สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนประชาชนชม ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร ในประเทศไทย ในคืนวันเสาร์ที่ 17 เมษายนนี้
โดยปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร เริ่มสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก วัตถุทั้งสองอยู่เคียงกันสูงจากขอบฟ้าประมาณ 33 องศา จากนั้นดาวอังคารจะเริ่มสัมผัสขอบดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 20:12 น.
จะสังเกตเห็นดาวอังคารค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในเวลาประมาณ 21:28 น. อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกประมาณ 17 องศา (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน)
ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และนานทีจะสังเกตการณ์ได้ในประเทศไทย ซึ่งประชาชนสามารถมองด้วยตาเปล่าได้ หรือหากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์ก็จะสังเกตเห็นดาวอังคารค่อย ๆ ลับหายไปหลังดวงจันทร์และค่อย ๆ โผล่พ้นออกมาทั้งดวงได้อย่างชัดเจน
หากพลาดครั้งนี้จะต้องรอต่อไปอีก 19 ปี ซึ่งจะเกิดขึ้นวันที่ 22 มีนาคม 2583 เวลาประมาณ 00:15 น.
อ้างอิง : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ