
ข้อห้ามเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ไม่ให้ดูหน้าจอใดๆ มีข้อยกเว้นเรื่องการคุยผ่านหน้าจอกับพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย แม้ว่าจะไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนนักว่าเพราะอะไรจึงอนุญาต แต่สมมติฐานเป็นดังนี้
การคุยผ่านหน้าจอกับปู่ย่าตายายไม่เหมือนหน้าจออื่นๆ ที่ความเร็วของการเปลี่ยนภาพ คลิปหนัง หนังโฆษณา การแสดงดนตรี หรือแม้กระทั่งสารคดีชีวิตสัตว์ เหล่านี้มักเปลี่ยนภาพหน้าจอรวดเร็วเพื่อตรึงคนดูให้ดูจนจบหรือมิให้เปลี่ยนไปช่องอื่นโดยง่าย
ความเร็วนั้นเองที่สร้างปัญหาต่อการพัฒนาเซลล์สมองและวงจรประสาท กล่าวคือเด็กเล็กอาจจะพัฒนาสมองเพื่อจับเฉพาะภาพที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เรื่องอื่นๆ ไม่สนใจ
การคุยผ่านหน้าจอมักเป็นภาพที่ค่อนข้างนิ่ง ภาพที่ค่อนข้างนิ่งนั้นเป็นภาพใบหน้าของคนที่เด็กคุยด้วยค่อนข้างชัดเจน ฉากหลังก็มักจะนิ่งไม่มีอะไรน่าสนใจ ในแง่นี้เด็กมีเวลาจับภาพใบหน้าคนนานพอสมควร คือวงกลมสองวงมีสันจมูกตรงกลางและมีริมฝีปากเรียวโค้งด้านล่าง แม้ว่าภาพที่เห็นจะเป็นภาพดิจิตอลสองมิติแต่ก็ยังดีกว่าภาพเคลื่อนไหวอื่นๆ อย่างไรก็ตามภาพใบหน้าแม่สำคัญที่สุด
ดังนั้นแม้ว่าจะไม่มีข้อห้ามเรื่องการคุยผ่านหน้าจอแต่มีข้อควรใส่ใจบางประการ
1.กำหนดเวลา เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเด็กเล็กควรเป็นไปเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ และการประสานงานระหว่างสายตาและกล้ามเนื้อ ดังนั้นแม้ว่าปู่ย่าตายายจะคิดถึงหลานมากแต่ควรแจ้งให้ท่านทราบว่าเราจะกำหนดระยะเวลา คำแนะนำทั่วไปคือไม่ควรเกินวันละ 15-30 นาที ดังนั้นปู่กับย่าหรือตากับยายแบ่งคนละครึ่งให้เรียบร้อย
2.ความสม่ำเสมอ เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของปู่ย่าตายายเอง กล่าวคือเด็กๆเรียนรู้จากความสม่ำเสมอ-เสมอ หากปู่ย่าต้องการให้หลานจำตัวเองได้รวดเร็ว แม่นยำ รับรู้ว่าเรามีอยู่จริง เราควรกำหนดเวลาติดต่อให้ตรงเวลาทุกวันหรือทุกสัปดาห์ วยวิธีนี้เด็กมักเรียนรู้และจดจำได้ว่าเมื่อถึงเวลาใครกันที่จะโผล่หน้ามา และหัวเราะเอิ้กๆ ได้เป็นที่ชอบอกชอบใจ
3.เวลาที่กำหนดไว้ควรเป็นเวลาที่เด็กผ่อนคลาย ว่างๆ อยู่กับที่ มิใช่เลือกเวลาหิวหรือง่วงนอน พอเด็กไม่สนใจปู่ย่าตายายกลับจะกลายเป็นโทษให้เราหงุดหงิดหรือเสียใจได้โดยประมาท
4.เราเองควรเตรียมเครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้พร้อมก่อนการเริ่มพูดคุย เช่น หากต้องการอวดของขวัญ หนังสือ ของเล่น ขนม หรืออะไรก็ตามให้เตรียมไว้ข้างตัวให้พร้อมแล้วหยิบขึ้นมาอวดหลานได้ในทันที มิใช่มัวแต่เดินหารอบบ้านกลับมาอีกทีหลานหลับไปแล้วหรือหลานเลิกสนใจไปแล้วต้องมาบิวด์กันใหม่อีก
5.ฝึกพูดหน้าจอด้วยตาสบตาให้คล่อง อย่าลืมว่าเวลาพูดผ่านหน้าจอให้จับจ้องที่กล้องมิใช่จับจ้องที่ใบหน้าคนที่พูดด้วย หากปู่ย่ามัวแต่จับจ้องใบหน้าหลานหลานจะพบว่าปู่ย่ามิได้มองมาแบบตาสบตา อาจจะทำให้เด็กขาดความสนใจได้ ทั้งนี้ยังไม่นับว่าการสื่อสารด้วยตาสบตาเป็นเรื่องสำคัญมากในเด็กเล็ก การกลับจะกลายเป็นว่าปู่ย่าสอนให้เด็กพูดแบบตาไม่มองตาไปเสียฉะนั้น
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

คำตอบคือ ได้ คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากพออยู่แล้ว คนส่วนใหญ่อยู่ได้ เราก็ควรอยู่ได้ อยู่กับเด็กส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นคนชั้นกลางระดับกลางถึงล่างและชนชั้นล่างมีข้อดีในตัว
แต่ควรรู้ทันว่าโรงเรียนทั่วไปมีข้อเสียอย่างไรด้วย เราอย่าดูดายเตรียมชดเชย และโรงเรียนทางเลือกมีข้อดีอย่างไรเราอย่าทำเฉย โรงเรียนทั่วไปมีข้อเสียที่ไม่มีเสรีภาพห้ามคิด ห้ามพูด และห้ามทดลอง แต่งตัวตามระเบียบ ไม่ให้ใส่เครื่องประดับ เข้าแถวตรงเวลา เรียนตามหลักสูตร ห้ามพูดในห้องเรียน ห้ามคิดนอกเหนือหลักสูตร และตอบข้อสอบให้ตรงคำเฉลย จึงจะเรียนจบได้เป็นเด็กดี
แม้ว่าโรงเรียนบางแห่งจะว่าให้คิดวิเคราะห์แต่ให้น้อยเกินไป ไม่สามารถคิดวิเคราะห์เกินกว่าเฉลยข้อสอบหรือข้อกำหนดทางวัฒนธรรม โรงเรียนแบบนี้ไม่เหมาะกับศตวรรษใหม่ที่เด็กๆ มีไอทีอยู่บนฝ่ามือ และการควบคุมตนเองจากภายในจึงเป็นวินัยที่แท้มิใช่การควบคุมจากภายนอกซึ่งมักไม่ได้ผล
ดังนั้นไปโรงเรียนทั่วไปได้แต่พ่อแม่เองที่ใจควรเปิดกว้าง อนุญาตให้ลูก คิด พูด ทำนอกกรอบได้ตามสมควรตราบเท่าที่มิได้ละเมิดกฎ 3 ข้อพื้นฐานคือห้ามทำร้ายคน ห้ามทำลายข้าวของ และห้ามทำร้ายตัวเอง
นอกเหนือจากสามข้อนี้ เรายินดีให้ลองแต่ แต่มีข้อแม้คือบ้านเราจะมีชั่วโมงหรือเวลานั่งผ่อนคลายคุยกันบ่อยๆ ว่าลูกทำอะไรไปจนถึงทำอะไรลงไป การพูดคุยนี้ตั้งอยู่บนบรรยากาศของความไว้วางใจ คือ trust เรายินดีฟังทุกเรื่องโดยไม่ตำหนิ ไม่สกัด หรือไม่เป็นลม เรามาพูดคุยและแลกเปลี่ยนเท่านั้น ภายใต้ข้อเท็จจริงว่าเด็กๆ เติบโตเองได้แล้ว
ถ้ามีอะไรที่เราต้องการหาข้อมูลหรือความรู้เพิ่มเติม เราช่วยชี้ช่อง หรือลุกขึ้นชวนไปหาด้วยกัน หาในอินเทอร์เน็ต หาในห้องสมุด หรือไปหาในสถานที่จริง เราควรสละเวลาไปและใช้งบประมาณ ใช้โอกาสนี้สอนลูกด้วยว่า “ข้อมูล” และ “ความรู้” เป็นสองสิ่งที่ไม่เหมือนกัน ให้เขาเข้าใจว่าอะไรที่ได้มาเป็นข้อมูลหรือความรู้กันแน่ เป็น data หรือเป็น knowledge
นี่คือรูปแบบการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่เหมาะกับการเพิ่มพูนทักษะการไม่ยึดติดและพร้อมทดลองสิ่งใหม่ ประเมินผล คิดวิเคราะห์ แล้วปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าไปโรงเรียนทางเลือก จะได้ใช้กระบวนการเหล่านี้ร่วมกับเพื่อน แต่ก็ไม่เสมอไปโรงเรียนทางเลือกบางแห่งมิได้ใส่ใจการทำงานเป็นทีมมากเท่าที่ควร
ดังนั้นแม้ว่าเด็กๆ จะทำโครงงานมากกว่าโรงเรียนทั่วไป แต่ก็ยังคงเป็นการฉายเดี่ยวอยู่ดี เป็นที่ทราบกันแล้วว่าการฉายเดี่ยวคนเดียวจะคิดวิเคราะห์อย่างไรก็ไปได้เท่าที่คนคนหนึ่งจะไปได้
แต่การทำงานเป็นทีมคิดวิเคราะห์เป็นทีม คือ collaboration มีพลังขับเคลื่อนการเรียนรู้มากกว่านั้นสมองของเด็กๆ 1+1 จะมิใช่ได้เพียง 2 แต่มากกว่า 2 และการทำงานเป็นกลุ่ม 1+1+1+1+1 บนความหลากหลายจะได้มากกว่า 5
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล
เพราะอะไรบ้านนั้นแม่เขาพูดอะไรลูกก็ฟัง บ้านนี้แม่พูดอะไรลูกก็ไม่ฟังนั่นสิ เพราะอะไรคำพูดของคุณแม่ไม่ศักดิ์สิทธิ์เอาเสียเลย
เพื่อจะตอบคำถามนี้ คือเพราะอะไรคำพูดของเราไม่ศักดิ์สิทธิ์เอาเสียเลย เราควรทบทวนเรื่องต่อไปนี้ดูก่อน
เรื่องใหญ่ที่สุดและน่าจะเป็นปัญหาของแทบทุกบ้านคือเรื่องผู้ใหญ่ในบ้านพูดไม่ตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสำคัญที่สุดสองคนพูดไม่ตรงกัน
การที่คุณแม่ไม่สามารถธำรงตนเป็นเสาหลัก ของการพูดหรือคำสั่งสอน มักจะสร้างปัญหามากและมากขึ้นทุกขณะตามฤทธิ์เดชของเด็กที่กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้นทุกวัน ทำอะไรต่อมิอะไรหรือฝ่าฝืนได้สารพัด
ดังนั้นกฎข้อแรกๆ คือทำให้เสียงของเรามีความศักดิ์สิทธิ์ในบ้านก่อนนะครับ วิธีการคือขอคุยกับคุณพ่อตรงๆ ว่าเราขอเรื่องหลักๆ อะไรบ้างที่เราสองคนควรพูดตรงกันหรือทำอะไรเหมือนกัน เช่น วินัยการกินข้าว วินัยการใช้มือถือ วินัยการเข้านอน เป็นต้น
โดยถือหลักเจรจาต่อรองและแลกกัน บางเรื่องหรืออาจจะหลายเรื่องที่เราจ่ายคืนคุณพ่อไป ให้เขาได้ทำอะไรตามใจแต่ไม่สร้างความเสียหายร้ายแรงกับใคร เพื่อขอแลกกับเรื่องใหญ่ๆที่จะมีผลต่อวินัยและพัฒนาการของลูกในวันหน้า
การขัดแย้งกันต่อหน้าลูกเป็นข้อห้าม จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของคำสอนหรือคำสั่งของพ่อแม่ลดลงทั้งคู่ ดังนั้นอยากจะทะเลาะกันเพียงใดควรอดใจสงบปากสงบคำไปหาที่ถกเถียงกันเป็นส่วนตัว แล้วเอาข้อสรุปมาให้ลูก
เป็นคู่สมรส ควรยอมกันไปยอมกันมาอยู่แล้ว ผิดๆ ถูกๆ บ้างเป็นเรื่องรอง
ท่องไว้เสมอว่าตอนนี้ลูกยังไม่กี่ขวบเลย ปัญหาที่ลูกจะถามหรือจะก่อจะมากกว่านี้อีกมากเมื่อเขาเข้าใกล้วัยรุ่นหรือถึงวัยรุ่นแล้ว ดังนั้นสองท่านฝึกเจรจาต่อรองพูดตรงกันเอาไว้ก่อนคือดีที่สุด
ความสามัคคีของพ่อแม่มิเพียงใช้ได้กับลูกแต่สามารถใช้ได้กับเสียงอื่นๆ ในบ้านที่เห็นไม่ตรงกันในการฝึกวินัยแก่เด็กๆ ได้แก่ ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา เป็นต้น
หลักการเหมือนกันกล่าวคือท่านเป็นบุพการีมีพระคุณแก่เรา อะไรเรายอมให้ได้ มีความเสียหายแก่ลูกเล็กน้อยเราก็ยอมไป เช่น ทำอาหารไม่สะอาด คิดเสียว่าท้องเสียรักษาได้ แต่ดูหน้าจอก่อนสองขวบหากโชคร้ายไม่พูดอีกเลยและรักษาไม่ค่อยจะได้ เช่นนี้เห็นทีจะถึงเวลาต้องแลกกัน
เราจะเอาทุกอย่างจากบุพการีก็เหมือนจะเอาทุกอย่างจากคู่สมรสหรือเด็กๆ เราทำไม่ได้ ชีวิตเต็มไปด้วยการแลกกันเสมอ เมื่อเรื่องใหญ่ๆ ตกเป็นของเรา ทั้งบ้านยอมเราหมด ลูกก็จะยินยอมด้วยครับ
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล
เรื่องลูกดื้อหรืองอแง ไปจนถึงถีบมือถีบเท้าดิ้นพราดๆเป็นปัญหาที่พบบ่อย วิธีที่ดีที่สุดคือการ “ทำให้สิ่งแวดล้อมเงียบสงบ” เราเรียกว่า ไทม์เอาท์ (time out)
บางบ้านตีแล้วได้ผล ควรรู้ว่ามักจะได้ผลชั่วคราว จะมีพฤติกรรมอื่นที่ยากกว่าเก่ากลับมา ไม่นับว่าการตีสร้างรอยแผลในใจเสมอ รอยแผลนั้นจะส่งผลต่อชีวิตของเขาในอนาคตไม่มากก็น้อยต่างๆกันไป
บางบ้านพูดยาวมาก ยกแม่น้ำทั้งห้าให้เหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาอธิบายให้ลูกฟังจนกระทั่งลูกไม่รู้ว่าแม่กำลังพยายามจะสอนอะไรกันแน่ หากเป็นเช่นนี้วิธีที่ดีกว่าคือพูดให้สั้นลงและตรงประเด็นว่าแม่ห้ามทำอะไร ขอชัดๆ สั้นๆ เสียงจริงจัง และอย่าเบื่อที่จะต้องพูดซ้ำอีกเมื่อเวลาผ่านไป แต่ก็สั้น ชัด เอาจริง
เมื่อเราพบว่าวิธีไหนก็ไม่ได้ผล อับจนปัญญาแล้ว จึงมาถึงการไทมเอาท์ การไทมเอาท์ทำได้ด้วยการอุ้มหรือจูงลูกออกจากพื้นที่เกิดเหตุ คือพื้นที่ที่เขากำลังควบคุมตัวเองไม่ได้ กรี๊ด งอแง ดิ้น เตะต่อย เอาเขาออกมา ไปหาพื้นที่ใหม่ที่สงบ ปลอดภัย เป็นส่วนตัวมากกว่าเดิม
ไทมเอาท์มิใช่การทำโทษหรือทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว หรือการขังห้องน้ำหรือการขังในห้องนอน เรายังคงนั่งอยู่กับลูก เป็นเพื่อนลูก นั่งด้วยกัน เป็นสถานที่ที่เราได้นั่งพักไม่มีหน้าตาต้องรักษา ไม่มีกริยาต้องระวัง เราเพียงนั่งกับลูกแล้วรอเขาสงบ
ประเด็นคือเราเงียบ ลูกเงียบ สิ่งแวดล้อมสงบ ลูกสงบ เป็นหลักการพื้นฐานที่สุดข้อหนึ่งของการปรับพฤติกรรม เมื่อพฤติกรรมใดๆพบกับความเงียบ สงบ ไร้การตอบสนอง ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ พฤติกรรมนั้นจะไร้ประโยชน์แล้วหายไปเสมอ (extinction) ระหว่างรอ คุณแม่ยิ้มเล็กน้อย มีเมตตา เอ็นดูที่เขาควบคุมตัวเองไม่ได้และเรายินดีจะรอให้เขาเรียนรู้ว่ากริยาที่ทำไม่เกิดประโยชน์ จะไม่ได้อะไรเลยไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ แม่ไม่ให้พอๆกับแม่ไม่ว่า แม่คนใหม่นี้รอได้
แล้วเมื่อเด็กเบาลง เรากอด อันที่จริงจะบอกเขาก่อนก็ได้ครับว่าเงียบเมื่อไรแม่จะกอด เมื่อกอดแล้วบอกเขาด้วยว่าแม่ชอบแบบนี้มากกว่าคือลูกสงบ ในขั้นตอนนี้พอเท่านี้อย่าสั่งสอนหรือต่อความยาวสาวความยืดอะไรอีก เด็กๆจะค่อยๆเรียนรู้เอาเองว่าทำอะไรที่จะไม่ได้อะไร และทำอะไรที่แม่จะปลื้มมากกว่า มีแต่เขาเรียนรู้ได้เองจึงจะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม
บางทีระหว่างการไทมเอาท์เด็กอาจจะตีแม่เตะแม่ ทำลายข้าวของหรือทำร้ายตีอกชกหัวตัวเอง กริยาทั้ง 3 อย่างเป็นข้อห้ามพื้นฐานทั้งสิ้น มิให้ทำ เราต้องจับเสมอ อย่าลืมว่าเรารุ่นเฮฟวี่เวท เราควรจับได้
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

สมัยก่อนมีเพียงทีวี สมัยนี้เราใช้คำว่าหน้าจอ (screen) ซึ่งหมายรวมถึงหน้าจอทุกชนิดทั้งทีวี คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊คแท็บเล็ตสมาร์ทโฟนและบิลบอร์ดตามท้องถนน จะเห็นว่ามีหน้าจอรอบตัวลูก ทั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยที่ในบางสถานการณ์เราทำอะไรไม่ได้เลย เช่น บิลบอร์ดตามท้องถนนหรือร้านอาหาร เป็นต้น
ประกาศและคำแนะนำของสมาคมกุมารแพทย์ทั่วโลกไม่ให้เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบดูหน้าจอเลย ยกเว้นการใช้วิดีโอแช็ทกับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายตามความจำเป็น
แต่เมื่อปี 2017 สมาคมกุมารแพทย์สหรัฐอเมริก (American Academy of Pediatrics,AAP) ออกประกาศใหม่ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือนดูหน้าจอเลย แต่ไม่เขียนระยะเวลาที่ชัดเจนสำหรับเด็กระหว่างอายุ 18-24 เดือน นอกจากบอกว่าพ่อแม่ต้องเป็นผู้คัดเลือกรายการคุณภาพสูง ดูด้วยกันและช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่เห็น
For children younger than 18 months, avoid use of screen media other than video-chatting. Parents of children 18 to 24 months of age who want to introduce digital media should choose high-quality programming, and watch it with their children to help them understand what they're seeing.
สำหรับเด็กอายุ 2-5 ขวบให้ดูได้วันละ 1 ชั่วโมงโดยพ่อแม่เป็นผู้คัดเลือกรายการที่ดีมีคุณภาพสูง ดูด้วยกันช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่เห็นและช่วยให้เด็กสามารถปรับใช้กับโลกภายนอก
For children ages 2 to 5 years, limit screen use to 1 hour per day of high-quality programs. Parents should co-view media with children to help them understand what they are seeing and apply it to the world around them.
สำหรับเด็กอายุ 6 ขวบและมากกว่า ให้จำกัดเวลาการใช้และรูปแบบการใช้ดูแลให้แน่ใจว่าไม่รบกวนการนอน สุขภาพร่างกาย และไม่มีผลกระทบต่อพฤติกรรม
For children ages 6 and older, place consistent limits on the time spent using media, and the types of media, and make sure media does not take the place of adequate sleep, physical activity and other behaviors essential to health.
จะเห็นว่าคำแนะนำทั้ง 3 ระดับเป็นคำแนะนำที่กว้างขวาง บอกเพียงหลักการ ไม่แม้แต่ตีความ สุดท้ายแล้ววิธีปฏิบัติการจะกลับไปที่คุณพ่อคุณแม่วันยังค่ำ
เรื่องการดูหน้าจอในเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ขวบนี้ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าแม้เพียงมองผ่านก็ไม่ควรเพราะเด็กมีโอกาสถูกตรึงเอาไว้ได้ง่าย และเวลาน้อยนิดที่เสียไปส่งผลกระทบพัฒนาการมาก ดังนั้นมาตรการยกทีวีออกจากเขตเลี้ยงเด็กมิใช่เรื่องเกินเลย
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

การเลิกนมมื้อดึก มิได้อยู่ที่นมแต่อยู่ที่ “แม่”
ใครๆ ก็แนะนำให้หยุดนมมื้อดึกได้แล้ว บางคนว่าหลัง 1 ขวบนมแม่ไม่มีประโยชน์แล้วด้วยค่ะ?
ประเด็นเรื่องนมมื้อดึก มิได้อยู่ที่นมแต่อยู่ที่ “แม่” ส่วนเรื่องนมแม่หลังหนึ่งขวบไม่มีประโยชน์นั้นไม่จริงแน่ นมแม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ตลอดไปจนกว่าจะหมดไปเอง
เรื่องนมมื้อดึกพัวพันมาถึงการอุ้มกล่อมกลางดึก มี 2 แนวคิดที่แตกต่างกัน แนวคิดหนึ่งมุ่งเน้นการสร้างความผูกพันมากมายเสียจนคุณแม่ต้องเป็นผู้เสียสละโดยไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งคือการปล่อยให้ทารกร้องไห้ในเวลากลางคืนจนกระทั่งเงียบไปเอง
แนวคิดแรกที่มากเกินไปทำให้คุณแม่หมดสิ้นเรี่ยวแรงและรู้สึกผิด หากตนเองจะไม่ลุกมาอุ้มลูกเดินไปมาตลอดทั้งคืน ในขณะที่สุดโต่งอีกด้านหนึ่งคือทอดทิ้งให้ทารกร้องไห้สุดเสียงนานหลายชั่วโมงโดยไม่ใยดี
แนวคิดแรกคือเรื่องความผูกพันหรือ attachment ของจิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษ John Bowlby (1907-1990)แนวคิดที่สองคือ“ปล่อยให้ร้องจนหลับไป” หรือ Cry it out ซึ่งเป็นที่รู้จักกัน
หากเราสามารถเลิกนมแม่มื้อดึกเมื่อถึงเวลาได้โดยง่ายก็ทำได้ กล่าวคือหากลูกของเราเป็นเด็กเลี้ยงง่ายก็ทำไปเลย เพราะเมื่อเขาอิ่มคุณแม่เขาก็จะเลิกเองโดยละมุนละม่อม แต่ถ้าเราได้เด็กเลี้ยงยากและเขาปากกัดตีนถีบแหกปากร้องไห้จ้าไม่ยอมหยุด
แม้ว่าหนึ่งชั่วโมงผ่านไปก็ไม่ยอมหยุดเช่นนี้ จะเป็นการดีกว่าที่เราจะอุ้มไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะหลับไปด้วยความไว้วางใจ คือ trust ในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแม่ เพราะแม่ที่มีอยู่จริงและ attachment ซึ่งผมเลือกใช้คำว่าแปลว่า “สายสัมพันธ์” มาตั้งแต่แรกเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับพัฒนาการต่อไปในอนาคต
การเลี้ยงดูที่ผิดพลาดในช่วงอายุ 0-3 ขวบอาจจะสร้างพยาธิสภาพจิตบางประการเกิดขึ้นได้ และนั่นเป็นสิ่งที่ผมได้พบในงานประจำที่ตนเองทำตั้งแต่เรียนจบแพทย์จนถึงวันเกษียณอายุราชการ
ทักษะชีวิตที่ดีหมายถึงการที่เรารู้จักที่จะเลือกและตัดสินใจ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าทุกทางเลือกมีข้อดีข้อเสียและมีราคาที่ต้องจ่าย หากเราชั่งน้ำหนักเรื่องการอดนอนของคุณแม่กับพยาธิสภาพทางจิตของลูกในอนาคต น่าจะคิดออกได้ไม่ยากว่าทางเลือกใดมีน้ำหนักมากกว่าทางเลือกใด
สาย Cry it out ก็ไม่ได้บอกให้อุ้มทั้งคืนโดยไม่วางหรือทอดทิ้งเด็กโดยไม่เหลียวแล ที่ผมเขียนเสมอว่าอุ้มไปเรื่อยๆ มิได้แปลว่าสักนาทีก็วางมิได้ ที่จริงแล้วเราควรรอเวลาสักนิดเมื่อลูกร้องกลางดึกก่อนที่จะเข้าหา ครั้นเขาร้องไห้รอบต่อไปเราสามารถรอเวลามากขึ้นอีกนิดหนึ่งก่อนที่จะเข้าหา แล้วทอดระยะเวลาการรอคอยนี้ออกไปได้ครั้งละเล็กละน้อย เราพบว่าเด็กจะปรับตัวได้ในคืนหนึ่ง
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

กระทรวงสาธารณสุขออกกำหนดการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2563 มาแล้ว ซึ่งปีนี้มีวัคซีนโรต้าที่ถูกกำหนดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กเล็กต้องได้รับตามเกณฑ์ด้วยค่ะ
นอกจากนี้เด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ครบจะต้องเก็บตกวัคซีนเหล่านี้ให้ครอบคลุม ได้แก่
MMR (วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน) HB (วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี) LAJE (วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์) IPV (วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด) dT (่วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก) OPV (วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน) BCG (วัคซีนป้องกันวัณโรค)
เช็ค! วัคซีนพื้นฐานที่ลูกต้องฉีด

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปรับวัคซีนฟรีได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศค่ะ
สามารถดาวน์โหลดตารางวัคซีนแบบใหญ่ๆ ชัดๆ ที่ลิงก์นี้ >>>http://bit.ly/2RL97Y2เก็บไว้ได้เลยค่ะ
บ้านฟินแลนด์ไม่มีของเล่นเยอะแยะ เพราะกิจกรรมรอบตัวเด็ก สามารถเรียนรู้ได้ ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดฟินแลนด์โมเดลได้คือ “พ่อแม่ ผู้ปกครอง” อยากเข้าใกล้การเรียนรู้แบบฟินแลนด์โมเดล ทำได้อย่างไร ฟังครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า
ติดตามรักลูก Podcast ได้ที่
Apple Podcast: https://apple.co/3m15ytB
Spotify: https://spoti.fi/3cvAVcX
Youtube: https://bit.ly/3cxn31u

หนูพยายามให้ปู่ย่า(หรือตายาย) อ่านที่คุณหมอเขียนหรือที่คุณหมอท่านอื่นๆ เขียนเพจ ท่านไม่ยอมอ่านบอกว่าเหลวไหลไร้สาระ พวกชั้นเลี้ยงแกมาแบบนี้ไม่เห็นจะเป็นอะไร ป้อนข้าว ดูทีวี ไม่ให้เล่นสกปรก พวกแกก็โตมาได้
จุดตัดสำคัญน่าจะอยู่ที่ปี 2000 คือเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ เป็นช่วงเวลาโดยประมาณที่ประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตแบบมีสาย มีเราต์เตอร์ มีเกมออฟไลน์ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นอินเทอร์เน็ตไร้สาย มีไวไฟ มีเกมออนไลน์ ตามด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์คเริ่มจากไฮไฟว์มาจนถึงเฟซบุ๊คโลกเปลี่ยนไปแล้ว
การเลี้ยงลูกตามมีตามเกิดเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ในจังหวัดพระนครที่มีทีวีสองช่องคือช่องสี่บางขุนพรหมและช่องเจ็ดกองทัพบก ที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี พศ.2526 มีช่องเดียวคือช่องเจ็ดสีทีวีเพื่อคุณ แต่การเลี้ยงลูกบนโลกที่มีทีวีมากกว่า 200 ช่องและโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีพลังทะลักทะลวงเข้าหาลูกของเราใต้ผ้าห่มตอนตีสองหรือในห้องส้วมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว
เด็กสมัยก่อนอาจจะไม่ต้องมีความสามารถควบคุมตนเอง self-control หรือกำกับตนเอง self-regulation อะไรมากมาย เดินป้อนข้าว ดูทีวี เลี้ยงมดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม พวกเขาก็อาจจะรอดได้ เพราะในน้ำมีปลาในนามีข้าวแผ่นดินของเราร่วมด้วยช่วยกัน
แต่วันนี้เด็กที่ไม่มี EF ไร้ความสามารถที่จะบังคับตนเองไปในทิศทางที่ถูกต้อง พวกเขาไม่น่าจะรอด ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าในน้ำไม่มีปลาในนาไม่มีข้าว มีไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด น้ำพิษและหมอกควันพิษ เราไม่ช่วยกันอีกต่อไปแล้ว รัฐยังไม่ช่วยเราเลย ใครดีใครได้
การป้อนข้าวกลายเป็นประเด็น เราพบว่าเด็กที่นั่งกินข้าวด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยช้อนหรือด้วยมือ จะมีความสามารถควบคุมตนเองได้ดีกว่าในวันหน้า และพัฒนาการด้านอื่นๆ ดีๆตามๆกันมาเสมือนโดมิโน่
การดูทีวีก่อน 2 ขวบกลายเป็นประเด็น ทีวีมิได้มีแค่ทีวีแต่ยังมีหน้าจอทุกชนิดคือคลิป ยูทู้บ และบิลบอร์ดบนถนน เหล่านี้กระทบการก่อร่างสร้างตัวของวงจรประสาทและการวางขดลวด (wiring) ของเส้นประสาทในสมอง ซึ่งเปรียบเสมือนฐานราก สถานี ชานชาลา และรางรถไฟที่ดีของ EF ในอนาคต
ปู่ย่าตายายเป็นผู้มีพระคุณ ท่านรักหลานโดยไม่มีเงื่อนไขแต่ประโยคที่ว่า “รักลูกให้ถูกทาง” ยังคงเป็นความจริงเสมอ ปู่ย่าตายายเป็นบุคคลที่เราสมควรเคารพและแสดงความกตัญญู
แต่ประโยคที่ว่า “รักพ่อแม่ให้ถูกทาง” ก็มีประเด็นด้วย การที่เราสปอยล์ (spoil) ปู่ย่าตายายมากเกินไปสามารถก่อปัญหาอื่นตามมาได้เช่นกัน ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าไวไฟและสมาร์ทโฟนส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของปู่ย่าตายายด้วย มิเพียงโลกที่เปลี่ยนไป ปู่ย่าตายายก็เปลี่ยนไป
เราควรเจรจาต่อรองกับปู่ย่าตายาย เจรจาต่อรองหมายถึงการแลกเปลี่ยนสินค้า สินค้าบางชนิดเราไม่ควรเอาไปแลก เช่น การป้อนข้าว การดูหน้าจอ สินค้าบางชนิดเราอาจจะพอแลกได้บ้าง เช่น เลี้ยงลูกมดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม การแลกเปลี่ยนสินค้ามิได้หมายถึงการแลก 1 ต่อ 1 แต่เราพิจารณามูลค่าของสินค้าได้ด้วย
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล