10 อาการคนท้องอ่อน ๆ อาการเริ่มแรกของคนท้องที่บอกว่าตั้งท้องแล้วจ้า
แค่ประจำเดือนไม่มา คลื่นไส้ อาเจียนอาจยังไม่มากพอที่จะบอกว่ากำลังตั้งท้องนะคะ อาการคนท้องอ่อน ๆ อาการท้องระยะแรก 10 เรื่องนี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกเพิ่มเติมว่าเรากำลังตั้งครรภ์แล้ว
10 อาการคนท้องอ่อน ๆ อาการเริ่มแรกของคนท้องที่บอกว่าตั้งท้องแล้วจ้า
- ประจำเดือนขาด - อาการคนท้องอ่อน ๆ
เป็นอาการริ่มแรกของคนท้องเลยค่ะ และเป็นอาการที่สังเกตง่ายโดยเฉพาะคุณแม่ที่มีรอบเดือนเป็นปกติและสม่ำเสมอ โดยสังเกตง่ายๆ ว่าหากประจำเดือนมาช้ากว่าปกติไม่น้อยกว่า 10 วันก็เข้าขายตั้งครรภ์ แต่อาการนี้อาจจะเกิดในผู้หญิงบางกลุ่มที่ประจำเดือนมาช้าได้ เช่น หญิงสาวที่เพิ่งมีประจำเดือนครั้งแรก ๆ หญิงวัยกำลังหมดประจำเดือนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรอบเดือนไม่แน่นอน คุณแม่หลังคลอดที่กำลังให้นมลูก หรือคุณแม่ที่มีความเครียดมากทำให้ไข่ไม่ตก และประจำเดือนขาดได้ -
เต้านมคัดตึง - อาการคนท้องอ่อน ๆ
อาจเป็นอาการที่บอกว่าอาจจะกำลังตั้งครรภ์ สังเกตได้ว่าเต้านมเริ่มคัดตึง ขยายใหญ่ขึ้น หัวนมมีสีคล้ำขึ้น รู้สึกเจ็บ ไวต่อการสัมผัส บริเวณลานหัวนมกว้างออกและมีเส้นเลือดดำสีเขียว ๆ กระจายอยู่โดยรอบ การเปลี่ยนแปลงนี้จะเห็นชัดในคุณแม่ครรภ์แรกมากกว่าครรภ์หลัง -
สีของเยื่อบุช่องคลอด - อาการคนท้องอ่อน ๆ
คุณแม่อาจรู้สึกว่าอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานบวมขึ้น เยื่อบุช่องคลอดคล้ำขึ้น เป็นสีน้ำเงินหรือม่วงแดง แต่บางครั้งอาจเป็นอาการอักเสบของอวัยวะในช่องคลอด -
ปัสสาวะบ่อย - อาการคนท้องอ่อน ๆ
ในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาการท้องระยะแรก คุณแม่จะรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย เพราะมดลูกโตเข้าสู่ช่องท้องไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ แต่หลังจากนั้นการกดทับกระเพาะปัสสาวะจะลดลง ทำให้ปัสสาวะกลับสู่ภาวะปกติ แต่เมื่อตอนใกล้คลอดศีรษะทารกเคลื่อนต่ำลงมาเข้าสู่ช่องเชิงกราน จะกดเบียดกระเพาะปัสสาวะอีกครั้ง ทำให้ช่วงใกล้คลอดนั้นคุณแม่กลับไปปัสสาวะบ่อยอีก -
อ่อนเพลีย - อาการคนท้องอ่อน ๆ
คุณแม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อยากนอนหลับตลอดเวลา ถ้าได้พักผ่อนจะสบายขึ้น ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น มีผลทำให้กล้ามเนื้อตามร่างกายมีการเผาผลาญอาหารสำหรับเจ้าตัวเล็กมากขึ้น ทำให้ร่างกายของแม่มีอุณหภูมิสูงขึ้นและสูญเสียพลังงานมากขึ้น -
มีเลือดออกทางช่องคลอด - อาการคนท้องอ่อน ๆ
ช่วงที่ตัวอ่อนฝังตัวในมดลูก ว่าที่คุณแม่บางท่านอาจมีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด อาการนี้มักเกิดขึ้นในหลังจากตัวอ่อนปฏิสนธิได้ 11-12 วัน (เวลาเดียวกับที่คุณเริ่มสังเกตว่าประจำเดือนขาด) เลือดที่ไหลออกมามักเป็นเลือดจางสีแดงหรือชมพู และจะหยุดไหลภายใน 1-2 วัน อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้ว และพบว่ามีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอดร่วมกับอาการปวดท้อง ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะท้องนอกมดลูกได้ -
คลื่นไส้ - อาการคนท้องอ่อน ๆ
เป็นอาการเริ่มแรกของคนท้องที่พบบ่อยมากจนเป็นสัญลักษณ์ของการตั้งครรภ์ก็ว่าได้ อาการคลื่นไส้ อาเจียนมักเกิดขึ้นหลังจากที่ตัวอ่อนปฏิสนธิได้ 1 เดือน และลดลงเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สอง แต่นี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ คุณแม่บางคนอาจมีอาการแพ้ท้องเร็วกว่ากำหนด ขณะที่บางคนโชคดีไม่มีอาการแพ้ท้องเลย หรือไม่ก็โชคร้ายหน่อย แพ้ท้องไปจนถึงเดือนสุดท้ายก่อนคลอดโน่นเลย -
เบื่ออาหาร - อาการคนท้องอ่อน ๆ
อาจเป็นอาการที่ตามมาเพราะวิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ทำให้ไม่อยากกินอาหาร เพราะกินอะไรก็อาเจียน -
อารมณ์เปลี่ยนแปลง - อาการคนท้องอ่อน ๆ
บางทีใครทำอะไรไม่ถูกต้องเพียงเล็กน้อย กลับทำให้คุณอารมณเสียได้ง่าย ๆ ซึ่งทั้งนี้อาจเกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง และร่างกายของคุณแม่กำลังพยายามปรับตัวเข้าสู่สมดุลย์ใหม่ แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงนี้ไป อารมณ์ของคุณแม่ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ -
ตกขาวคนท้อง - อาการคนท้องอ่อน ๆ
ตกขาว ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ทำให้มีตกขาวมากกว่าปกติ ซึ่งลักษณะของตกขาวก็จะใสหรือขาวขุ่น ไม่มีสีหรือกลิ่นผิดปกติ
ทั้งหมดเป็นแค่การสังเกตอาการเบื้องต้นของอาการท้องอ่อน ๆ อาการท้องระยะแรกเท่านั้น ถ้าจะให้แน่ใจควรตรวจการตั้งครรภ์จากผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด ด้วยการตรวจ 4 แบบค่ะ
- ตรวจปัสสาวะ การตรวจนี้เป็นการทดสอบหาฮอร์โมน HCG ในปัสสาวะ ซึ่งมีความแม่นยำถึงร้อยละ 90 ในรายที่มีการขาดประจำเดือนตั้งแต่ 10–14 วันขึ้นไป สามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลหรือใช้ชุดอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา
- ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรือการตรวจอัลตราซาวนด์ จะช่วยยืนยันว่าการตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูกเป็นไปตามปกติ หากตรวจปัสสาวะแล้วได้ผลบวก ตรวจอัลตราซาวนด์จะรับรองผลได้ดีขึ้น
- ตรวจพบการเต้นของหัวใจทารก คุณหมอสามารถใช้หูฟัง (Stethoscope) ฟังเสียงเต้นของหัวใจทารกได้ หากมีอายุครรภ์ประมาณ 17–18 สัปดาห์ แต่วิธีนี้จะตรวจหลังจากมีการตรวจยืนยันว่าตั้งครรภ์จริง
- ตรวจเลือด เพื่อหาระดับฮอร์โมน HCG ตรวจพบได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังจากปฏิสนธิ แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง และทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น วิธีนี้จะใช้เฉพาะในกรณีที่คุณแม่กำลังรักษาภาวการณ์มีบุตรยาก หรือคุณแม่มีประวัติการแท้งบ่อย ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาให้ฮอร์โมนเสริมเพื่อป้องกันการแท้ง