
เมื่อถึงวัยที่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงกังวลใจไม่น้อย หลายครอบครัวไม่เคยต้องห่างจากลูก แต่เมื่อถึงเวลาพาลูกไปโรงเรียนก็ต้องมั่นใจว่าโรงเรียนที่เราเลือกมั่นใจได้ว่าจะดูแลลูก ๆ ของเราได้อย่างดีทั้งเรื่องการเรียน และที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัย ในโรงเรียนเป็นที่ที่เด็กๆ วัยซนมารวมกันอยู่มากมาย ดังนั้นอุบัติเหตุในเด็กอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องคอยย้ำเตือนลูกๆ ให้ดูแลตัวเองให้ได้ หลีกเลี่ยงจากจุดที่จะเกิดอันตราย หรืออุบัติเหตุได้ สำหรับจุดอันตรายที่ต้องระมัดระวังในโรงเรียนมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันค่ะ
10 จุดอันตรายในโรงเรียน
- ประตูรั้วโรงเรียน รั้วประตูโรงเรียนเป็นจุดหนึ่งที่เราอาจจะเคยเห็นข่าวกันมาบ้าง ว่ามีประตูล้มทับนักเรียน ซึ่งต้องระมัดระวังไม่ให้เด็กๆ เล่นปีนป่าย หรือขย่ม เขย่ารั้วโรงเรียน เพราะหากประตูชำรุดอาจเกิดอุบัติเหตุได้
- เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น สวรรค์ของเด็กๆ เลยค่ะ เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น แต่เจ้าเครื่องเล่นทั้งหลายนี่แหละค่ะที่ทำให้เด็กๆ เสียน้ำตากันแทบทุกวัน เด็กหลายคนเล่นกันรุนแรง หรือสนุกไม่ทันระวังตัว ลื่นสไลเดอร์ขาหัก ตกชิงช้าแขนหัก หัวเข้าไปติดในช่องบันได หรือแม้แต่เครื่องเล่นบางชนิดที่ชำรุดไม่ได้รับการดูแลก็อาจทำให้เด็กๆ ได้รับบาดเจ็บได้
- บันได เด็กๆ หลายคนยังเดินขึ้นลงบันไดได้ไม่คล่อง ดังนั้นโรงเรียนอนุบาลมักต้องมีครูพี่เลี้ยงคอยดูแลนักเรียนขึ้นลง และให้นักเรียนค่อยๆ เดิน ห้ามวิ่งขึ้นลงบันได ราวจับต้องบันไดต้องออกแบบให้เด็กๆ จับได้ ขั้นบันไดต้องมีความสูงพอเหมาะกับเด็ก
- สระว่ายน้ำ ปัจจุบันหลายๆโรงเรียนมีสระว่ายน้ำในโรงเรียน และเป็นอีกที่ที่อาจเกิดอุบัติเหตุเด็กพลัดตก หรือจมน้ำได้ โรงเรียนควรต้องมีประตู หรือรั้วปิด มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลไม่ให้เด็กเข้าไปเล่นที่สระว่ายน้ำโดยพลการ
- ระเบียงอาคารเรียน ระเบียงควรมีราวที่แข็งแรง มั่นคง มีลูกกรงป้องกันเด็กๆ วิ่งซุกซนตกลงมา หรือช่องราวระเบียงก็ต้องไม่กว้างมากจนเด็กเอาตัว เอาหัวลอดหลุดออกไปได้
- ห้องน้ำ ห้องน้ำต้องสะอาดถูกสุขลักษะ และออกแบบให้ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ไม่มีถังน้ำ หรืออ่างน้ำที่เด็กๆ อาจจะเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้
- เหลี่ยมมุมเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ จุดอันตรายเหลี่ยมมุมต่างๆ ถ้าเป็นโรงเรียนที่มีเด็กเล็กต้องลบเหลี่ยม หรือมีวัสดุบุกันกระแทกตามผนัง หรือมุมโต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ป้องกันการชนกระแทก
- สายไฟ ปลั๊กไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า โรงเรียนต้องคอยดูแล ปิดช่องปลั๊กสายไฟ และตรวจดูเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ไม่ให้ชำรุดหรือมีไฟรั่วได้
- พื้นโรงเรียน พื้นโรงเรียนแต่ละจุดต้องออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและการใช้งาน เช่น สนามเด็กเล่นถ้าพื้นเป็นปูนแข็ง หรือลื่น ก็มีความเสี่ยงให้เด็กๆ ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้มาก
- ของเล่น ของเล่นในโรงเรียนควรให้เด็กๆ เล่นให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย อย่างของเล่นที่มีชิ้นส่วนเล็กๆ ถ้าเด็กเอาเข้าปาก เข้าจมูก อาจจะเป็นอันตรายได้
เตรียมตัวให้พร้อม รับมืออุบัติเหตุของลูก
-
สอนลูกให้ระมัดระวังและป้องกันตัวเองได้ พ่อแม่ควรสอนลูกตั้งแต่เล็กๆ ว่าสิ่งไหนอันตราย เล่นได้ ไม่ควรเล่น และต้องรู้จักกลัวอันตราย เช่น ห้ามเล่นสายไฟ ปลั๊กไฟ ห้ามลงเล่นน้ำถ้าไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย หรือสอนให้ลูกว่ายน้ำให้เป็น สอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้
-
คอยหมั่นเป็นหูเป็นตาช่วยคุณครูสังเกต ในโรงเรียนเป็นหน้าที่ของครูที่จะดูแลลูกๆ ดังนั้นพ่อแม่ต้องไว้ใจคุณครูว่าจะดูแลลูกๆ ให้ปลอดภัยได้ แต่ก็ต้องคอยหมั่นสังเกต คอยดูที่โรงเรียนด้วยว่ามีจุดไหน หรือบริเวณไหนที่อาจเป็นอันตรายกับเด็กๆ หรือลูกๆ ได้
-
ทำประกันอุบัติเหตุไว้ให้ลูก เพื่อเป็นหลักประกันว่าหากเกิดอุบัติเหตุก็ยังมีประกันดูแลค่าใช้จ่าย เพราะเด็กๆ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทุกวันอยู่แล้วค่ะ ถึงแม้จะระมัดระวังแค่ไหน ดังนั้นเตรียมตัวรับมือไว้ให้พร้อมเลยดีกว่าค่ะ
ประกันอุบัติเหตุสำหรับลูกควรเลือกแบบครอบคลุมได้ทั้งอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บที่เด็กเป็นกันบ่อยๆ เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ อาหารเป็นพิษ เพราะนอกจากอุบัติเหตุแล้ว โรงเรียนเป็นแหล่งที่เด็กๆ มีโอกาสเจ็บป่วยได้มากเช่นกัน ประกันสำหรับลูกควรเลือกที่มีเบี้ยประกันน้อย แต่วงเงินในการคุ้มครองสูงหรือแบ่งเบาภาระทางการเงินในค่ารักษาพยาบาลให้ครอบคลุมทั้งหมด เพราะค่าใช้จ่ายของครอบครัวก็สูงอยู่แล้ว ควรเลือกประกันที่คุ้มครองถึงพ่อแม่ เช่น ในกรณีที่พ่อแม่เสียชีวิต ลูกจะได้รับเงินมรดก เงินช่วยเหลือจากการทำประกันด้วยเพื่อเป็นหลักประกันให้กับชีวิตลูกได้ ประกันสำหรับลูก ควรเลือกแบบที่สามารถคุ้มครองลูกตั้งแต่อายุ 1 ขวบ จนถึงวัยทำงาน ประกันสำหรับลูก ควรเลือกแบบเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล ไม่ต้องสำรองเงินจ่ายก่อน แต่ประกันสามารถจ่ายได้เลย
เด็กเป็นวัยที่กำลังซุกซน เรียนรู้ สิ่งต่างๆ รอบตัว ดังนั้นอุบัติเหตุมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สิ่งที่พ่อแม่ และผู้ใหญ่จะทำได้คือคอยดูแลสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวเด็กให้ปลอดภัยที่สุด ไม่ว่าจะที่บ้าน ที่โรงเรียน เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนา ทักษะและการเรียนรู้ต่างๆ ได้อย่างไม่สะดุด และเติบโตอย่างแข็งแรง มั่นคง ปลอดภัย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ผลิตภัณฑ์ประกันอุบัติเหตุเพื่อลูกรัก ธนชาต Happy PA for Child
(พื้นที่เพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์)
10 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อลูกมีไข้ ตัวร้อน
คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะว่าลูกเป็นไข้ ลูกตัวร้อน ลูกไม่สบาย ลูกเป็นหวัดได้ทุกฤดู เพราะเชื้อโรคมีอยู่ในทุกที่ ขึ้นอยู่กับว่าภูมิคุ้มกันในร่างกายลูกจะอ่อนแอเมื่อไหร่ เจ้าเชื้อโรค หรือไข้หวัดก็ทำให้ป่วยได้เสมอ และเมื่อลูกเป็นไข้ ลูกตัวร้อน ลูกไม่สบาย ลูกเป็นหวัดเป็นสาเหตุของพัฒนาการเด็กที่ไม่สมวัยได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อลูกเป็นไข้ ลูกตัวร้อน ลูกไม่สบาย ลูกเป็นหวัด คุณแม่ควรดูแลแบบนี้ค่ะ
วิธีสังเกตว่าอาการแบบนี้ที่เรียกว่าลูกเป็นไข้ ลูกตัวร้อน
ลูกไม่สบายเพื่อลดไข้ให้ลูก โดยปกติแล้วอุณหภูมิร่างกายของเราจะอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส แต่เมื่อไม่สบาย เป็นไข้ หรือตัวร้อน อุณหภูมิในร่างกายก็จะสูงขึ้นเพราะร่างกายจะต้องต่อสู้กับเชื้อโรคที่อยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งถ้าอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียสจะถือว่ามีอาการไข้ ตัวร้อน คุณแม่จึงควรมีปรอทวัดไข้สำหรับเด็กประจำบ้านไว้ด้วย และเมื่อลูกมีไข้ เป็นไข้ ตัวร้อน จะได้รีบดูแลกันได้ทันค่ะ
วิธีลดไข้ ลดอาการตัวร้อน ดูแลเมื่อลูกเป็นไข้
-
ให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะระหว่างที่นอนหลับร่างกายจะนำสารอาหารต่างๆ ไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ขับของเสียออกจากอวัยวะต่างๆ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และฟื้นฟูพลังงาน ทำให้อาการเป็นไข้ ตัวร้อนลดลงและหายไข้ได้ไวขึ้น
-
อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อับหรือร้อนเกินไป ช่วงที่ลูกเป็นไข้ ลูกตัวร้อน ลูกไม่สบาย เขาจะไม่สบายตัว รวมถึงการหายใจที่ไม่ค่อยสะดวก เพราะมีความร้อนออกมาจากลมหายใจด้วย ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกนอนในที่อากาศถ่ายเทสะดวกเพื่อช่วยให้ลูกรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย และห้องโปร่งๆ ยังช่วยไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคเพิ่มเติมด้วย
-
หากลูกมีไข้สูงให้ปฐมพยาบาลด้วยการเช็ดตัวลูก ลองเช็ดตัวลดไข้ ลดตัวร้อนให้ลูกด้วยการผสมน้ำอุ่นกับน้ำมะนาว แล้วใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กหรือผ้าอ้อมผืนนุ่มๆ มาชุบน้ำ บิดหมาด เช็ดถูตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตที่ผิวหนัง และช่วยลดไข้ ลดอาการตัวร้อน
-
พยายามให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ เพราะน้ำจะช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย และยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังชุ่มชื่นด้วย
-
ให้ลูกกินยาลดไข้ Paracetamol เมื่อลูกเป็นไข้ ลูกตัวร้อนสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ไม่สบายตัว หรือปวดตัว ให้เลือกยาลดไข้สำหรับเด็กที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอล ซึ่งเป็นตัวยาที่เหมาะสำหรับการลดไข้เด็กมากที่สุด
-
ใส่เสื้อผ้าบางๆ เพื่อระบายความร้อน
-
ไม่ควรให้ไปโรงเรียน เพราะอาจได้รับเชื้ออื่นเพิ่ม
-
สังเกตอาการว่าลูกขาดน้ำหรือไม่
-
กินอาหารเหลว หรืออาหารอ่อนๆ
-
ถ้าลูกยังมีอาการตัวร้อน หรือมีไข้ต่อเนื่อง 2-3 วัน คุณแม่รีบพาลูกไปหาหมอ
เคล็ดลับให้ลูกกินยาลดไข้สำหรับเด็กเพื่อลดอาการไข้และตัวร้อน
สำหรับลูกที่ไม่ชอบกินยา กินยายาก คุณแม่ลองเลือกยาลดไข้สำหรับเด็กชนิดน้ำ ยาลดไข้สำหรับเด็กกลิ่นผลไม้หอมหวาน จะช่วยให้ลูกกินยาลดไข้ง่ายขึ้นค่ะ ควรให้ลูกกินยาลดไข้สำหรับเด็กในปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด โดยคำนวณจากน้ำหนักตัวของเด็กหรืออายุเป็นหลัก คือกินยาลดไข้ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และกินทุก 4-6 ชั่วโมงค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ลงมือทำได้เองเบื้องต้น ทั้งการสังเกตอุณหภูมิร่างกายการลดไข้ รวมถึงการใช้ยาลดไข้สำหรับเด็กที่ควรจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญค่ะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
5 วิธีลดไข้ให้ลูก ดูแลลูกตัวร้อนอย่างได้ผล

ในหน้าฝนมีเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องระมัดตัวเอง และหมั่นใส่ใจดูแลลูกน้อยเป็นพิเศษ นอกจากการดูแลเรื่องสุขภาพ โรคภัยต่างๆ แล้ว ลองมาเช็กกันค่ะ
10 เรื่องที่ต้องระวังช่วงหน้าฝน
1.ระวังพื้นลื่น :
ต้องดูแลทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อย ระวังอย่าให้มีน้ำท่วมขัง และถ้าลูกๆ ต้องออกไปนอกบ้าน ควรให้สวมรองเท้าที่มีพื้นยางกันลื่น
2.ระวังสัตว์มีพิษ งู ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ :
หน้าฝนสัตว์มีพิษต่างๆ มักหลบฝนไปอยู่ในที่ที่เราอาจคาดไม่ถึงและเป็นอันตรายกับเราได้เช่น ในรองเท้า ในตู้เสื้อผ้า ในอ่างน้ำ ฯลฯ
3.ระวังแมลงกัดต่อย :
ทั้งยุงและแมลงควรกำจัดแหล่งน้ำขัง ที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง แมลงต่างๆ
4.ระวังไฟดูด :
ควรเช็ดตัวให้แห้งทุกครั้งก่อนใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า สำรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าว่าอยู่ในสภาพดี ไม่มีรั่ว หรือ ชำรุด
5.ระวังฟ้าผ่า :
ในวันฝนฟ้าคะนองหลีกเลี่ยง ไม่สวมใส่สิ่งของเครื่องประดับที่เป็นตัวนำไฟฟ้า
6.ระวังน้ำกัดเท้า เชื้อรา จากน้ำท่วมขัง :
ถ้าต้องเดินเหยียบน้ำท่วมขังนานๆ ควรล้างเท้าให้สะอาด ฟอกสบู่ทำความสะอาด และเช็ดให้แห้ง
7.ระวังลมพายุ อันตรายจากข้าวของปลิว หรือต้นไม้ ป้ายล้มทับ :
ไม่อยู่ใต้ต้นไม้ หรือป้ายขนาดใหญ่ ถ้ามีลมแรงควรหลบอยู่ในที่ปลอดภัยมิดชิด
8.ระวังเชื้อราจากเสื้อผ้าเปียกอับชื้น :
ทำความสะอาดเสื้อผ้าให้สะอาด และไม่สวมเสื้อผ้าที่อับชื้น เพราะอาจสะสมหมักหมมเป็นเชื้อราได้
9.ระวังภัยจากน้ำฝน :
เพราะเด็กมักชอบเล่นน้ำฝน แต่ฝนสมัยนี้ไม่สะอาดเหมือนแต่ก่อน ฝนมักชะล้างฝุ่นผง สิ่งสกปรกในบรรยากาศลงมาพร้อมกัน ทำให้อาจก่อให้เกิดอันตรายจากโรคภัยกับเด็กๆ ได้
10.ระวังอุบัติเหตุบนท้องถนน :
เพราะถนนลื่น ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ได้ง่าย ต้องระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ ถ้าลูกเล็กให้ลูกนั่ง Car Seat ตลอดเวลาทุกครั้งที่ขึ้นรถ
3 อุบัติเหตุที่เด็กจอมซนต้องโดน! พร้อมปฐมพยาบาลที่พ่อแม่ทำและสอนลูกได้
หกล้ม มีดบาด กระแทกฟกช้ำ 3 อุบัติเหตุที่ลูกเราเจอบ่อยมาก... จริงไหมคะ ยิ่งถ้าปล่อยให้ลูกเล่นและเรียนรู้แบบสุดพลังด้วยแล้วละก็ เราเลี่ยง 3 อุบัติเหตุนี้ได้ยากมากค่ะ และในฐานะพ่อแม่ เราก็เชื่อว่าการปล่อยให้ลูกได้ลงมือทำกิจกรรมต่างคือการเรียนรู้สำหรับเขา หากจะเกิดอุบัติเหตุบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่จะต้องดูแลค่ะ
การปฐมพยาบาลแผลหกล้ม มีดบาด และรอยฟกช้ำจากการกระแทกมีขั้นตอนง่ายมาก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้และทำได้ รวมทั้ง “จำเป็นต้องสอนลูก” ให้สามารถดูแล 3 แผลอุบัติเหตุนี้ได้ด้วยตัวเอง เพราะแผลเหล่านี้อาจเกิดได้ตลอดเวลาเมื่อลูกเล่นกับเพื่อน อยู่โรงเรียน หรือได้รับอุบัติเหตุในระหว่างที่พ่อแม่ไม่อยู่ด้วย เริ่มสอนเลยค่ะ!
การปฐมพยาบาลแผลหกล้ม

ขั้นตอนที่ 1 : ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือเพื่อทำความสะอาดแผล
ขั้นตอนที่ 2 : ใช้สำลีแผ่น หรือ ก้านไม้พันสำลีชุบโพวิโดน-ไอโดดีนทาให้ทั่วเพื่อยับยั้งการติดเชื้อ
ขั้นตอนที่ 3 : ใช้พลาสเตอร์ปิดแผล เพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรกเข้าแผล
การปฐมพยาบาลแผลมีดบาด

ขั้นตอนที่ 1 : ล้างบาดแผลมีบาดด้วยน้ำสะอาด อาจใช้วิธีเปิดน้ำไหลผ่านบาดแผล โดยใช้นิ้วกดบาดแผลไว้ด้วยเพื่อห้ามเลือด
ขั้นตอนที่ 2 : ใช้สำลีชุบน้ำเกลือแผลให้สะอาดอีกรอบ
ขั้นตอนที่ 3 : ใช้สำลีแผ่น หรือ ก้านไม้พันสำลีชุบยาโพวิโดน-ไอโดดีนทาให้ทั่วเพื่อยับยั้งการติดเชื้อ จากนั้นใช้พลาสเตอร์ปิดแผลพันปิดให้แน่น โดยอาจเลือกพลาสเตอร์ปิดแผลแบบกันน้ำ
ขั้นตอนที่ 4 : ในกรณีที่แผลมีดบาดค่อนข้างยาว หรือ แผลลึกกว่าปกติ อาจเปลี่ยนมาใช้ผ้าก๊อซและเทปกาวติดแผลแทน หรือหากแผลลึกมากควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพราะอาจจะต้องเย็บแผล
การปฐมพยาบาลแผลฟกช้ำ (กรณีไม่มีแผลถลอก)

ขั้นตอนที่ 1 : ล้างผิวบริเวณที่เกิดการกระแทกและฟกช้ำให้สะอาด จากนั้นใช้เจลประคบเย็น หรือใช้น้ำแข็งห่อด้วยผมขนหนูสะอาดประคบบริเวณที่บวม แดง ฟกช้ำ ครั้งละ 2-5 นาที เป็นระยะๆ
ขั้นตอนที่ 2 : ใช้บาล์มลดหรือแก้อาการฟกช้ำทา โดยอาจทาเป็นวงกว้างออกนอกบริเวณฟกช้ำไปอีกเล็กน้อย
ขั้นตอนที่ 3 : รอยฟกช้ำไม่จำเป็นต้องใช้พลาสเตอร์ปิดแผล แต่หลังจากประคบเย็นไปแล้ว 24 ชั่วโมง ให้ประคบร้อนเพื่อลดอาการบวม โดยอาจใช้เจลประคบแช่ในน้ำร้อน หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน บิดหมาดและนำมาประคบ จะช่วยให้รอยฟกช้ำหายไวขึ้น
ทั้ง 3 อุบัติเหตุและวิธีปฐมพยาบาลข้างต้นไม่ยากเลยนะคะ และคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกทำเองได้เพื่อการดูแลตัวเองและช่วยเหลือเพื่อนๆ ได้เบื้องต้นค่ะ รวมถึงควรมีชุดปฐมพยาบาลติดบ้าน ติดรถ หรือติดตัวลูกเสมอเพื่อหยิบใช้ได้ตลอดเวลา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก


นี่คือ 6 เรื่องที่พ่อแม่มือใหม่พลาดทำ หรือทำโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังทำร้ายลูกทารกเราโดยไม่รู้ตัว
6 อันตรายใกล้ตัวลูกทารกที่พ่อแม่มือใหม่คาดไม่ถึง รู้แล้วต้องรีบป้องกัน
- ให้ลูกวัย 5-6 เดือน คลานเล่นบนพื้นที่ไม่สะอาด?
การที่ลูกเริ่มคลานบริเวณพื้นที่ลูกคลานหากไม่สะอาด แข็ง หรือลื่นเกินไป ลูกอาจรู้สึกเจ็บ หรือทรงตัวได้ไม่ดี
ลูกน้อยปลอดภัย : ก่อนวางลูกลงพื้นควรทำความสะอาดพื้นให้เรียบร้อย อาจปูผ้าหรือเบาะนุ่มๆ รองพื้นให้ลูกก่อนคลานช่วยป้องกันเชื้อโรค
- มีถุงพลาสติก หรือลูกโป่งอยู่ใกล้ตัวลูกทารก?
อย่ามองข้ามถุงพลาสติกเป็นอันขาด เพราะลูกอาจเผลอหยิบเล่นเอาเข้าปาก หรือครอบหัวจนหายใจไม่ออก ส่วนลูกโป่งหากแตก เศษลูกโป่งก็อาจกระเด็นเข้าตา หรือดีดใส่หน้าจนได้รับอันตรายได้
ลูกน้อยปลอดภัย :เจ้าตัวเล็กอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น อยากสำรวจสิ่งใกล้ตัว ฉะนั้นความสะอาด และความปลอดภัยของสิ่งของที่ลูกจะคว้าจับได้จึงสำคัญ ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เช่น หากมีลูกโป่ง หรือของที่ลูกสามารถบีบแตกได้อยู่ในบริเวณที่ลูกคว้าจับได้ง่ายต้องรีบเก็บให้ห่างจากมือลูกโดยเร็ว
- ให้ลูกเล็กเล่นของเล่นชิ้นเล็กๆ?
ของเล่นที่มีขนาดเล็ก ลูกปัด หรือเม็ดกระดุมที่อาจตกอยู่ที่พื้น หากลูกเผลอหยิบเข้าปาก นอกจากจะเต็มไปด้วยเชื้อโรคแล้ว อาจติดคออันตรายถึงชีวิตได้
ลูกน้อยปลอดภัย :ก่อนที่จะให้ลูกลงนั่งเล่นที่พื้น คุณแม่อย่าลืมสังเกตด้วยนะคะว่าบนพื้นมีสิ่งแปลกปลอมอยู่หรือไม่ เช่น เศษกระดุม เศษสตางค์ที่ทำหล่นโดยไม่รู้ตัว หากมีต้องเก็บให้หมดก่อน รวมถึงของเล่นของลูกที่มีขนาดเล็ก เช่น ตัวต่อ บล็อกไม้ ตุ๊กตาสัตว์ต่างๆ ที่เป็นยาง เวลาที่ลูกเล่นคุณแม่ต้องคอยอยู่ข้างๆ เพื่อคอยระวังไม่ให้ลูกหยิบเข้าปาก นอกจากจะป้องอันตรายให้ลูกได้แล้ว ยังได้เฝ้ามองพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
- ลืมเช็กวันหมดอายุยาของลูกเล็ก?
ยาของลูกเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะยาน้ำลดไข้ของลูกที่มักมีติดบ้านอยู่เสมอ หากเป็นยาที่เก็บไว้นาน ไม่ใช่เพียงประสิทธิภาพของยาจะลดลงเรื่อยๆ แต่อาจกลายเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย
ลูกน้อยปลอดภัย :โดยทั่วไปยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้จะเก็บไว้ได้ 3 ปีนับจากวันผลิต แต่หากเปิดใช้ป้อนให้ลูกกินแล้ว อาจมีการปนเปื้อนและเสียได้ในเวลา 2-3 วัน จึงควรปิดฝาให้สนิทหลังเปิดใช้ แล้วเก็บไว้ในตู้เย็นก็จะอยู่ได้ประมาณ 3 เดือน หากเลยเวลานี้ไปก็ควรทิ้ง แล้วซื้อใหม่ปลอดภัยกว่า เพราะยาหมดอายุบางตัวทำให้กระเพาะอาหารของลูกเล็กระคายเคืองได้
- ใช้ผงซักฟอกซักชุดสวยให้ลูก?
การใช้ผงซักฟอกที่มีความเข้มข้นซักเสื้อผ้าให้ลูกเล็ก อาจทำให้ผิวของลูกระคายเคือง หรือเป็นผื่นคันได้
ลูกน้อยปลอดภัย : ควรใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับซักเสื้อผ้าเด็ก เพราะมีความอ่อนโยนกับเนื้อผ้า เมื่อลูกสวมใส่ก็ไม่ทำให้ระคายเคือง และไม่ควรผสมน้ำหอม เพราะสารเคมีที่เพิ่มกลิ่นหอมที่ผสมในน้ำยาซักผ้า อาจตกค้างที่ชุดสวยของลูก หากสะสมนานๆ ก็อาจทำให้ลูกระคายเคือง หรือเป็นผื่นคันได้เช่นกัน
- คุณพ่อสูบบุหรี่ตอนลูกไม่อยู่บ้าน?
ควันบุหรี่ที่ถูกพ่นออกมาเป็นสารพิษชนิดเดียวกันกับที่สูบเข้าไป ถึงจะสูบตอนที่ลูกไม่อยู่บ้านหรือบริเวณนั้น สารพิษนี้ก็คงยังล่องลอยอยู่ในอากาศ ทำให้บรรยากาศและคนในบ้านแย่ตามไปด้วย
ลูกน้อยปลอดภัย :ไม่ควรสูบบุหรี่ที่บ้านเลยดีที่สุด และพยายามจัดบรรยากาศทั้งในและนอกบ้านให้มีความปลอดโปร่ง ถ่ายเทได้สะดวกอยู่เสมอ เช่น มีการกำจัดฝุ่นตามโต๊ะ ตู้ พื้นห้องทุกวัน เปิดหน้าต่าง ประตู เพื่อรับแสงและลมธรรมชาติบ้าง นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานแล้ว ยังช่วยให้ลูกน้อยได้สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดอีกด้วย

ลูกเป็นไข้ หกล้ม หัวโน 3 อาการที่เด็กแทบทุกคนต้องเจอทั้งที่แม่ป้องกันดีแล้วเชียว คุณหมอมีเทคนิคปฐมพยาบาลและดูแลลูกจาก 3 อาการนี้มาแนะนำค่ะ
Top 3 อาการเจ็บป่วยที่ลูกเล็กต้องเจอ มีไข้ หกล้ม หัวโน พร้อมวิธีรับมือดูแลแบบแม่มือโปร
สิ่งที่พ่อแม่ต้องจำให้ขึ้นใจคือ "ห้ามงดกิจกรรมสำหรับเด็ก" เพราะเป็นวิธีที่ผิดในการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็กค่ะ แต่นั่นจะยิ่งขัดขวางและไม่ส่งเสริมพัฒนาการที่สมวัยของเขา สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของลูก รวมทั้งรู้วิธีปฐมพยาบาลอุบัติเเหตุ อย่าง หกล้อม หัวโน หรืออาการไข้ตัวร้อน
3 สิ่งที่พ่อแม่ต้องเผชิญ คือลูก “มีไข้” “หกล้ม” “หัวโน”
- ลูกมีไข้ ตัวร้อน
เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ที่เป็นไข้ ตัวร้อนมักเกิดจากการติดเชื้อ เพราะเด็กมักมีความเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากการไปโรงเรียน ไปเล่นนอกบ้าน หรือการที่ผู้ใหญ่ พี่น้องในบ้านเจ็บป่วย
- ลูกหกล้ม
เมื่อลูกหกล้มมักทำให้เกิดแผลถลอก หรือเด็กบางคนก็เกิดเป็นรอยฟกช้ำ เนื่องจากมีเลือดคั่งใต้ชั้นผิวหนัง จากสถิติพบว่า “การพลัดตกหกล้ม” เป็นอาการของคนไข้เด็กที่พบบ่อยที่สุดในห้องฉุกเฉิน และเป็นเหตุให้ต้องนอนโรงพยาบาลถึงร้อยละ 30 เพราะเด็กเล็กจะชอบวิ่งเร็ว ๆ วิ่งไล่จับ คล่องตัวมากน้อยต่างกัน แถมเด็กยังแยกแยะไม่ได้ ว่าพื้นแบบไหนวิ่งง่ายหรือยาก ของวางเกะกะหรือไม่ สาเหตุที่สําคัญของการพลัดตกหกล้ม คือ บันได เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน หน้าต่างและระเบียง เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น การใช้รถหัดเดินเด็ก (infant walker)
- ลูกหัวโน
เด็กหัวโน เกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ มักไม่รุนแรง แต่อาจจะเห็นรอยปูดนูน ฟกช้ำ โดยเฉพาะที่หน้าผากจะเห็นได้ชัด เพราะผิวหนังบางและมีเลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นค่อนข้างมาก อาการหัวโนพบได้บ่อยในเด็กเพราะเมื่อเริ่มเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ก็อดไม่ได้ที่จะปีนป่าย หรือทดสอบสมรรถภาพร่างกายของตนเอง อีกทั้งเด็กยังมีสัดส่วนของศีรษะเทียบกับตัวมากกว่าผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสที่ศีรษะกระแทกพื้นหรือสิ่งของต่าง ๆ ได้ง่าย

พ่อแม่ควรป้องกัน ลูกเป็นไข้ ลูกหกล้ม ลูกหัวโน ได้อย่างไร
การป้องกันอุบัติเด็กในเด็ก และอาการเจ็บป่วย ทำได้ด้วยการยจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยให้คำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้ค่ะ
-
ความสะอาด เช่น การทำความสะอาดของเล่น การฝึกลูกให้มีสุขอนามัยที่ดี การล้างมือ เป็นต้น เพื่อลดโอกาสติดเชื้อของลูก
-
ความปลอดภัย เช่น การออกแบบบันไดให้เหมาะสมกับการก้าวเดินของเด็ก เช่น ซี่ระเบียงไม่ห่างเกินไป ทําประตูทิศทางเดียว(เปิดเข้าด้านใน) สอนเด็กไม่ให้เล่นบนบันได ขอบผนัง ประตู หรือเฟอร์นิเจอร์ อาจจะต้องบุนวมหรือใช้วัสดุป้องกันขอบ
-
ไม่ปล่อยให้มีน้ำหรือของเหลวที่ทำให้พื้นเปียก หากมีควรรีบทำความสะอาดทันที
-
พื้นในบริเวณที่เด็กเล่น ควรหลีกเลี่ยงพื้นเคลือบเงาที่อาจทำให้มีการลื่นหกล้มได้ง่าย นอกจากนั้น ทางเดินควรปราศจากของเล่นหรือสิ่งของต่าง ๆ
-
หลีกเลี่ยงการใช้รถหัดเดิน เพราะเด็กจะไถลไปได้ไกลและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
-
มีอุปกรณ์ป้องกันขณะขับขี่จักรยาน เช่น หมวกกันน๊อค สนับเข่า สนับแขน เป็นต้น

วิธีปฐมพยาบาลและดูแล ลูกเป็นไข้ตัวร้อน ลูกหกล้ม ลูกหัวโน
- วิธีลดไข้เด็ก
วิธีลดไข้เด็กที่พ่อแม่ทำได้เองก่อน คือ เช็ดตัวอย่างถูกต้อง ให้ยาลดไข้ (ตามคำแนะนำบนฉลากยา) หรือสามารถใช้เจลระบายความร้อน (Cooling Gel) หรืออุปกรณ์ประคบเย็นและร้อน (Cold Hot Pack) ประคบบริเวณหน้าผาก เพื่อลดไข้และลดอุณหภูมิความร้อนในร่างกาย แต่หากลูกมีไข้สูงมาก ควรพบแพทย์ค่ะ
- วิธีปฐมพยาบาลลูกหกล้ม และ ลูกหัวโน การดูแลขึ้นกับอาการ อายุ และความรุนแรงของอุบัติเหตุ เมื่อเกิดอุบัติเหตุลูกมักจะร้องไห้จนพ่อแม่ตกใจ ให้ตั้งสติไว้นะคะ แล้วทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ค่ะ
- ลองปลอบและให้นั่งพัก พร้อมกับการใช้อุปกรณ์ประคบเย็นและร้อน (Cold Hot Pack) ประคบบริเวณที่ฟกช้ำ หัวโน ครั้งละประมาณ 2-5 นาที (ขึ้นกับว่าลูกน้อยจะร่วมมือมากน้อยแค่ไหน) แล้วพักเป็นระยะ ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพื่อให้เส้นเลือดหดตัวและรอยนูนที่ศีรษะหรือบริเวณที่บวมยุบลง
- 24 ชั่วโมงต่อมา เปลี่ยนเป็นประคบร้อน โดยใช้อุปกรณ์ประคบเย็นและร้อน (Cold Hot Pack)ประคบบริเวณที่โนหรือฟกช้ำ เพื่อลดอาการปวด
- หากมีรอยแผลหรือถลอก อาจใช้ยาทาฆ่าเชื้อ หรือ ถ้าฟกช้ำมากอาจใช้เป็นขี้ผึ้งลดอาการอักเสบ เป็นต้น อาจพิจารณาให้ยาแก้ปวดสำหรับเด็กร่วมด้วย
- ถ้าการบาดเจ็บบริเวณศีรษะรุนแรง หรือลูกไม่หยุดร้องไห้ หรือซึมลง ทรงตัวไม่ได้ อ่อนแรง อาเจียน ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
พ่อแม่ที่มีลูกเล็กทั้งหลายคงปฎิเสธไม่ได้ว่าการเลี้ยงลูกวัยนี้ เราอาจจะไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุให้ลูกได้ 100% การมีสติและศึกษาวิธีการปฐมพยาบาลลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอุปกรณ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นควรมีไว้ติดบ้าน เช่น ยาสามัญประจำบ้าน (กลุ่มยาแก้ปวดลดไข้ ยาขับลม ครีมทาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ล้างแผล น้ำเกลือพลาสเตอร์กันน้ำ ฯลฯ) รวมถึง ชุดทำแผล หรืออุปกรณ์ประคบเย็นและร้อน (cold hot pack)
ที่เห็นชัดเจนคือ อุปกรณ์ประคบเย็นและร้อน (cold hot pack) ข้อดี คือสามารถใช้ได้ทั้งประคบร้อน และเย็น สามารถใช้บรรเทาอาการบาดเจ็บ บวม อักเสบ และรวมถึงลดอุณหภูมิความร้อนในร่างกาย ใช้ได้ทุกวัย ระยะเวลาการใช้งานหลายปี และสามารถนำมาใช้ซ้ำได้
อุปกรณ์ประคบเย็นและร้อน (cold hot pack)การเลือกใช้ตามขนาดตัวของเด็ก หรือบริเวณบาดแผลฟกช้ำ ก็จะได้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น เช่น
- ขนาดเล็ก- เหมาะสำหรับการแปะลดไข้เด็ก หรือประคบบริเวณที่บวมอักเสบหลังผ่าตัด หรือแผลขนาดเล็ก เช่น การทำศัลยกรรมบริเวณใบหน้า เป็นต้น)
- ขนาดกลาง- เหมาะสำหรับการลดอาการบวม อักเสบ จากการเล่นกีฬา เช่น ข้อเท้าแพลง เป็นต้น
- ขนาดใหญ่- เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการประคบเป็นบริเวณกว้าง เช่น ปวดหลัง ปวดไหล่ หรือ ปวดประจำเดือน เป็นต้น
นอกจากนั้น แต่ละบ้าน ควรมีอุปกรณ์ประคบเย็นและร้อน (cold hot pack อย่างน้อย 2 ชิ้นเพื่อใช้ปฐมพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และทดแทนกันเมื่อความร้อน/เย็นหมดไปขณะปฐมพยาบาล และการการป้องกันอุบัติเหตุในเด็กยังเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กควรระมัดระวังและเรียนรู้พัฒนาการตามวัย เพื่อใช้มาตรการป้องกันอุบัติเหตุที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ
รักลูก Community of The Ecxperts
สนับสนุนการดูแลทุกครอบครัวโดย
3M Nexcare
https://www.facebook.com/NexcareThailand/videos/390131301604255
(พื้นที่เพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์)

ทริคต้องรู้...ป้องกันลูกหาย
จากสถิติมีเด็กหายทุกๆ วันแต่ละปีเกือบ 400 กว่าราย และตัวเลขก็เพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งจากการลักพาตัวและการหนีออกจากบ้านเอง สำหรับกรณีที่เด็กถูกลักพาตัวเป็นสิ่งที่พ่อแม่กังวลใจอย่างมาก จะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
- สอนให้จำข้อมูลพ่อแม่ ฝึกลูกจำชื่อพ่อแม่ ญาติ หมู่บ้าน ตำบล หรือเขตพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ และใส่เบอร์โทรศัพท์ของพ่อแม่ในกระเป๋าลูกด้วยทุกครั้ง
- ฝึกใช้โทรศัพท์ สอนให้ลูกใช้โทรศัพท์เพื่อโทรหาพ่อแม่ สำหรับวัยที่ยังไม่ได้พกโทรศัพท์สอนให้ลูกไปบุคคลที่น่าไว้วางใจ เช่น ตำรวจ, เจ้าหน้าที่ของสถานที่นั้น หรือเดินไปยังร้านค้าที่ขายขนม ขายอาหาร เพื่อขอใช้โทรศัพท์โทรหาพ่อแม่
- สอนลูกจำเส้นทาง ฝึกให้ลูกจำจุดสังเกตของเส้นทางบ้าน หรือหากไปถึงสถานที่นั้น ต้องซักซ้อมว่าหากเกิดเหตุพลัดหลงให้มาเจอกันตรงจุดที่เด้นชัดเจน เช่น มีไดโนเสาร์ หรือเจอตรงร้านขนมที่ลูกชอบ
- ไม่เชื่อคนแปลกหน้า สอนลูกไม่ให้หลงเชื่อและรับของจากคนแปลกหน้าทั้งคนที่จะชวนไปเที่ยว พาไปส่งที่บ้าน ให้ขนม ให้ของเล่น ฝึกให้ลูกปฏิเสธ และอยู่ห่างๆ จากคนที่พยายามจะให้สิ่งของ
- เตรียมอุปกรณ์ป้องกันหาย หากรู้ตัวว่าต้องไปสถานที่มีคนจำนวนมากให้พกพาอุปกรณ์ป้องกันเด็กพลัดหลง เช่น สายคล้องมือแม่และลูก, นาฬิกาติดตามตัวลูก เป็นต้น หากต้องไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ควรปล่อยให้ลูกคลาดสายตา ไม่ฝากเด็กไว้กับเจ้าหน้าที่ของสถานที่นั้นหรือบุคคลอื่น เพราะอาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง หรือหากจำเป็นและดูแล้ววพอไว้วางใจได้ ก็ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่กับคนอื่นนาน และโทรศัพท์หาลูกเป็นระยะ เพื่อป้องกันเหตุที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นค่ะ
ลูกหายต้องทำสิ่งเหล่านี้
- ไม่ต้องรอครบ 24 ชม. แจ้งความได้ทันที
- ใช้รูปถ่ายปัจจุบันที่ชัดเจนของเด็ก และนำพยานที่เห็นเหตุการณ์ ไปแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจ
- อย่าเพิ่งประกาศออกสื่อ จนกว่าจะแน่ใจว่าแนวทางการสืบสวนของตำรวจไม่คืบหน้า และควรบอกตำรวจด้วยว่าจะใช้วิธีการนี้
- หากจะประกาศอย่าให้หมายเลขโทรศัพท์ของครอบครัวในประกาศ ควรให้เบอร์ของตำรวจหรือหน่วยงานที่รับแจ้งเรื่องไป ให้ช่วยคัดกรองเบาะแส
- อย่าตั้งรางวัลไว้ในประกาศ เพราะมิจฉาชีพ หรือผู้ไม่หวังดี จะโทรมาแจ้งเบาะแสเท็จ เพื่อหวังเงินรางวัล
- ติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิดกับตำรวจ และแจ้งความคืบหน้ากับตำรวจหากมีการติดต่อกลับมา
ข้อมูลจาก : ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา

รถหัดเดิน ไม่ใช่รถหัดเดินอีกต่อไป เพราะนอกจากจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้งแล้ว ยังไม่ใช่การส่งเสริมพัฒนาการเด็กเรื่องการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเดินได้อย่างถูกต้องด้วยค่ะ พญ.สินดี จำเริญนุสิต จะมาไขข้อเท็จจริงเรื่องรถหัดเดินไว้ในบทความนี้ค่ะ
รถหัดเดินช่วยลูกทารกเดินได้ไว เดินเก่ง จริงหรือไม่
พัฒนาการเด็กเรื่องการคลาน ยืน เดิน
เด็กจะเริ่มทรงตัวขณะนั่ง ยืน พยุงตัวเองกับกำแพงหรือสิ่งของต่าง ๆ เพื่อดึงตัวเองขึ้นมายืนได้ตอนอายุประมาณ 7-9 เดือนแล้วค่ะ ซึ่งเด็กบางคนอาจจะคลานก็ได้ ไม่ถือว่าผิดปกติ และควรจะเดินได้ภายในอายุ 18 เดือน การกระตุ้นพัฒนาการการเดินของลูกให้เร็วมากขึ้นนั้น ขึ้นกับการที่พ่อแม่ให้โอกาสลูกได้เคลื่อนไหวตามธรรมชาติ ได้ล้มลุกคลุกคลานในพื้นที่ที่ไม่อันตราย ประกอบกับพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของตัวเด็กเอง พื้นอารมณ์ของเด็ก รวมไปถึงโภชนาการที่ถูกต้องค่ะ
กรณีลูกอายุเกิน 12-15 เดือน แล้วแต่ยังไม่ยอมยืนเอง หรือยังไม่พยายามพยุงตัวลุกขึ้นยืนสักที กรณีนี้น่าเป็นห่วงแล้วค่ะ ต้องรีบพาเจ้าตัวเล็กไปหาคุณหมอเพื่อตรวจความผิดปกติของร่างกาย ปรึกษาขอคำแนะนำจากคุณหมอว่าต้องทำอย่างไร เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการสมวัยนะคะ
รถหัดเดินช่วยทำให้ลูกขาแข็งแรงไวจริงไหม
ไม่จริงค่ะ:รถหัดเดินจะเข้าไปรบกวนท่าเดินที่เป็นพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็ก และเวลาที่ลูกนั่งลงไปบนรถ เท้าทั้งสองข้างจะหย่อนลงพื้น ทำให้สะโพกและหัวเข่าของเด็กได้รับน้ำหนักผิดท่า และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินของเด็ก บางครั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสะโพกได้ในระยะยาว รถหัดเดินสอนให้เด็กไถไปบนพื้นโดยใช้นิ้วเท้า ซึ่งไปสร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อขาที่ผิดที่ค่ะ พฤติกรรมเหล่านี้อาจมีผลต่อการทรงตัวและพัฒนาการของข้อต่อและกล้ามเนื้อโดยทั่วไปของเด็ก รวมทั้งสร้างปัญหากับเท้าและข้อเท้าในระยะยาวอีกด้วยค่ะ
รถหัดเดินช่วยให้ลูกเดินเร็วขึ้นจริงไหม
ไม่จริงค่ะ: รายงานการแพทย์ของต่างประเทศบอกว่า การใช้รถหัดเดินไม่ได้มีความเกี่ยวโยงใด ๆ กับการนั่งหรือการยืนของลูกค่ะ รายงานยังพบว่า ร้อยละ 10.8 ของเด็กที่ใช้รถหัดเดินเป็นประจำจะมีพัฒนาการด้านการเดินได้ช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ โดยหากรวมเวลาที่เด็กอยู่รถหัดเดินแต่ละครั้ง เมื่อรวมได้ 24 ชั่วโมงก็เท่ากับว่า เด็กจะหัดเดินช้าออกไปอีก 3 วัน และทำให้หัดยืนช้าออกไปอีกเกือบ 4 วันค่ะ
รถหัดเดินจะประคองให้เด็กอยู่ในท่าตั้ง แต่ไม่ได้สอนให้เด็กรู้จักการทรงตัว หรือการเริ่มต้นการเคลื่อนไหว เช่น การคืบคลาน การเกาะยืน เป็นต้น ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของการเริ่มเดิน เด็กที่อยู่ในเก้าอี้หัดเดินจะหมดโอกาสได้เรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว และการกะระยะ
สรุปแล้ว รถหัดเดินไม่ได้ทำให้เด็กเดินได้เร็วขึ้นเลย แต่พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวกลับล่าช้าลงด้วย เพราะการเคลื่อนไหวของเด็กขณะที่นั่งในรถหัดเดินนั้นไม่ใช่ลักษณะการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ เด็กไม่ได้เรียนรู้การคืบคลาน การประคองตัวเพื่อยืน และเพื่อก้าวเดิน ทำให้เมื่อเด็กจะหัดเดินจริง ๆ หลังจากตั้งไข่แล้วจะไม่เข้าใจ เพราะตามหลักแล้ว การเดินที่ถูกต้องคือเด็กต้องก้าวเท้าออกก่อน และเอาส้นเท้าลงก่อนปลายเท้าค่ะ
ในต่างประเทศได้มีการห้ามจำหน่ายรถหัดเดิน ส่วนในประเทศไทย สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก รถหัดเดิน เป็นรถพยุงตัว และให้มีคำเตือนว่าเป็นอุปกรณ์ไม่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการการเดิน และผู้ดูแลเด็กต้องอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา ดังนั้น พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงหรือเลิกใช้รถหัดเดิน เพื่อไม่ให้เป็นการขัดขวางพัฒนาการที่ดีของเด็ก ให้เขาได้เติบโตเต็มที่ตามศักยภาพ ภายใต้บรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัย
รักลูก Community of Tche Experts
พญ.สินดี จำเริญนุสิต
กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม

ลูกวัยซนมักจะเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ แถมบางครั้งก็ยังอันตรายมาก ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะป้องกันไว้ดีกว่าแก้อย่างแน่นอน
ลูกเล็กตั้งแต่วัยคลานขึ้นไป โดยเฉพาะเด็กวัย 1-3 ปี นี่กำลังซนสุดๆ เลย เพราะลูกจะเริ่มเคลื่อนที่ได้ดั่งใจต้องการ แถมยังชอบปีนป่ายและไม่รู้จักกลัวเสียด้วย เผลอแค่แป๊บเดียว ลูกก็อาจจะกลิ้งตกลงมาได้ มาดูการรับมือและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเจ้าตัวเล็กตกจากที่สูงกันค่ะ
1. หลังจากหล่นตุ๊บลงมา ขณะที่เจ้าตัวเล็กร้องไห้ ควรรีบเข้าไปอุ้ม หรือประคองให้ลุกขึ้นนั่ง จะช่วยปลอบโยนให้ลูกหายตกใจ
2. รีบเช็กดูว่าลูกบาดเจ็บบริเวณใดบ้าง แขนขาหักหรือไม่ มีบาดแผลหรือเปล่า โดยเฉพาะตรงบริเวณศีรษะของลูก ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด
3. ถ้าศีรษะลูกกระแทกแล้วโนบวมปูดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ก็อย่าตกใจไป เพราะศีรษะมีเส้นเลือดอยู่มาก จึงทำให้เกิดอาการบวมได้ง่าย ควรรีบใช้ผ้าเย็น ประคบบริเวณที่บวม ความเย็นจะช่วยลดอาการเจ็บบวมให้ลดน้อยลง ประมาณ 1 สัปดาห์ศีรษะก็จะหายโนแล้ว
4. หากร่างกายลูกมีบาดแผลเลือดไหลซึมๆ หรือไหลเพียงเล็กน้อย ให้หาผ้าสะอาด กดแผลห้ามเลือด และทำความสะอาด แต่ถ้าแผลลึกเลือดไหลมากควรรีบพาไปพบคุณหมอโดยด่วน
5. หลังเกิดอุบัติเหตุและปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ต้องสังเกตดูว่าภายใน 12-24 ชั่วโมงลูกยังปกติดี ไม่เงียบซึม พูดคุยรู้เรื่อง ขยับแขนยกขาได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ สบายใจได้ว่าลูก ไม่เป็นอะไรมาก แค่ดูแลให้หายเจ็บก็พอ
6. ถ้าระหว่าง 12-24 ชั่วโมง ลูกมีอาการร้องไห้มากและนานผิดปกติ ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ดูง่วงนอน ปลุกไม่ยอมตื่น กระสับกระส่าย หรือบ่นว่าปวดหัวมาก ต้องรีบพาไปพบคุณหมอด่วน เพราะศีรษะอาจจะกระทบกระเทือนรุนแรงจนมีเลือดคั่งในสมองได้
รู้หรือไม่ว่ารถเข็นเด็กก็สามารถทำให้ลูกเกิดอันตรายได้ถ้าพ่อแม่ใช้อย่างไม่ระวัง อุบัติเหตุจากรถเข็นเด็กมีอะไรบ้าง มาเช็กกันค่ะ
อันตรายและอุบัติเหตุจากการใช้รถเข็นเด็กที่พ่อแม่ต้องรู้และระวัง
รถเข็นเด็กเป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับพ่อแม่ยุคนี้ เพราะมักจะพาลูกๆ ออกไปเที่ยวนอกบ้าน เดินทางเปิดประสบการณ์ตั้งแต่เล็กๆ ดังนั้นการใช้รถเข็นเด็กจะช่วยอำนวยความสะดวก และทุ่นแรงพ่อแม่ได้มาก แต่การใช้รถเข็นเด็กก็มีข้อควรระวังในการใช้งานที่พ่อแม่ควรจะศึกษาคู่มือหรือวิธีใช้อย่างละเอียดก่อนใช้งาน รวมทั้งไม่ประมาทในการใช้รถเข็นเด็กทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของลูกๆ ค่ะ
วันนี้เรามีตัวอย่างการใช้งานที่มีโอกาสเสี่ยงอันตรายกับลูกๆ มาฝากไว้เตือนใจให้พ่อแม่เพิ่มความระมัดระวังกันไว้ค่ะ
ไม่เข็นรถเข็นเด็กขึ้นลงบันไดเลื่อน
เราอาจจะคุ้นเคยกับภาพที่คุณพ่อคุณแม่เข็นรถเข็นเด็กขึ้นลงบันไดเลื่อนกันบ้าง แต่จริง ๆ แล้วเพื่อความปลอดภัยไม่ควรเข็นเด็กขึ้นลงบันได เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่าย หากมีคนมาชน บันไดเลื่อนหยุดกระทันหัน หรือรถเข็นพลิกคว่ำลงมา ฯลฯ ซึ่งเคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นบ้างแล้ว ถ้ามีรถเข็นเด็กควรใช้ลิฟต์โดยสารขึ้นลงแทนการใช้บันไดเลื่อน หรือนำเด็กออกจากรถเข็นก่อนใช้บันไดเลื่อนจะดีกว่าค่ะ
ล๊อกรถเข็นเมื่อต้องจอดอยู่กับที่ หรือทางลาดชัน
หลายครั้งอุบัติเหตุเกิดขึ้นเพราะทางลาดชัดที่พ่อไม่ไม่รู้ตัว ทำให้รถเข็นไหลไปจนเกิดอุบัติเหตุกับเด็กๆ หลายครั้งในต่างประเทศเกิดรถเข็นไหลลงไปในรางรถไฟ หรือรถไฟฟ้า ทำให้เด็กๆ ได้รับบาดเจ็บ หรือเกือบเสียชีวิต
เข็นรถเข็นวนในลานจอดรถนาน ๆ
เพราะในที่จอดรถ ลานจอดรถจะมีฝุ่นและควันรถเยอะมาก เป็นที่แคบ ลูกอาจสูดกลิ่นควันเข้าไปในปริมาณสูงและอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
ล้อรถเข็นเด็กพลิก
ล้อรถเข็นเด็กเป็นสิ่งสำคัญค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่เข็นเลี้ยวกระทันหัน ลากเดินหน้าถอยหลังผิดองศา ล้ออาจพลิกทำให้รถเข็นกระชากตัวหรือพลิกได้เช่นกัน เรื่องนี้ป้องกันได้ตั้งแต่ตอนเลือกซื้อรถเข็นเด็กค่ะ ควรเลือกล้อที่หมุนได้แบบ 360 องศา เวลาเข็นต้องไม่รีบร้อน ให้ล้ออยู่ในแนวที่เข็นได้เป็นปกติ
ใช้สมาธิในการเข็นรถเข็น ไม่เผลอใช้โทรศัพท์มือถือหรือสนใจอย่างอื่น
คุณพ่อคุณแม่หลายคนเข็นรถเข็นเด็กไปด้วย เล่น คุย โทรศัพท์ไปด้วย บางครั้งก็มองของซ้ายทีขวาที อาจทำให้เลื่อนรถเข็นไปชนสิ่งของต่าง ๆ หล่นใส่ลูก เข็นลงทางต่างระดับแบบไม่รู้ตัว ดังนั้นตอนเข็นรถเข็นเด็ก ต้องมองทางและมีสมาธินะคะ
มาตรวจเช็กรถเข็นเด็กของลูกกันเถอะ
- เรียนรู้อุปกรณ์ของรถเข็นให้ครบทุกจุด สายรัดอยู่ตรงส่วนใดบ้าง ล็อคล้อรถเข็นแบบใด และที่สำคัญคุณแม่ควรใช้งานให้คล่องแคล่วในบ้านก่อนจะพาเจ้าตัวเล็กออกนอกบ้าน เพื่อความคล่องแคล่วในการใช้งานและความปลอดภัยของลูก
- รถเข็นเด็กทุกคันจะมีสายรัดที่ติดมากับเบาะนั่ง ทุกครั้งที่ลูกนั่งควรรัดให้ครบทุกสาย อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาถึงแม้จะเป็นการนั่งเพียงช่วงทางเดินสั้นเดินไปที่รถ ก็ไม่ควรประมาทนะคะ
- รถเข็นลูกไม่ใช่รถเข็นของ ไม่ควรวางของหนักเกินไป แต่หากกรณีจำเป็นไร้เงาคุณพ่อข้างกาย มีเทคนิคการวางของคือให้วางของในตำแหน่งด้านหลังล่างของรถเข็น อาจจะอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าของล้อหลัง หรือพอดีกับล้อหลัง แต่ไม่ควรแขวนที่ด้ามของรถเข็น เพื่อป้องกันไม่ให้รถเข็นเสียสมดุลจนอาจจะเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
- หมั่นเช็ครถเข็นเด็กให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสนอทั้งส่วนล้อ เข็มขัด และด้ามจับรถเข็น ซ่อมแซมก่อนนำมาใช้ นะคะ
การเขย่าตัวทารกแรกเกิด หรือ เด็กเล็กอันตรายถึงชีวิตนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการเขย่าเพราะเล่น อยากให้หยุดร้อง หรือ เพราะโมโหก็ไม่ควรทำเด็ดขาด กุมารแพทย์จะมาบอกให้รู้ว่า การเขยา่ตัวเด็กแม้เพียงเบาๆ ไม่กี่วินาทีอันตรายแค่ไหน พร้อมแนะนำวิธีปลอบให้ลูกหยุดร้องได้อย่างใจเย็น และ ได้ผลค่ะ
อันตรายใกล้ตัว! ห้ามเขย่าเด็กทารกไม่ว่าจะเล่นหรือร้องไห้ เสี่ยงพิการ เสียชีวิต
Shaken Baby Syndrome ภาวะที่เกิดจากการเขย่าตัวทารก
ภาวะที่มักพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่จับลูกเขย่าแรง ๆ อาจจะด้วยความตั้งใจ หรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แรงเขย่านั้นจะทำให้เนื้อสมองกระแทกกับกะโหลกศีรษะ เส้นเลือดรอบเนื้อสมองฉีกขาด เกิดเลือดออกในสมองและอาจลุกลามไปจนทำให้เส้นเลือดในจอตาขาดได้ด้วย เพราะเส้นเลือดในสมองของเด็กเล็กยังไม่แข็งแรง โอกาสที่มีการฉีกขาดจึงมีมากกว่าผู้ใหญ่
เด็กที่ตกอยู่ในภาวะสมองกระทบกระเทือนจากการถูกเขย่าตัวมีโอกาสเสียชีวิต ถึง 1 ใน 3 หรือหากรอดชีวิตอีกร้อยละ 30-40 ก็ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังมีกล้ามเนื้อคอไม่แข็งแรง ยังไม่สามารถพยุงศีรษะตัวเองได้ หากถูกเขย่าอย่างรุนแรง จะทำให้เกิดกลุ่มอาการเด็กถูกเขย่า หรือภาษาอังกฤษ เรียกว่า Shaken Baby Syndrome เรามาทำความรู้จัก และเรียนรู้วิธีป้องกันภาวะนี้กันค่ะ
วิธีสังเกตอาการของภาวะ Shaken Baby Syndrome หลังจากเด็กถูกเขย่า
- อาเจียน
- หายใจลำบาก
- กลืนน้ำลายไม่ได้
- หน้าผากบวมโนปูดออกมาชัดเจน
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และควรแจ้งด้วยว่าเด็กได้รับการเขย่าตัวอย่างรุนแรง เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาทันเวลา ผลที่อาจตามมาในระยะยาวหากไม่ได้รับการรักษาทันที คือ ตาบอด พัฒนาการช้าลง ชัก เป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้
สรุปแล้ว Shaken baby syndrome หรือกลุ่มอาการเด็กถูกเขย่า ทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บ และเป็นภาวะใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้ทุกบ้านค่ะ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กวัยต่ำกว่า 1 ปี หากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู รู้เท่าไม่ถึงการณ์เขย่าตัวลูก ไม่ว่าจะเพราะเล่น หรือโมโหที่ลูกร้องไห้ ก็อาจทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิตได้นะคะ
คำแนะนำหากลูกร้องไห้ไม่หยุด โดยไม่ต้องเขย่าตัวให้เกิดอันตราย
- หาสาเหตุที่ทำให้เด็กร้องก่อน เพราะส่วนใหญ่เด็กมักจะร้องเมื่อหิว ง่วง หรือไม่สบายตัว
-
หากไม่พบสาเหตุ ให้ลองอุ้ม ปลอบ หรือ เบี่ยงเบน ชวนให้เด็กสนใจสิ่งอื่น
-
พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง หนักแน่น พยายามเข้าใจว่าเด็กยังสื่อสารด้วยคำพูดไม่ได้จึงต้องใช้วิธีการร้อง แต่หากคิดว่าควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ไหวหรือหงุดหงิดมาก ควรเรียกหาคนใกล้ชิดที่ไว้ใจได้มาดูแลเด็กแทนในช่วงนั้น
-
ต้องจำไว้เสมอว่าไม่ควรเขย่าหรือทุบตีเด็ก เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เด็กหยุดร้องแล้ว ยังจะเกิดอันตรายอย่างรุนแรงกับเด็กได้
การดูแลเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป เพราะลักษณะของเด็กมีหลากหลายตามพื้นอารมณ์ของแต่ละคน พ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูจึงต้องปรับตัวตามลักษณะของเด็กด้วย พยายามไม่เปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น ๆ หรือไปรับข้อมูลมากมายที่จะทำให้ตัวเองเครียด จำไว้เสมอว่า “เด็กแต่ละคน ไม่เหมือนกัน”
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องดูแล สังเกต เอาใจใส่ลูกของเรา เพื่อจะได้รู้จังหวะและลักษณะของเขา เราจะได้ไม่เครียดและสนุกกับการเลี้ยงลูก คอยติดตามพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกในแต่ละวันอย่างมีความสุขค่ะ เหนื่อยแต่ก็คุ้มค่าค่ะ
รักลูก Community of The Experts
พญ.สินดี จำเริญนุสิต
กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม

ของเล่นมีล้อเลื่อน ที่มักจะเกิดอันตรายกับเด็ก
อุบัตติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ เห็นกันได้บ่อยครั้งเลยนะคะ อันตรายนอกจากของมีคมแล้ว ส่วนใหญ่ก็มาจากของเล่นมีล้อเลื่อน ของใช้มีล้อเลื่อน คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกยังเล็กไม่ควรมองข้ามเรื่องใกล้ตัวนี้ไปนะคะ ของเล่น ของใช้ บางอย่างดูเผินๆ แล้วไม่อันตราย แต่ความจริงแล้วอาจอันตรายจนคาดไม่ถึงเลยค่ะ
7 ของเล่น ของใช้ ที่มีล้อและเป็นอันตรายกับเด็ก
1. รองเท้าสเก๊ต สเก๊ตบอร์ด สกู๊ตเตอร์
ของเล่นชนิดมีล้อเลื่อนที่อันตราย ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กอายุ 0-5 ปี แม้จะเห็นเด็กเล็กเล่นบ้างตามถนนในต่างประเทศ แต่อุปกรณ์ลื่นไหลแบบนี้ก็เสี่ยงอันตราย หากลูกอยากจะเล่นจริงๆ ต้องมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยเสมอ ต้องเล่นในพื้นที่เตรียมไว้สำหรับเล่นโดยเฉพาะ มีผู้ชำนาญการเล่น และก่อนจะเล่นต้องใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย หมวกนิรภัย สนับข้อมือ สนับศอก และสนับเข่า ก่อนทุกครั้ง
2. ชั้นวางของ ลิ้นชัก และตู้เก็บของ แบบมีล้อ
ตู้เก็บของ ลิ้นชัก ชั้นวางของ บางชนิดก็มีล้อเลื่อน เพื่อความสะดวกตามการใช้งานบางอย่างเช่น ต้องเคลื่อนที่บ่อย ดึงไปมาง่าย หากมีเด็กเล็กในบ้าน ขอแนะนำให้ติดตั้งตู้ลิ้นชักเข้ากับผนัง เพื่อป้องกันอันตราย โดยสามารถซื้ออุปกรณ์ติดตั้งได้ที่ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป สามารถทำเองได้หรือให้ช่างมาทำก็สะดวก
3. รถหัดเดิน
ในต่างประเทศมีการห้ามจำหน่ายรถหัดเดินแล้ว ส่วนในประเทศไทย สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้เปลี่ยนชื่อเรียกจากรถหัดเดิน เป็น รถพยุงตัว และให้มีคำเตือนว่าเป็นอุปกรณ์ไม่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการการเดิน และต้องอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา
4. กระเป๋าเดินทางล้อลาก
เป็นอันตรายใกล้ตัวที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มองข้าม กระเป๋าเดินทางหากปล่อยให้อยู่กับเด็กตามลำพัง เด็กๆ อาจจะปีนป่าย เล่นไถล้อจนอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ในคลิปของต่างประเทศที่มีเด็กเล่นปีนกระเป๋าเดินทางและถีบพื้นให้ล้อเคลื่อนจนล้มบาดเจ็บสาหัส ดังนั้นพ่อแม่ต้องอธิบายเรื่องอันตรายสิ่งของมีล้อ และสิ่งที่ไม่ควรทำ ให้ลูกเข้าใจ
5. รถเข็นเด็ก
รถเข็นเด็กเป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับพ่อแม่ยุคนี้ เพราะช่วยทุ่นแรงพ่อแม่ได้มากเมื่อพาลูกออกไปนอกบ้าน แต่การใช้รถเข็นเด็กก็มีข้อควรระวังในการใช้งาน เช่น ไม่เข็นรถเข็นขึ้นลงบันไดเลื่อน ต้องล๊อคล้อเมื่อต้องจอดอยู่กับที่หรือทางลาดชัน พ่อแม่ควรใช้สมาธิในการเข็นรถไม่เผลอใช้โทรศัพท์มือถือหรือสนใจอย่างอื่น เพราะหลายๆ ครั้งอุบัติเหตุเกิดขึ้นเพราะรถเข็นไหลไปเกิดอุบัติเหตุ และเด็กๆ ไม่ควรเข็นรถเข็นเล่น เพราะเสี่ยงล้มเพราะล้อไหลได้ พ่อแม่ต้องระวังในการใช้ให้มากๆ
6. เก้าอี้ทำงานมีล้อ
เก้าอี้นั่งทำงานหรือนั่งเล่นคอมพิวเตอร์แบบมีล้อ ที่อยู่ในบ้าน หรือห้องทำงาน ต้องระวังให้มากและต้องทำความเข้าใจกับลูกว่าห้ามเล่น ในลักษณะปีนป่าย เข็นเก้าอี้เล่น เพราะเก้าอี้ชนิดนี้มักจะก่อให้เกิดอันตรายได้แบบที่คาดไม่ถึง เช่น ล้มหน้าคว่ำจากการพิงเล่น ไถเล่นจนล้ม เป็นต้น
7. ประตูแบบล้อเลื่อน
ประตูบ้านแบบล้อเลื่อน หากเด็กๆ ซุกซนชอบเล่นประตู ก็อาจเกิดอุบัติเหตุที่เห็นตามข่าวบ่อยๆ ได้ เช่น เด็กเลื่อนปิดประตูเล่นโดยไม่ระวังทำให้ทับมือ หนีบนิ้ว กระแทกศีรษะ ประตูล้มทับ ถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ประตูแบบเลื่อนเหล็กใหญ่ๆ ยิ่งจะต้องระวัง ให้ติดตั้งให้เสร็จสมบูรณ์ หมั่นสังเกตเป็นประจำขณะใช้งาน เช่น ชำรุดหรือไม่ บริเวณล้อรางมีเศษวัสดุอยู่หรือไม่ เพราะเมื่อเปิดปิดล้อจะกระดกตกรางได้ เด็กๆ ไม่ควรเล่นประตูเด็ดขาด
สำหรับของเล่นหรือของใช้ ประเภทที่ใช้ถ่านแบตเตอรี่ขนาดเล็ก ก็ควรมีฝาครอบด้วยนะคะ เพื่อป้องกันไม่ให้ถ่านหลุดร่วงออกมา จนเด็กหยิบเข้าไปในปาก ตามที่เห็นในข่าวกันบ่อยครั้ง สำหรับเรื่องนี้ก็ควรระวังให้มากนะคะ

วิธีปฐมพยาบาลอุบัติเหตุรุนแรง ก่อนพาลูกไปโรงพยาบาล
ต่อให้ดูแลดีแค่ไหน แต่อุบัติเหตุร้ายแรงอาจเกิดได้เสมอค่ะ ลูกหัวแตก ลูกแขนขาหัก ลูกโดนน้ำร้อนลวก เกิดขึ้นได้ทั้งจากการเล่น การใช้ชีวิตประจำวัน หรืออุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งการดูแลรักษาจะต้องอยู่ในการรักษาและดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ แต่ในเบื้องต้นเมื่อลูกได้รับอุบัติเหตุหัวแตก ลูกแขนขาหักลูกโดนน้ำร้อนลวก คุณพ่อคุณแม่จะต้องลงมือปฐมพยาบาลตามขั้นตอนต่อไปนี้ก่อนพาลูกส่งโรงพยาบาลค่ะ
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกหัวแตก
-
ให้ลูกนอนราบ ไม่ขยับตัวมากเพื่อลดการกระทบกระเทือน จากนั้นควรสวมถุงมือทุกครั้ง(ถ้ามี ณ ตอนนั้น) แล้วใช้มือหรือผ้ากดแผลห้ามเลือดประมาณ 15 นาที หรือจนกว่าเลือดจะหยุด
-
หากเลือดหยุดแล้วให้ใช้เจลเย็น หรือผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งประคบบาดแผลจากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนย้ายลูกไปส่งโรงพยาบาล
-
หากบาดแผลรุนแรง ลึก เลือดไหลไม่หยุด อาจจะต้องเปลี่ยนผ้ากดแผลไม่ให้ชุ่มเลือด กดไว้ตลอด แล้วเคลื่อนย้ายไปโรงพยาบาล
-
หากสังเกตว่าลูกกะโหลกร้าวหมดสติ หายใจลำบาก จะต้องห้ามเลือดในท่านอน ห้ามเคลื่อนย้ายเอง แล้วโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกแขนขาหัก
-
ไม่ควรขยับตัวลูกเพื่อป้องการการบาดเจ็บเพิ่มเติม อาจให้ลูกนั่งหรือนอนในท่านิ่งๆ จากนั้นใช้แผ่นไม้ ไม้บรรทัด หรือกระดาษหนังสือม้วนเป็นทรงยาว ดามประกบ 2 ข้าง แล้วพันด้วยเทปกาวเพื่อป้องกันการขยับจนเกิดอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม
-
ระหว่างที่รอเรียกรถพยาบาล ให้ปลดเสื้อผ้าลูกให้หลวม หายใจสะดวก แต่ไม่ควรให้ดื่มน้ำหรือกินอะไร เพราะอาจมีอาการเจ็บปวดภายในที่พ่อแม่ไม่ทราบ ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้
-
รีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยทันที ซึ่งแพทย์อาจเอกซเรย์ เข้าเฝือกแขน หรือผ่าตัดในกรณีที่กระดูกทะลุผิวหนัง เพื่อฟื้นฟูกระดูกส่วนที่แตกหัก
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกโดนน้ำร้อนลวก
-
ล้างด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติประมาณ 10-15 นาทีเพื่อลดความร้อนและอาการปวดบริเวณที่โดนน้ำร้อนลวก
-
ใช้ผ้าสะอาดซับผิวเบาๆ จนแห้ง ห้าม! ทายาสีฟัน น้ำปลา หรือสมุนไพรใดๆ บริเวณที่โดนน้ำร้อนลวก เพราะอาจทำให้ระคายเคือง ติดเชื้อ อักเสบ และลุกลามเป็นแผลได้
-
พาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจและยาสำหรับทาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมกับความรุนแรงของแผลน้ำร้อนลวก (แผลโดนลวกมีระดับความรุนแรงที่ต่างกัน ดังนั้นควรอยู่ในการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ)
-
หากบริเวณที่โดนน้ำร้อนลวกเกิดถุงน้ำ ไม่ควรเจาะ! เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้
-
หมั่นทายา หรือทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และต้องรักษาความสะอาดแผลให้ดี
-
น้ำหากร้อนลวกบริเวณใบหน้าต้องรีบพาลูกส่งโรงพยาบาลเร็วที่สุด เพราะน้ำร้อนอาจโดนดวงตา หรือระคายเคืองส่วนอื่นได้
3 อุบัติเหตุเหล่านี้ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้เกิดค่ะ แต่ไม่ว่าอย่างไรเราต้องรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นกันไว้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับลูกเราหรือกับเด็กคนอื่นๆ ที่เราสามารถช่วยเหลือได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
