การให้ลูกได้กินอาหารเองที่เรียกว่า BLW หรือ Baby Led Weaning มีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็มีเรื่องที่ต้องระวัง ส่วนจะเหมาะกับบ้านไหนบ้างนั้น มาหาคำตอบได้เลยค่ะ
BLW หรือ Baby Led Weaning คือ การให้ลูกหยิบอาหารกินด้วยตัวเอง โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องป้อน และอาหารที่ให้ลูกกินนั้นเป็นอาหารนิ่มๆ ที่มีลักษณะเป็นชิ้น เป็นแท่ง เป็นแผ่น ที่เด็กสามารถหยิบเข้าปาก หรือเอามาดม เอามาเล่น ได้ เช่น ผลไม้หั่นแท่ง เส้นมักกะโรนีต้ม หมูก้อนทอดเป็นชิ้นพอดีคำ ขนมปังกรอบ หรือแพนเค้กชิ้นเล็กๆ เป็นต้น
เมื่อลูกนั่งได้ พ้นวัย 6 เดือนแล้ว พ่อแม่สามารถเตรียมอาหารที่ชิ้นนิ่มๆ ใส่จานไว้ให้ลูกได้เลย จากนั้นล้างมือลูกให้สะอาด จัดท่าให้นั่งบนเก้าอี้กินข้าว ใส่ผ้ากันเปื้อนให้ลูก เสิร์ฟอาหารให้ลูกก็เป็นอันเรียบร้อย ระหว่างที่กินลูกอาจทำเลอะเทอะ คว่ำถ้วยคว่ำจาน หรือทำอาหารตกหล่น เพราะฉะนั้นอย่าลืมปูพลาสติกบริเวณที่ลูกกินอาหารด้วยค่ะ
เมื่อลูกเริ่มนั่งได้ หรือหลัง 6 เดือนขึ้นไปก็ให้ลูกกินอาหารเองได้เลย ซึ่งครั้งแรกลูกอาจจะยังกินไม่เยอะ หรือแค่หยิบๆ เล่นๆ เท่านั้น อย่าเพิ่งบังคับหรือคะยั้นคะยอให้ลูกกิน ลูกจะเรียนรู้และตัดสินใจเองว่าเขาจะกินหรือไม่ และจะกินปริมาณเท่าไหร่ พ่อแม่ทำหน้าที่เพียงแค่นำเสนออาหารที่มีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ให้ลูกค่ะ
- อย่าปล่อยลูกไว้คนเดียวเด็ดขาด
- การขย้อนอาหาร สามารถได้เป็นปกติไม่ต้องตกใจ เนื่องจากจุดกระตุ้นของเด็กอยู่ตื้นกว่าของผู้ใหญ่ ซึ่งเขาจะเรียนรู้และมีวิธีการจัดการของตัวเอง เช่น ต้องเคี้ยวให้เล็กลง เคี้ยวให้ละเอียดกว่าเดิม เป็นต้น
- แต่ถ้าลูกมีอาการไออย่างรุนแรงและต่อเนื่อง หน้าซีด หายใจไม่ออกหรือหายใจเร็วผิดปกติ ต้องรีบช่วยเหลือทันที ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรมีความรู้พื้นฐานในการช่วยเหลือเด็กอย่างถูกต้อง
- ระวังอาหารที่เสี่ยงติดคอและอาหารต้องห้าม เช่น ไส้กรอก ป๊อบคอร์น ผลไม้ที่มีเมล็ด หรือเมล็ดธัญพืช องุ่นทั้งลูก หรือผลไม้ทั้งลูก เยลลี่ น้ำผึ้ง เป็นต้น
เนื้อสัตว์ต้มสุกหั่นเป็นแท่งหรือเป็นชิ้นพอดีคำ ผักต้มสุก ผลไม้สุก ไข่แดงต้มสุกครึ่งลูก ขนมปังแบบแผ่น ขนมปังแบบแท่ง เส้นพาสต้าต้มสุก
ลูกรู้จักระวังเมื่อกิน เพราะเด็กเป็นผู้ตัดสอนใจเลือกกินอาหารเอง จึงเรียนรู้วิธีกินและวิธีขย้อนอาหาร หากอาหารชิ้นใหญ่ลูกจะค่อยๆ กิน หรือกัดชิ้นเล็กๆ และค่อยเคี้ยวและกลืนลงไป
ลูกได้ฝึกประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้งจากการมองเห็น ดมกลิ่น สัมผัส และรับรสอาหาร ช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ให้ลูกเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้เร็วขึ้น
ฝึกการทำงานประสานสัมพันธ์ระหว่างมือและตา การหัดใช้มือตั้งแต่เล็กเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ลูกจะเคลื่อนไหวร่างกายและใช้มือได้อย่างคล่องแคล่ว และทุกครั้งที่ลูกหยิบอาหาร ลูกจะต้องใช้สายตาในการกะระยะ หยิบ และนำเข้าปากให้พอดี
พัฒนาการดีขึ้น เพราะการเคี้ยวอาหารที่เนื้อสัมผัสแตกต่างจากเนื้ออ่อนนิ่มจะช่วยให้ลูกได้บริหารกล้ามเนื้อปากดีขึ้น เมื่อถึงวัยที่ต้องพูด ลูกจะมีพัฒนาการที่ดี สามารถพูดได้เร็ว และพูดได้ชัด
สร้างความมั่นใจให้ลูก เพราะการได้ตัดสินใจเลือกกินเอง ได้เลือกเองว่าจะกินอะไร กินเท่าไหร่ ชอบหรือไม่ชอบอะไร จะทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจในตนเอง
อ่านมาจนถึงตรงนี้คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่า BLW นั้นน่าสนใจ อยากนำไปปรับใช้กับลูก แต่ความจริงแล้ว วิธีการกินแบบ BLW เหมาะกับครอบครัวที่มีคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกเต็มเวลา หรือบ้านที่คนเลี้ยงมีความเข้าใจในหลักการ BLW มากกว่า
หากเป็นบ้านที่คุณย่าคุณยายช่วยเลี้ยง อาจจะต้องมานั่งเถียงกันว่าไม่ได้ไม่เหมาะ และย่ายายอาจจะยังติดวิธีการป้อนอาหารมากกว่า
ที่สำคัญวิธีการ BLW ต้องอาศัยผู้ที่มีเวลาในการดูแลลูก เนื่องจากความเลอะเทอะหลังมื้ออาหารเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เด็กบางคนอาจเลอะแค่มือ แต่บางคนอาจทำเลอะทั้งบริ้วณที่กินข้าว รวมไปถึงการจัดเตรียมอาหารให้ลูก อาจต้องใช้เวลาหรือทำแยกเฉพาะ และต้องทำทุกมื้อ ซึ่งมีความยุ่งยากกว่าการบด ปั่นอาหารแล้วแช่เก็บในช่องฟรีซให้ลูก
ข้อมูลจาก : เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ, เพจ Baby Led Weaning Thailand