เมื่อกล่าวถึงการรักษาเด็กพิเศษ คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านคงนึกถึงรูปแบบการฝึกกระตุ้นพัฒนาการ และการจัดการเรียนการสอนให้กับน้องๆ เหล่านี้ อย่างไรก็ดี มีเด็กพิเศษจำนวนไม่น้อยที่ได้รับยามารับประทานด้วย คำถามคือยาเหล่านี้คือยาอะไร และส่งผลอย่างไรต่อตัวเขา รวมไปถึงว่ายาเหล่านี้ทำให้เด็กๆ หายจากตัวโรคได้หรือไม่ เรามาติดตามกันครับ
ก่อนจะตอบคำถามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หมอขออนุญาตอธิบายกลไกทางสมองที่ส่งผลต่อพัฒนาการให้ทราบกันก่อนนะครับ คือสมองของคนเราตอนแรกเกิดนี่ยังสร้างมาไม่ถึงครึ่งทางเลย ต้องมาเติบโตต่อข้างนอกท้องแม่อีกมาก ทีนี้การสร้างสมองในช่วงแรกจะมีการพัฒนาในส่วนหน้าที่พื้นฐานก่อน เช่น การมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว
หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการพัฒนาในส่วนของภาษาและการเรียนรู้ โดยมีหลักการว่า วงจรประสาทไหนใช้งานบ่อยจะถูกเก็บไว้ ส่วนวงจรประสาทไหนไม่ค่อยได้ใช้งานก็จะถูกทำลาย เพื่อเอาวัตถุดิบมาสร้างส่วนที่จำเป็นในการทำงานมากกว่า โดยประเด็นสำคัญคือ การพัฒนาสมองในแต่ละส่วนจะต้องอาศัยการโปรแกรมจากยีนร่วมกับการเลี้ยงดูจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งในเด็กพิเศษ กระบวนการสร้างสมองอาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ดีนัก ทำให้เด็กเหล่านี้มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า
อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกคือการเลี้ยงดู การเล่นกับเด็ก โภชนาการ และความอบอุ่นใจที่ได้รับจากพ่อแม่ จะสามารถช่วยฟื้นฟูสมองส่วนที่มีการพัฒนาล่าช้านี้ได้ จึงเป็นที่มาของการฝึกกระตุ้นพัฒนาการ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้งานวงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และทักษะต่างๆ เพื่อให้สมองของเด็กทราบว่า วงจรเหล่านี้จำเป็นนะ วงจรเหล่านี้สำคัญนะ สมองจะได้เก็บรักษามันเอาไว้ และช่วยส่งเสริมในการส่งสัญญาณในวงจรประสาทเหล่านี้ดีขึ้นด้วย
บางท่านอาจจะสงสัยว่า การกระตุ้นวงจรประสาทเหล่านี้สามารถกระทำได้โดยตรงไหม จะได้กระตุ้นสมองให้ตรงจุดไปเลย คำตอบคือตอนนี้นักวิจัยด้านสมองหลายกลุ่มทั่วโลกกำลังสนใจทำวิจัยเรื่องนี้กันอยู่ครับ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นสมองในรูปแบบต่างๆ หรือการรักษาทางพันธุกรรมในบางโรค แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดยังไม่ใช่การรักษามาตรฐาน จึงต้องอาศัยเวลาอีกสักหน่อยเพื่อให้ข้อมูลชัดเจนมากกว่านี้จึงจะนำมาใช้ได้ครับ
กลับมาที่คำถามสำคัญคือ “ยา” สามารถไปปรับหรือกระตุ้นวงจรประสาทได้หรือไม่ คำตอบคือ “ได้” ครับ เพียงแต่การปรับด้วยยาจะเป็นการปรับ “สารสื่อประสาท” อันหมายถึงสารเคมีที่เซลล์สมองใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันเป็นหลัก แต่ยาไม่สามารถไปกระตุ้นวงจรประสาทการเรียนรู้และทักษะต่างๆ ให้มีการพัฒนาได้หากปราศจากการกระตุ้นด้วยการฝึก
ดังนั้น การรักษาด้วยยาจึงเป็นการไปปรับสารสื่อประสาทเพื่อควบคุมอาการบางอย่างในกลุ่มเด็กพิเศษ ซึ่งจะทำให้เด็กเหล่านั้นสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น แต่ยาไม่ได้ไปทำให้ระดับพัฒนาการดีขึ้นโดยตรง ดังนั้นการฝึกกระตุ้นพัฒนาการจึงยังคงสำคัญที่สุดในการพัฒนาเด็กพิเศษครับ
ในส่วนของยาที่มีการใช้รักษาเด็กพิเศษ อาจจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ประกอบไปด้วย ยาที่ใช้ในโรคซนสมาธิสั้น หรือที่มักจะเรียกกันว่า ยาสมาธิ กับ ยาที่ใช้ในการปรับพฤติกรรมเด็ก
ยาสมาธิ จะเป็นยาที่ช่วยให้เด็กที่มีปัญหาด้านสมาธิจดจ่อ กลับมานั่งเรียนได้ โดยไม่ซนและไม่ยุกยิก รวมถึงไม่ไปแหย่เพื่อน ประเด็นสำคัญคือ ยาสมาธิไม่ได้ทำให้โรคซนสมาธิสั้นหายนะครับ เพราะยาจะแค่ช่วยทำให้เด็กอยู่นิ่งพอที่จะเรียนได้เท่านั้น เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ในชั้นเรียน ดังนั้นการให้ยาสมาธิจะให้กินเฉพาะเวลาที่ต้องการให้เด็กอยู่นิ่งๆ โดยเฉพาะวันที่ต้องไปโรงเรียน เพราะยาสมาธิที่ใช้กันบ่อยๆ มักจะทำให้เกิดผลข้างเคียงคือ การเบื่ออาหารและนอนไม่หลับ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้ จึงควรมีช่วงเวลาที่เด็กไม่ต้องกินยาบ้าง เพื่อลดผลข้างเคียงของยาดังกล่าวครับ
ยาที่ใช้ในการปรับพฤติกรรมเด็ก ซึ่งมักจะเป็นเรื่องของความก้าวร้าว หรืออาการย้ำคิดย้ำทำ รวมไปถึงการมีพฤติกรรมชอบทำอะไรซ้ำๆ ในเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมหรือโรคอื่นๆ โดยยาในกลุ่มนี้จะมีหลายชนิด การเลือกชนิดของยาและการให้ยาจะขึ้นกับความรุนแรงของอาการและตัวโรคพื้นฐาน ในรายที่อาการไม่รุนแรงนักคุณหมอที่ดูแลมักจะไม่ได้ให้ยา แต่จะเน้นที่การฝึกแทน ส่วนในรายที่อาการรุนแรง หรือตัวโรคดั้งเดิมค่อนข้างเป็นเยอะ
คุณหมอที่ดูแลอาจจะให้ยาร่วมด้วย แต่ก็ต้องอาศัยการฝึกร่วมด้วยเช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าปัญหาพฤติกรรมของเด็กพิเศษจะน้อยหรือมาก แต่การฝึกจะถือเป็นการรักษาหลัก การให้ยาจะมีวัตถุประสงค์ในการปรับระดับสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเหล่านี้เพื่อให้สามารถฝึกเด็กได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ยาที่ใช้ในการปรับพฤติกรรมเหล่านี้มักจะต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง และต้องมีการค่อยๆ ปรับขนาดยาขึ้นทีละน้อย เพื่อให้เด็กสามารถรับยาได้โดยไม่มีผลข้างเคียงมากนัก คุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลน้องๆ เด็กพิเศษจึงควรเช็ควิธีการกินยาให้ถูกต้อง และเฝ้าติดตามผลข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้อาการรุนแรงขึ้นครับ
กล่าวโดยสรุป การรักษาด้วยยาในกลุ่มเด็กพิเศษจะมีความแตกต่างกันในแต่ละโรค โดยการให้ยาจะเป็นการช่วยปรับหรือจัดการพฤติกรรมบางอย่างของเด็กให้สามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น แต่การให้ยาไม่สามารถนำมาใช้แทนการฝึกและการกระตุ้นพัฒนาการได้ สิ่งสำคัญคือการกินยาอย่างสม่ำเสมอตามที่คุณหมอแนะนำ และหมั่นเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา หากมีข้อสงสัย ห้ามหยุดยาเอง แต่ให้รีบปรึกษาคุณหมอที่ดูแลเพื่อวางแผนในการแก้ไขนะครับ
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง