ทำไมเด็กๆ ถึงท้องร่วง
เด็กแรกเกิดที่กินนมแม่อย่างเดียว อุจจาระจะมีลักษณะเหลวข้นคล้ายซุป ทำให้คุณพ่อคุณแม่ตกใจและคิดว่าลูกท้องเสีย ท้องร่วง แต่จริงๆ แล้วเป็นภาวะปกติ ซึ่งเด็กๆ จะถ่ายวันละ 8-10 ครั้ง หรือในเด็กบางคนอาจอุจจาระทุกครั้งหลังกินนมแม่เสร็จก็มี
แต่หากลักษณะอุจจาระเหลวเป็นน้ำ มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวรุนแรงกว่าปกติและมีมูกเลือดปนแบบนี้ไม่ธรรมดาแล้ว
สาเหตุของอุจจาระไม่ปกติ และนำไปสู่อาการท้องร่วงในเด็กนั้น เกิดได้จากการติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และภาวะแพ้นมวัว โดยจะมีอาการให้สังเกต ดังนี้
อุจจาระร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อ จะมีลักษณะเป็นมูก มีเลือดปน หรือมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวรุนแรง และอาจมีอาการป่วยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการงอแงหรือซึมกว่าปกติ ไม่สบายตัว ท้องอืด เป็นไข้
อุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า เป็นเชื้อยอดฮิตที่พบมากที่สุดในเด็ก เพราะผลจากการตรวจเชื้อพบว่าเด็กท้องร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าประมาณ 60-70% เลยทีเดียว อาการเด่นคือ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำปริมาณมาก มักพบร่วมกับภาวะขาดน้ำรุนแรง เริ่มแรกจะมีอาการไข้สูง อาเจียนใน 2-3 วันแรกก่อนมีอาการอุจจาระ บางรายอาจมีหวัดนำมาก่อน มักเกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
อุจจาระร่วงจากการแพ้นมวัว มักมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ท้องอืด อาเจียน มีผื่นตามลำตัว โดยเฉพาะตามข้อพับและแก้ม น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น และที่น่าสังเกต คือ ปัจจุบันเด็กๆ มีอาการท้องร่วง โดยมีสาเหตุมาจากการแพ้นมวัวมากขึ้น
ท้องร่วง...รักษาอย่างไร
โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคอง คือ การรักษาภาวะขาดน้ำ โดยการให้น้ำทางปาก แต่ถ้ารับน้ำทางปากไม่ได้ เกิดอาการขาดน้ำปานกลางถึงขาดน้ำมาก จำเป็นต้องให้น้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ยาลดไข้เป็นระยะถ้ามีไข้ ให้ยาลดการอาเจียน
หากลูกมีอุจจาระร่วงมากขึ้นเมื่อดื่มนมทั่วไปที่มีแล็กโทส ให้เปลี่ยนนมเป็นนมที่ไม่มีแล็กโทส และเมื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำแล้ว ให้เริ่มอาหารทางปากได้ทันทีโดยให้เป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย ควรให้ทีละน้อย แต่บ่อยๆ คุณหมออาจพิจารณาการให้จุลินทรีย์ชีวภาพ (Probiotics) ได้แก่ Lactobacillus GG ซึ่งมีการศึกษาพบว่าช่วยลดระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาลจากโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า
ป้องกันลูกท้องร่วง
โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัส เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเฉพาะหนูๆ ที่อยู่ในช่วงวัยนักสำรวจ หยิบจับอะไรก็จะเอาเข้าปาก จึงทำให้รับเชื้อได้ง่าย โดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก และอาจเกิดจากการไอจามรดกัน ซึ่งป้องกันได้โดย
ระมัดระวังเรื่องความสะอาด ตั้งแต่การเตรียมอาหาร การปรุงอาหาร และการกินอาหาร ควรล้างมือบ่อยๆ (ด้วยน้ำและสบู่) โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนกินอาหาร รวมทั้งการใช้ช้อนกลาง และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น
ไม่พาลูกไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ และห้างสรรพสินค้า คุณพ่อคุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย ในเด็กเล็กที่ดื่มขวดนมก็ควรล้างขวดนมให้สะอาดและนำไปต้มหรือนึ่งทุกครั้ง ก่อนการนำมาใช้ใหม่