
มองภาพจากมุมสูง - ดาวน์โหลดฟรี Learning Sheet
เกมที่เด็กได้ฝึกสมอง ฝึกการสังเกต คิดแก้ปัญหา ส่งเสริมทักษะสมอง EF และทักษะพื้นฐานเรื่อง Coding
ระดับ
วิธีเล่น
สังเกตรายละเอียดในภาพใหญ่ แล้วหาว่าตรงกับรูปในสี่เหลี่ยมรูปไหนถ้ามองจากมุมสูง
สิ่งที่เด็กเรียนรู้
- ฝึกทักษะพื้นฐานเรื่อง coding
- ฝึกการสังเกตจดจำ
- ฝึกการคิดวิเคราะห์ คิดเชิงเหตุผล
บทบาทพ่อแม่ / ผู้ปกครอง
- ชวนเด็กคิดหาวิธี ขั้นตอนที่ใช้ในการหาคำตอบ เพื่อสรุปการเรียนรู้การคิดอย่างเป็นระบบตามความถนัดของเด็ก
หมวดการเรียนรู้ / ทักษะ
Coding, ทักษะสมอง EF, การคิดเชิงเหตุผล, การคิดแก้ปัญหา, การสังเกตจดจำ

มาช่วยกันหาหน่อย เด็กผู้หญิงซื้อปลาตัวไหนไปนะ - ดาวน์โหลด Learning Sheet
ระดับ: อนุบาล, ประถมศึกษาตอนต้น
วิธีเล่น
- สังเกตปลาที่อยู่ในตู้ใบแรกด้านซ้าย
- ดูว่าปลาตัวไหนไม่อยู่แล้วในตู้ใบที่สอง
- วงกลมรอบตัวปลาที่หายไปนั้น
สิ่งที่เด็กเรียนรู้
- ฝึกทักษะการสังเกต การเปรียบเทียบ การวิเคราะห์ แยกแยะ การคิดเชื่อมโยง
- ฝึกสมาธิ และการจดจ่อ ( Focus and Attention )
บทบาทพ่อแม่ / ผู้ปกครอง
- ชวนเด็กๆ พูดคุยเกี่ยวกับการเลี้ยงปลา หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ
หมวดการเรียนรู้ / ทักษะ
- ทักษะสมอง EF
- เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และสัตว์เลี้ยง
- การสังเกตจดจำ
- การเชื่อมโยงความสัมพันธ์
นิทานชุดในสวนของย่า เรื่อง “แบบนี้ดีต่อใจ” จะช่วยให้พ่อแม่มองเห็นความสำคัญของการสร้างความสุขให้กับเด็กผ่านต้นชมพู่มะเหมี่ยว เพราะเมื่อเด็กมีความสุข Self ของเด็กจะดีและมีทักษะ EF
ชวนฟังหลักคิดเพื่อนำไปปรับใช้ในการเลี้ยงลูกจากนิทานย่าติ่ง คุณสุภาวดี หาญเมธี สุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันรักลูกเลิร์นนิ่ง กรุ๊ป
แบบนี้ดีต่อใจและได้เรียนรู้
เป็นนิทานที่เล่าเรื่องของต้นมะเหมี่ยว ซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ต้นเดียวในบ้านทําให้บ้านเย็น เวลาที่ทําสวนข้างบนมันร้อนก็จะได้อาศัยร่มเงาเขา ก็เป็นประเด็นว่าอยากเสนอเรื่องความสุข เพราะว่าเวลารณรงค์เรื่องEFอย่างที่เรารู้ว่าการทํางานของสมอง สมองส่วนคิดจะทํางานได้ดี หรือEFจะทํางานได้ดีก็ต่อเมื่อ Selfดี มีสมองส่วนอารมณ์ เบิกบาน ปลอดภัย เพราะฉะนั้นคนที่จะมีความสุขคือคนที่มี Selfดี ต้องมีความสุข จะมีความสุขเพราะว่ารู้สึกดีกับตัวเอง แล้วก็สามารถที่จะไปรู้สึกดีกับสิ่งอื่นๆได้ เพราะว่าเขามีความสุขอยู่ในตัว
เพราะฉะนั้นการที่เด็กจะมีความสุขได้ มันเริ่มจากหลายอย่างแต่อันหนึ่งก็คือการมองเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายหรือความสุขมาจากการที่ เราทําอะไรได้ด้วยตัวเองสําเร็จ ความสุขจากการที่รู้สึกว่ามีคนรักเรา มีคนเอื้อเฟื้อเรา เรากําลังทุกข์ใจก็มีคนมากอดเรา มีคนมาให้ความช่วยเหลือ ความสุขก็ค่อยๆ ฟื้นคืนกลับมา เพราะฉะนั้นกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขมันก็ต้องค่อยๆ สะสม ถ้าคิดแบบปรัชญาก็คือว่าทุกข์เป็นของตาย ยังไงเราก็มีความทุกข์ นี่เป็นของตายตามหลักศาสนาหรือปรัชญา แต่ว่าจริงๆมนุษย์ก็ต้องมีจังหวะเวลาโอกาสที่จะต้องมีความสุขเพื่ออะไรเพื่อให้มันประคองชีวิตไปได้ คนที่มีแต่ทุกข์อยู่ตลอดแล้วไม่รู้สึกมีความสุขเลยเนี่ยมันชีวิตเดินหน้าไม่ได้ชีวิตจะไม่มีพลัง
ทำแบบนี้ดีต่อใจลูก
เพราะฉะนั้นการที่เด็กจะมีพลังพ่อแม่หรือคุณครูต้องทำให้
1.เด็กรู้สึกดีกับตัวเองให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีดี เด็กทุกคนมีดีอยู่ที่ว่าเราจะเห็นดีของเขาหรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้าเขารู้สึกดีกับตัวเอง ถือแก้วน้ําได้แล้ว เดินหยิบขยะไปทิ้งที่ถังขยะได้ เล่นเองแล้วเก็บของเล่นเองได้ จะทำให้ระหว่างทางเขามีความสุขเกิดขึ้น
2.ส่งเสริม ชื่นชม กระตุ้น สนับสนุนเขา ความรู้สึกที่มีความสุขจากการที่ตัวเองมีดีมันจะเป็นฐานที่เมื่อเขาผ่านสถานการณ์ที่ไม่ถูกใจ แต่ถ้าเขาปรับตัวได้หรือพลิกมุมมองบางอย่าง เช่น ต้นแม่มะเหมี่ยวก็จะมีเสียงที่คอยยุแยงตะแคง คอยถาม มาทำให้รําคาญ แต่ก็มีวิธีมองคือมองเรื่องเล็ก ๆ ว่าไม่เป็นปัญหา เรื่องดีมันมีมากกว่านั้นอีก ขี้นกตกเยอะก็ไม่เป็นไรเดี๋ยวฝนมาขี้นกมันก็หายไป
3.ฝึกลูกอยู่ง่าย กินง่าย ปรับตัวง่าย มองโลกให้มีความสุขเรื่องพวกนี้ก็จะไม่รบกวนเขามากถึงวันที่มันมีเรื่องใหญ่จริงๆ ทุกข์จริงๆ เขาก็จะเอาความสุขที่มีอยู่ในตัวเขาที่มีพลังไปแก้ปัญหาคือวิธีแบบนี้ไม่ได้แปลว่าโลกสวย แต่เราต้องให้เด็กอยู่กับความจริง อะไรที่เป็นสุขก็คือเป็นสุข อะไรที่เป็นทุกข์ก็ต้องยอมรับว่ามันคือความทุกข์มันจะได้ไปแก้ปัญหา เพียงแต่ว่าการมีมุมมองที่บวก Positive Thinking มันคือการพลิกมุมมอง อย่างขี้นกตกใส่รถแทนที่จะโวยวายก็พลิกสถานการณ์จากลบให้เป็นบวกจะได้ชวนลูกบ้างรถ ไม่ได้แปลว่าเราไม่เห็นว่าขี้นกเป็นปัญหาเราเห็นมันเป็นปัญหา แต่เราหยิบปัญหามาเป็นสถานการณ์ที่เป็นการเรียนรู้
ปลายทางของมันคืออะไรคือทําให้เด็กอยู่ง่าย ทําให้เขามีความสุขง่าย มีอะไรก็ดีได้ไม่ต้องยาก แล้ววันที่เขาไปเจอของยากจริงๆ ของแย่จริงๆ เจออุปสรรคที่มันใหญ่จริงๆ ความสุขเหล่านี้มันจะเป็นฐานให้เขาไปแก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้น คือคนที่จะแก้ปัญหาอะไรยากๆ ถ้าเป็นคนที่คิดลบตลอดจะแก้ปัญหาไม่ได้ เด็กควรโตมาแบบที่เห็นว่าเรื่องยากทั้งหลายมันไม่ยากเกินกําลังแล้วเราก็เคยผ่านมาแล้วเคยจัดการเรื่องเหล่านี้มาแล้วก็สําเร็จมาทีละเล็กทีละน้อย คือมนุษย์มีศักยภาพที่จะหาความสุข สร้างความสุข เราไม่ต้องไปตัดศักยภาพของเด็กทําให้กลายเป็นคนที่รู้จักแต่ความทุกข์อย่างนี้ไม่แฟร์กับเด็กเราต้องให้เขามีโอกาสที่จะหาความสุขด้วย ให้เขามีทักษะมีวิธีมองมีประสบการณ์ไหมคะก็เหมือนกับเรื่องทักษะEF มองยืดหยุ่นความคิดไปอีกมุมหนึ่ง พลิกมุมจากความทุกข์เป็นความสุขได้ คือวิธีคิดที่ดีก็จะนํามาซึ่งความสุข แต่ขณะเดียวกันความสุขก็จะทําให้เรามีโอกาสมีวิธีคิดที่ดีมันเป็นสิ่งที่มันคู่กัน
ถ้าเด็กเป็นคนมีความสุข โดยเฉพาะเป็นความสุขที่มาจากการที่เขาประสบความสําเร็จ ได้รับคําชื่นชมเขาจะใช้ประสบการณ์ที่มีคุณภาพที่มีความสุขเหล่านี้ไปแก้ปัญหาได้เยอะจะรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ มันมีสถานการณ์แบบนั้นในชีวิตเราเยอะมากที่เราควรที่จะต้องหยิบมาแล้วก็ฝึกให้เขามองว่าถ้ามองอีกแบบหนึ่ง มองแล้วไม่เป็นทุกข์เป็นอย่างไรแล้วพอ คือเวลาที่มันเกิดจากเรื่องที่ไม่ถึงกับยาก ถ้าเราฝึกเขาไว้ในวันที่เขาเจอเรื่องยากเขาจะหยิบประสบการณ์พวกนี้ไปทดลองคิด แต่ถ้าเราไม่เคยให้ลูกทุกข์เลยเพอร์เฟกต์ไม่ต้องคิดอะไรของไม่ดีก็ทิ้งไป เขาก็จะรู้วิธีเดียวหรือแบบที่ตัดปัญหาไป แต่จริงๆ ในชีวิตจริงเราทําให้ดีกว่านั้นได้เราไม่จําเป็นต้องทําแบบนั้น กระบวนการคิด ที่มันค่อยๆซับซ้อนและประณีตขึ้น มันจะเกิดขึ้นได้จากการที่เราชวนเขามองเรื่องอย่างนี้ไปก่อน เริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ
EF ทำให้ลูกอยู่รอด
แม้โลกไม่ VUCA อย่างไรก็ต้องใช้ทักษะ EF เพราะว่าEFคือทักษะที่เกิดจากสมองส่วนหน้า ส่วนที่เราแตกต่างจากสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นความสามารถนี้ก็ พิสูจน์มาตลอดว่าเราใช้ EF ในการแก้ปัญหา ปรับตัว สร้างสรรค์และพัฒนา ยังไงเราก็ต้องเจอกับปัญหาที่มันหนักขึ้นเรื่อยๆ โลกร้อนนี่ก็เรื่องหนึ่งนะคะ หรือเทคโนโลยีที่เข้ามา อย่างตอนนี้มีแชท GPT มนุษย์ก็ต้องเก่งต้องพัฒนาเพื่อที่จะรับมือแล้วก็จัดการชีวิตเรา ชีวิตครอบครัวเรา ชีวิตสังคมเราได้
เพราะฉะนั้นสถานการณ์เหล่านี้มันต้องการความสามารถของสมองสิ่งที่เรากําลังทำคือฝึกเด็กเรื่องEF ให้เขารู้จักคิด มีทักษะที่จะคิด มีความรู้สึกดีที่จะคิด มีความรู้สึกอยากลองได้ลองผิดลองถูก กระบวนการฝึก EFในเด็กเล็กที่เราพยายามรณรงค์กันคือเพื่อให้เขามั่นใจว่าเขามีทักษะเหล่านี้ดีขึ้น เข้มแข็งขึ้นแล้วฝังอยู่ในสมองเป็นชิปที่เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอกับอะไรเขาก็จะสามารถค่อยๆคิดวิเคราะห์ค่อยๆหาคําตอบ จนในที่สุดเรื่องยากเรื่องใหญ่มันก็จะเข้ามาในลูปของเส้นใยประสาทแบบนี้เหมือนกัน ถ้าเด็กของเราจํานวนมากเป็นอย่างนี้เราก็มั่นใจได้ว่าเขาจะช่วยกันคิด พากันแก้ปัญหา
สิ่งที่สําคัญก็คือว่าเวลานี้เราพบมากไปกว่านั้นว่าไม่ใช่แค่เด็กคิดเก่งเท่านั้นที่จะสามารถพัฒนาตัวเองไปได้ดี แต่เราพบว่าเขาจะคิดเก่งคิดดีได้ ก็ต้องมีฐานใจที่ดีด้วยเช่นเดียวกัน ฐานสมอง ฐานใจก็ต้องเสริมกัน เพราะฉะนั้พอเราจะมาทําเรื่องส่งเสริมEFให้เด็ก เราต้องส่งเสริมเรื่องSelfเขาไปด้วย เพราะว่าSelfที่ดีจะทําให้เขาพัฒนาEFได้ กล้าคิด กล้าพูด กล้าทํา กล้าไปเผชิญโลก กล้าไปเจอปัญหา แต่ถ้าSelfไม่ดี เขาก็จะกลัวไปหมดทั้งโลกมันน่ากลัว ทั้งโลกมันมืดมนทั้งโลกไม่มีโอกาส เพราะฉะนั้นต่อให้เขาคิดอย่างไรก็ไปต่อไม่ได้จึงต้องทำสองเรื่องนี้ไปคู่กัน แล้วพอมีโควิดก็ทําให้เห็นว่าฐานกายก็ต้องไปด้วยกัน คือสุขภาพที่ดีจึงจะทําให้เขาสามารถไปคิดไปสร้างไปอะไรได้แล้วก็จะทําให้จิตใจของเขาดีได้ด้วย
เพราะฉะนั้นราต้องทำให้เด็กแข็งแรงทั้งสมอง จิตใจ ร่างกายก็คือครบองค์รวมได้ประโยชน์ครอบคลุม แทนที่เราจะไปทําเรื่องคุณธรรมก็ไม่ใช่ไม่ทําแต่ว่าไม่ใช่โฟกัสเรื่องเดียวคือคุณธรรม สมองที่คิดได้ดีที่ยับยั้งตัวเองได้ดีนั่นแหละคุณธรรมก็เกิด ไม่จําเป็นต้องไปไล่บอกว่าคุณต้องฝึกคุณธรรมอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างนั้น จริงๆ EFที่ดีมีการยั้งคิดไตร่ตรองก็มีศีลในตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจะทําอะไรก็ตามทําให้มันเป็นทําเรื่องเดียวแล้วมันได้ทุกเรื่อง
ทำEFได้คุณธรรมแน่นอน ได้การคิดเก่งแน่นอน ได้IQ ได้ EQด้วย เวลานี้เราผลักดันอยากเชิญชวนพ่อแม่ทําเรื่องส่งเสริมEF ส่งเสริมSelfแล้วก็ผ่านกิจกรรมทางกายด้วย พาลูกออกกําลังกายเยอะๆ แต่ถ้าไปพาเรื่องเรียนเก่งอย่างเดียวจะมาเสียใจทีหลังว่า ลูกไม่มีSelf ลูกซึมเศร้า ลูกอยากฆ่าตัวตาย เมื่อตอนเป็นวัยรุ่น หรือเอาแต่ลูกเรียนหนังสืออย่างเดียว ปรากฏว่าก็ไม่มีปฏิภาณที่จะแก้ปัญหาในชีวิต สรุปแล้วก็ไม่คุ้มทําสามเรื่องนี้ดีกว่าแล้วก็ยาวไปตลอดชีวิตของเขา
Apple Podcast: https://apple.co/3m15ytB
Spotify: https://spoti.fi/3cvAVcX
Youtube: https://bit.ly/3cxn31u
งานวิจัยพบว่าเด็กที่ใช้สื่อเย็นเซลล์สมองจะเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ได้มากกว่า
ขณะที่สื่อร้อนการเชื่อมต่อของเซลล์ที่ชั้นเปลือกสมองจะทําได้น้อย กระทบกับพัฒนาการของสมอง โดยเฉพาะทักษะสมอง EF
ไม่อยากให้ลูกติดจอ พ่อแม่ทำได้
ฟัง อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริบอกแนวทางการฝึกทักษะให้พ่อแม่มี Digital Literacy เพื่อรับมือและรู้เท่าทันก่อนสื่อหน้าจอจะทำลายสมองลูก
ติดตามรักลูก Podcast ได้ที่https://linktr.ee/rakluke
เมื่อพ่อแม่ให้โทรศัพท์ แท็บแล็ตหรือสร้างแอคเคาท์บนโซเชียลมีเดียให้ลูก เราอาจจะคิดว่าอินเทอร์เน็ตมันเป็นโลกของข้อมูลความรู้
แต่ถ้าลองคิดในมุมกลับกัน เมื่อให้ลูกเข้าถึงโลกทั้งใบ โลกทั้งใบก็เข้าถึงลูกของเราได้เหมือนกัน…การเกิดอาชญากรรมออนไลน์จึงเกิดขึ้นได้ง่าย
รู้กลลวงของเหล่ามิจฉาชีพบนโลกออนไลน์เพื่อรับมืออย่างเท่าทัน ฟัง อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ
ติดตามรักลูก Podcast ได้ที่https://linktr.ee/rakluke
เมื่อลูกถูมิจฉาชีพหลอกลวง พ่อแม่จะช่วยลูกและรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร ฟัง อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ
ติดตามรักลูก Podcast ได้ที่https://linktr.ee/rakluke
ผลลัพธ์ของการเลี้ยงทั้ง 3แบบเด็กจะเป็นอย่างไร หากกำลังเลี้ยงลูกแบบ 3 วิธีการนี้ ลูกจะเติบโตมาเป็นคนอย่างไร และต้องปรับแนวทางการเลี้ยงลูกอย่างไร ฟัง The Expert รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม
เราเลี้ยงลูกบนความไม่เข้าใจบางเรื่องเป็นความปรารถนาดีอยากให้ลูกมีความสุข ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องแต่ความปรารถนาบางครั้งต้องให้ลูกเจอความผิดหวัง เช่น ลูกผิดหวังไม่ได้เลยก็ต้องสอนให้ลูกผิดหวังบางครั้งพ่อแม่เจ็บปวดที่ลูกร้องไห้เพราะไม่ได้ดั่งหวังซึ่งไม่ผิด แต่เราปรับจูนความเข้าใจกันว่าจะมีจังหวะไหนที่ผ่อน จังหวะไหนที่ตึงบางเรื่องแล้วทำให้พ่อแม่รู้เท่าทันว่าบางเรื่องเราต้องถอยบางเรื่องรักษาระยะห่างเป็นการเรียนรู้ร่วมกันแต่จะผิดคือบกพร่องหน้าที่พ่อแม่
เลี้ยงปกป้องเกินไป เด็กขาดความมั่นใจ (Over Protection)
เป็นหน้าที่พ่อแม่ที่ต้องปกป้องลูกแต่ถ้ามากเกินไปมีปัญหาคือไม่ปกป้องเลย เช่น ตอนเป็นเด็กลูกร้องไห้ ปัสสาวะ อุจจาระราดที่บอกว่าเด็กร้องไห้ไม่ต้องสนใจ จริงๆแล้วเด็กอายุน้อยกว่า 6เดือนไม่มีมารยาไม่มีอารมณ์ไม่มีเงื่อนไขแต่รู้สึกไม่สบายตัวจึงร้องไห้ออกมา พ่อแม่ต้องรีบไปดูทันทีเพื่อปกป้องแต่พ่อแม่ไม่ทำนี่คือบกพร่องต่อหน้าที่ หิวก็ปล่อยลูกร้องอายุน้อยกว่า 6เดือน ซึ่งถ้าน้อยกว่า6เดือนไม่มีเงื่อนไขนอกจากหิวไม่สบายตัวจริงๆ
หรือที่ชัดกว่านี้คือเมื่อเด็กมีอารมณ์แต่พ่อแม่น็อตหลุดแทนที่จะเป็นการปกป้องกลายเป็นทารุณกรรมนี่เป็นปัญหา ซึ่งมีหลากหลาย Under Protection แย่ บกพร่อง มีปัญหา และ Over Protectionก็มีปัญหา เช่น เด็กที่ไปเที่ยวแล้วก็ถามว่า “รู้ไหมชั้นลูกใคร” แล้วพ่อแม่ตามไปปกป้อง แม้กระทั่งลูกทำผิดกฎหมายก็ยังเข้าข้าง ปกป้องคุ้มครองจนไม่รู้รับผิดชอบชั่วดี
หรือกรณีที่ด็กอนุบาลแกล้งกันเด็กจบแล้วแต่พ่อแม่ไม่จบบิวท์อารมณ์กันผ่านSocial mediaใช้อารมณ์ของลูกเป็นตัวตั้งจนยกพวกตีกันในรร.อนุบาล แต่ลูกกำลังเห็นโมเดลว่าพ่อแม่กำลังทำอะไร คือยิ่งมีลูกน้อยลงพ่อแม่จะรักแบบเทหมดใจ ซึ่งดีแต่มันเยอะเกินไปผลคือเด็กไม่รู้ผิดชอบชั่วดี
เลี้ยงอ้วน เด็กเอาแต่ใจ (Overfeeding)
คำว่าอ้วนเอาแต่ใจมาจากระดับโภชนาการและเรื่องการซื้อของ มีอันจะกิน มีข้าวกิน มีอาหาร มีของครบตามความจำเป็นหมวดนี้คือการบริโภคนิยมและทุนนิยมอ้วนเอาแต่ใจ เป็นประเภทที่เยอะ แต่ถ้าบกพร่องคือข้าวไม่มีกินคือเกิดปัญหาเราเห็นเด็กที่มีปัญหาภาวะขาดอาหารทุพภาวะโภชนาการ ส่วนอีกกลุ่มตรงกันข้ามคือ มีอันจะกิน กินทิ้งกินขว้าง กินไม่เลือก กินได้ตลอดเวลา จึงขึ้นว่าอ้วนเอาแต่ใจ
มีเคสหนึ่งที่พ่อจบป.เอกถามหมอว่าสอนให้ลูกหัดผิดหวังให้เป็น แล้วถ้าลูกผมดูดขวดนมอย่างสร้างสรรค์แล้วจู่ๆ จะให้ยกเลิกการดูดขวดนมอย่างสร้างสรรค์ก็เท่ากับว่าผมไปบล็อกความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งลูกอายุ 8ขวบแล้วหมอตกใจมากที่ยังดูดนมอยู่คือไม่ต้องคิดว่าอ้วน ฟันผุ ฟันเหยินหรือไม่ หมอจึงบอกพ่อคนนั้นว่าเป็นหน้าที่ของพ่อไหมต้องสอนให้ลูกหัดผิดหวังให้เป็น หรือพอจะตอบหมอได้ไหมว่าจะอยู่จนชั่วชีวิตลูกจะหาไม่ไหม
Overfeed คือการให้ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นการผิดหลักEQทั้งหมดจะเห็นว่าเด็กเอาแต่ใจ ยับยั้งอารมณ์ไม่ได้ ไม่ซื้อของลงไปดิ้นกลางห้าง โตมาหน่อยก็กรี๊ดสนั่นหรือพ่อแม่ที่ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมไม่อั้นลูกก็ซึมซับ ปากเราพูดอย่างแต่เราทำอีกแบบ ลูกเห็นว่าพ่อแม่ก็ไม่ยั้งตัวเองจับจ่ายอย่างสนุกซื้ออาหารเต็มที่เพราะว่ารวย กินทิ้งกินขว้างไม่มี dog bag คือเหลือเอาเก็บมากิน ลักษณะนี้เรียกว่า อ้วนเอาแต่ใจ มีปัญหาEQ โตมาเป็นคนที่บริโภคนิยมทุนนิยมใช้เงินซื้อทั้งหมดเราคงไม่อยากฝึกลูกให้เป็นแบบนี้ การยั้งตัวเองแล้วทำให้ดูมีประสิทธิภาพ กว่าใช้ปากพูดแล้วสอนให้ลูกเป็นแต่วิธีการทำเป็นอีกแบบมันทำไม่ได้พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบ
เลี้ยงอวดรวย (Multiple homes)
หลักการคือการไม่มีบ้านก็เป็นเด็กเร่ร่อนคือบกพร่องไม่มีบ้านอยู่ ส่วนมีหลายบ้านคือมีทั้งบ้านและคอนโด จันทร์ถึงศุกร์อยู่คอนโดเสาร์อาทิตย์อยู่บ้าน ผลคือลูกไม่รู้จักข้างบ้าน ไม่มีการร่วมทุกข์ร่วมสุข ซึ่งเมื่อก่อนเราเติบโตมาเป็นชุมชนมีรากเหง้าเราจะเรียนรู้ซึมซับร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับชุมชนจะรักและเรียนรู้รากเหง้าของเราเองว่าเราเป็นคนจังหวัดนี้ พอย้อนกลับไปก็ภูมิใจว่าบ้านเราเมื่อก่อนเจริญแต่เด็กยุคนี้ไม่มี
การอยู่หลายที่ทำให้ความรักในรากเหง้าการเรียนรู้อยู่ในชุมชนจะอ่อนแอไปด้วย ผลลัพธ์คือโตเป็นคนจับจด เปลี่ยนที่ได้ง่ายเวลาเข้ามาทำงานก็ทำงานตามค่าตอบแทนที่สูงกว่า ความมั่นคงในจิตใจที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขในองค์กรไม่มี อาจจะบอกว่านี่เป็นเทรนด์ใหม่ของโลกก็เพราะสถานการณ์บีบบังคับจึงทำให้ได้เทนรด์ใหม่ของโลกในลักษณะนี้ แต่เราจำเป็นต้องเติมไม่งั้นจะเป็นประเด็นเกิดขึ้นได้แน่นอน
สร้างวิถีใหม่ปรับเปลี่ยนแนวทางการเลี้ยงลูก
1.เรียนรู้ว่าความรักกับความถูกต้องคนละเรื่องกัน รักลูกก็จริงแต่ผิดลูกก็ต้องเรียนรู้ไม่ปกป้องแม้จะผิด
2.ต้องระมัดระวัง มีบันยะบันยัง วิธีการคือเราเองต้องเป็นต้นแบบที่ดี ทั้งการเลือกกิน เลือกซื้อของ คือหลักพอเพียง หัดเบรคตัวเองมีแล้วหรือยังลูกก็จะเรียนรู้ว่าพ่อแม่ไม่ใช่คนฟุ่มเฟือย
3.ต้องเปิดใจให้ลูกเรียนรู้ อยู่ร่วมกับการมีหลายบ้านให้รักรากเหง้าทำให้ลูกเป็นผู้ให้ในหมู่บ้าน ชุมชนในคอนโด ก็จะทำให้เกิดการรักรากเหง้าร่วมทุกข์ร่วมสุขในชุมชนได้
Apple Podcast: https://apple.co/3m15ytB
Spotify: https://spoti.fi/3cvAVcX
Youtube: https://bit.ly/3cxn31u

ลูกเราอาจไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในวัย Terrible ด้วยแล้ว เมื่อไหร่ที่ลูกเกิดอาการน๊อตหลุดขึ้นมา พ่อแม่ต้องรีบรับมือกับลูกและสถานการณ์รอบข้างให้ได้ค่ะ
สงบสติตัวเอง เมื่อลูกดื้อ
อย่าเพิ่งใช้อารมณ์กับลูก เมื่ออยู่ต่อหน้าคนอื่นไม่ใช่เวลาที่จะมาสอนลูกตรงนั้น หลายครั้งที่ลูกดื้อ ซน พ่อแม่ก็ยิ่งพยายามสอน พยายามดุลูก เพื่อแสดงให้คนรอบข้างเห็นว่าตัวเองได้ทำหน้าที่แล้ว แต่ลูกไม่ฟังเอง ช่วยไม่ได้ การทำแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นค่ะ แต่ถ้าพ่อแม่สงบเงียบ คุยกับลูกด้วยเหตุผล ว่าการส่งเสียงดังของลูก รบกวนผู้อื่น ลูกจะสงบนิ่ง และเชื่อฟังพ่อแม่มากขึ้น
อย่าสั่ง ถ้าอยากให้ลูกเชื่อฟัง
ลูกอยู่ในวัยที่กำลังเป็นตัวของตัวเอง การสั่งลูกเหมือนเป็นการจำกัดสิทธิ ลูกยิ่งรู้สึกไม่ชอบและอยากท้าท้าย แต่ถ้าลองเปลี่ยนจากคำสั่งเป็นการฝึกให้ลูกคิด สร้างคำถามให้ลูกตอบ ให้ทางเลือกกับลูก เช่น เมื่อลูกกำลังจะร้องเพลงเสียงดัง พ่อแม่อาจให้ทางเลือกลูกว่า หนูร้องเพลงได้นะแต่ต้องร้องเสียงเบาลงหน่อยเพราะการส่งเสียงทำให้รบกวนคนอื่น หรือ หนูคิดว่าเวลากินข้าวเราต้องอยู่ที่ไหนคะ แล้วเด็กดีต้องทำยังไงเวลากิน ถ้าพ่อแมเคยสอนเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหารเด็กจะตอบได้ทันทีว่าต้องทำอย่างไร
ฟังลูก ฟังให้เข้าใจลูก
ไม่ใช่แค่ฟังให้ได้ยินเท่านั้น อีกทั้งท่าทีในการฟังก็แต่พ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณสนใจ ไม่ใช่ฟังแต่ไม่สนใจลูก ให้ลูกได้พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาต่างๆ โดยไม่จำกัดความคิดของลูก ให้เขาค่อยๆคิดแก้ปัญหาด้วยตนเองไปทีละขั้นตอน ให้โอกาสและเวลาเด็กได้ฝึกคิดและ ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง จะทำให้เขามีทักษะและภูมิใจในตนเอง เช่น กินข้าวเอง ตักอาหารเอง รวมทั้งเวลามีปัญหาอย่ารีบช่วยเหลือหรือบอกว่าเขาควรทำอะไร แต่ให้ถามว่า "หนูจะทำอย่างไร"
ขจัดอารมณ์ที่ไม่ดีของลูก
เริ่มจากพ่อแม่อย่าคิดแทนลูก อย่าสั่งลูก เช่น ขอบคุณสิลูก อิ่มแล้วใช่ไหม ลูกไม่ชอบอันนี้ใช่ไหม หรือเมื่อลูกมีปัญหาให้ถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้น รอให้ลูกตอบ ไม่ใช่พ่อแม่จัดการให้หมดทุกอย่างทันที ลองถามลูกก่อน เพื่อให้เขาได้ฝึกคิด เพราะถ้าพ่อแม่คิดแทนลูกทั้งหมด เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะคิดแก้ปัญหาไม่เป็น เจอปัญหาก็แก้ไม่ได้ ไม่มั่นใจ และจะกลายเป็นเด็กพึ่งพิงตลอด โตขึ้นก็ต้องคอยพึ่งพิงพ่อแม่ ไม่เห็นค่าในตนเอง ขอความช่วยเหลือคนอื่นตลอด
สกัดตัวป่วนตั้งแต่อยู่ที่บ้าน
การทำข้อตกลงกันก่อนออกจากบ้านเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเซฟปัญหาตัวป่วนนอกบ้านให้ลดลงได้ เมื่อลูกเริ่มดื้อ ซน พ่อแม่สามารถพูดได้ว่า เราตกลงกันแล้วนะ ว่าถ้าวิ่งเล่นทั่วร้าน แม่เตือนแล้วไม่เชื่อฟัง เราจะกลับบ้านทันที
เมื่อพาลูกออกไปนอกบ้าน พ่อแม่ต้องคำนึงถึงสิทธิคนอื่นในที่สาธารณะด้วย เราอาจจะมองว่าลูกงอแงเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ หรือลุกลามจนคนทำให้คนอื่นเดือดร้อน ต้องพาลูกออกไปจากสถานการณ์นั้นให้ลูกสงบก่อน
คนส่วนใหญ่เข้าใจธรรมชาติของเด็กว่า ดื้อ ซน เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ต้องการคือความรับผิดชอบ และคำขอโทษจากพ่อแม่เท่านั้นค่ะ หลายครั้งที่คนไม่พอใจคือ การนิ่งเฉย และไม่รับผิดชอบของพ่อแม่ ดังนั้นเอ่ยคำขอโทษด้วยความจริงใจ เมื่อลูกทำความเดือดร้อนให้คนอื่น นอกจากจะผ่อนคลายให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นแบบอย่างในการสอนให้ลูกอีกด้วยค่ะ
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF"
ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG


คุณหมอครับ คำถามอะไรที่คุณหมอได้รับบ่อยเป็นอันดับ 1 ?
"ดื้อ" คือคำตอบสุดท้าย
ดื้อแปลได้มากมาย โดยรวมๆ คือพูดไม่ฟัง มากกว่านี้คือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ยกตัวอย่างเช่นพฤติกรรม x y หรือ z ยกตัวอย่างไปเถอะ
การจัดการเด็กดื้อแต่โบราณเราใช้หลักการของจิตวิทยาคลาสสิกคือการวางเงื่อนไข (conditioning) ได้แก่การทำโทษ การเพิกเฉย และการให้รางวัล
การทำโทษ มีหลายวิธี ดุ ด่า กักขัง ตี เหล่านี้เราพบว่าไม่ได้ผลดีเท่าไรนัก สร้างบาดแผลและมักทำให้พฤติกรรม xyz หายไปชั่วคราว มันจะกลับมาใหม่ด้วยความซับซ้อนและร้ายกาจกว่าเดิมเสมอ ไม่นับว่าการตีเด็กในหลายประเทศผิดกฎหมาย ครูตีก็ผิด พ่อแม่ตีก็ผิด
การเพิกเฉย มีตั้งแต่ทำไม่เห็นรอเขาหายเองไปจนถึงการไทมเอาท์สมัยใหม่บางตำราแผลงเป็นไทมอินเพื่อเน้นย้ำว่าเรามิได้กักขัง ทอดทิ้ง หรือเดินหนี ไทมเอาท์เท่ากับการนั่งลงเป็นเพื่อน สงบสติด้วยกัน รอเขาสงบลง แล้วจึงปลอบหรือกอด ทำให้เด็กรู้ว่ากริยาเมื่อสักครู่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เขาก็จะค่อยเรียนรู้และเลิกทำในที่สุด
การให้รางวัล เป็นวิธีที่ดี ช่วยให้เด็กรู้ว่าควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไรเด็กจะพัฒนาจากการทำความดีเพราะพ่อแม่ปลื้มไปจนถึงทำความดีเพราะเป็นเรื่องสมควรทำตามพัฒนาการของวิธีคิดเชิงรูปธรรมไปสู่นามธรรม การทำความดีมีข้อแม้อยู่บ้างแต่โดยรวมๆ เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดี ดีมากเมื่อเราชมเชยให้มากกว่าตำหนิ จะช่วยให้เด็กมีเซลฟ์เอสตีมรู้ว่าตนเองทำดีก็ได้มิได้แย่เสมอไป แล้วทิศทางพัฒนาการจะไปในทางที่ดีเอง
จิตวิทยาคลาสสิกเริ่มอ่อนกำลังลง มาถึงจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) จิตวิทยาเชิงบวกใช้หลักการเคารพและเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ ประกอบด้วยวิธีการต่างๆ ที่ช่วยให้เด็กได้เห็นความสามารถของตนเอง การกำหนดทางเลือกการตัดสินใจ แล้วรับผลลัพธ์ที่ตนเองเลือก ล่วงรู้อารมณ์ตนเอง แล้วพัฒนาต่อไป
จิตวิทยาเชิงบวกมิใช่การพูดหวานๆ แต่เป็นศาสตร์ที่มีหลักการและวิธีการที่จำเพาะ ชัดเจน และได้ผล ต้องการผู้เชี่ยวชาญที่รู้จริงช่วยชี้แนะ
แล้วเราก็มาถึงยุคที่ชีวิตมีทางเลือกมากมายเพราะไอที เด็กจะเลือกทำหรือไม่ทำ จะไปหรือไม่ไป กลายเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่จะเข้าไปกะเกณฑ์บังคับเหมือนสมัยก่อน
เด็กสมัยใหม่ควรได้รับการพัฒนาให้ควบคุมตนเองได้ บริหารความจำใช้งานได้ดี แล้วคิดยืดหยุ่นได้หลากหลาย จากนั้นนำพาชีวิตของตนเองไปสู่จุดหมายที่ตนเองกำหนด คือ Executive Function(EF)
หากเด็กคนหนึ่งควบคุมตนเองและคิดยืดหยุ่นได้ พ่อแม่สมัยใหม่จะยินดีนั่งดูมากกว่าเข้าไปบังคับ ยินดีเดินตามแล้วคอยแนะนำหรือช่วยเหลือตามความจำเป็น
เช่นนี้คำว่าดื้อก็จะเลือนหายไป
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

คงจะเคยได้ยินกันบ่อยๆ กับคำพูดที่ว่า "ลูกฉันเป็นคนดี" เวลามีข่าวเด็กหรือเยาวชนก่อคดีความ แล้วพ่อแม่มักจะบอกว่าลูกฉันเป็นคนดี ซึ่งในความจริงแล้ว ลูกเขาอาจจะเป็นคนดีจริง เพียงแต่ช่วงเวลาที่เกิดเรื่องนั้นมีเหตุและปัจจัยที่ส่งเสริมให้เขาทำเรื่องไม่ดีได้ เช่น ขาดสติ อารมณ์พาไป ถูกยั่วยุ เพื่อนชวน ฯลฯ
เด็กที่มี EF ดี มีโอกาสจะไม่ก่อเรื่องราวให้เป็นผลเสียกับตัวเองและใคร เพราะ EF จะทำให้เด็กๆ...
- มี Inhibitory Control รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นและตนเอง
- รู้จักยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนความคิด มี Shift หรือ Cognitive Flexibility เมื่ออยู่ในสถานการณ์คับขันลูกจะหาทางออกจากจุดนั้นได้
- ไม่วอกแวกในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ทำอะไรมีสติระลึกรู้ เพราะมี Focus/Attention
- มี Emotional Control รู้จักควบคุมอารมณ์ ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องแม้จะมีสิ่งยั่วยุ หรือเพื่อนพาไป
- มี Goal-Directed Persistence การมีเป้าหมายและใฝ่ดี จะเป็นเกาะป้องกันให้ลูกไม่กระทำผิดคิดร้ายต่อผู้อื่น
วิธีสร้างลูกให้เป็นคนดี
กิน : ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เพราะสายสัมพันธ์ของแม่กับลูกจะสร้างความรักความห่วงใยระหว่างกัน และเมื่อลูกกินข้าวได้เองควรฝึกวินัยการกินให้กับลูก เช่น กินเอง กินเป็นที่ กินเป็นเวลา กินหลากหลาย กินแต่พอดี รู้จักเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ อดใจไม่กินอาหารที่ให้โทษ ฝึกให้กินเองเก็บเอง และฝึกมารยาทบนโต๊ะอาหาร เช่น รู้จักรอคนอื่น ไม่ทำเสียงดัง นอกจากนี้การกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้เติบโตแข็งแรง
นอน : ให้ลูกได้นอนอย่างเพียงพอในแต่ละช่วงวัย จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอน และฝึกวินัยในการเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา
กอด : กอดลูกทุกวัน เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว ให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และมั่นใจในความรักของพ่อแม่ เป็นภูมิคุ้มกันใจให้กับเขา
เล่น : พ่อแม่เป็นของเล่นชิ้นแรกของลูก และเป็นเพื่อนเล่นที่ดีที่สุด
เล่า : เล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟัง นอกจากจินตนาการแล้ว ลูกยังได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาจากนิทาน ได้รับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และเป็นการส่งเสริมการอ่านให้เขาตั้งแต่เล็กๆ ด้วย
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF"
ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG


ต่อคำถามที่ว่าเราควรให้ลูกมีมือถือของตนเองเมื่อไร หรือเราควรให้มือถือแก่ลูกเมื่อไร ควรใช้หลักการลูกดูแลตนเองและพื้นที่สาธารณะได้เมื่อไร ทบทวนหลักการดูแลตนเอง ให้สอนและประเมินความสามารถในการดูแลตนเอง 4 พื้นที่จากร่างกายของตนเองเป็นศูนย์กลางขยายออกไปรอบตัว
พื้นที่ที่ 1 ดูแลร่างกายของตนเองได้ เรื่องพื้นฐานได้แก่ กินข้าวด้วยตนเอง อาบน้ำและแปรงฟันด้วยตนเอง
พื้นที่ที่ 2 ดูแลพื้นที่รอบตนเองได้ได้แก่สมบัติของตนเอง เช่น เก็บของเล่น เก็บที่นอน เก็บจานไปล้าง
พื้นที่ที่ 3 ดูแลพื้นที่ที่ขยายออกไปอีก นั่นคือทำงานบ้าน เช่น กวาดบ้านถูบ้าน ล้างจานเก็บจาน ซักผ้าตากผ้า และรวบขยะทั้งบ้านไปเทหน้าบ้าน
พื้นที่ที่ 4 ดูแลหน้าบ้าน นอกบ้าน และที่สาธารณะ ได้แก่ดูแลขยะหน้าบ้านให้เรียบร้อย หน้าบ้านสะอาด รอบบ้านสะอาด ไปนอกบ้านรู้จักเข้าคิว ข้ามถนนบนทางม้าลาย ไม่ทิ้งขยะลงบนถนน ไม่ส่งเสียงดังในที่สาธารณะ เป็นต้น
จะเห็นว่ากว่าที่เราจะสอนและฝึกลูกให้ทำงานบนพื้นที่ทั้งสี่จากในไปนอกนี้ได้สำเร็จเด็กๆจะพัฒนา Executive Function(EF) สำเร็จด้วย เพราะงานทั้งหมดที่เล่ามาไม่สนุกและยากลำบากอีกทั้งเสียเวลาเล่น เด็กๆ ไม่สามารถทำได้หากไม่มีความสามารถหลัก 3 ประการของ EF คือ
ควบคุมตนเองซึ่งประกอบด้วยความตั้งใจมั่น ไม่ว่อกแว่ก และอดเปรี้ยวไว้กินหวาน
บริหารความจำใช้งาน
คิดยืดหยุ่น
อาจจะเขียนใหม่ได้ว่าเด็กควรมี 3 วิชาพื้นฐานแล้วเรียบร้อยนั่นคือ ลำบากก่อนสบายทีหลัง ถอนตัวจากความสนุก และอดทนทำงานที่ไม่ชอบได้จนสำเร็จ เพราะการทำงานต้องใช้ความสามารถ 3 ประการนี้แน่
การมีมือถือของตนเองแล้วเด็กสามารถรับผิดชอบเครื่องมือชิ้นนี้ได้ ใช้มันเพื่อการเรียนรู้และเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของตนเอง มิใช่ถูกมันใช้ หรือถูกมันกลืนกิน หรือถูกมันดึงดูดเข้าหาโดยไม่ลืมหูลืมตา
ไปจนถึงสามารถใช้มันตามกติกาสังคม เช่น ไม่เปิดมือถือในที่ห้ามเปิด ไม่คุยโทรศัพท์ในที่ห้ามคุย ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากจนเป็นอันตรายต่อตนเองไปจนถึงเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เช่น ไม่แอบถ่ายรูปคนอื่น ไม่ใช้รูปภาพหรือบทความของผู้อื่นโดยไม่บอกกล่าวหรือไม่ขออนุญาตหรือบอกที่มาที่ไปไปจนถึงไม่กลั่นแกล้งผู้อื่นด้วยกลไกของโซเชียลเน็ตเวิร์ค
อย่าลืมว่าการฝึกทำงานทำได้ด้วยหลักการพื้นฐาน 4 ข้อคือทำให้ดู จับมือทำ ทำด้วยกัน และปล่อยเขาทำ เราคอยให้กำลังใจและชมเชยเมื่อเขาทำได้
ก่อนให้มือถือแก่เขาเราควรมีกติกาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าจำนวนหนึ่งด้วย กติกาเหล่านี้มีอะไรบ้างขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละบ้าน ข้อสำคัญคือให้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าซึ่งเด็กๆ มักจะทำตามโดยง่าย อย่าประมาทที่จะปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุแล้วค่อยมาตกลงกติกาทีหลัง เพราะมักจะสายเกินแก้
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล
Focus / Attention หรือ การจดจ่อใส่ใจ คือทักษะ 1 ใน 9 ด้านของ Executive Functions (EF) หรือ ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ
เวลาที่คนเราจะจดจ่ออะไรสักอย่าง เราจะต้องมีการจดจำว่าเราจดจ่อเพื่ออะไร จำได้ว่าทำไมเราต้องจดจ่อ เช่นเวลาที่คุณครูบอกเด็กๆ ว่า “นั่งทำงานเงียบๆ นะเด็กๆ ทำเสร็จเดี๋ยวครูมาตรวจ” คำว่า ทำงานเงียบๆ ทำให้เสร็จ จะกลายเป็นความจำที่อยู่ในสมอง เด็กจะจำคำสั่ง และรู้ว่าทำไมตัวเองถึงต้องจดจ่อทำงานให้เสร็จ
นอกจากนั้นต้องมีความยั้งใจ เมื่อเด็กรู้ว่าเราต้องทำงานนี้ให้เสร็จ เดี๋ยวคุณครูจะกลับมาตรวจ เด็กก็จะต้องจดจ่อกับคำสั่งนี้ และยั้งใจของตัวเองว่าจะไม่ไปทำในสิ่งอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือคำสั่งนี้ เช่น เพื่อนชวนไปวิ่งเล่น เด็กก็จะบอกเพื่อนว่า คุณครูบอกว่าให้ทำงานให้เสร็จ เขาก็จะไม่ไปวิ่งเล่น
แรงจูงใจที่ทำให้เด็กเกิด Attention
1. การรู้คำสั่ง รู้ความหมายของการที่จะต้องจดจ่อ เช่น เด็กรู้ว่าครูสั่งให้ทำงานให้เสร็จ ครูจะกลับมาตรวจ เด็กก็จะจดจ่อทำสิ่งนั้น
2. เป็นเรื่องที่ชอบเวลาที่เด็กทำอะไรด้วยความชอบ เช่น ชอบต่อบล็อก วาดรูป เล่นเกม เขาก็จะมีความสุขกับสิ่งที่ทำ มีไอเดียที่จะทำ อยากทำ สนุกกับการต่อโน่นต่อนี่ หรือทดลองรื้อใหม่ ถ้าเขามีความสุข ก็จะมี Attention กับสิ่งนั้นได้ดี
3. การมีเป้าหมาย เช่น ถ้าเด็กรู้ว่าเขาวาดรูปนี้สำเร็จ เอาไปให้แม่ ก็จะตั้งใจวาดตั้งใจทำ ดังนั้นเป้าหมายของเขาคือ "จะให้" รูปที่วาดกับแม่ ไม่ใช่เป็นการวาดรูปเพียงอย่างเดียว มีความหมายที่มากกว่า เช่น อยากทำดีให้แม่ชื่นใจ
4. มีความสงสัยใคร่รู้ ความอยากรู้ของเด็กจะทำให้เด็ก มีใจจดจ่อ พ่อแม่ต้องค่อยๆ เติม ค่อยๆ กระตุ้นความอยากรู้ เด็กจะได้ทั้งฝึก Attention และตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นทักษะหนึ่งของมนุษย์เหมือนกัน ที่จะทำให้มีความช่างคิดวิเคราะห์ ช่างสังเกตเกิดขึ้น
ฝึกลูกให้มีสมาธิ จดจ่อ ใส่ใจ ไม่ยาก
ให้เด็กได้ใช้เวลากับตัวเองเงียบๆ เช่น ต่อบล็อก เล่นทราย วาดรูป ระบายสี ตัดกระดาษ ฉีกกระดาษ เป็นต้น
สร้างเสริมประสบการณ์ในบ้าน เช่น พาลูกไปเดินเล่นดูต้นไม้ดูรอบๆ บ้าน ดอกไม้ ต้นไม้ ก้อนหิน ทำนู่นทำนี่ที่จะชวนให้เขาจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะที่นาน การจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะที่นานนั้นต้องตื่นตัว สำหรับเด็กคือต้องให้เขาเคลื่อนไหวอย่างจดจ่อ หยิบ จับ เล่น แต่เป็นการเคลื่อนไหวบนความจดจ่ออยู่ในเรื่องเหล่านั้น
มีตัวช่วยในการเรียนรู้ ไม่ต้องเป็นของเล่นสำเร็จ แต่เป็นของใกล้ตัวก็ได้ เช่น เก็บใบไม้มารูปร่างแปลกๆ มาเรียง ชวนลูกทำกับข้าว เล่นหม้อข้าวแกง เป็นต้น
อย่าไปคาดหวังว่าต้องได้ชิ้นผลงานแต่ควรปล่อยลูกเล่นอิสระในพื้นที่ที่ปลอดภัย วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่อันตราย เช่น กระดาษหนึ่งแผ่นสองแผ่น ช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ฯลฯ เด็กก็เล่นได้ ไม่จำเป็นต้องวาดรูปออกมาหนึ่งชิ้น หรือต้องประดิษฐ์สิ่งของได้หนึ่งอย่าง
เมื่อเด็กมี Attention
การที่เด็กจดจ่อหมายความว่ามีเรื่องราวอะไรที่เขาสนใจ เด็กกำลังเรียนรู้อะไรบางอย่าง กำลังเก็บรับประสบการณ์ ทำความรู้จักกับสิ่งๆ นั้น กำลังพัฒนาคอนเซ็ปต์เกี่ยวสิ่งเหล่านั้นในสมอง
เมื่อเด็กมี Attention เขาจะมีระยะเวลาของการคิดที่เป็นกระบวนการ พูดง่ายๆ คือคอนเซ็ปต์ของสิ่งเหล่านั้นกำลังเกิดขึ้นในสมอง เกิดการเรียนรู้ ทำให้ได้พัฒนาความอยากรู้อยากเห็น ทำให้เขารู้จักการแก้ปัญหา ถ้าเขาตั้งใจและใส่ใจกับมัน เขาก็จะทำงานสำเร็จได้ เด็กจะแก้ปัญหาได้ จะเข้าใจและเห็นกระบวนการ ที่สำคัญเขาจะมีความสุข เพราะเขาจัดการสิ่งที่เขาทำได้ หรือได้ผลงานออกมา และได้คำชมจากพ่อแม่นั่นเอง

สมองไม่ใช่แค่เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวตนผ่านการคิด การไตร่ตรอง แยกแยะผิดถูก อารมณ์ ความรู้สึก และสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ
สมองของทารกแรกเกิด เมื่อครบกำหนดคลอดจะมีน้ำหนัก 500 กรัม และมีเซลล์สมองประมาณ 1 แสนล้านเซลล์ โดยไม่มีการสร้างเพิ่มเติมอีก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่เหมาะสมของพ่อแม่นั้นมีอิทธิพลต่อการพัฒนาสมองอย่างยิ่ง
ลูกอารมณ์ดี สมองดีจริงหรือ
นพ.อุดม เพชรสังหาร จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง กล่าวถึงนิยามสมองดีและอารมณ์ดีว่า "อารมณ์ดีเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองรอดปลอดภัย แล้วมนุษย์ถึงจะเรียนรู้ หากไม่รู้สึกว่าปลอดภัย ก็จะไม่รับไม่เรียนรู้อะไรทั้งนั้น เช่นเดียวกับเด็ก การจะทำให้ลูกอารมณ์ดีก็ต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่"
เพราะการแสดงอารมณ์แจ่มใสร่าเริงให้เด็กรับรู้ ถือเป็นสัญญาณหนึ่ง ที่ทำให้เด็กรับรู้ได้ว่าเขาปลอดภัย เหมือนเวลาเราเห็นหมาแยกเขี้ยวกับหมากระดิกหาง ก็รู้ได้ว่าอันไหนคุกคามหรือเป็นมิตร เมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัยแล้ว ระบบลิมบิกก็ทำงาน ส่งให้ฮอร์โมนที่เป็นสุขเกิดขึ้น วงจรเกี่ยวกับความสุข (Reward Circuit) ก็ทำงาน พอเด็กมีความสุขการเรียนรู้ก็จะเกิด"
"Safety Need เป็นความต้องการสำคัญของเด็ก เมื่อเขารู้สึกปลอดภัย การเรียนรู้ของเขาก็จะเป็นการเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง
แต่หากไม่มีจะกลายเป็นการเรียนรู้เพียงเพื่อเอาตัวรอดจากอันตรายนั้น แต่จะไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เหมือนเด็กที่เรียนเก่ง IQ ดี จะกังวลอยู่กับเกรด จะไม่ค่อยมองสิ่งรอบตัว มีเพื่อนแต่จะไม่รู้ว่าคนนี้มาจากไหน เป็นคนยังไง ขณะเดียวกันก็จะคิดว่าเพื่อนคนนี้จะช่วยเราได้ยังไง มองอยู่แค่นี้ไม่มองเรื่องอื่นๆ เพราะเขาไม่มีความรู้สึกปลอดภัยในตัวเอง"
ด้วยเหตุนี้ นิยามคำว่าอารมณ์ดีของเด็กจึงเปลี่ยนไป จากที่วัดกันจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เปลี่ยนเป็นการสร้างความรู้สึกปลอดภัยอบอุ่น แล้วลูกจะเกิดความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือมิติที่ก่อให้เกิดพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ได้มากกว่า
5 เทคนิคให้ลูกน้อยอารมณ์ดี
1. นวดให้สบายตัว การนวดช่วยกระตุ้นให้โลหิตไหลเวียนได้ดี ช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่อนคลาย ลูกจะรู้สึกสงบสุขมากขึ้น และจะรับรู้ได้ถึงความรัก ความอบอุ่นที่ส่งผ่านมา ลูกก็จะอุ่นใจและมั่นใจว่าจะเติบโตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข
2. ฟังเพลงให้สบายใจการเปิดเพลงจังหวะเบาๆ สบายๆ ให้ลูกฟัง จะช่วยเรียกความสนใจของลูกให้จดจ่ออยู่กับท่วงทำนอง สงบนิ่ง และไม่โยเย อีกทั้งดนตรียังเป็นหนึ่งในหลายวิธีที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมอง ทำให้เส้นใยประสาทแตกแขนงมากขึ้น ซึ่งพ่อแม่อาจจะร้องให้ลูกฟังเองก็ได้
3. จัดบ้านเพื่อลูกน้อย สภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดี จะทำให้ลูกอารมณ์ดี เนื่องจากมีอากาศถ่ายเท ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป มีพื้นที่ให้ได้สำรวจ ได้เล่นอย่างสนุกสนานและปลอดภัย
4. เล่นกับลูกบ่อยๆของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกวัยขวบปีแรกก็คือพ่อแม่ การเล่นแบบง่าย ๆ เช่น จ๊ะเอ๋ เก็บของ การเอาของเล่นสุดโปรดไปวางไว้ตรงหน้าให้ได้เอื้อม ไขว่คว้า เป็นการบริหารกล้ามเนื้อลำตัว แขน ขา และยังช่วยฝึกการใช้ประสาทตาให้สัมพันธ์กับมืออีกด้วย ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมทางร่างกายให้แข็งแรง ความพร้อมของกล้ามเนื้อบริเวณส่วนต่าง ๆ ไว้สำหรับการเคลื่อนไหว และมีความพร้อมทางอารมณ์ สำหรับการออกสู่โลกกว้างในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นต่อไป
5. พ่อแม่ก็ต้องอารมณ์ดีและมีการแสดงออกต่อลูกอย่างเหมาะสม สัมผัสลูกด้วยความอ่อนโยน พูดจาด้วยน้ำเสียงที่อบอุ่น และมีตอบสนองต่อความต้องการลูก เช่น เมื่อร้องก็มีคนมาโอบอุ้ม เมื่อหิวก็มีคนมาดูแล ลูกก็จะรู้สึกปลอดภัย และพร้อมต่อพัฒนาการต่าง ๆ ได้ดี
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF" ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG 

สกัดอารมณ์ร้าย ๆ ของลูก ด้วย 5 วิธีง่าย ๆ
ลูกวัย 1-3 ปี จะสามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่สิ่งที่เด็กวัยนี้ยังทำได้ไม่สมบูรณ์คือพัฒนาการทางภาษา การควบคุมอารมณ์ การอดทนรอคอย คือยังไม่มีความสามารถในการควบคุมตัวเอง (self control) ด้วยสาเหตุนี้เองลูกมักแสดงความรุนแรงออกมา ซึ่งพ่อแม่มีส่วนสำคัญที่จะเป็นผู้ช่วยให้ลูกเรียนรู้และแสดงออกอย่างเหมาะสมค่ะ
นอกจากนี้ ถ้าขณะที่ลูกกำลังโกธรและต้องการระบายอารมณ์ด้วยการตีหรือขว้างปาสิ่งของ พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกทำแบบนั้น เพราะการปล่อยให้ลูกระบายอารมณ์ด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม ลูกจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และจะติดเป็นนิสัยเมื่อเติบโตขึ้นได้
มาช่วยให้ลูก สกัดอารมณ์ร้ายและรู้จักการระบายอารมณ์ของลูก ด้วย 5 วิธีต่อไปนี้กันค่ะ
1. สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ลูก เริ่มจากพ่อแม่ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน รู้จักการระงับอารมณ์ของตัวเอง
2. ถ้าลูกแสดงอารมณ์รุนแรง ต้องหยุดลูกโดยไม่ใช้ความรุนแรงตอบ เช่น การตี แต่ควรเข้าไปจับตัวลูกให้หยุดการกระทำเพราะเด็กจะยังควบคุมตัวเองไม่ได้ สามารถหยุดด้วยการกอดไว้แน่นๆ และโยกตัวลูกเบาๆ
3. เมื่อเด็กๆ เริ่มเรียนรู้การระงับอารมณ์มากขึ้น พ่อแม่ควรเปลี่ยนจากการจับให้ลูกหยุดมาเป็น การหยุดด้วยคำพูด เช่น พูดว่า ทำไม่ได้ ไม่อนุญาต ฯลฯ ควรเป็นคำที่สั้นกระชับ ชัดเจน
4. ตั้งชื่อทางอารมณ์ให้ลูกรู้เช่น บอกลูกว่าตอนนี้ลูกกำลังโกธร ลูกกำลังเสียใจ เพราะเด็กจะยังไม่รู้ว่าอารมณ์ที่ตัวเองรู้สึกคืออะไร เด็กจะรับรู้แค่ความรู้สึกทางร่างกายว่าหัวใจเต้นแรง น้ำตาไหล หน้าแดง เป็นต้น
5. หากลูกใช้ความรุนแรง ควรมองว่าเป็นโอกาสในการที่จะสอนสิ่งที่ถูกต้องให้กับลูก เพราะเด็กบางคนที่ไม่เคยใช้ความรุนแรงเลย อาจเพราะไม่เคยเจอกับสถานการณ์ที่ถูกขัดใจ จะทำให้ลูกไม่รู้จักอารมณ์ตัวเอง เมื่อโตขึ้นเขาจะแสดงอารมณ์รุนแรงออกมา ซึ่งก็ยากในการปรับตัวค่ะ
หากปล่อยให้ลูกใช้ความรุนแรงตั้งแต่วัยซน ลูกจะถูกบ่มเพาะและติดตั้งการใช้ความรุนแรงในสมอง ทำให้เมื่อเติบโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่เห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อตัวลูกเองในทุกด้าน ดังนั้นมาเริ่มหยุดความรุนแรงให้ลูกกันตั้งแต่วันนี้เลยค่ะ

เวลาทำงานบ้านแล้วเกิดรู้สึกว่ามันจุกจิกจู้จี้ซะทุกที เดี๋ยวคุณพ่อจะเอาอย่างนู้น คุณลูกก็จะเล่นอย่างนี้ เอาแบบนี้ดีกว่า ให้ลูกทำงานบ้านร่วมกับคุณแม่เสียเลยเป็นไง...
สมัยก่อนงานบ้านเป็นเรื่องยุ่งยากลำบาก ต้องมีพิธีรีตรอง ครั้นเจ้าหนูเข้ามาในครัวหรือมาตอนที่คุณแม่ยุ่งๆไม่วายจะต้องโดนดุให้ไปเล่นที่อื่น
ซึ่งคิดแบบนี้ น่าเสียดายนะคะเพราะว่างานบ้าน ช่วยสร้างทักษะEF ให้กับเจ้าหนู บางอย่างที่ทำร่วมกับคุณแม่ได้ แม้ว่าเลอะเทอะไปบ้าง ทำออกมาไม่สมบูรณ์แบบบ้าง แต่เจ้าหนูก็ยังสนุกที่ได้เล่น เอ๊ย!! ได้ทำงานบ้าน ดูลิสต์งานบ้านกันค่ะว่า คุณแม่และลูกจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
อันดับ 1 : สังเกตกันหน่อย
คุณจะมีเวลาศึกษาเจ้าหนูวัยซนว่าเขามีความถนัด และชอบที่จะทำอะไรแบบไหน มีความรอบคอบทำอะไรให้เสร็จเป็นอย่างๆ ละเมียดละไม หรือทำแป๊บเดียวทิ้ง จะได้หาวิธีแนะนำกันไป ที่สำคัญได้รู้จักลูกมากขึ้น
อันดับที่ 2 :ทักษะและพัฒนาการ
ลูกจะได้ฝึกพัฒนาการจากงานบ้าน เพราะการทำงานบ้าน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นงาน การทำงานทุกสิ่งล้วนแล้วแต่มีกระบวนการทักษะทางร่างกายนะคะโดยเฉพาะทักษะEF ซึ่งเราต้องมีการคิดและวางแผนเพื่อให้งานดีขึ้น เร็วขึ้น และแม่นยำยิ่งขึ้น
และที่แน่ๆ ลูกได้พัฒนากล้ามเนื้อในทุกกิจกรรม อย่างเช่น คุณแม่สอนลูกเด็ดใบตำลึง ได้ฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก แรกๆ ลูกอาจจะดึงทั้งก้านทั้งใบเสียช้ำไปหมด เมื่อเราบอกเราสอนมือน้อยๆ ก็จะเบามือลง นอกจากนั้นยังแยกแยะออกว่าอันไหนใบ อันไหนก้าน เมื่อบ่อยขึ้นก็จะทำเร็วขึ้น คล่องแคล่ว และเด็ดเก่งขึ้นในที่สุด
อันดับ 3 :วัยเลียนแบบ
เมื่อลูกอยู่ในวัยเลียนแบบแล้ว ก็ควรที่จะให้ได้เลียนแบบสิ่งที่ถูกที่ควรตั้งแต่เด็ก เพราะเมื่อลูกเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้าน ก็อย่าลืมชวนเขาทำ ให้ลูกคิดว่าเป็นเรื่องสนุก ผลงานในบ้านบางอย่างก็เป็นผลงานของลูกด้วย
เมื่อลูกได้รับคำชื่นชมและรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในบ้าน ก็ทำให้อยากจะทำงานบ้านต่อไป เป็นการทำให้ลูกได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากกว่าดูทีวี หรือเล่นเกม
พูดง่ายๆ ก็คือ...งานบ้านอาจเป็นสิ่งแรกที่ปลูกฝังความรับผิดชอบให้ลูกได้ เช่น เล่นแล้วเก็บ กรอกน้ำทุกวันอาทิตย์ เป็นต้น
ทักษะEF เพื่อชีวิตที่สำเร็จจากงานบ้าน
รดน้ำต้นไม้
การที่ลูกได้ใช้สายยางหรือบัวรดน้ำต้นไม้ในบ้าน พัฒนาการอย่างแรกที่ได้รับเลยคือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนที่จะต้องพยายามยกน้ำให้รดตรงต้นไม้ได้
อย่างที่สองหากลูกใช้สายยางรด ลูกจะเรียนรู้เรื่องการควบคุมและคะเนลักษณะและปริมาณเส้นสายของน้ำ ว่าอยากจะทำให้เป็นฝอยหรือไม่ หรือบังคับปล่อยน้ำลงดินไปดื้อๆ ซึ่งต้องใช้ทักษะEF ส่วนการวางแผนว่าต้นไม้ลักษณะนี้ต้องใช้สายน้ำแบบใด
คุณพ่อคุณแม่อาจจะสอนลูกว่าเราสามารถทำน้ำเป็นฝอยได้ ด้วยการใช้นิ้วโป้งหรือนิ้วชี้ควบคุมกดลงไป หรือถ้าใช้บัวรดน้ำเราก็จะบอกลูกว่ารดตรงใบด้วยนะจ้ะ เอาให้ดินเปียกและทั่วๆ ต้นไม้จะได้น้ำไปแบบอิ่มๆ ไง
โขลกๆ ตำ ๆ... ของสนุก
เรื่องในครัวไม่ว่าเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายก็กระหายใคร่รู้ทั้งนั้น เพราะครัวเต็มไปด้วยเครื่องมือ วัตถุดิบ และเครื่องเทศมากมาย หากคุณจะต้องโขลกพริกไทยให้ละเอียด ลองเรียกเจ้าหนูมา เพราะเรื่องอย่างนี้เขาถนัดนัก ใช้ครกบดยาอันเล็กให้ลองก่อน ใส่พริกไทยลงไป 4-5 เม็ด เอามือป้องไว้ ให้ลูกลองบดคลึง ครืด ครืด... พอเม็ดแตกแล้วค่อยตำ ถ้าลูกใจร้อนตำเลยมันก็จะเด้งออกไปหมด
ลูกจะได้เรียนรู้การกะน้ำหนักของแรงที่จะต้องกดลงไปเพื่อไม่ให้พริกไทยเด้ง ดูความละเอียดของพริกไทยว่าเป็นผงหรือยัง จะตำแรงหรือตำเบา ลูกได้ทักษะEFด้านความจำเพื่อเรียนรู้ เพราะครั้งที่แล้วตำแรงเม็ดกระเด็นเข้าตา ต่อมาตำเบาพริกไทยไม่ละเอียดสักที การย้อนความจำมาเพื่อเรียนรู้ จะทำให้การตำพริกไทยค่อยๆ ละเอียดขึ้น เสร็จแล้วก็ให้ลูกลองตักแล้วโรยในแกงจืดเอง รับรองซดหมดถ้วย
กวาดบ้าน
เป็นวิธีแก้เผ็ดเจ้าหนูที่ชอบทำรก เอ้ย..!! ไม่ใช่หรอกนะคะ แต่เป็นวิธีสอนให้ลูกรู้จักกับอุปกรณ์ในบ้านต่างหาก ลองเตรียมไม้กวาดอันจิ๋วให้ลูก แล้วกวาดให้ลูกดูไปพร้อมๆกับทำตาม ลูกได้เรียนรู้วิธีจับไม้กวาด การกวาดโดยให้ฝุ่นมากองรวมกัน แล้วลองแข่งดูสิว่าใครจะพาฝุ่นมากองรวมได้เยอะกว่า
เรื่องนี้ลูกต้องวางแผนว่ากวาดส่วนไหนของบ้านก่อนหลัง เพื่อไม่ให้ฝุ่นน้อยกลับไปจุดเดิมของบ้าน เป็นต้น
เช็ดทำความสะอาดของเล่น
ของเล่นใครก็ย่อมรัก วันนี้คุณแม่ลองชวนลูกมาเช็ดทำความสะอาดของเล่นที่หนูชอบ หาน้ำมาสักกระป๋อง นำผ้ามาชุบน้ำบิดให้หมาด มีผ้าประจำตัวคนละผืน ช่วยกันเช็ดช่วยกันทำ คอยสังเกตรอยดำแล้วถูให้สะอาด เจ้าหนูจะได้รู้จักดูแลข้าวของ มีความรับผิดชอบ เก็บของให้เป็นที่เป็นทางด้วย
เก็บขยะกันเถอะ
ขยะที่ว่าเหม็นคุณพ่อคุณแม่ต้องบอกลูกด้วยว่ามันเกิดจากอะไร เช่น เกิดจากที่ลูกกินข้าวไม่หมด ต้องทิ้งข้าวเลยบูด เป็นต้น เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็มาลงมือจัดเก็บ อาจให้ลูกรวบรวมขยะใบไม้มาจากคุณพ่อที่เล็มต้นไม้อยู่ นำมารวมกัน เดินเป็นเพื่อนคุณแม่เอาไปทิ้งข้างนอก
ลูกจะได้รู้จักที่มาที่ไปของสิ่งที่อยู่ในบ้าน เรื่องเล็กน้อยๆ เหล่านี้มีความสำคัญนะคะคุณ อ้อ... แล้วอย่าลืมสอนเรื่องแยกประเภทขยะกับลูกด้วยนะคะ อันไหนขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล ปลูกฝังไว้ไม่เสียหลายค่ะ
เรื่องให้งานบ้านเป็นเรื่องสนุกต้องทำอย่างสม่ำเสมอและแบ่งหน้าที่ชัดเจนนะคะ แล้วเราต้องมีความสุขจากงานที่ทำด้วย ไม่ใช่เราล้างจานไปบ่นไป ว่าไม่มีคนช่วยทำงานเลย อย่างนู้นอย่างนี้ รับรองว่าลูกก็จะต้องคิดว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ และงานบ้านก็จะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากทำ พัฒนาการดีๆ และทักษะEF ก็จะไม่เกิดด้วยค่ะ
ต้นไม้หนึ่งต้น กว่าจะโตต้องใช้เวลาเนิ่นนาน แต่การเติบโตของต้นไม้ ก็ให้อะไรกับลูกได้เยอะแยะเช่นกัน
ลูกได้อะไรจากการปลูกต้นไม้
1. ฝึกการจดจ่อใส่ใจ ด้วยการพยายามเตรียมดิน ปลูกผัก รดน้ำผัก
2. ทำให้มือและตาทำงานให้สัมพันธ์กัน ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก
4. มีความตั้งใจ ได้ลงมือทำตามที่คิดไว้
5. ได้ฝึกความอดทน ความเพียรพยายาม ในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย
6. ฝึกการควบคุมอารมณ์ และอดทนต่อสิ่งที่สงสัยได้
7. มีความภาคภูมิใจในตนเอง ที่ได้ปลูกต้นไม้ และได้ผลผลิตตามเป้าหมาย ถ้าต้นไม้ที่ลูกปลูกเป็นผักผลไม้ที่เก็บดอกผลได้ ลูกจะได้รับอาหารรู้จักวางแผนจัดการ ว่าจะแบ่งให้ใคร เอาไปทำอะไรต่อ กินหรือขาย เป็นต้น
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF"
ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG

Self - Monitoring คือการติดตามประเมินตัวเองซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของ EF (Executive Functions) ที่จะนำไปสู่การรู้จักตัวเอง การที่เราสะท้อนผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำหรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง
การประเมินตัวเองจะทำให้เรา รู้จักตัวเอง และ เข้าใจตัวเอง
ถ้าเด็กๆ ได้รับการฝึกฝนเรื่อง Self - Monitoring ก็จะมี Self หรือตัวตนในทางบวก เด็กจะรู้ว่าสิ่งที่เขาทำดีหรือไม่ดี ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เป็นไปตามแผนงานหรือเปล่า ในขณะที่คนที่มี Self มากเกินไป ก็จะมี ego สูง จะยอมรับคนอื่นไม่ได้ ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นยาก ไม่พัฒนา เพราะว่าไม่ยอมรับสิ่งที่เป็นความบกพร่องของตนเองได้ และจะรับได้เฉพาะคำชมหรือความสำเร็จเท่านั้นเอง
เมื่อเด็กมี Self-Monitoring
- เด็กจะรับรู้ตัวเองได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ ที่สำคัญคือการรับรู้ด้านลบของตัวเอง รู้จักประเมินตัวเอง รู้ว่าจุดอ่อนของตัวเองอยู่ตรงไหน เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตัวเอง
- เด็กรู้จักสัมพันธ์กับคนอื่น ระมัดระวังด้านที่เราเป็นลบให้พอเหมาะพอดี ไม่ไปกระทบหรือทำร้ายคนอื่น หรือทำให้ความเป็นทีมเสียหาย
- เด็กมีความสุขเป็น เพราะการที่เด็กๆ ค้นพบตัวเอง เด็กก็จะมีความสุข มีความพอใจ ชื่นชมกับมัน หรือมองไปในทางบวก
พ่อแม่สร้าง Self-Monitoring ให้ลูกได้
ตั้งคำถามและคอยกระตุ้น เหมือนเป็นการช่วยให้เขา Monitor ตัวเอง เช่น รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร
บอกเขาในสิ่งที่เขากำลังทำได้ดี เช่น ชม ปรบมือเมื่อเขาทำบางอย่างเองได้ จะทำให้เขาค่อยๆ รู้จักตัวเอง
เข้าใจและยอมรับสภาวะของเด็ก เช่น เด็กไปดึงหางแมว เรารู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่จะไม่ไปว่าเด็กว่าก้าวร้าว เป็นเด็กไม่ดี รังแกสัตว์ แต่อาจจะพูดว่า ลูกอยากรู้ใช่ไหมว่าแมวรู้สึกอย่างไร ลูกไม่ได้อยากจะรังแกมันใช่ไหมคะ แต่ถึงลูกอยากรู้ เราก็จะไม่ทำแบบนี้นะคะ เพราะแมวมันเจ็บ
การยอมรับสภาวะ ความคิด ความรู้สึก การกระทำของเด็ก จะเป็นตัวที่ช่วยให้เข้าใจเด็ก
อธิบายว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควรอย่างไร ถ้าอยู่ๆ มีคนมาดึงขาลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร ลูกก็ตกใจใช่ไหม แมวก็เหมือนกัน มันตกใจ มันอาจจะกัดได้นะลูก เด็กจะรับรู้ได้ว่าเราเข้าใจเขา และก็ค่อยๆ ทำให้เขาเห็นพฤติกรรมของตัวเอง ให้เขารู้ว่าเรายอมรับ แต่ไม่ใด้แปลว่าเห็นดีเห็นงามด้วย ยอมรับก่อนว่ามันเกิดขึ้นแล้ว มันมีอยู่จริงแล้ว ค่อยๆ ชี้ให้เห็น โดยการสะท้อนกลับมาที่ตัวเขาเอง ว่าถ้าเป็นลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร
Self Monitoring เริ่มสร้างได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยต้องเริ่มจากการให้เด็กรู้จักก่อนว่า "ตัวเขา" เป็นอย่างไร
เด็กเล็ก : เริ่มแรกพ่อแม่ต้องช่วยบอกเขาก่อน เช่น การที่เขากินข้าวเองได้ แล้วพ่อแม่ชมปรบมือให้ เป็นการบอกเขาว่า ตัวเขามีความสามารถ หรือถ้าเขาจะขึ้นมาขับรถ ก็ต้องบอกเขาว่า ลูกยังเล็กอยู่ ยังทำไม่ได้ ต้องบอกเขาไป จนเขาโต ว่ายังขับรถไม่ได้นะลูก กฎหมายไม่อนุญาต
พ่อแม่ต้องช่วยบอกเขาก่อน ช่วย Monitor ว่าเขาทำอะไรได้ ทำอะไรได้ดี แต่พ่อแม่จะคอยบอกฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องให้เด็กฝึกการที่จะบอกตัวเองด้วย
เด็กวัย 2-3 ขวบ : การตั้งคำถามกับเด็ก ถามความรู้สึกของเด็ก ถามความคิดเด็ก เช่น เด็กเล่นของเล่นแล้วแย่งของกัน เราต้องถามเขาว่า ลูกชอบไหมที่เขามาแย่งของของลูก หรือลูกรู้สึกอย่างไรที่ไปแย่งของของเขา ทำไมลูกทำอย่างนั้นล่ะคะ ลูกอยากทำอะไร ทำไมลูกทำอย่างนี้ ลองบอกแม่หน่อยซิ ที่ลูกชอบมันจะเป็นอย่างไร แล้วแบบไหนที่ออกมาแล้วลูกไม่ชอบ
การคุยในลักษณะแบบนี้จะทำให้เขาได้กลับไปทวนความคิด ความรู้สึก การกระทำของตัวเอง เด็กก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า คนเราต้องคอยถามตัวเอง คอยดูตัวเอง คอยสะท้อนตัวเอง
เด็กวัยอนุบาล :การพูดคุยจะทำให้เข้าใจและรู้ว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือตรงไหน เช่น เรื่องการบ้าน ชวนลูกคุยว่ารู้สึกอย่างไรกับการบ้าน การบ้านวันนี้เป็นไงบ้างลูก ถ้าลูกตอบว่า เยอะ ไม่ชอบเลย ไม่อยากการบ้านเลข เราก็ได้รู้ว่า ณ จุดนี้ลูกต้องการความช่วยเหลือ จะได้บอกว่าทำไมเขาต้องทำการบ้านเลข ถ้ามันยาก เรามาลองทำอย่างนี้ดีไหมลูก เราก็ช่วยสอน ช่วยเหลือเขาได้ เมื่อเขาโตขึ้นเรื่อยๆ เด็กก็จะรู้จักช่วยตัวเอง ต่อให้เขาไม่ชอบ เขาก็จะต้องรู้วิธีแก้ปัญหาว่ามันคืออะไร
ในแต่ละวัยกระบวนการ Self-Monitoring ก็จะแตกต่างกันไป และเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การให้เด็กรู้จัก Monitor ตัวเอง เพื่อนำไปสู่อะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่ Monitor ตรวจสอบว่าวันนี้หนูไม่ยิ้มนะ ใครอย่ามายุ่งกับหนู แต่ต้องให้เด็กมีกระบวนการ เช่น เพื่อนๆ ช่วยทำให้เพื่อนร่าเริงหน่อย ทุกคนไปกอดซิ วันนี้เพื่อนไม่สบายใจ แมวที่เลี้ยงตาย เพื่อนๆ ไปกอดให้กำลังใจหน่อย แบบนี้ก็จะนำไปสู่การรู้จักตัวเองที่มีความหมาย
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจ และทำให้เด็กมีกระบวนการอย่างนี้สม่ำเสมอ เด็กก็โตขึ้นแบบรู้จักตัวเอง ได้เห็นปัญหา ไม่กลัวปัญหา และรู้จักแก้ปัญหา ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ และรู้ว่าตัวเองจะต้องแก้อะไรบ้าง ถ้าเป็นลบก็จะระมัดระวัง รักษาสมดุล เพราะบางเรื่องเราแก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่เราคอยจัดการกับสถานการณ์นั้นได้ คนที่จะประสบความสำเร็จได้ดีต้องมีสิ่งเหล่านี้ค่ะ

ห้องรกมาก มาหาของที่ซ่อนอยู่ในห้องนี้กันเถอะ - ดาวน์โหลด Learning Sheet
ระดับ: อนุบาล, ประถมศึกษาตอนต้น
วิธีเล่น หาของเล่นทั้ง 18 อย่างว่าซ่อนอยู่ตรงไหนในห้อง
สิ่งที่เด็กเรียนรู้
- ฝึกทักษะการสังเกต การเปรียบเทียบ การคิดเชื่อมโยง
- ฝึกสมาธิ และการจดจ่อ ( Focus and Attention )
บทบาทพ่อแม่ / ผู้ปกครอง
- ชวนเด็กๆ พูดคุยเรื่องการจัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ
หมวดการเรียนรู้ / ทักษะ
- ทักษะสมอง EF
- การสังเกตจดจำ
- การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

ห้องเรียนเราของเล่นเยอะมาก มาช่วยหาของเล่นที่หายไปหน่อยสิ - ดาวน์โหลด Learning Sheet
ระดับ: ก่อนอนุบาล , อนุบาล
วิธีเล่น
- ดูรูปด้านล่าง และหาว่าของทั้ง 10 อย่างนี้ ซ่อนอยู่ตรงไหนในภาพ
สิ่งที่เด็กเรียนรู้
- ฝึกทักษะการสังเกต การเปรียบเทียบ การคิดเชื่อมโยง
- ฝึกสมาธิ และการจดจ่อ ( Focus and Attention )
บทบาทพ่อแม่ / ผู้ปกครอง
- ชวนเด็กๆ พูดคุยเกี่ยวกับของเล่น และการเล่นต่างๆ
หมวดการเรียนรู้ / ทักษะ
- ทักษะสมอง EF
- การสังเกตจดจำ
- การเชื่อมโยงความสัมพันธ์
- สี และรูปทรง