9 Do & Don’t ปั๊มน้ำนมแม่เก็บสต็อก ที่แม่ให้นมต้องรู้และจำให้ขึ้นใจ
ปั๊มนมสต็อกให้ได้น้ำนมเยอะ ๆ สะอาด นี่คือสิ่งที่แม่มือใหม่ต้องทำและห้ามทำ เพื่อให้ลูกมีนมสต็อกแช่แข็งกินได้ยาว ๆ
9 Do & Don’t ปั๊มน้ำนมแม่เก็บสต็อก ที่แม่ให้นมต้องรู้และจำให้ขึ้นใจ
- คุณแม่ควรใช้ภาชนะที่ผ่านการฆ่าเชื้อในการปั๊มนมและเก็บนมแม่
ในการเก็บน้ำนม แนะนำให้ใช้เป็นขวดพลาสติกหรือถุงเก็บน้ำนม โดยเฉพาะที่ผ่านการฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว จะช่วยรักษาเซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำนมแม่ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการติดเชื้อในการช่วยให้กักเก็บคุณค่าของน้ำนมแม่ไว้ได้ดีค่ะ
- คุณแม่ควรหมั่นตรวจเช็กตู้เก็บน้ำนม
คุณแม่ควรหมั่นตรวจสอบตู้เก็บน้ำนม ว่าสภาพการใช้งานปกติอยู่หรือไม่ รวมถึงการเช็กปลั๊กที่เสียบและอุณหภูมิความเย็นของตู้ เพื่อการเก็บรักษาน้ำนมของลูกน้อง
- คุณแม่ควรเขียนหน้าถุงเก็บน้ำนมให้ชัดเจน
นมแต่ในแต่ละถุงที่ปั๊มเก็บวันไหน อาหารที่แม่กินในวันนั้นคืออะไร เพื่อการหยิบมาละลายให้ลูกดื่มจะได้ไล่วันที่ในการหยิบมาใช้ได้อย่างถูกต้อง โดยส่วนมากคุณแม่ที่ทำสต็อกนมแม่ไว้เยอะ ๆ จะเลือกหยิบถุงที่ปั๊มไว้นานสุดออกมาใช้ก่อน (ไล่มาถึงวันที่ล่าสุด)
- คุณแม่ควรเลือกใช้เครื่องปั๊มนมและถุงเก็บนมแม่ที่ได้มาตรฐาน
ไม่มีสารเคมีตกค้าง โดยให้สังเกตจากมาตรฐานสินค้าและปลอด BPA 100% เช่น เครื่องปั๊มนมสามารถปรับระดับการปั๊มได้ ถุงเก็บนมแม่มีซิปล็อกแน่นหนา ไม่รั่วซึม
- คุณแม่ไม่ควรบรรจุน้ำนมจนเต็มปริมาตรที่กำหนด
หลังจากการปั๊มน้ำนมใส่ขวดแล้ว คุณแม่จะนำไปเติมลงถุงเก็บน้ำนมเพื่อทำการเก็บรักษาแล้วค่อยนำมาเปิดใช้ให้ลูกดื่ม ควรบรรจุในขนาดพอเหมาะพอดี ไม่ควรเติมจนเต็มปริมาตรของถุง เพราะน้ำนมเมื่อแช่แข็งจะมีการขยายตัวขึ้น อาจทำให้ถุงปริ แตก และมีอากาศรั่วซึมจนเสียคุณค่าของน้ำนมได้
- คุณแม่ไม่ควรวางน้ำนมบริเวณชั้นวางตรงประตูภายในตู้เย็น
เนื่องจากชั้นวางตรงประตูภายในตู้เย็นมีอุณหภูมิไม่คงที่ซึ่งการเก็บรักษาน้ำนมควรเก็บด้วยความเย็นที่มีอุณหภูมิคงที่ เพื่อการเก็บรักษาที่ดีและเก็บได้นานค่ะ
- คุณแม่ไม่ควรเติมน้ำนมแม่ที่ปั๊มได้ใหม่ลงในน้ำนมเก่า
ไม่ว่าจะปั๊มแช่เย็นไว้ในช่องแช่ปกติ หรือ ปั๊มนมใหม่ใส่รวมในถุงนมเก่าแล้วแช่แข็งก็ตาม เพราะจะทำให้น้ำนมแม่บูดเสียไว
- คุณแม่ไม่ควรนำนมแม่ที่ละลายแล้วกลับมาแช่แข็งซ้ำ
เพราะอาจทำให้นมแม่เสียได้ หากนมแม่ละลายแล้วและลูกดื่มไม่หมด คุณแม่ควรตัดใจทิ้งแล้วทำสต็อกนมแม่เพิ่มใหม่จะดีที่สุดค่ะ
- คุณแม่ไม่ควรละลายนมแม่ด้วยการต้มหรือใช้ไมโครเวฟ
เพราะจะทำให้นมแม่สูญเสียคุณค่าทางอาหาร การละลายนมแม่แช่แข็งที่ถูกต้องคือ นำออกมาวางในช่องแช่เย็นธรรมดาล่วงหน้า 1 คืน (12 ชม.) ถ้าต้องการให้ละลายเร็ว ให้แช่ในน้ำธรรมดาอุณหภูมิห้อง เมื่อน้ำนมละลายแล้วถึงเปลี่ยนเป็นแช่น้ำอุ่นค่ะ
นมแม่แช่แข็ง นมแม่แช่เย็นเก็บได้นานแค่ไหน
การเก็บรักษาน้ำนมแม่ในระดับอุณหภูมิที่แตกต่างกัน จะทำให้ระยะเวลาในการเก็บแตกต่างกันด้วยนะคะ
-
วางเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง เก็บได้ 4-6 ชั่วโมง
-
เก็บในกระติกน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งตลอดเวลา เก็บได้ 1 วัน
-
เก็บในช่องเย็นธรรมดาของตู้เย็น เก็บได้ 1-3 วัน (แต่ถ้าเปิดตู้เย็นบ่อย ระยะเวลาเก็บก็สั้นลง)
-
เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็นประตูเดียว เก็บได้ 2 อาทิตย์
-
เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น 2 ประตู เก็บได้นาน 3 เดือน
-
เก็บในตู้แช่ชนิดเย็นจัด (อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 6-12 เดือน