นมอุดมไปด้วยคุณค่าของสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงพร้อมที่จะสนับสนุนให้ลูกได้ดื่มนม หากลูกอยู่ในวัยระหว่าง 1-2 ขวบ ลูกวัยนี้สามารถรับนมวัวชนิดธรรมดาได้แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะอ้วน เพราะลูกอยู่ในวัยที่ใช้พลังงานทั้งวัน นมจะไปช่วยให้ร่างกายลูกเจริญเติบโตเร็วขึ้น ครั้น 2 ขวบขึ้นไป หรือ เมื่อลูกเริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาล หากพ่อแม่จะเปลี่ยนให้ลูกมาดื่มนมไขมันต่ำ หรือนมพร่องมันเนยก็สามารถทำได้ในช่วงวัยนี้ ส่วนนมผสม เช่น นมช็อกโกแลต จะมีน้ำตาลผสมมากกว่านมสดทั่วไป แต่ในแง่ของคุณค่าของสารอาหารแล้วไม่แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยงนมผสมเหล่านี้ได้ก็จะดี
ถ้าจะให้ลูกดื่มนมใดๆ พ่อแม่ควรพิจารณาเรื่องความเหมาะสมตามวัย ตามน้ำหนักตัว ตามสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของลูกเป็นสำคัญ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเด็กโตควรดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว หรือ 2-3 กล่องเท่านั้น
ผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็กวัย 1-3 ปี
นมผง
นมแม่กับนมวัวมีความแตกต่างกัน นมวัวจะมีโปรตีนสูงเกือบ 3 เท่าของนมแม่ซึ่งถือว่ามากเกินไปสำหรับความต้องการของเด็กทารก สำหรับนมผสมที่ใช้เลี้ยงทารก (INFANT FORMULA) ในปัจจุบันพยายามดัดแปลงให้คล้ายนมแม่มากที่สุด เช่นปรับเปลี่ยนปริมาณและคุณสมบัติของโปรตีนให้ใกล้เคียงกับนมแม่ และดัดแปลงไขมันโดยเอาไขมันในนมวัวบางส่วนออกไป แล้วผสมน้ำมันพืชบางชนิดเข้าไปแทนเพื่อให้สัดส่วนของไขมันคล้ายกันกับนมแม่ที่สุด
นมผงบางยี่ห้อเติมสารทอรีน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกายเข้าไป เพราะเห็นประโยชน์ที่ว่าสารนี้มีส่วนช่วยพัฒนาจอตา (RETINA) และสมองให้กับเด็ก แต่จริงๆแล้วในนมแม่เองมีทอรีนอยู่แล้ว นอกจากนี้นมผงบางยี่ห้อได้เติมเบต้าแคโรทีนเข้าไป เพราะเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ป้องกันโรคหัวใจ และมะเร็ง ฯลฯ แต่ในนมแม่เองก็มีเบต้าแคโรทีนอยู่แล้ว นมผงบางยี่ห้อเขาเริ่มเติมสารนิวคลีโอไทด์ ซึ่งอาจมีส่วนเสริมสร้างภูมิต้านทานแก่ร่างกาย หรือดีเอชเอ ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาการของสมองและความฉลาดเข้าไปอีกด้วย
ส่วนนมผงดัดแปลงสำหรับทารกนั้นเมื่อลูกอายุ 1 ปีขึ้นไป คงต้องให้รับประทานนมสูตร 2 ที่เขียนข้างกระป๋องว่าใช้สำหรับทารกและเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี
ซึ่งคุณแม่สามารถให้กินร่วมไปกับนมกล่อง UHT ได้
นมเปรี้ยว
นมเปรี้ยวในบ้านเรามี 2 ชนิด คือนมเปรี้ยวแท้ๆ กับนมเปรี้ยวเทียม นมเปรี้ยวแท้ๆ คือเอานมวัวมาใส่เชื้อจุลินทรีย์ที่คนคิดว่าเป็นประโยชน์ก็คือ แล็คโตบาซิลลัส ตัวจุลินทรีย์นี้จะไปย่อยน้ำตาลแล็คโตสที่มีอยู่ในนมให้เป็นกรดแล็คติค นมจึงมีรสเปรี้ยว เพราะฉะนั้นสารอาหารในนมเปรี้ยวจะมีเท่ากับนมปกติที่เอามาทำในตอนแรกเพียงแต่เพิ่มตัวแล็คโตบาซิลลัสเข้าไปเท่านั้นเอง ด้วยกรรมวิธีการทำแบบนี้นมเปรี้ยวจึงเหมาะกับเด็กที่ดื่มนมปกติที่มีน้ำตาลแล็คโตสไม่ได้ และเด็กที่ท้องเสียเรื้อรัง รวมถึงคนที่กินยาปฎิชีวนะบ่อยๆ นมเปรี้ยวแท้ก็จะทำมาจากนมวัวสด จะเหมาะกับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป
ส่วนนมเปรี้ยวเทียมซึ่งไม่ได้ใส่แล็คโตบาซิลลัสเข้าไป แต่ใส่หัวเชื้อที่มีรสเปรี้ยวเข้าไปแทน เช่น กรดรสส้ม กรดรสมะนาว นมเปรี้ยวเทียมชนิดนี้จึงไม่เหมาะกับเด็กที่มีอาการท้องเสียเพราะย่อยน้ำตาล็แล็คโตสไม่ได้ ถ้าเราลองไปศึกษาดูที่ข้างกล่องจริงๆ เราจะเห็นว่านมเปรี้ยวไม่แท้นั้นมีเนื้อนมแค่ 20-70% เท่านั้นเอง ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเรากินเพียงน้ำหรือรสเปรี้ยวๆเข้าไปเท่านั้น
นมกล่อง
เนยแข็ง (CHEESE)
เนยแข็งนั้นทำจากนมวัวสด ซึ่งกรรมวิธีในการทำก็คือนำโปรตีนจากนมวัวสดๆ มาทำเป็นเนยแข็ง เพราะฉะนั้นกินมากๆอาจทำให้ได้โปรตีนมากเกินไปได้ จริงๆ แล้วการทานเนยแข็งในบ้านเราสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ
เนย (BUTTER)
เนยที่ใช้ทากับขนมปังนั้นเป็นไขมันที่สะกัดมาจากนมวัว จึงมีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง ถ้ากินมากก็จะทำให้เป็นโรคอ้วน หรือไขมันในเลือดสูงได้
นมข้นจืด
เป็นน้ำนมดิบที่ระเหยน้ำออกบางส่วน แล้วผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ ด้วยความร้อนสูงไม่ต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส
นมข้นไม่หวานแปลงไขมัน
เป็นนมข้นไม่หวานที่ใช้น้ำมันพืชแทนมันเนยบางส่วน และนมข้นไม่หวานขาดมันเนย คือนมข้นไม่หวานที่แยกเอามันเนยออกไป
นมข้นหวาน
เป็นน้ำนมข้นที่เติมน้ำตาลประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งแป้ง ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์
โยเกิร์ต
คุณค่าโดยทั่วไปของโยเกิร์ตจะแตกต่างจากนมปกติไม่มากนัก แต่หากเป็นโยเกิร์ตชนิดดื่มนั้น จะมีคุณค่าของนมตามปริมาณที่ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีนมประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น ก็จะได้คุณค่าจากนมเพียงครึ่งเดียว ที่เหลือเป็นน้ำตาลหรือน้ำเชื่อมที่เติมเข้าไป ซึ่งแม้บางครั้งปริมาณพลังงานอาจได้ใกล้เคียง (ได้จากน้ำตาล) แต่ทำให้ได้รับปริมาณโปรตีนและแคลเซียมในปริมาณน้อยกว่าเมื่อเทียบกับนมปกติหรือโยเกิร์ตธรรมดา
สถิติของเด็กที่แพ้นมวัวในประเทศไทย มีอัตราที่สูงและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นมที่เคยรักษาได้ เช่น นมถั่วเมื่อ 20 ปีก่อนที่เคยรักษาได้ประมาณ 70% ของจำนวนเด็ก แต่ปัจจุบันรักษาได้ไม่ถึง 30% ส่วนนมที่ย่อยโปรตีนละเอียดที่เคยรักษาได้ 80-90% แต่ปัจจุบันรักษาได้เพียง 80% เพราะอาการแพ้มีความรุนแรงขึ้น
โดยอาการแพ้นมวัวของเด็กๆ ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าแพ้ คุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่รู้ ส่วนมากมักเป็นโปรตีนบางส่วน ทำให้เกิดอาการได้ทั้งระบบทางเดินอาหาร หรือคล้ายกับลักษณะอาการป่วยทั่วๆ ไป เช่น เป็นหวัดเรื้อรัง อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว มีผื่นหรือลมพิษขึ้นตามร่างกาย ผื่นคันที่หน้า สองข้ามแก้ม ตามข้อพับ บางรายเป็นเอคซีมา ECZEMA และเป็นๆ หายๆ ซึ่งบางทีคุณพ่อคุณแม่เด็กก็ไม่ได้เอะใจหรือสงสัย บางทีพาไปหาหมอก็จะถูกรักษาตามอาการ เพราะฉะนั้นจึงมีเด็กไม่ถึง 20% ที่ถูกวินิจฉัยแล้วรู้ว่าแพ้นมวัว
เมื่อเป็นมากแพทย์ก็เปลี่ยนชนิดนม เช่น ให้นมถั่วเหลือง หรือนมวัวชนิดพิเศษสำหรับเด็กภูมิแพ้ จะมีการปรับดัดแปลงสารอาหารให้ย่อยง่ายขึ้น จนอาการภูมิแพ้ทุเลา ส่วนมากก็อายุ 1 ถึง 1 ปีครึ่งพออาการดี ร่างกายแข็งแรงก็สามารถกลับมาดื่มนมวัวได้ และหากคุณพ่อคุณแม่เลือกนมถั่วเหลืองมีก็ควรนำนมไปปรึกษากุมารแพทย์ที่ดูแลลูกประจำอยู่ เพื่อพิจารณาคุณค่าอาหาร ซึ่งเด็กที่อายุเกิน 1 ปี แล้วต้องกินข้าว 3 มื้อและอาหารอื่นด้วย จะต้องประเมินว่าเติบโตดีไหม มีการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงนำมาเทียบ กับมาตรฐานของเด็กปกติ ซึ่งสามารถขอข้อมูลและปรึกษาได้จากกุมารแพทย์