บขยะกันเถอะ
ขยะที่ว่าเหม็นคุณพ่อคุณแม่ต้องบอกลูกด้วยว่ามันเกิดจากอะไร เช่น เกิดจากที่ลูกกินข้าวไม่หมด ต้องทิ้งข้าวเลยบูด เป็นต้น เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็มาลงมือจัดเก็บ อาจให้ลูกรวบรวมขยะใบไม้มาจากคุณพ่อที่เล็มต้นไม้อยู่ นำมารวมกัน เดินเป็นเพื่อนคุณแม่เอาไปทิ้งข้างนอก
ลูกจะได้รู้จักที่มาที่ไปของสิ่งที่อยู่ในบ้าน เรื่องเล็กน้อยๆ เหล่านี้มีความสำคัญนะคะคุณ อ้อ... แล้วอย่าลืมสอนเรื่องแยกประเภทขยะกับลูกด้วยนะคะ อันไหนขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล ปลูกฝังไว้ไม่เสียหลายค่ะ
เรื่องให้งานบ้านเป็นเรื่องสนุกต้องทำอย่างสม่ำเสมอและแบ่งหน้าที่ชัดเจนนะคะ แล้วเราต้องมีความสุขจากงานที่ทำด้วย ไม่ใช่เราล้างจานไปบ่นไป ว่าไม่มีคนช่วยทำงานเลย อย่างนู้นอย่างนี้ รับรองว่าลูกก็จะต้องคิดว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ และงานบ้านก็จะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากทำ พัฒนาการดีๆ และทักษะEF ก็จะไม่เกิดด้วยค่ะ