มีคุณแม่หลายๆ คนที่สงสัยว่า เมื่อลูกอายุประมาณ 1 ขวบกว่าๆ เวลาอุ้มลูกเข้าหาตัวเอง ทำไมลูกชอบตีหัว ตบหน้า ดึงผม คุณพ่อคุณแม่ แม้จะดุหรือบอกก็ไม่ฟัง ยิ่งดุยิ่งตี แบบนี้จะต้องแก้ไขอย่างไรดี มาอ่านคำตอบของคุณหมอกันค่ะ
เข้าใจลูกวัย 1 ขวบ
พัฒนาการของเด็กวัย 1 ขวบ ยังมีความเข้าใจหลายอย่างที่ไม่เหมือนผู้ใหญ่ และมีขีดจำกัด ดังนั้นจึงไม่เข้าใจในการห้าม การดุ หรือการสั่งสอนของผู้ใหญ่ที่ใช้การพูดเป็นตัวสั่งสอน ฉะนั้นเด็กจะเรียนรู้ผ่านการดูท่าทีปฏิกิริยามากกว่าคำพูดที่แม่พูดออกมา เขาอาจพอเข้าใจว่า อย่า ไม่เอา แต่รายละเอียดคำพูดยาวๆ อาจยังไม่รู้เรื่อง
หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ปากห้ามแต่หน้ายิ้ม เช่น บอกไม่เอานะ แต่เราก็ให้โอกาสเด็กเล่น จะทำให้เด็กสับสนในความหมายที่ผู้ใหญ่พูดกับเขา สิ่งที่เขามองเห็น สีหน้าท่าทาง แววตาของผู้ใหญ่ แต่คำพูดของผู้ใหญ่อาจจะบอกว่าไม่พอใจ เขาจะเลือกตอบสนองต่อท่าทีที่เขาเห็นมากกว่าคำพูด
วิธีแก้ไข เมื่อลูกตีหน้าคุณพ่อคุณแม่
1. พ่อแม่ต้องรู้ก่อน
ทำให้ลูกรู้ว่าเมื่อหันหน้าเข้าหากันจะเล่นกัน ไม่มีการตีหน้า ตีหัว หรือดึงแว่นตาเรามาเล่น ต้องไม่จะสนับสนุนและต้องตัดโอกาสไม่ให้ลูกเล่น ด้วยการต้องระวังตัวให้ดี เพราะลูกมักจะเลือกเล่น หรือเลือกทำในสิ่งที่เขาชอบ และยิ่งทำไปแล้วพ่อแม่โวยวาย เขาอาจเห็นเป็นเรื่องสนุก ดังนั้นพ่อแม่ต้องรู้ก่อนว่านั่งท่านี้เพื่อจะเล่นอะไรกัน
2. มีท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่เล่น
ท่าทางที่แสดงออก ขณะที่ลูกทำ ต้องชัดเจน ไม่จำเป็นต้องดุ ไม่จำเป็นต้องโกรธ แต่ท่าทีต้องชัดเจนว่าไม่ได้ และเราก็ให้ลูกเล่นในสิ่งที่เราต้องการให้เล่น เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นชี้จมูก ชี้ตา แต่ถ้าเด็กไม่ยอมเด็กจะตีอย่างเดียว พ่อแม่ก็ต้องลุก ขึ้น ลุกเพื่อตัดโอกาสไม่ให้เด็กได้มีโอกาสมาตีหรือมาดึงผมเรา
3. ทุกคนในบ้านต้องเข้าใจตรงกัน
ที่สำคัญทุกคนต้องทำในลักษณะแบบเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเด็กสามารถตีหรือดึงหัวพี่เลี้ยงได้ ทำกับพ่อไม่ได้ แต่ทำกับแม่ได้ ฉะนั้นท่าทีของทุกคนต้องทำแบบเดียวกัน คืออย่าเปิดโอกาสและอย่าปล่อยให้เด็กทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
4. ทำอย่างสม่ำเสมอ
ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใดก็ตาม จำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ติดต่อกันไประยะเวลานานก่อน ไม่ใช่ว่าวันนี้ทำ พรุ่งนี้ไม่ทำ วันนี้ให้โอกาสดึงแว่นตา ตบหน้า หรือตีหัวได้ อีกวันยอม แบบนี้เรียกว่าไม่สม่ำเสมอ จะต้องทำแบบนี้ไปทุกคน และในระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน 6 เดือน
ข้อมูลจาก : พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์