
กล้ามเนื้อใหญ่ที่ทรงพลังทำให้เราจำเป็นต้องวางกติกา มิเช่นนั้นเด็กจะอยู่ในสังคมไม่ได้ เมื่อวางกติกาลงไปแล้วเราเองที่ต้องเอาจริงไปจนถึงเข้มงวดเพราะเด็กจะทดสอบพลังของกล้ามเนื้อของตัวเองตลอดเวลา ทดสอบกฎ กติกา มารยาท นั่นคือทดสอบพ่อและแม่ว่าแน่จริงหรือเปล่า เอาจริงเพียงใดหรือว่าที่แท้แล้วเหยาะแหยะ ไปจนถึงมักจะรักษาหน้าตาของตัวเองมากกว่าที่เข้มงวดกับเรื่องที่ต้องเข้มงวด
เรื่องที่ต้องเข้มงวดมี 3 ข้อคือ ห้ามทำร้ายตัวเอง ห้ามทำร้ายคนอื่น และห้ามทำลายข้าวของ กริยาสามอย่างนี้เราไม่อนุญาตให้มีครั้งที่สอง เมื่อพบครั้งหนึ่งต้องสั่งสอนและบอกกล่าวด้วยความจริงจังและไม่อนุญาตให้ทำได้อีก ความเข้มงวดที่กริยาสามประการนี้ไม่มากเกินไป
หากจะมีคำว่ามากเกินไปจึงเป็นการมีข้อห้ามที่มากเกินไป คือมีข้อที่ 4 ไปเรื่อยๆ จนถึงข้อที่ร้อยหรือหลายร้อย เด็กตื่นเช้ามาพร้อมข้อห้ามหลากหลายประการทั้งในบ้านและนอกบ้านจนเขาไม่สามารถขยับตัว ไม่สามารถพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ ไม่สามารถพัฒนาอะไรต่อไปได้โดยง่ายหรือด้วยความภาคภูมิใจและความมั่นใจ ในกรณีเช่นนี้เด็กจะไม่ดูคนอื่น ไม่เจ้ากี้เจ้าการคนอื่นเหมือนที่ถามมา แต่เด็กจะสงสัยตัวเอง แคลงใจในความสามารถของตัวเองไปจนถึงสงสัยความมีอยู่ของตนเอง
อิริคสันเรียกว่า Doubt ความสงสัย ไม่มั่นใจ และหากปล่อยให้เป็นมากขึ้นๆ จนถึงอายุประมาณ 4-6 ขวบซึ่งเด็กจะพัฒนากล้ามเนื้อเล็กคือกล้ามเนื้อนิ้วมือทั้งสิบซึ่งอยู่ไกลที่สุดจากศูนย์กลางของร่างกายเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างละเอียด (fine motor) เพื่อรังสรรค์สิ่งใหม่ (Initiation)แต่กลับทำไม่ได้
ความสงสัยแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกผิด (Guilt) ที่ตนเองทำอะไรแทบไม่ได้เลยเพราะถูกห้ามอยู่ตลอดเวลา
เด็กที่มั่นใจในตนเองมากจนกระทั่งสามารถก้าวล่วงไปสังเกตพฤติกรรมของเด็กคนอื่นและแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยย่อมไม่มีความสงสัยในตนเองหรือความรู้สึกผิด
ในทางตรงข้ามเขามีสิ่งที่เรียกว่าเซลฟ์เอสตีม(self-esteem) คือรักตัวเอง มั่นใจในตัวเองและภาคภูมิใจในตัวเองมากพอที่จะเดินเข้าโรงเรียนโดยไม่ร้องไห้ หอบเสื้อผ้าไปนอนกับตายายโดยไม่เกรงกลัว แสดงออกว่าไม่พอใจที่เพื่อนๆ ที่โรงเรียนไม่ทำตามกติกา
ทั้งนี้เพราะเขาทำได้ ได้ทำ และมี EF มากพอที่จะควบคุมตัวเองให้ทำได้ด้วย เหล่านี้เริ่มต้นที่แม่มีอยู่และเอาจริงในเรื่องที่ควรเอาจริง
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

ลูกทารกก็เล่นเป็นแล้วนะคะ และไม่ต้องคิดการเล่นที่ยุ่งยากอะไรเลย คุณแม่ลองนำ 3 กิจกรรมนี้ไปเล่นกับลูกทารกได้ทุกวัน ลูกไม่เบื่อแน่นอนค่ะ
3 กิจกรรมเล่นกับทารก เล่นง่ายส่งเสริมพัฒนาการตามวัยและสมอง
- เล่นตามองตา
เกมนี้เป็นเกมที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เลยค่ะ แค่คุณพ่อคุณแม่มองสบตากับทารกและพุดคุยอย่างเป็นธรรมชาติ ทารกจะเรียนรู้เริ่มจากการจดจำหน้าตาของคุณพ่อคุณแม่ น้ำเสียง ท่าทางต่างๆ สมองของทารกจะเริ่มเรียนรู้ที่จะจดจำ คุณพ่อคุณแม่สามารถทำหน้าตาตลกๆ รับรองว่าเจ้าตัวเล็กจะต้องชอบแน่นอน
- อ่านนิทาน
มีงานวิจัยบอกว่า ทารกวัยตั้งแต่แปดเดือนขึ้นไป สามารถจดจำคำศัพท์ต่างๆ ที่ได้ยินจากนิทานที่คุณอ่านให้ลูกฟัง ลูกจะจดจำคำศัพท์และเรียนรู้ถึงน้ำเสียงเวลาคุณทำเสียงเป็นสัตว์หรืออะไรก็ตามในนิทาน คุณสามารถหาหนังสือนิทานที่มีพื้นผิวสัมผัสต่างๆ มาให้ลูกลองจับลองเล่นดูด้วยก็ได้ เพราะทารกจะเริ่มเรียนรู้ถึงผิวสัมผัสในวัยนี้ได้เช่นกัน
- เล่นจ๊ะเอ๋
ทารกชอบเล่นจ๊ะเอ๋เป็นที่สุด แต่นอกจากนั้น กิจกรรมง่ายๆ อย่างการเล่น จ๊ะเอ๋ ยังเป็นเกมที่กระตุ้นพัฒนาการของสมองได้เป็นอย่างดี เพราะการที่ทารกมองไม่เห็นหน้าหรือดวงตาของคุณ ทารกจะคิดว่าคุณไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่แค่คุณเอามือออกเปิดตาเท่านั้นแหละ ลูกก็จะหัวเราะงอหายเพราะว่าคุณอยู่ตรงนี้นี่เอง
เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ขวบ เป็นวัยที่มีพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว การที่พ่อแม่ได้เล่นกับลูกบ่อยๆ ได้พูดคุย ได้กอด ได้สัมผัส เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญและสัมพันธ์ต่อพัฒนาการของสมองของลูกได้ดี จะช่วยให้ลูกเติบโตมาเป็นเด็กที่อารมณ์ดี มีความฉลาด และพัฒนาการในทุก ๆ ด้านที่ดีในอนาคตนะคะ

คุณหมอคะ ทำไมคุณหมอพูดอยู่เรื่อยๆ เรื่องการอ่าน การเล่น การทำงาน เหมือนอะไรก็จะแก้ไขได้ด้วย 3 คำนี้
ใช่ครับ อะไรๆ ก็จะแก้ไขได้ด้วยสามคำนี้จริงๆ เวลาเราพบปัญหาพฤติกรรมในบ้าน ปัญหาที่เห็นมักเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งเสมอ ใต้น้ำยังมีปัญหาอีกหลายข้อรอผุดขึ้นมา นี่เป็นเรื่องที่ควรรู้
บ้านเราชอบไล่แก้ปัญหาปลายเหตุ เด็กดื้อก็อบรมสั่งสอน เด็กไม่มีวินัยก็อบรมสั่งสอน พอเด็กโวยวายหนักข้อขึ้นก็ไทมเอาท์ เหล่านี้เป็นการจัดการที่ปลายเหตุ ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แล้วรอปัญหาใหม่ที่จะตามมา อ่าน เล่น ทำงาน จึงเป็นการแก้ต้นเหตุ กวาดทุกปัญหาหายไปในหมัดเดียว
อ่าน เพื่อให้แม่มีอยู่จริง
อ่านนิทานก่อนนอนทุกคืน พยายามให้ตรงเวลา สม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นหลักประกันว่าแม่จะมีอยู่จริงแน่นอน หากคุณพ่ออยากจะมีอยู่จริงในสายตาลูกก็ควรลงไปอ่านนิทานก่อนนอนด้วยตนเอง พยายามให้ตรงเวลา ทุกๆ คืนเรามีอยู่จริง เราจึงจะสั่งสอนเด็กได้ พูดคำไหนคำนั้นได้มากกว่า หากคนพูดไม่มีอยู่เสียแล้ว คำพูดจะมีอยู่ได้อย่างไร เราจึงได้ปัญหาเด็กไม่ฟังมากขึ้นๆ เพราะพ่อแม่ออกไปทำงานมากขึ้น ส่งลูกไปโรงเรียนเร็วขึ้น การบ้านมีมากขึ้น
เล่น เพื่อระบายส่วนเกิน
เด็กดื้อ เด็กไม่เชื่อฟัง เด็กเป็นอะไรก็ไม่รู้ เรามักเสียเวลาหาสาเหตุ หาถูกบ้างหาผิดบ้าง เดาก็มาก โทษกันไปมาก็บ่อย แทนที่เราจะหมดเวลาไปกับเรื่องพวกนั้น เราควรใช้เวลาที่มีน้อยนิดลงไปเล่นก่อนการเล่นคือการเปิดวาล์วนิรภัย เด็กใกล้ระเบิดด้วยพลังไอน้ำที่อัดแน่น เราเล่นกับเขา เล่นจริงๆ ลงไปเล่นที่พื้น วิ่งเล่นในสนามพลังส่วนเกินจะถูกระบายออกไปทันที แล้วเด็กมักจะกลับสู่สมดุลได้เร็วกว่าอย่างง่ายๆ การเล่นใช้เวลาของพ่อแม่มากกว่าการอ่าน แต่รับรองได้ว่าเวลาที่เสียไปคุ้มค่ามากมาย ที่จะได้คืนมาคือพ่อแม่ที่มีอยู่จริง สายสัมพันธ์ที่แข็งแรงมากกว่าเดิม มากกว่านี้ทักษะการแก้ปัญหาและคิดยืดหยุ่นที่ดีกว่าเดิม
ทำงาน เพื่อฝึกการควบคุมตนเอง
การทำงานไม่สนุกเหมือนการเล่น การทำงานใช้นิ้วมือ 10 นิ้วเหมือนการเล่น จึงพัฒนาสมองเหมือนการเล่น เล่นมาก ทำงานมาก สมองดีกว่า ทำให้ EF ดีกว่า แต่การทำงานเป็นเรื่องไม่สนุก หากเราเอาการทำงานมาขวางทางการเล่น เด็กๆ จะต้องฝึกฝนการควบคุมตนเองให้ทำงานจนกว่างานจะเสร็จเพื่อจะได้ไปเล่น
เด็กจะได้ฝึกความสามมรถอดเปรี้ยวไว้กินหวาน คือ delayed gratification รู้จักอดทนต่อความลำบากก่อนที่จะลิ้มรสความสุขที่เกิดจากการทำงานเสร็จอ่าน เล่น ทำงาน จึงได้ทั้งหมด
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล