มีงานวิจัยยืนยัน PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อแม่ท้องและทารกในครรภ์ ถึงขั้นพิการแต่กำเนิด หรืออาจเสียชีวิตตั้งแต่แรกคลอด
วารสาร Nature Communications ตีพิมพ์งานวิจัยที่ระบุว่า ทีมวิจัยตรวจสอบพบอนุภาคขนาดเล็กอย่างคาร์บอนสีดำอยู่ภายในรกจำนวนมหาศาลต่อทุกๆ ลูกบาศก์เมตรในเนื้อเยื่อของตัวอย่างรกทุกชิ้นที่นำมาตรวจวิเคราะห์ โดยอธิบายว่าอนุภาคดังกล่าวที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงสามารถผ่านเข้าไปสู่ทารกในครรภ์ได้ด้วยการแทรกซึมผ่านลมหายใจของมารดา
ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้เลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และไม่เคยสูบบุหรี่ ภายในเมือง Hasselt ประเทศเบลเยียมซึ่งเป็นเมืองที่มีระดับมลพิษต่ำกว่าข้อกำหนดของสหภาพยุโรป แต่สูงกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก โดยนักวิจัยเลือกใช้เทคนิคเลเซอร์เพื่อตรวจจับอนุภาคคาร์บอนสีดำ ก่อนจะพบว่าจำนวนของอนุภาคที่กีดขวางอยู่ในรกสัมพันธ์กับระดับมลพิษทางอากาศที่มารดาได้รับ
รศ.รพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล แสดงผลการศึกษาผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 กับแม่ท้องว่าหากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น PM2.5 สูง นอกจากจะเสี่ยงต่อทารกที่คลอดมาน้ำหนักตัวน้อยและเจ็บป่วยง่ายแล้ว ยังเสี่ยงต่อความพิการแรกคลอด โดยเฉพาะกลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีการตีพิมพ์งานวิจัยผ่านเว็บไซต์ Nature Communications เรื่องมลพิษทางอากาศมีความเชื่อมโยงกับภาวะตายคลอด การวิจัยดังกล่าวได้เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2541-2559 (ค.ศ.1998 - ค.ศ.2016) จากประเทศรายได้ต่ำและปานกลางครอบคลุม 137 ประเทศทั่วโลก โดย 54 ประเทศในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา เป็นพื้นที่ที่มีการตายคลอดสูงถึง 98% และเป็นกลุ่มประเทศที่แม่ท้องมีการสัมผัส PM2.5 สูงกว่าระดับ WHO กำหนด
WHO กำหนดระดับการสัมผัส PM 2.5 ที่ไม่อันตรายคือค่าที่ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2558 มีสถิติการตายคลอดสูงถึง 2.09 ล้านคน โดยแม่ท้องประมาณ 950,000 คน มีภาวะตายคลอดจากการสัมผัส PM 2.5 เกินระดับ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
Tao Xue นักวิทยาศาสตร์จาก Peking University ประเทศจีนผู้ศึกษาความเชื่อมโยงนี้ระบุว่า การสัมผัส PM 2.5 ของแม่ท้องอาจทำให้อนุภาคของมลพิษทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวอ่อนที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อรกซึ่งทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสารอาหารและออกซิเจนจากแม่สู่ลูกTao Xue ให้ความเห็นว่า นโยบายอากาศสะอาดที่จีนและบางประเทศประกาศใช้สามารถป้องกันการตายคลอดได้ นอกจากนี้ การสวมหน้ากากอนามัย การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ การหลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านขณะที่ค่า PM 2.5 สูง ๆ ก็ช่วยปกป้องแม่ท้องจากฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่นกัน
1. สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยง (เด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคปอด-หัวใจ-ไต-สมองเรื้อรัง) งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
2. สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา
3. สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที
อันตรายจากมลพิษทางอากาศ กระทบทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ค่ะ ดังนั้นคุณแม่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น หรือถ้าต้องออกไปจริงๆ ควรส่วมใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกันได้จริงนะคะ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่เอง และเจ้าตัวน้อยในครรภ์นะคะ
ที่มา:
กระทรวงสาธารณสุข
https://edition.cnn.com/2019/03/05/health/100-most-polluted-cities-2018-intl/index.html
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0LmHYaREiSZwrwrtq23Lne9aBycWCXEUiC3GfyKDWgrmSPs7irEPaB2FmrzZ7DMdwl&id=100002870789106
https://www.ahajournals.org/doi/epub/10.1161/CIRCULATIONAHA.122.061245?fbclid=IwAR1Wcgi1eY_63WPzLgNj5rc-OB2uVqu0a41hc6XVXUcrACmQqlu98Zco8Z4