เรื่องหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองของน้องๆ เด็กพิเศษ ถามหมอบ่อยๆ จะเกี่ยวข้องกับการตรวจยีนและโครโมโซม ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ หรือจำเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจะไปช่วยในการรักษาตัวโรคของลูกน้อยได้หรือไม่ หมอก็เลยหยิบเอาเรื่องนี้มาขยายความเพื่อให้ผู้สนใจทุกท่านได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ใน การตรวจทางพันธุกรรมในเด็กพิเศษ ว่ามีส่วนช่วยในการวินิจฉัยหรือการดูแลเด็กอย่างไรบ้าง
เริ่มต้นกันที่ ยีน (gene) และ โครโมโซม (chromosome) คืออะไร ซึ่งหมอคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่น่าจะพอคุ้นๆ ชื่อกันบ้าง แต่อาจจะไม่ทราบในเชิงรายละเอียดว่ามันคืออะไรกันแน่ ถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็คือ ยีนและโครโมโซมเป็นโครงสร้างในระดับย่อยของเซลล์ ที่สามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูกได้
ทำให้ลักษณะของลูกมีความคล้ายคลึงกับพ่อแม่ เช่น สีตาเหมือนกับแม่ ผมหยิกเหมือนกับพ่อ เป็นต้น หรือแม้แต่นิสัย เช่น ความวิตกกังวล หรืออารมณ์ต่างๆ ก็สามารถถ่ายทอดผ่านทางยีนเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกันโดยโครโมโซมจะเป็นโครงสร้างหลักที่มีองค์ประกอบภายในเป็นสายดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งใช้ในถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมผ่านจากรุ่นสู่รุ่น
โดยส่วนของสายดีเอ็นเอที่สามารถถอดรหัสออกมาสร้างเป็นโปรตีนชนิดต่างๆ ได้จะเรียกว่ายีน ซึ่งแต่ละยีนก็จะสร้างโปรตีนที่มีโครงสร้างและหน้าที่แตกต่างกัน โดยมนุษย์จะมีโครโมโซมอยู่ 23 คู่หรือ 46 แท่ง แบ่งเป็นโครโมโซมทั่วไป 22 คู่และโครโมโซมเพศ 1 คู่ โดยในโครโมโซม 1 แท่งจะมียีนอยู่มากมาย
ซึ่งมีการประมาณการไว้ว่าในมนุษย์น่าจะมียีนอยู่ราวๆ 20,000-30,000 ยีนเลยทีเดียว แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าปริมาณยีนจริงๆ อาจจะมีจำนวนน้อยกว่านี้ โดยมียีนที่มีรายงานว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคที่ค้นพบแล้วในปัจจุบันอยู่ราวๆ 1,200 ยีน
การเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจโครโมโซม จะเน้นที่การดูจำนวนและรูปร่างของโครโมโซมว่ามีครบ 23 คู่หรือไม่ คือดูว่ามีโครโมโซมคู่ใดเกินมาหรือไม่ หรือดูว่ามีโครโมโซมคู่ใดขาดหายไป อย่างไรก็ดี การที่โครโมโซมเกินหรือขาด แม้จะเพียง 1 แท่ง ก็มักจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อทารกกล่าวคือทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก
ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติแบบหนึ่ง มีเพียงไม่กี่ภาวะที่โครโมโซมเกินหรือขาดแล้วทารกสามารถมีชีวิตรอดมาจนคลอดได้ เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (โครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง) หรือกลุ่มอาการโครโมโซมเพศขาดหรือเกิน ซึ่งในกรณีหลังมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาอวัยวะเพศ หรือความผิดปกติของการพัฒนาร่างกายในช่วงวัยรุ่นเป็นหลัก
โดยกลุ่มอาการดาวน์อาจจะจัดเป็นโรคที่มีความผิดปกติของโครโมโซมที่อาการรุนแรงน้อย หากไม่มีภาวะผิดปกติของหัวใจหรือระบบประสาทอย่างรุนแรงร่วมด้วย ตรงกันข้ามกับความผิดปกติของโครโมโซมชนิดอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายอย่างรุนแรง ดังนั้นการส่งตรวจโครโมโซมจึงมีข้อบ่งชี้ที่ค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากอาการแสดงของผู้ป่วยจะค่อนข้างเด่นชัด
อย่างไรก็ดี การตรวจโครโมโซมไม่สามารถบอกความผิดปกติของยีนแต่ละยีนบนตัวมันได้ ทั้งนี้เนื่องจากโครโมโซมเป็นโครงสร้างที่ใหญ่กว่ายีนมาก การเปลี่ยนแปลงหรือการขาดหายไปของยีนในบริเวณเล็กๆ จึงไม่สามารถสังเกตได้จากการตรวจโครโมโซมตามปกติ อุปมาเหมือนกับการดูกำแพงเมืองจีนจากเครื่องบิน ย่อมไม่เห็นว่าส่วนเล็กๆ ของกำแพงมีรอยแหว่งหรือโดนทำลายตรงไหนบ้าง
ดังนั้นถ้าหากสงสัยว่าสาเหตุของพัฒนาการล่าช้าในเด็กพิเศษน่าจะเกิดจากความผิดปกติของยีน หรือที่รู้จักกันว่า “การกลายพันธุ์หรือมิวเทชั่น (mutation) ของยีน” ก็จำเป็นต้องส่งตรวจยีนแทน ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้ทั้งการตรวจเฉพาะยีนที่สงสัยเป็นบางตัว หรือตรวจยีนทั้งหมดบนโครโมโซมทั้ง 23 คู่เลย
การตรวจยีน ก็คือการตรวจลำดับเบสบนสายดีเอ็นเอที่อยู่บนโครโมโซมว่ามีส่วนใดหายหรือส่วนใดเกินมาบ้าง หรือรหัสพันธุกรรมตรงไหนเปลี่ยนไปบ้าง ความผิดปกติหรือการกลายพันธุ์ของยีนจะนำไปสู่การสร้างโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้การทำงานของร่างกายในส่วนนั้นๆ ผิดปกติไป
โดยการกลายพันธุ์ของยีนที่สำคัญมากๆ มักจะทำให้ทารกเสียชีวิตไปตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์น้อยๆ ตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่การกลายพันธุ์ของยีนบางชนิดที่ไม่ได้รุนแรงมาก อาจจะทำให้เด็กคนนั้นสามารถเจริญเติบโตมาจนถึงวันแรกของการลืมตามาดูโลกได้ ซึ่งเด็กที่มียีนกลายพันธุ์นั้นอาจจะดูเหมือนเด็กทั่วๆ ไปหรือดูมีลักษณะแตกต่างก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้ายีนตัวปัญหาทำหน้าที่อะไรบ้าง
โดยการกลายพันธุ์ของยีนเหล่านี้จะไปส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายในช่วงแรกๆ ของชีวิต และหากยีนนั้นมีความจำเป็นต่อการทำงานของสมองก็จะทำให้การพัฒนาสมองเกิดความผิดปกติ นำไปสู่ปัญหาพัฒนาการล่าช้า อาการชัก อาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หรือแม้แต่อาการพัฒนาการถดถอย คือภาวะที่พัฒนาการที่เคยทำได้มาก่อน กลับไม่สามารถทำได้อีกเมื่อเด็กอายุมากขึ้น
ประเด็นสำคัญคือ การกลายพันธุ์ของยีนจนทำให้ยีนนั้นไม่สามารถสร้างโปรตีนได้มักจะก่อให้เกิด “โรคที่รุนแรง” เป็นหลัก แต่การกลายพันธุ์ของยีนในเด็กพิเศษมักจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรม จึงทำให้ยังพอสร้างโปรตีนได้ แต่เป็นโปรตีนที่มีโครงสร้างต่างไปจากเดิม มากบ้างน้อยบ้าง
ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ โดยข้อมูลในกลุ่มโรคออทิสซึม ปัจจุบันพบยีนที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคแล้วราวๆ 20-30 ยีน ซึ่งมักจะเป็นยีนที่มีบทบาทในการสร้างสมองและช่วยในการทำงานของเซลล์ประสาทเป็นหลัก
คำถามคือ หากทำการตรวจจนทราบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีนเหล่านี้จะนำไปสู่การรักษาเฉพาะหรือสามารถทำให้ตัวโรคหายขาดได้หรือไม่ คำตอบคือ ส่วนใหญ่แล้วถึงจะทราบว่ามีความผิดปกติของยีนอะไร ก็มักจะเป็นเพียง “ได้รับทราบ” เท่านั้น มักจะไม่ได้ไปมีผลต่อการรักษาเฉพาะเพื่อทำให้หายขาด
จะมีเพียงบางโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเอนไซม์ที่มักเรียกรวมๆ กันว่ากลุ่มโรคพันธุกรรมเมทาบอลิก (inherited metabolic disorders)ที่การทราบการกลายพันธุ์ของยีน จะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนและการรักษาเฉพาะ เช่น การรักษาด้วยเอนไซม์ หรือแม้แต่การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ ซึ่งอาจจะทำให้หายขาดจากโรคได้ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของตัวโรค
แต่เด็กพิเศษโดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มออทิสซึม และกลุ่มภาวะบกพร่องทางสติปัญญา อาการของตัวโรคมักจะไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูด้วย การตรวจทางพันธุกรรมก็อาจจะยังไม่จำเป็นเท่าไหร่ครับ
เพราะแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การตรวจยีนทั้งหมดของร่างกายในกลุ่มเด็กพัฒนาการล่าช้าและเด็กพิเศษก็พบความผิดปกติของยีนเพียงราวๆ ร้อยละ 50 เท่านั้น กล่าวคือเกือบครึ่งที่การตรวจยีนไม่พบความผิดปกติใดๆ ดังนั้น หากแพทย์ผู้ดูแลได้ทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือดเบื้องต้นแล้ว ไม่พบข้อบ่งชี้ แพทย์ก็มักจะไม่ได้ส่งตรวจโครโมโซมหรือตรวจยีนในเด็กพิเศษทุกราย
กล่าวคือจะส่งเฉพาะในรายที่มีลักษณะความผิดปกติบางอย่างที่สงสัยโรคทางพันธุกรรมเท่านั้น ยกเว้นในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่วางแผนจะมีบุตรคนต่อไป ซึ่งการทราบว่าลูกเป็นโรคอะไรจะมีความสำคัญต่อการพยากรณ์ความเสี่ยงในการเป็นโรคของลูกคนถัดไปได้ แต่ก็ขึ้นกับตัวโรคที่สงสัยเป็นกรณีไปครับ
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง