facebook  youtube  line

PM 2.5 ฝุ่นร้ายอันตรายถึงลูกในท้อง เสี่ยงพิการ-ตาย ตั้งแต่แรกคลอด

แม่ท้องกับฝุ่น PM2.5, อันตรายของฝุ่น PM2.5, อันตรายของฝุ่น PM2.5 กับทารก
  

มีงานวิจัยยืนยัน PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อแม่ท้องและทารกในครรภ์ ถึงขั้นพิการแต่กำเนิด หรืออาจเสียชีวิตตั้งแต่แรกคลอด

PM 2.5 ฝุ่นร้ายอันตรายถึงลูกในท้อง เสี่ยงพิการ-ตาย ตั้งแต่แรกคลอด

นักวิจัยเผยมลพิษทางอากาศสามารถผ่านจาก 'แม่' สู่ 'ทารกในครรภ์' มลพิษทางอากาศของประเทศไทยมีอยู่หลายรูปแบบค่ะ ทั้งมลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม หรือเกิดจากการเผาไหม้ขยะมูลฝอยค่ะ และที่สำคัญคือฝุ่น PM 2.5 ที่สร้างความอันตรายให้กับแม่ตั้งครรภ์มากที่สุดค่ะ 

วารสาร Nature Communications ตีพิมพ์งานวิจัยที่ระบุว่า ทีมวิจัยตรวจสอบพบอนุภาคขนาดเล็กอย่างคาร์บอนสีดำอยู่ภายในรกจำนวนมหาศาลต่อทุกๆ ลูกบาศก์เมตรในเนื้อเยื่อของตัวอย่างรกทุกชิ้นที่นำมาตรวจวิเคราะห์ โดยอธิบายว่าอนุภาคดังกล่าวที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงสามารถผ่านเข้าไปสู่ทารกในครรภ์ได้ด้วยการแทรกซึมผ่านลมหายใจของมารดา

ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้เลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และไม่เคยสูบบุหรี่ ภายในเมือง Hasselt ประเทศเบลเยียมซึ่งเป็นเมืองที่มีระดับมลพิษต่ำกว่าข้อกำหนดของสหภาพยุโรป แต่สูงกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก โดยนักวิจัยเลือกใช้เทคนิคเลเซอร์เพื่อตรวจจับอนุภาคคาร์บอนสีดำ ก่อนจะพบว่าจำนวนของอนุภาคที่กีดขวางอยู่ในรกสัมพันธ์กับระดับมลพิษทางอากาศที่มารดาได้รับ

รศ.รพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล แสดงผลการศึกษาผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 กับแม่ท้องว่าหากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น PM2.5 สูง นอกจากจะเสี่ยงต่อทารกที่คลอดมาน้ำหนักตัวน้อยและเจ็บป่วยง่ายแล้ว ยังเสี่ยงต่อความพิการแรกคลอด โดยเฉพาะกลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

มีการศึกษาชิ้นสำคัญ เผยแพร่ในวารสารของสมาคมหัวใจแห่งอเมริกา ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2023 คณะผู้วิจัยได้นำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาจาก 30 จังหวัดในประเทศจีน ระหว่างปี 2557-2560 ซึ่งมีเด็กทารกที่คลอดในช่วงเวลานั้นจำนวน 1,434,998 คน พบเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 7,335 คน จึงได้ทำการเปรียบเทียบปริมาณ PM2.5 ที่แม่ของทารกดังกล่าวได้รับเข้าไปในช่วงที่อุ้มท้อง ระหว่างกลุ่มที่ทารกปกติกับกลุ่มที่ทารกมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด พบว่าค่าเฉลี่ย PM2.5 ที่แม่กลุ่มนี้ได้รับเฉลี่ยในหนึ่งปีคือ 56.51 (อยู่ในช่วงตั้งแต่ 10.95 - 182.13) ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าสูงมากที่เดียว
 
โดยทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่ปริมาณฝุ่นสูงขึ้น จะพบโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้น 2% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว คำนวณเป็นความเสี่ยงได้ 1.04 เท่า สำหรับผลร้ายของฝุ่นต่อหัวใจทารกนี้จะพบมากขึ้น ถ้าแม่ได้รับฝุ่นเข้าไปมากตั้งแต่ช่วงก่อนการปฏิสนธิ นอกจากนี้แม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และแม่ที่มีฐานะยากจน จะพบความเสี่ยงนี้ได้มากขึ้น
 

 
 
 
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนพบความเชื่อมโยงของ PM 2.5 กับภาวะตายคลอด (Stillbirth) หรือภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิต ภาวะทารกตายคลอด (stillbirth) หมายถึงภาวะที่ทารกคลอดออกมาแล้วไม่มีอาการแสดงของการมีชีวิต เช่น ไม่มีการหายใจ ไม่มีการเต้นของหัวใจ ไม่มีการเคลื่อนไหว รวมถึงทารกที่คลอดออกมาแล้วตายทันทีด้วย

ในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีการตีพิมพ์งานวิจัยผ่านเว็บไซต์ Nature Communications เรื่องมลพิษทางอากาศมีความเชื่อมโยงกับภาวะตายคลอด การวิจัยดังกล่าวได้เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2541-2559 (ค.ศ.1998 - ค.ศ.2016) จากประเทศรายได้ต่ำและปานกลางครอบคลุม 137 ประเทศทั่วโลก โดย 54 ประเทศในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา เป็นพื้นที่ที่มีการตายคลอดสูงถึง 98% และเป็นกลุ่มประเทศที่แม่ท้องมีการสัมผัส PM2.5 สูงกว่าระดับ WHO กำหนด

WHO กำหนดระดับการสัมผัส PM 2.5 ที่ไม่อันตรายคือค่าที่ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2558 มีสถิติการตายคลอดสูงถึง 2.09 ล้านคน โดยแม่ท้องประมาณ 950,000 คน มีภาวะตายคลอดจากการสัมผัส PM 2.5 เกินระดับ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

Tao Xue นักวิทยาศาสตร์จาก Peking University ประเทศจีนผู้ศึกษาความเชื่อมโยงนี้ระบุว่า การสัมผัส PM 2.5 ของแม่ท้องอาจทำให้อนุภาคของมลพิษทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวอ่อนที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อรกซึ่งทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสารอาหารและออกซิเจนจากแม่สู่ลูกTao Xue ให้ความเห็นว่า นโยบายอากาศสะอาดที่จีนและบางประเทศประกาศใช้สามารถป้องกันการตายคลอดได้ นอกจากนี้ การสวมหน้ากากอนามัย การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ การหลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านขณะที่ค่า PM 2.5 สูง ๆ ก็ช่วยปกป้องแม่ท้องจากฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่นกัน

 

ข้อปฏิบัติเมื่อค่า PM2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์ 


1. สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยง (เด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคปอด-หัวใจ-ไต-สมองเรื้อรัง) งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

2. สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา

3. สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที

แม่ท้องควรทำอย่างไรเพื่อเลี่ยงฝุ่น PM 2.5 ที่อันตรายต่อทารกในครรภ์

  1. ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน หากไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน 

  2. ปิดประตูหน้าต่าง ป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน

  3. หากต้องออกนอกบ้าน ให้ใส่หน้ากากที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 

  4. ให้ดื่มน้ำมาก ๆ  ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก

  5. ผู้หญิงตั้งครรภ์ จะต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศที่มีฝุ่นละออง

อันตรายจากมลพิษทางอากาศ กระทบทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ค่ะ ดังนั้นคุณแม่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น หรือถ้าต้องออกไปจริงๆ ควรส่วมใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกันได้จริงนะคะ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่เอง และเจ้าตัวน้อยในครรภ์นะคะ

ที่มา: 

กระทรวงสาธารณสุข

https://www.theguardian.com/environment/2019/sep/17/air-pollution-particles-found-on-foetal-side-of-placentas-study 

https://edition.cnn.com/2019/03/05/health/100-most-polluted-cities-2018-intl/index.html

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0LmHYaREiSZwrwrtq23Lne9aBycWCXEUiC3GfyKDWgrmSPs7irEPaB2FmrzZ7DMdwl&id=100002870789106

https://www.ahajournals.org/doi/epub/10.1161/CIRCULATIONAHA.122.061245?fbclid=IwAR1Wcgi1eY_63WPzLgNj5rc-OB2uVqu0a41hc6XVXUcrACmQqlu98Zco8Z4

 

รับมือ! ความเสี่ยงของลูกถ้าแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

2372

ภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะการตั้งครรภ์ แต่โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาครึ่งหลังของการท้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ 
อาการของเบาหวานขณะตั้งครรภ์
 มักเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ในบางรายอาจเผชิญภาวะนี้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ แต่มักไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ส่วนใหญ่แพทย์จะตรวจพบได้จากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด 
 
แต่คุณตั้งครรภ์บางรายอาจมีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ปากแห้ง และรู้สึกเหนื่อยหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งบางอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกับอาการของคนท้อง ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หากมีข้อสงสัยหรือกังวลควรปรึกษาแพทย์ 
สาเหตุของเบาหวานขณะตั้งครรภ์
 จากความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด ที่เกิดจากฮอร์โมนที่รกผลิตออกมา มีผลต่อประสิทธิภาพของอินซูลิน (ฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด) ซึ่งปกติแล้วตับอ่อนจะผลิตอินซูลินออกมา แต่ในกรณีนี้ตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงของเบาหวานขณพตั้งครรภ์
  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน ผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน โดยเฉพาะผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ที่ 30 ขึ้นไปเคยคลอดทารกน้ำหนักมาก คุณแม่ที่เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
  • เชื้อชาติ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักพบในชาวเอเชีย ลาตินอเมริกัน แอฟริกัน และอเมริกันอินเดียน 
  • ประวัติสุขภาพ ผู้ที่เคยป่วยหรือมีญาติใกล้ชิดป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 รวมทั้งเคยมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อนจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น 
ปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงของเบาหวานขณพตั้งครรภ์
        แม้ไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป อย่างไรก็ตาม แนวทางต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้   
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งก่อนตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ โดยเลือกวิธีออกกำลังกายที่ใช้แรงระดับปานกลาง เช่น เดิน ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก่อนเตรียมตัวตั้งครรภ์ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น ยาเพรดนิโซน 
 
 
ข้อมูลโดย : ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อกรุงเทพ
บทความโดย : ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ




 

แม่ท้องต้องรู้ ! ท้องนอกมดลูก อันตรายของการตั้งครรภ์

3558

แม่ท้องต้องรู้ ! ท้องนอกมดลูก อันตรายของการตั้งครรภ์

ฝันร้ายของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ และไม่มีใครอยากให้เกิด นั่นคือ การท้องนอกมดลูก ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อทั้งตัวแม่และเด็ก แต่เพื่อหลีกเลี่ยงภัยเงียบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เรามารู้จักสิ่งนี้กัน
 
การตั้งครรภ์นอกมดลูก(Ectopic pregnancy) เป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ประเภทหนึ่ง ที่ตัวอ่อนเกิดการฝังตัวนอกโพรงมดลูก รวมไปถึงที่ปีกมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ ปากมดลูก หรือช่องท้อง ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นอันตรายต่อทั้งแม่และเด็ก และยังทำให้อวัยวะภายในของคุณแม่ได้รับความเสียหาย จนอาจทำให้เลือดออกในช่องท้องจนถึงเสียชีวิตได้ จึงควรเริ่มพบแพทย์ทันทีที่ประจำเดือนเริ่มขาดไป

สาเหตุของการท้องนอกมดลูก

  • การติดเชื้อของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ เช่น ภาวะอุ้งเชิงกราน มดลูก ท่อนำไข่และรังไข่เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ
  • มีรอยแผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัดที่บริเวณอุ้งเชิงกรานในอดีต
  • เคยมีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน
  • การทำหมันหญิง หรือการผ่าตัดแก้หมันหญิง หรือการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด 
  • การใช้ยา หรือการรักษาภาวะมีบุตรยาก เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว
  • การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
  • การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
  • การสูบบุหรี่
  • ความผิดปกติของการพัฒนาภายในไข่หลังเกิดการปฏิสนธิ

อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูก

  • ประจำเดือนขาด
  • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

  • มีอาการเจ็บหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการแสดงของการตั้งครรภ์

  • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน ไหล่ คอ และบริเวณทวารหนัก

  • มีภาวะช็อก


หากเกิดความสงสัยว่าตนเองอาจท้องนอกมดลูกให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติโดยเร็ว เพราะการท้องนอกมดลูกที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยช้าเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เนื่องจากท่อนำไข่ และอวัยวะภายในเกิดความเสียหาย ฉีกขาด ทำให้เกิดการติดเชื้อ ผู้ป่วยมีการตกเลือด เกิดอาการช็อก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
 
ภาวะท้องนอกมดลูก ไม่อาจป้องกันได้ แต่เราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การท้องนอกมดลูกได้
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ใช้ถุงยางอนามัยและไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
  • งดสูบบุหรี่ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงท้องนอกมดลูกสูงกว่าคนปกติ
  • สังเกตอาการ และเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพื่อรับการรักษาให้ทันเวลา

เมื่อคุณตั้งครรภ์ย่อมมีความเสี่ยงต่างๆ ตามมามากมาย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัย พ่อแม่ทั้งหลายจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆที่อาจตามมาในอนาคต นอกจากนี้กำลังใจก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะล้มเหลวอีกกี่ครั้ง ท้อได้แต่อย่าถอย หากคุณทั้งคู่จับมือกันผ่านพ้นปัญหาต่างๆเหล่านี้ไปได้ ก็จะสามารถสร้างครอบครัวที่แข็งแรงได้ในอนาคต
 

โดย แพทย์หญิงกมลภัทร วิจักขณ์พันธ์
สูตินรีแพทย์ด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
 

แม่ท้องต้องรู้ ! สัญญาณที่อาจจะทำให้ทารกเกิดมาผิดปกติ

3695

แม่ท้องต้องรู้ ! สัญญาณที่อาจทำให้ทารกเกิดมาผิดปกติ

สำหรับคุณแม่ท้อง สิ่งที่คาดหวังมากที่สุดคือการให้ลูกเกิดมาสมบูรณ์แข็งแรง ครบ 32 ประการ แต่จากข้อมูลของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีระบุว่า ประเทศไทยมีทารกเกิดใหม่ถึงปีละ 7 แสนคน โดยมีทารกที่เกิดก่อนกำหนดประมาณ 1 แสนคน และอัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกคลอดอยู่ที่ 6.7 คนใน 1 พันคน เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน เมื่อเรารู้ข้อมูลมาแบบนี้แล้ว เรามาดูกันเลยค่ะว่าคุณแม่คนไหนบ้างที่มีความเสี่ยงที่ลูกจะเกิดมาผิดปกติ เพื่อที่เราจะได้เตรียมรับมือได้

แบบไหนที่เรียกว่าการตั้งครรภ์เสี่ยง

  • ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี
  • มารดาอายุน้อยกว่า 16 ปี
  • มีเลือดออกผิดปกติขณะตั้งครรภ์
  • รกลอกตัวก่อนกำหนดคลอด หรือรกเกาะต่ำ
  • ความดันโลหิตสูง เกิน 160 มม.ปรอทขึ้นไป
  • โรคเบาหวาน
  • มีการติดเชื้อ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE)
  • ครรภ์แฝด
  • ครรภ์เป็นพิษ
  • น้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป
  • ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด


ความผิดปกติของทารก 

  • ภาวะวิกฤติหรือความผิดปกติของทารกที่ต้องได้รับการดูแลรักษา ได้แก่
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ (หรือหลังอายุครรภ์ 42 สัปดาห์)
  • ทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมากกว่า 4,000 กรัม
  • ทารกมีน้ำหนักผิดปกติเมื่อเทียบกับอายุครรภ์
  • ทารกแฝด
  • ทารกตรวจพบความผิดปกติ เช่น ขาดออกซิเจน
  • ทารกมีท่าผิดปกติในครรภ์ เช่น ท่าก้น ท่าขวาง
  • ทารกเกิดความผิดปกติระหว่างคลอด
  • ทารกพิการแต่กำเนิด

การดูแลทารกแรกเกิด
  • การดูแลทารกแรกเกิดควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากกุมารแพทย์ ซึ่งการดูแลที่จำเป็น มีดังนี้
  • การวัดสัญญาณชีพตลอด 24 ชั่วโมง
  • การควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม
  • การควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ
  • การดูแลรักษาระบบทางเดินหายใจ
  • การเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน
  • การเฝ้าระวังติดตามและการดูแลรักษาเฉพาะโรค
  • การดูแลด้านโภชนาการ
  • การดูแลด้านขับถ่าย
  • การดูแลติดตามด้านพัฒนาการในระยะสั้นและระยะยาว

การดูแลเฉพาะทารกแรกเกิดวิกฤติ

  1. การช่วยกู้ชีพและให้ออกซิเจนทารก: เป็นการดูแลหลังจากทารกคลอดออกมา ซึ่งเด็กที่คลอดส่วนใหญ่จะหายใจเองได้ แต่มีเพียง 1% เท่านั้นที่ไม่สามารถหายใจได้เอง ซึ่งต้องการการกู้ชีพจึงต้องใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจเพื่อให้ทารกหายใจเองได้

  2. การปรับอุณหภูมิร่างกายทารก: โดยใช้ตู้อบช่วยให้ทารกมีอุณหภูมิเหมาะสมตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ควรอยู่ในช่วง 36.8-37.2 องศาเซลเซียส เพราะหากทารกแรกคลอดตัวเย็น อาจทำให้ความดันในปอดสูง เกิดปัญหาหายใจเร็วได้

  3. การควบคุมการติดเชื้อ: เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ เช่น แม่มีน้ำเดินก่อนคลอดนานกว่า 18 ชั่วโมง แม่มีเชื้อราในช่องคลอด แม่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

  4. การให้สารน้ำ สารอาหาร และโภชนาการที่เหมาะสม: จะเน้นการให้นมแม่มากที่สุด แต่หากทารกมีภาวะเจ็บป่วย เช่น น้ำตาลต่ำ อาจต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ หรือในกรณีที่ทารกคลอดก่อนกำหนด หายใจเร็ว ไม่สามารถทานเองได้ก็จำเป็นที่จะต้องให้สารอาหารผ่านทางสายยางให้อาหารและสารน้ำทางเส้นเลือด เป็นต้น

การป้องกันไม่ให้ทารกเกิดมาผิดปกติ

ปัญหาทารกแรกเกิดวิกฤตินั้นสามารถป้องกันได้ หากคุณแม่ฝากครรภ์อย่างมีคุณภาพตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เพื่อจะได้ตรวจสุขภาพคุณแม่คุณลูกและดูแลอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของสูติ-นรีแพทย์และกุมารแพทย์ หากพบปัญหาจะได้วางแผนการคลอดและการดูแลรักษาได้โดยเร็ว

บทความโดย : พญ.อรวรรณ อิทธิโสภณกุล กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ โรงพยาบาลกรุงเทพ

แม่ท้องต้องรู้ ! หากมีอาการปวดท้อง เจ็บแปลบ ระวังเสี่ยงภาวะรกเกาะต่ำ

รกเกาะต่ำ-ครรภ์เสี่ยง

แม่ท้องต้องรู้ ! หากมีอาการปวดท้อง เจ็บแปลบ เสี่ยงภาวะรกเกาะต่ำ


คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในช่วงระหว่างปลายไตรมาสที่ 2 ถึงต้นไตรมาสที่ 3 หากพบว่ามีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากทางช่องคลอด ไม่ว่าจะมีอาการปวด เจ็บแปลบ หรือมีการบีบตัวของมดลูกร่วมด้วย หรือไม่ก็ตามควรรีบมาพบแพทย์เนื่องจากอาจเป็นอาการแสดงของภาวะรกเกาะต่ำได้


ลักษณะการเกิดภาวะรกเกาะต่ำ แบ่งได้ 4 ประเภท คือ

1. รกเกาะบริเวณด้านล่างแต่ไม่คลุมปากมดลูก (Low-lying placenta previa) รกจะอยู่บริเวณด้านล่างใกล้กับขอบของปากมดลูก ห่างจากปากมดลูกไม่เกิน 2 ซม.

2. รกอยู่ขอบปากมดลูกด้านใน (Marginal placenta previa) รกจะอยู่ที่บริเวณส่วนล่างของมดลูก และชายรกลงมาชิดถึงขอบปากมดลูกด้านใน

3. รกคลุมปากมดลูกเพียงบางส่วน (Partial placenta previa) 

4. รกคลุมปากมดลูกด้านในทั้งหมด(Complete placenta previa) หากมีภาวะรกเกาะต่ำไม่ว่าประเภทใด ต้องได้รับการดูแลจากสูติแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด มารดาเสียเลือดมากทั้งก่อนคลอด ขณะคลอดและหลังคลอด ซึ่งรุนแรงถึงขั้นต้องตัดมดลูกหรือทำให้เสียชีวิตได้


โดย นายแพทย์พิบูลย์ ลีละพัฒนะ
สูติ-นรีแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลวิชัยยุทธ