ล่าสุดคุณแม่ท่านหนึ่งได้โพสเตือนแม่ ๆ ในเว็บไซต์พันทิบดอทคอม ว่าลูกสาวมีอาการ Ear pit อักเสบ โดยคุณแม่คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการพาลูกไปเรียนว่ายน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้คุณแม่เล็งเห็นความสำคัญของการว่ายน้ำเป็น และคำนึงถึงความปลอดภัยจากอุบัติเหตุเด็กจมน้ำ จึงให้ลูกไปเรียนว่ายน้ำแต่เล็ก ๆ
รักลูกได้สอบถามไปทางคุณแม่โม ซึ่งใช้ล็อกอินของคุณพ่อมาตั้งกระทู้ คุณแม่โมเล่าให้ฟังว่า
"น้องโมจิเรียนดำน้ำได้ 4-5 เดือน ตอนนั้นสามารถดำน้ำได้แล้ว วันหนึ่งน้องกลับมาบ้านแล้วพบว่าหูข้างซ้ายมีอาการบวมเล็กน้อย จึงพาไปพบแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง คุณหมอให้ยาแก้อักเสบมากินเพื่อให้หนองด้านในออกมาหรือทำให้ยุบไป หากหนองออกมาไม่ได้ก็จำเป็นต้องผ่า
ส่วนอาการของน้อง หลังผ่านไป 1 วัน เริ่มมีอาการปวด งอแงค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะตอนนอน เมื่อผ่านไป 2-3 วัน ก็เริ่มกินข้าวได้น้อยลง กินแต่นมแม่ และนอนหลับไม่สนิท มักจะตื่นมาร้องไห้เพราะปวดแผลบ่อยมาก"
คุณแม่จึงพาน้องกลับไปที่โรงพยาบาลเดิม แต่เนื่องจากน้องยังเป็นเป็นเด็กเล็กคุณหมอไม่สามารถผ่าได้จึงแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเฉพาะทางสำหรับเด็กซึ่งคุณแม่ก็ได้ติดต่อไปที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
"หลังการผ่าทำการรักษาปกติ หากใครเคยเป็นฝีจะทราบว่าต้องคว้านทำความสะอาดแผลต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดหนอง เด็ก 1 ขวบกับการคว้านล้างแผลโดยยัดผ้าก๊อซ เช้า-เย็น หลังๆ ขอหมอทำแค่ 1 ครั้งต่อวันเพราะแม่แทบใจสลาย"
เพราะคุณหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดีได้แจ้งให้ทำการล้างแผล เช้า-เย็น ทุกวัน ห้ามขาด จนกว่าแผลจะแห้ง เพราะจะเป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ และเกิดหนองใหม่ คุณหมอเรียกว่าการล้างแผลแบบก๊อซเดรน คือการนำผ้าก๊อซเล็กๆ ชุปเบตาดีน ยัดไปในรูที่กรีดหนองออก
คุณแม่โมบอกว่าแผลน้องใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 7-10 วันถึงจะเริ่มแห้งดี ซึ่งทุกวันที่พาไปล้างแผลคุณย่าคุณยายที่ไปส่งต้องขอเฝ้าอยู่หน้าห้อง และไม่ขอไปช่วยจับหลาน เพราะสงสารนั่นเอง ส่วนคุณแม่บอกได้คำเดียวว่าใจแทบจะสลายเลยทีเดียวค่ะ
ส่วนเรื่องการผ่าตัด Ear pit นั้นคุณแม่โมต้องการให้น้องโตกว่านี้สักหน่อย ขณะเดียวกันข้อมูลเรื่องการผ่าตัดในประเทศไทยนั้นยังมีน้อย ระหว่างรอตัดสินใจนี้จึงต้องหาข้อมูลก่อนเพื่อความมั่นใจว่าจะไม่เกิดอันตรายกับลูก
1. สำหรับเด็กที่เป็น Ear pit คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นตรวจดูสิ่งสกปรกและทำความสะอาดบริเวณรูข้างหู Ear pit เป็นประจำ เพราะบางทีรูเล็กๆจะมีของเหลวหรือไขมันออกมา บางทีมีลักษณะเหมือนขี้หูเล็กๆ ออกมา ก็เช็ดออกได้ค่ะ
2. ในส่วนของเด็กเล็กที่จะต้องมีกิจกรรมทางน้ำ อาจจะเลี่ยงไปก่อนหรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ลองหาวิธีป้องกันดู ความจริงเด็กๆ เล่นน้ำปกติก็ไม่น่าจะมีปัญหา กรณีของน้องเกิดการอักเสบเกิดมาจากการดำน้ำ เพราะน้องเรียนว่ายน้ำและเริ่มดำน้ำได้ประมาณ 3 วินาทีแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกเป็น Ear pit แล้วเรียนว่ายน้ำและต้องดำน้ำแนะนำให้หาอะไรปิดรู Ear pit เพื่อป้องกันแรงดันขณะดำน้ำ
1. ชั้นแรกใช้พลาสเตอร์กันน้ำหาซื้อได้ทั่วไป ตัดเป็นวงกลมเล็กๆ เฉพาะส่วนที่เป็นพลาสติก
2. หาเทปกาวสำหรับผิวหนัง (หาซื้อได้ตามร้านขายยา) ปิดทับอีกที เพื่อป้องกันชั้นแรกหลุด (ชั้นที่สองขนาดจะใหญ่กว่าชั้นแรก) ซึ่งเทปในชั้นที่สองจะไม่สามารถกันน้ำได้ แต่จะช่วยยึดชั้นแรกไม่ให้หลุด โดยชั้นแรกจะเป็นตัวป้องกันแรงดันน้ำที่จะเข้าไปในรู Ear pit การติดแผ่นทั้ง 2 ชั้นอาจมีน้ำซึมบ้าง แต่หลักการคือการป้องกันแรงดันขณะดำน้ำ
ซึ่งผลจากการใช้แผ่นป้องกันคือลูกสามารถกลับไปว่ายน้ำได้เหมือนเดิมมากกว่า 20 ครั้งแล้วค่ะ ส่วนใครที่เป็นห่วงอาการน้องโมจิ คุณแม่โมบอกว่าทุกวันนี้น้องร่าเริงเป็นปกติ สนุกสนาน และตลกเหมือนเดิมค่ะ
สุดท้ายคุณแม่โมได้ให้แง่คิดดีๆ กับเราว่า "สำหรับครอบครัวเราเอง เราและสามีเห็นว่าลูกชอบเล่นน้ำตั้งแต่เด็ก จนส่งไปเรียนว่ายน้ำ และมาเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ซึ่งหลายๆ คนก็คงตั้งคำถาม ว่าทำไมยังส่งลูกไปว่ายน้ำอีก ทั้งๆ ที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นอีก เราและสามีคุยกันค่ะ คิดแล้วคิดอีกว่าจะให้เลิกดีหรือไม่ แต่สุดท้ายเรามองว่า วันนึงน้องเองก็ต้องไปเจอวิชาว่ายน้ำในโรงเรียนอยู่ดี และลูกเองก็ชอบเล่นน้ำ เอาเป็นว่าหาทางป้องกันดีกว่า แล้วพอได้เวลาที่เหมาะสมก็พาน้องไปผ่า Ear pit ออก ก็เหมือนกับถ้าวันนึงเราเดินเหยียบหนามแล้วทิ่มตำเท้าขึ้นมา ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเลือกที่จะไม่เดินอีกต่อไป
เรามองว่า ถ้าอย่างนั้นก็หาอะไรป้องกันดีกว่าไหม ใส่รองเท้าไหม รองเท้าบางไปยังทะลุและทำให้เราเจ็บอีก เปลี่ยนวัสดุรองเท้าให้ทนขึ้นดีกว่าไหม ถ้าเราเลือกที่จะหยุดเดินหรือเลี่ยงมัน เราจะเสียโอกาสที่จะเจออะไรดีๆ ข้างหน้ารึป่าว เราเลยอยากที่จะเผชิญหน้าและแก้ปัญหากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น และวันนึงเราเองก็จะสอนลูกแบบนี้เช่นกันค่ะ
อยากแชร์ข้อมูลให้คุณพ่อ คุณแม่ที่ลูกเป็น Ear pit รับทราบ เพราะไม่อยากให้เกิดกับใคร และเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจผ่าออก เพราะเราเคยหาในอินเตอร์เน็ตแล้วข้อมูลเรื่อง Ear pit ในเด็กเล็กมีน้อยมากค่ะ"