
พัฒนาการสมองลูกทารกเริ่มต้นตั้งแต่ในท้องแล้วค่ะ และนี่คือ 6 กิจกรรมที่พ่อแม่ควรทำทันทีหลังคลอด เพื่อกระตุ้นพัฒนาการสมองลูกทารกอย่างต่อเนื่อง
6 วิธีกระตุ้นพัฒนาการสมองลูกทารกตั้งแต่แรกเกิด ได้สนุก ได้เรียนรู้
- กระตุ้นพัฒนาการสมองทารกด้วยการคุยกับลูก
ยิ่งคุยกับลูกน้อยมากเท่าไหร่ ลูกก็จะยิ่งพัฒนาและเรียนรู้เรื่องคำมากขึ้น ที่สำคัญขณะพูดคุยควรแสดงสิ่งของนั้นๆ ให้ลูกเห็นด้วย จะทำให้ลูกเข้าใจมากขึ้นและเร็วขึ้น
- กระตุ้นพัฒนาการสมองทารกด้วยการอ่านหนังสือด้วยกัน
การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง พร้อมกับดูภาพในหนังสือไปด้วย จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์และอามรมณ์ความรู้สึกของลูกให้มั่นคง ทั้งยังช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ไปด้วย ลูกจะเรียนรู้และรู้จักจับเรื่องราวที่คุณอ่านให้ฟังได้ โดยเฉพาะเรื่องของคำศัพท์ การออกเสียงคำ การอ่านจากซ้ายไปขวา เป็นต้น นอกจากนี้ภาพในหนังสือยังช่วยให้ลูกได้เห็นได้รู้จักกับสิ่งต่างๆ ที่ลูกไม่เคยเห็นนอกเหนือจากสิ่งที่อยู่รอบตัว
- กระตุ้นพัฒนาการสมองทารกด้วยการใช้นิ้วมือทำให้เข้าใจดีขึ้น
การใช้สัญลักษณ์เพื่อช่วยสื่อสารกับลูก ก่อนที่ลูกจะพูดโต้ตอบได้ เป็นสิ่งสำคัญค่ะ ซึ่งคุณสามารถใช้มือ นิ้วมือเป็นตัวช่วยได้ มีผลการวิจัยที่ชี้ชัดว่าสัญลักษณ์ทางภาษาส่งผลดีต่อไอคิวและพัฒนาการทางภาษาของเบบี้ โดยเขามีการศึกษาวิจัยในเด็กเบบี้จำนวนหนึ่งซึ่งเรียนเกี่ยวกับสัญลักษณ์มือ 20 สัญลักษณ์ พบว่าเด็กกลุ่มนี้สามารถพูดได้เร็วขึ้น และไอคิวก็สูงกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับสัญลักษณ์
- กระตุ้นพัฒนาการสมองทารกด้วยนมแม่ดีที่สุด
มีผลการวิจัยบอกว่าเด็กในขวบแรกที่ได้รับนมแม่ตลอด จะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับนมแม่ อย่างไรก็ตามผลคะแนนที่ได้นี้สูงกว่ากันเพียงเล็กน้อย
- กระตุ้นพัฒนาการสมองทารกในเวลาที่เหมาะสม
แม้ลูกเล็กต้องการการตอบสนองอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง แต่กระนั้นก็ต้องการเวลาที่จะเรียนรู้หรือพัฒนาด้วยตัวเองด้วย เช่น ลูกต้องการเวลาที่จะเล่นของเล่นเอง ต้องการเวลาส่วนตัวที่จะคลานไปโน่นมานี่เอง เป็นต้น เพราะฉะนั้นเวลาตลอด 24 ชั่วโมงของลูก พ่อแม่ต้องจึงต้องสังเกตและรู้จักตอบสนองลูกให้ถูกจังหวะที่ลูกต้องการ และรู้จักปล่อยจังหวะให้ลูกได้มีเวลาของตนเอง เล่น หรือทำอะไรเองด้วย
- กระตุ้นพัฒนาการสมองทารกด้วยการให้ความอุ่นใจ
เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกน้อยรู้ว่าทุกความต้องการของเขาจะได้รับการตอบสนองด้วยความรักที่มั่นคงจากพ่อแม่เสมอ แรงขับเคลื่อนในการพัฒนาและเรียนรู้โลกกว้างของลูกก็จะเปี่ยมพลังมากขึ้น และวิธีที่จะทำให้ลูกรู้สึกดังกล่าวได้ คืออ้อมกอดอบอุ่นและสายตาของพ่อแม่ที่มองสบตาลูกทุกครั้ง
ทั้ง 6 ข้อไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับพ่อแม่ ยิ่งคุณทำได้ดี พัฒนาการทางสมองสติปัญญา และการเรียนรู้ของลูกน้อยก็จะยิ่งมีคุณภาพ และเปี่ยมศักยภาพมากขึ้น

ลูกทารกร้องไห้บ่อย ร้องไห้ไม่หยุด คุณแม่ไม่ต้องร้อนใจ ลองนำ 6 วิธีนี้ไปใช้กัน จะช่วยให้ลูกอารมณ์ดีขึ้นได้ง่าย ๆ ค่ะ
6 วิธีรับมือลูกทารกร้องไห้ไม่หยุด ลูกอารมณ์ดีง่ายๆ ด้วยมือมือแม่
- กระดิ่งลม
แขวนเจ้านี่ไว้ที่ประตูบ้าน ส่วนที่ลมพัดผ่านได้ เสียงดังกังวานและความเคลื่อนไหวของกระดิ่งช่วยเบนความสนใจและทำให้ลูกสงบขึ้นได้
- สัมผัสบรรยากาศนอกบ้าน
พอเริ่มเตาะแตะแล้ว เด็ก ๆ มักจะชอบออกนอกบ้าน เพราะมีหลายสิ่งรอบตัวแปลกตา ดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี
- ห่อตัวทารก
เด็กเล็กส่วนใหญ่ชอบการห่อตัวค่ะ เพราะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนอยู่ในท้องแม่ที่คุ้นเคย
- นั่งหน้ากระจก
จับลูกนั่งตักหน้ากระจกเงาบานใหญ่ เบี่ยงเบนความสนใจได้ดีเชียว เพราะเด็กๆ ชอบที่จะเห็นปฏิกิริยาของตัวเองอยู่แล้วฅ
- สถานที่ไร้สิ่งรบกวน
พาลูกไปที่ที่สงบ ไม่มีสิ่งรบกวนใดๆ เพราะบางครั้งลูกก็งอแงเพราะมีสิ่งกระตุ้นเร้าเกินไป
- เสียงของแม่
อุ้มลูกไว้แนบอกแล้วคุยกับเขา เสียงนุ่มๆ ของแม่ลดอาการหงุดหงิดของลูกได้ค่ะ
"ของเล่น" เป็นสื่อที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ช่วยทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และช่วยเรื่งความสนุกสนานอีกด้วย แต่อย่าเพิ่งซื้อของเล่นเด็กให้ลูก
ของเล่นเด็ก 5 ประเภท เลือกของเล่นให้ลูก เลือกให้ถูก เล่นได้นาน
ถ้าพ่อแม่ยังไม่รู้ว่าของเล่นเด็กมีกี่แบบและแบบไหนเหมาะกับลูกเรา นี่คือ 5 ประเภทของเล่นเด็กเสริมพัฒนาการที่พ่อแม่ต้องรู้ เลือกได้ถูก เล่นได้นาน ไม่เปลืองเงินซื้อของเล่นบ่อยๆ
ประเภทของของเล่นเด็ก
1. ของเล่นที่ให้เด็กได้ออกแรง (Active play)
ประเภทกีฬา เช่น ลูกบอล จักรยานสามล้อ อุปกรณ์ยิมนาสติก ประโยชน์คือ เสริมสร้างร่างกายและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง อาจจะรวมถึงอุปกรณ์กีฬา เช่น ไม้แบตมินตันสำหรับเด็ก
2. ของเล่นที่เด็กต้องสร้างขึ้นและควบคุมการเล่นเอง (Manipulative play)
เด็ก ๆ สามารถต่อ หรือประกอบให้เป็นรูปร่างได้ เช่น เลโก้ ไม้บล็อก จิ๊กซอว์ หรือโมเดลชุดหุ่นยนต์ ประโยชน์คือ ฝึกกล้ามเนื้อมือ และช่วยฝึกทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ อย่างการก่อทรายหรือการต่อไม้บล็อก เด็กจะต้องคำนวณให้ฐานใหญ่เพื่อที่ยอดด้านบนจะไม่ล้ม
3. ของเล่นที่เลียนแบบของจริง (Make-Belive play)
เช่น ชุดจำลองอุปกรณ์ทำครัว ชุดเครื่องมือหมอ และชุดแต่งตัวตุ๊กตาบาร์บี้ เป็นต้น ประโยชน์คือ ฝึกทักษะให้เด็กได้ใช้ของเหมือนจริงเพื่อเติมเต็มจินตนาการ เอื้อให้การเล่นบทบาทสมมติของเด็กสมบูรณ์แบบขึ้น
4. ของเล่นส่งเสริมจินตนาการ (Creative play)
คือของเล่นประเภท สีน้ำ สีไม้ แป้งโด ดินน้ำมัน หรือเครื่องดนตรี ประโยชน์คือ ส่งเสริมจินตนาการของเด็กให้บรรเจิด
5. ของเล่นเพื่อการเรียนรู้ (Learning play)
คือ ของเล่นเพื่อการพัฒนาทักษะ เช่น นิทาน หรือเกม ชุดทดลองวิทยาศาสตร์ ประโยชน์คือ ตอบสนองการเรียนรู้ที่ไม่หยุดยั้งของเด็กวัยคิดส์ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเล่นด้วยเพื่อให้ของเล่นนั้นสัมฤทธิ์ผลและไม่ควรเลือกของเล่นที่ยากเกินกว่าเขาจะเข้าใจนะคะ อาจจะเริ่มต้นด้วยเกมเศรษฐี หรือเกมบันไดงู
วิธีซื้อของเล่นเด็กให้คุ้มทั้งเงินและประโยชน์กับลูก
- เหมาะกับวัยของลูก โดยดูจากสัญลักษณ์ที่ระบุไว้ข้างกล่อง
- มาตรฐานการันตี สังเกตเครื่องหมาย มอก. (มาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม) เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในประเทศไทย
- แข็งแรงทนทาน ไม่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนหรือวัสดุที่แตกง่าย ตัวกล่องบรรจุของเล่นต้องแข็งแรงและทนทาน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับของเล่น
- วัสดุที่นำมาประกอบต้องไม่เป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่หลุดออกง่าย
- ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ ต้องไม่เกิดความร้อนมากเกินไป ไม่เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าดูด ไม่ใช้ไฟเกินกว่า 24 โวลต์
- หลีกเลี่ยงของเล่นที่ต้องใช้ความรุนแรงหรือมีเสียงดังเกิน 85 เดซิเบลในการเล่น เช่น ปืน ลูกดอก หรือประทัดที่อันตรายและก่อเสียงดังทำลายหู
- สีและพลาสติกที่ใช้ต้องไม่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว ปรอท โครเมียม สารหนู พลวง แบเรียม แคดเมียม หรือมีในปริมาณที่มอก.วางมาตรฐานไว้
- คำอธิบายชัดเจนบนกล่องของเล่น ระบุถึงส่วนประกอบและวัสดุที่ใช้ทำของเล่น รวมไปถึงโรงงานที่ผลิต ถ้าเป็นของเล่นนำเข้า ต้องมีบริษัทหรือโรงงานที่นำเข้าของเล่น และมีคำอธิบายการเล่นอย่างละเอียดด้วย เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและใช้งานผิดวัตถุประสงค์นั่นเอง
- ถ้าเป็นของเล่นที่เลียนแบบเครื่องป้องกันตัว เช่น หมวกกันน็อก หรือแว่นตาที่เลียนแบบนักวิทยาศาสตร์ จะต้องมีข้อความเตือนเหล่านี้ "ไม่สามารถใช้ป้องกันอันตรายได้เหมือนของจริง" "ไม่สามารถใช้ป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลตได้" "อย่าวางใกล้วัตถุไวไฟหรือใกล้ความร้อน" "อย่ายิงใกล้ตาหรือหู"
ของเล่นที่ไม่ควรให้ลูกเล่น
ลูกปัด ลูกแก้ว เมล็ดพืช และของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ด้วยสีสันและขนาด เด็กเล็กอาจจะเผลอไผลนำเข้าปากได้ง่าย
ลูกโป่ง เด็กเล็กอาจเจ็บตัวจากแรงแตกของลูกโป่ง
ของเล่นที่มีสายยาว เพราะถึงแม้กล้ามเนื้อมือกล้ามเนื้อแขนจะพัฒนาไปมากแล้ว แต่ถ้าเชือกพันคอหรือแขนเด็กไม่สามารถคลายปมเชือกได้เอง
ปืนอัดลม ปืนลูกดอก ธนู มีดปลอม ของเล่นที่ทำคล้ายอาวุธ ด้วยแรงอัดเมื่อโดนตาจะทำให้เลือดออกในช่องลูกตา ทำให้ตาบอดได้และอาจส่งผลถึงพฤติกรรมคือทำให้เขาซึมซับพฤติกรรมก้าวร้าวจากของเล่นที่ใช้ความรุนแรงด้วย
ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ เพราะมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสมองเด็ก
เบบี้คริสตัล เมื่อโดนน้ำจะพองตัวได้ถึง 400 เท่า ถ้าเด็กเผลิเอาเข้าปาก อาจทำให้ลำไส้อุดตัน และเสียชีวิตได้
นกหวีดเป่าลม มีโอกาสที่ไส้นกหวีดจะหลุดเข้าหลอดลมได้
ของเล่นสไลม์ อาจมีเชื้อโรคและสารตกค้าง
ของเล่นที่มีแบตก้อนกลม ที่ไม่มีฝาปิดแน่นสนิท เพราะเด็กอาจแกะแบตเตอรี่เอามาเล่น เอาเข้าปาก หรือยัดจมูก

คุย เล่นกับลูกในท้อง 10 วิธีกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ ที่คนท้องและว่าที่คุณพ่อทำได้
ลูกในท้องก็เล่นแล้วนะคุณแม่ เรามี 10 วิธีกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่เอาไปลองเล่นกระตุ้นลูกกันค่ะ บอกเลยว่าแต่ละกิจกรรมง่าย แต่ก็เวิร์กสุดๆ ที่จะช่วยให้ลูกในท้องได้ขยับเคลื่อนไหว ได้ลองใช้พลัง และความความสนุกอารมณ์ดีตั้งแต่ในท้องแม่ค่ะ... พ่อก็ต้องช่วยนะ
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 1: การปรับอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ
จะช่วยกระตุ้นลูกรักในครรภ์ การศึกษาทางการแพทย์พบว่า คุณแม่ที่อารมณ์ดีอยู่เสมอจะทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่า เอนดอร์ฟิน ออกมาผ่านไปทางสายสะดือไปยังลูก ทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีทั้งสมอง (IQ) และอารมณ์ (EQ) รวมถึงตอนคุณพ่ออารมณ์ดี ๆ เข้ามากอดท้องแม่ มาคุยกับลูก เสียงคุณพ่อก็สร้างความอบอุ่นและปลอดภัยมาก ๆ ค่ะ
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 2: ฟังเพลง
เสียงเพลงกระตุ้นจะทำให้เครือข่ายใยประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น เมื่อลูกคลอดออกมา มีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง รู้สึกผ่อนคลาย และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี คุณพ่ออาจจะร้องเพลงให้ลูกฟังเอง หรือ หาเพลงให้คุณแม่และลูกฟัง โดยควรจะเปิดเพลงให้อยู่ห่างจากหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต และเปิดเสียงดังพอประมาณเพื่อลูกในครรภ์จะได้ฟังเสียงเพลงไปด้วย
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 3: พูดคุยกับลูก
การพูดคุยกับลูกในครรภ์บ่อย ๆ จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดีและเตรียม พร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับลูกบ่อย ๆ ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ประโยคซ้ำ ๆ เพื่อให้ลูกคุ้นเคย
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 4: นวด ลูบหน้าท้อง
การลูบหน้าท้องจะกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกของลูกให้มีพัฒนาการดีขึ้น การลูบท้องควรลูบเป็นวงกลม จากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน บริเวณไหนก่อนก็ได้
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 5: ส่องไฟที่หน้าท้อง
ลูกในท้องสามารถกระพริบตาตอบสนองต่อแสงไฟที่กระตุ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน การส่องไฟที่หน้าท้องจะทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็น มีพัฒนาดีขึ้นและเตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นภายหลังคลอด
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 6: ออกกำลังกาย
เวลาคุณแม่มีการออกกำลังกาย ลูกที่อยู่ในครรภ์ก็จะมีการเคลื่อนไหวตามไปด้วย และผิวกายของลูกจะไปกระแทกกับผนังด้านในของมดลูก ซึ่งจะกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกให้พัฒนาดีขึ้น
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 7: เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม
เนื้อสมองของลูกน้อยในครรภ์มีองค์ประกอบเป็นไขมัน โดยเฉพาะไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว 60% กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ความสำคัญคือ DHA ซึ่งมีมากในอาหารปลาพวกปลาทะเลและสาหร่ายทะเล และ ARA ซึ่งมีมากในอาหารพวกน้ำมันพืช เช่น น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเม็ดทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น คุณพ่อต้องหาอาหารประเภทนี้ให้คุณแม่กินบ่อย ๆ ลูกก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 8: เดินเล่นกระตุ้นทารกในครรภ์
การออกไปเดินเล่นยืดเส้นยืดสายถือเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ ยิ่งช่วงเวลาเช้าหรือเย็นที่อากาศดี ไม่ร้อนเกินไปจะช่วยให้สดชื่นจากการรับออกซิเจนได้ด้วย คุณพ่อควรชวนและพาคุณแม่ไปเดินเล่นด้วยกันบ่อย ๆ ค่ะ
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 9: ให้ลูกเตะ
คุณพ่อคุณแม่อาจจะเล่นหรือกระตุ้นลูกด้วยการเอามือลูบ หรือกระตุ้นให้ลูกเตะมากขึ้น เมื่อลูกได้รับการกระตุ้นจากภายนอกก็จะขยับตัวมากขึ้น ช่วยให้ลูกได้ออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสายอยู่ในท้อง และยังทำให้ทราบว่าลูกยังเคลื่อนไหวเป็นปกติอยู่ค่ะ
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 10: อ่านหนังสือ อ่านนิทาน
การอ่านหนังสือคล้ายกับการพูดคุย หรือให้ลูกฟังเพลง เป็นการกระตุ้นการได้ยินของลูก การเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังช่วยให้แม่ได้ผ่อนคลายและช่วยให้ลูกในท้องจดจำเสียงพ่อแม่ได้ตั้งแต่ในครรภ์
ขอบคุณข้อมูลจาก:
รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ของเล่นลูกทารกไม่ต้องไปหาที่ไหน ตัวพ่อแม่นั่นแหละค่ะที่เป็นของเล่นที่ดีที่สุด นี่คือ 4 การเล่นที่สนุกได้พัฒนาการแน่นอน
พ่อแม่คือของเล่นที่ดีที่สุด 4 วิธีเล่นกับลูกทารก สนุกได้พัฒนาการจนต้องเล่นทุกวัน
ลูกวัยขวบปีแรก นอกจากจะโตวันโตคืนแล้ว ยังมี พัฒนาการเด็ก ด้านต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็มักจะสรรสร้าง เพียรพยายามหาของเล่นที่ได้รับการยอมรับว่าช่วยกระตุ้น พัฒนาการเด็ก ได้ แต่ต้องบอกว่า เสียง สีหน้า ท่าทางและร่างกายของคนเป็นพ่อแม่เนี่ยแหละค่ะ สุดยอดของเล่นของลูกเลยทีเดียว
มาทำตัวเป็นของเล่นกับ 4 เกมสนุกของลูกกันค่ะ
- รถยกโยกเยก
พ่อหรือแม่สามารถทำตัวเป็นรถยกโยกเยกได้ไม่ยาก เพียงจับลูกวางบนขา ยกขาขึ้นเพื่อให้ลูกได้ลอยตัวสำรวจอากาศ เห็นสิ่งรอบตัวในมุมมองใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิม แบบนี้กระตุ้นพัฒนาการการมองเห็นของลูกได้ดี และทำให้ลูกเคลื่อนไหวแขนขาได้อย่างอิสระ
- เสียงดนตรี
เสียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงดีดนิ้ว ผิวปาก ปรบมือ สร้างความตื่นตาให้ลูกไม่ใช่น้อย เมื่อพ่อแม่ทำเสียงเหล่านี้ เสริมด้วยใบหน้าที่แสดงความรู้สึกหลายๆ แบบ ให้ลูกใช้มือสัมผัสรูปหน้าที่แปลกตา พร้อมๆ กับเพลินไปกับการฟังเสียง ได้ทั้งเรื่องของการมองเห็น การได้ยินและการสัมผัสไปพร้อมกัน เสียงสูง ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและสดใสร่าเริง ส่วนเสียงต่ำ ทำให้ลูกสงบเงียบและพึงพอใจ
- ภูเขาลูกใหญ่
ร่างกายพ่อแม่ก็เหมือนภูเขาลูกโต ที่ให้ลูกได้ปีนป่าย นอกจากจะสนุกสนานแล้ว ยังได้กล้ามเนื้อแขนขาที่แข็งแรงขึ้นด้วย ใช้มือของคุณประคองเผื่อลูกเซหรือล้ม และโอบกอดเบาๆ เมื่อลูกทำสำเร็จเพื่อให้กำลังใจ
- ม้าหมุน
ให้ลูกได้เห็นโลกแบบ 360 องศา ได้มองสิ่งรอบตัวในอีกมุมหนึ่ง นอกจากจ้องมองสิ่งต่างๆ แล้ว ลูกจะจ้องมองใบหน้าพ่อแม่ที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินนี้ด้วย เล่นเสร็จแล้วกอดลูกซักหน่อย เพื่อให้ลูกรู้สึกอุ่นใจ ขึ้นม้าหมุนรอบนี้ได้ฝึกทั้งสายตาและการทรงตัว
ผลพลอยได้จากการแปลงร่างเป็นเครื่องเล่นแสนสนุกของลูก เปิดโอกาสให้คุณได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย เข้ากับสโลแกนที่ว่า แค่ขยับ=ออกกำลังกาย ดังนั้นไม่ใช่แค่พัฒนาการเด็ก และความอบอุ่นมั่นใจเท่านั้นที่ลูกจะได้ พ่อแม่เองก็ได้ส่วนหนึ่งของสุขภาพกายใจที่ดีด้วยเช่นกันค่ะ
เคล็บลับการเล่นกับลูก
ของเล่นสำหรับลูกนั้นมีหลายรูปแบบ คุณพ่อคุณแม่สามารถครีเอทวิธีการเล่นตามแบบฉบับของตัวเองได้ ลองค้นหาวิธีการเล่นไปเรื่อยๆ แล้วคุณก็จะค้นพบวิธีการเล่นที่เหมาะสมกับลูกและตัวคุณเอง หรือจะนำ 4 วิธีที่นำมาฝากกันคราวนี้ไปประยุกต์ใช้ต่อก็ได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ค่ะ

กล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือของลูกก็ต้องได้รับการฝึกฝนเป็นประจำเพื่อให้แข็งแรง หยิบจับอยู่มือ เรามีวิธีส่งเสริมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือลูกแรกเกิด - 6 ปี มาแนะนำค่ะ
พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูกเล็กหยิบจับของได้อยู่มือ
กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ ส่วนนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อมือ ฯลฯ ซึ่งจะต้องพัฒนาไปพร้อมกับสายตา แขน ขา และอวัยวะส่วนอื่นๆ หากกล้ามเนื้อมือพัฒนาล่าช้าก็อาจส่งผลให้พัฒนาการด้านอื่นๆ ช้าตามไปด้วย ดังนั้นมาดูกันสิคะ ว่าลูกมีพัฒนาการกล้ามเนื้อมือในแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไรกันบ้าง
วิธีพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก
- กล้ามเนื้อมัดเล็กลูกวัย 0 - 3 เดือน : นิ้วมือจะค่อยๆ ยืดและเหยียด ลูกจะเริ่มกำและกางนิ้วมือได้ และสามารถคว้าจับสิ่งของใกล้ตัวได้
กระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก : หาของเล่นชิ้นใหญ่ๆ นุ่มๆ ให้ลูกได้ลองสัมผัส จับ กำ ขยำ หรือแม้แต่เวลาดื่มนมแม่ คุณแม่อาจให้ลูกกำนิ้วแม่ จับหน้าแม่
- กล้ามเนื้อมัดเล็กลูกวัย 3 - 6 เดือน : กล้ามเนื้อมือของลูกจะแข็งแรงมากขึ้น ลูกจะเริ่มคว้าจับสิ่งของใกล้ตัวด้วยมือทั้ง 2 ข้างได้ เช่น ของเล่นที่มีเสียง ฯลฯ
กระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก : หาของเล่นมีเสียงมาเขย่าให้เขามืองตาม แล้วนำไปยื่นให้ใกล้ๆ เพื่อให้ลูกลองคว้าจับ โดยของเล่นควรมีชิ้นใหญ่ เพื่อให้ลูกได้ลองจับทั้งสองมือไปพร้อมๆ กัน และหากยังจับไม่อยู่มือ คุณแม่ก็ควรหยิบมาลองให้ลูกจับบ่อยๆ อย่าเพิ่งท้อ เพราะเขาเองก็อยากจับเล่นให้อยู่เหมือนกันคะ
- กล้ามเนื้อมัดเล็กลูกวัย 6 - 9 เดือน : ลูกเริ่มเคลื่อนไหวมือได้คล่องแคล่วขึ้น สามารถหยิบจับของชิ้นเล็กๆได้ เช่น เมล็ดถั่ว ลูกปัด ฯลฯ
กระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก : เพิ่มของเล่นให้หลากหลายมากขึ้นทั้งขนาดและผิวสัมผัส เพราะลูกจะได้ลองขยับมือจับได้ตามขนาดของเล่น จดจำได้ว่าของเล่นชิ้นไหนควรจับอย่างไร มีสัมผัสอย่างไร เป็นการช่วยเรื่องความจำและการเรียนรู้ได้มากขึ้นด้วยค่ะ
- กล้ามเนื้อมัดเล็กลูกวัย 9 เดือน - 1 ปี : ลูกจะสามารถบังคับนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้หยิบของจากพื้น และปล่อยให้หลุดจากมือได้ตามต้องการ วัยนี้เรียกว่า "วัยทิ้งของ"
กระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก : ช่วงนี้ลูกจะจับแล้วปล่อยของเล่นหลุดมือตลอดเวลา เขาไม่ได้กำลังแกล้งแม่นะคะ แต่กำลังสนุกกับร่างกายตัวเองที่สามารถหยิบของและปล่อยของได้ ดังนั้นคุณแม่อาจจะเหนื่อยหน่อยกับการเก็บของขึ้นๆ ลงๆ คุณแม่จึงควรเน้นของเล่นที่หล่นไม่แตกหัก น้ำหนักเบา และช่วงนี้ให้ลูกลองใช้มือยืดเกาะขอบโซฟานุ่มๆ หรือขอบเตียงให้มั่นเพื่อตั้งไข่ได้เลย จะช่วยเพิ่มกำลังที่มือและแขนขาด้วยค่ะ
- กล้ามเนื้อมัดเล็กลูกวัย 1 - 3 ปี : ลูกจะสามารถจับดินสอขีดเขียนหรือลากเส้นตรง เส้นโค้ง วงกลมตามรอยปะได้ และสามารถพับกระดาษให้เป็นชิ้นเล็กๆ ได้
กระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก : หาดินสอสีให้ลูกลากเส้นเล่นได้เลยค่ะ หรือให้เขาของหยิบจับของใช้ในบ้านช่วยแม่ด้วยก็ได้ เช่น ขยำผ้ามาช่วยถูพื้น หยิบไม้กวาดเล็กๆ มาช่วยกวาดบ้านเลียนแบบแม่
- กล้ามเนื้อมัดเล็กลูกอายุ 3 - 6 ปี : สามารถควบคุมนิ้วมือ และมือได้มากขึ้น ลูกจะชอบเล่น หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้นิ้วมือ เช่น แกะชิ้นส่วนของเล่น วาดภาพระบายสี ฯลฯ
กระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก : ลูกอนุบาลหยิบจับของได้อยู่มือแล้ว กล้ามเนื้อมัดเล้กแข็งแรงมากแล้วค่ะ นอกจากการหยิบจับดินสอเพื่อขีดเขียนหนังสือ หรือวาดรูปแล้ว คุณแม่อาจจะมอบหมายงานบางอย่างให้เขาลองทำ เช่น กรอกน้ำใส่ตู้เย็น ยกจานข้าวเบาๆ ก็ช่วยให้เขาพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือได้ดี รวมทั้งฝึกความรับผิดชอบได้ด้วยค่ะ
พัฒนาการของอวัยวะส่วนต่าง ๆ มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของลูก หากคุณแม่ส่งเสริมให้กล้ามเนื้อมือของลูกแข็งแรง อวัยวะส่วนอื่นๆ ก็จะมีการพัฒนาที่ดีตามไปด้วยค่ะ

ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย โรคที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม!
ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย คือ ภาวะที่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายไปสู่วัยหนุ่มสาวก่อนวัยอันควร
สัญญาณที่บ่งบอกว่าบุตรหลานของท่านอาจจะมีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
-
เด็กหญิงที่มีหน้าอก กลิ่นตัว ขนหัวหน่าว มีการเพิ่มขึ้นของความสูงอย่างรวดเร็วก่อนอายุ 8 ปี หรือมีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ปีครึ่ง
-
เด็กชายที่มีขนาดอัณฑะหรืออวัยวะเพศโตขึ้น มีกลิ่นตัว ขนหัวหน่าว เสียงแตก ก่อนอายุ 9 ปี
สาเหตุของภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
สาเหตุจากการที่ระบบควบคุมการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวทำงานก่อนวัย ซึ่งส่วนมากในเด็กหญิง เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแต่จะตรวจพบฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองมากกว่าปกติ ส่วนในเด็กชายสาเหตุที่พบบ่อยคือเนื้องอกในสมองที่ทำให้มีการผลิตฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองออกมาก่อนวัยอันควร ซึ่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่สูงขึ้นจะกระตุ้นให้มีการสร้างฮอร์โมนเพศจากรังไข่ในเพศหญิงและอัณฑะในเพศชายจึงทำให้เด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายไปสู่วัยหนุ่มสาว
สาเหตุจากการที่มีฮอร์โมนเพศเกิน โดยอาจเกิดจากได้รับฮอร์โมนจากภายนอก เช่น จากยารับประทาน หรือยาทาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ หรือมีการสร้างฮอร์โมนเพศขึ้นมาเองในร่างกายนอกเหนือระบบควบคุมการเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เช่น เนื้องอกของรังไข่หรืออัณฑะ หรือภาวะที่มีความผิดปกติของต่อมหมวกไต เป็นต้น
หากสงสัยว่าบุตรหลานของท่านมีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยควรทำอย่างไร ควรพามาพบกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อเพื่อตรวจประเมิน โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจประเมินเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น เอกซเรย์อายุกระดูก ตรวจการสร้างฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองและฮอร์โมนเพศ อัลตร้าซาวน์มดลูกและรังไข่ รวมถึงตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองในรายที่มีข้อบ่งชี้ เป็นต้น
ผลกระทบจากภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
-
ผลกระทบทางร่างกาย ได้แก่ ผลต่อการเจริญเติบโตคือในระยะแรกจะสูงกว่าเด็กในวัยเดียวกัน แต่อาจจะมีภาวะตัวเตี้ยตามมาในวัยผู้ใหญ่เนื่องจากการที่มีฮอร์โมนเพศก่อนวัยจะทำให้มีการพัฒนาของอายุกระดูกเร็วกว่าวัยจึงทำให้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตสั้นกว่าปกติ นอกจากนี้เด็กที่เริ่มเป็นสาวก่อนวัยจะมีแนวโน้มที่จะมีประจำเดือนเร็วจึงอาจส่งผลต่อการดูแลตนเองในวัยเด็ก
-
ผลกระทบทางจิตใจ ได้แก่ ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติจะทำให้เด็กรู้สึกแตกต่างจากเพื่อนซึ่งอาจจะส่งผลต่อความมั่นใจในตนเอง และอาจเกิดปัญหาจากการถูกล้อเลียน รวมถึงการถูกล่อลวงต่าง ๆ เนื่องจากพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจไม่สอดคล้องกัน
วัตถุประสงค์ของการรักษาภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
-
เพื่อป้องกันปัญหาทางร่างกายและจิตใจที่เกิดจากภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
-
เพื่อให้มีการเจริญเติบโตเต็มที่ตามศักยภาพของพันธุกรรม วิธีการรักษาภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
-
รักษาสาเหตุ เช่น การหยุดยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ การผ่าตัดเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนเพศ เป็นต้น
-
ฉีดยาชะลอการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวโดยฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อหรือไขมันทุก 1 หรือ 3 เดือน เพื่อยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ซึ่งจะทำให้เกิดการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชั่วคราว และชะลอการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวรวมถึงอายุกระดูกในขณะที่รักษา อย่างไรก็ตามเมื่อหยุดการรักษาผู้ป่วยจะสามารถเข้าสู่วัยหนุ่มสาวได้ตามปกติ
รักลูก Community of The Experts
พญ. นิภาพรรณ จรดล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ และเมตาบอลิก โรงพยาบาลพระรามเก้า
จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ และจากผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในประเทศไทยเมื่อปี 2564 พบว่า 17.6 %ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งการฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย
สาเหตุส่วนหนึ่งของการเป็นโรคซึมเศร้าจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายนั้นคือการมีปัญหาพัฒนาการด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่พ่อแม่สามารถรับมือได้ตั้งแต่เด็ก แต่ละเลยและไม่รู้วิธีการ
ฟังวิธีการรับมือกับอารมณ์ลูกจาก The Expert ศ.นพ.วีรศักดิ์ ชลไชยะ หัวหน้าสาขาพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
Apple Podcast: https://apple.co/3m15ytB
Spotify: https://spoti.fi/3cvAVcX
Youtube: https://bit.ly/3cxn31u
AI แย่งงานคน มหาวิทยาลัยยกเลิกการสอนวิชา… เพราะโลกเปลี่ยนทุกวัน เราไม่สามารถคาดเดาถึงการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ การเตรียมลูกให้พร้อมสำหรับอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ
ฟัง The Expert อาจารย์ พญ.ลลิต ลีลาทิพย์กุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกวิธีการเตรียมลูกให้พร้อมสำหรับอนาคตในทุกด้าน
พ่อแม่ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ลูกสมองไวพร้อมได้ตั้งแต่วันนี้
รายการรักลูก The Expert Talk อาจารย์ พญ.ลลิต ลีลาทิพย์กุล
ติดตามรักลูก Podcast ได้ที่https://linktr.ee/rakluke
เมื่อลูกถูมิจฉาชีพหลอกลวง พ่อแม่จะช่วยลูกและรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร ฟัง อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ
ติดตามรักลูก Podcast ได้ที่https://linktr.ee/rakluke

ความสุขของพ่อแม่ทุกคนก็คือได้เห็นลูกน้อยมีความสุข การหลั่งสารแห่งความสุข (เอนดอร์ฟิน) ออกมา นอกจากจะทำให้ลูกมีใจที่เป็นสุขแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการสมองให้กับลูกได้อีกด้วย
สร้างสารแห่งความสุข เพิ่มพัฒนาการสมองลูกขวบปีแรก
ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าสารเอนดอร์ฟิน เป็นสารที่มีคุณสมบัติในการเสริมพลังด้านบวก (Positive reinforcement) โดยปริมาณของสารเอนดอร์ฟินในพลาสมามีความสัมพันธ์กับความรู้สึกสบาย รู้สึกมีความสุข การมีอารมณ์ดี และการมีสุขภาพดี เป็นต้น
สาร Endorphins เอนดอร์ฟินสารแห่งความสุข คือสารที่มีคุณสมบัติคล้ายฝิ่นซึ่งพบอยู่ในร่างกายของเรา จัดเป็นสารประเภทเดียวกันกับมอร์ฟีนและเฮโรอีนที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมาค่ะ
หน้าที่ของสาร Endorphins
- ลดความเจ็บปวด
เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บจะช่วยทำให้รู้สึกชาและลดความเจ็บปวดได้
- ลดความเครียด
เมื่อเราเครียดสารเอนดอร์ฟินจะถูกสร้างและหลั่งออกมาพร้อมๆ กันกับฮอร์โมนเครียดเพื่อช่วยให้เราผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลและความเครียด
นอกจากนี้ยังทำให้เรารู้สึกสบายและมีความสุข มีงานวิจัยพบว่าสารเอนดอร์ฟินจะหลั่งมากขึ้นเมื่อมีความรัก เมื่อได้หัวเราะ การลูบสัมผัสผิวกาย การนวด การออกกำลังกาย การทานอาหารที่มีรสหวาน เช่น ช็อคโกแลต เป็นต้
กิจกรรมเสริมสร้างความสุขให้ลูกน้อย กระตุ้นพัฒนาการสมองสำหรับลูกวัยแรกเกิดถึงขวบปีแรก
- เวลาช่วงที่ให้นมลูก สบตา ยิ้ม พูดคุย ร้องเพลง และเล่านิทานให้ลูกฟัง
- สัมผัสไปตามเนื้อตัวของลูก
เพราะการสัมผัสผิวกาย การกอดและการนวดตัวลูกเป็นอีกวิธีที่ทำให้ลูกรู้สึกสบาย อบอุ่นใจ มีความสุขและสร้างความผูกพันระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกน้อยด้วยค่ะ
- ขณะทำกิจกรรมกับลูกคุณแม่อาจเปิดเพลงบรรเลงเบา ๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกสงบและผ่อนคลาย สำหรับลูกวัยนี้ ความรักของคุณพ่อคุณแม่ที่สื่อไปถึงลูกน้อยผ่านการเลี้ยงดู เป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้นสารแห่งความสุขให้หลั่งในสมองของลูก ทำให้ลูกมั่นใจว่าเขาเป็นที่รักของทุกคนในครอบครัว
เด็กที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีความสุขจะมีความภาคภูมิใจในตนเอง พอใจในตนเอง ไม่รู้สึกว่าตัวเองขาดความรักความอบอุ่น เพราะครอบครัวเป็นภูมิคุ้มกันอย่างดีที่จะช่วยป้องกันลูกให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงมีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด ให้ความรัก ความอบอุ่น การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวอย่างมีความสุข การจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้ลูกได้ซึมซับความสุขสงบจากธรรมชาติรอบตัว เพียงเท่านี้ก็ทำให้ลูกได้ค้นพบความสุขจากภายในตัวเองจากสารเอนดอร์ฟินที่หลั่งออกมาแล้ว
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ : ผศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล โครงการวิจัยชีววิทยาระบบประสาทและพฤติกรรม สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล

กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ กล้ามเนื้อที่มือลูกค่ะ แม่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูกทารกแต่ละเดือนได้ด้วยกิจกรรมต่อไปนี้ค่ะ
เทคนิคกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมือลูกทารกให้แข็งแรง หยิบจับอยู่มือ
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้าเนื้อมือไม่สามารถดำเนินไปตามลำพังได้ จำเป็นต้องอาศัยทักษะการมองเห็นร่วมด้วย เพราะการทำงานของมือและตาจะประสานกัน คือมีการมองตามมือตัวเอง เช่น เวลาลูกจับนิ้วพ่อแม่ ตาก็จะมองนิ้วตามด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นที่พ่อกับแม่เห็นนิ้วน้อย ๆ เคลื่อนไหวหยิบจับของง่ายๆ นั้น เอาเข้าจริงแล้วต้องใช้การทำงานประสานกันของอวัยวะหลายส่วนเลยทีเดียว
การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูกทารก
กล้ามเนื้อมักเล็กลูกทารกวัย 1-3 เดือน
หลังจากแรกเกิดเด็กทารกจะมีสัญชาตญาณการคว้าจับ ช่วง 3 เดือนนี้แรงคว้าจับเริ่มคลายตัวลงไป นิ้วมือจะค่อยๆ ยืดเหยียด ซึ่งเด็กทารกมักให้ความสนใจมือของตัวเอง บางครั้งก็จะกางมืออ้าตลอด ชอบยกมือขึ้นมาดูเล่น ถ้าพ่อแม่วางสิ่งของลงในมือ เจ้าตัวเล็กก็ถือไว้ได้ไม่นานนัก ต้องใช้เวลาอีกอีกสักนิด ช่วงนี้กำๆ กางๆ ยกมือขึ้นดูเล่นไปพลางๆ ก่อนค่ะ
กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก : จ๊ะเอ๋มือจ๋า ลองใช้ของเล่นที่มีพื้นผิวต่างกันเขี่ยมือลูกเบาๆ เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัส หรือวางสิ่งของลงในมือ ลูกจะรีบใช้อุ้งมือรัดของเล่นชิ้นนั้นไว้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไม่อยากใช้วัสดุอุปกรณ์ก็ลองใช้มือคุณแม่นี่ล่ะเล่นกับนิ้วมือน้อยๆ ขณะที่กำลังนอนหงายผึ่งพุงสบายอยู่เพื่อให้ลูกมองเห็นด้วยค่ะ
----------------------------------------------------------
กล้ามเนื้อมักเล็กลูกทารกวัย 3-6 เดือน
กล้ามเนื้อมือเจ้าตัวเล็กเริ่มแข็งแรงขึ้นมาก เพราะเขาควบคุมมือได้มากขึ้น อย่างดึงเสื้อมาเล่นจ๊ะเอ๋กับพ่อแม่ได้ ช่วงนี้เขาจะชอบคว้าของด้วยสองมือ ชอบหยิบจับหรือขยำของเล่นที่มีเสียง แต่อาจจะยังถือของที่มีน้ำหนักไม่ค่อยได้ แต่ก็พยายามใช้ปลายนิ้วเกี่ยวหรือคว้าจับสิ่งของ และค่อยๆ ใช้นิ้วกลางกับนิ้วชี้คีบของมากกว่า รอกระทั่งเข้าเดือนที่ 6 ลูกจึงประคองขวดนมและสามารถย้ายของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้
กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก : เอื้อมคว้าหยิบจับ ลองยื่นของเล่นไปให้เขาใกล้ๆ ลูกจะเอื้อมมือออกมาคว้า เป็นการเล่นร่วมกัน หากพ่อแม่อยากกระตุ้นนิ้วมือลูกให้รู้จักการจับและปล่อยด้วยการเล่นเกมรับส่งของเล่น หรือจะฝึกให้ใช้ช้อนกินอาหารเองก็ได้
----------------------------------------------------------
กล้ามเนื้อมักเล็กลูกทารกวัย 6-9 เดือน
มือไม่อยู่สุขแล้ว เด็กทารกมักจับของเล่นไว้ในมือนานๆ แม้จะหยิบของเล่นชิ้นใหม่ขึ้นมาก็ไม่ยอมทิ้งชิ้นเดิม และยังชอบทำให้เกิดเสียง เช่น ใช้ของเล่นเคาะโต๊ะ และเริ่มเคลื่อนไหวคล่องแคล่วมากขึ้น มีรายละเอียดในการเล่นมากขึ้น เช่น ใช้นิ้วแหย่ แคะ เกา แถมพยายามหยิบจับของเล็กจิ๋ว เช่น เม็ดถั่วจากพื้น หรือสร้อยคอเส้นเล็กจากคอของแม่ ฯลฯ
กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก : นักหยิบจอมซน เป็นช่วงที่สนุกกับการใช้นิ้วหยิบของค่ะ เมื่อลูกพยายามนักหนากับการหยิบจับของชิ้นเล็ก ให้ลองหั่นอาหารหรือผลไม้เป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดที่เขาพอหยิบเข้าปากได้ให้ฝึกหยิบดูสิคะ เขาจะสนุกที่หยิบได้และยังอิ่มท้องด้วย
----------------------------------------------------------
กล้ามเนื้อมักเล็กลูกทารกวัย 9-12 เดือน
ลูกสามารถหยิบของด้วยนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ได้แล้ว มิหนำซ้ำยังหยิบสิ่งของจากพื้นและปล่อยสิ่งของให้หลุดมือได้ตามใจสั่ง คราวนี้เขาจะสนุกกับการหยิบโน่นขว้างนี่ และพยายามถือแท่งไม้ 2 อันด้วยมือข้างเดียวอีกด้วย
กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก : หยิบโยนแสนสนุก จะชอบใช้มือเดียวถือของหลายชิ้น ให้พ่อแม่วางของเล่นลงในมือลูกหลายๆ ชิ้นให้เขาโยนทิ้ง เพราะการปล่อยของให้หลุดจากมือเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนที่สมองจะรับรู้และสั่งการ เด็กต้องฝึกอยู่นานค่ะ ส่วนการถือของ 2 ชิ้นในมือเดียวนั้น พ่อแม่คงต้องค่อยๆ ฝึกโดยวางแท่งไม้ทั้งสองลงไปในมือเขาพร้อมๆ กัน

เด็กเริ่มหัดเดินได้ตอนอายุประมาณ 8 เดือนค่ะ พ่อแม่ควรช่วยลูกหัดเดิน ฝึกเดินได้อย่างคล่องแคล่วด้วยเทคนิคต่อไปนี้
เทคนิคช่วยลูกหัดเดิน ฝึกเดิน กระตุ้นกล้ามเนื้อขาให้ลูกหัดเดินได้อย่างมั่นคง
ขาที่แข็งแรงมีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ของลูกไม่น้อยเลยค่ะ เพราะช่วยเปิดโอกาสให้ลูกได้ออกไปสัมผัสโลกภายนอก โดยปราศจากการคอยช่วยเหลือ (อุ้ม) ของพ่อแม่ ซึ่งสังคมภายนอกที่ลูกได้พบเจอจะช่วยสอนทักษะสังคม ทักษะการใช้ชีวิต และยังเป็นจุดแรกที่ช่วยสร้างความมั่นใจว่าลูกจะยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้
3 ประสาน กล้ามเนื้อ การทรงตัว และการเคลื่อนไหว ช่วยลูกหัดเดิน
กว่าลูกจะยืนได้ด้วยตัวเองต้องอาศัยพัฒนาการกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวให้ทำงานประสานกันดีเสียก่อน ซึ่งหากสังเกตจะพบว่าพัฒนาการทั้งสามนี้จะพัฒนาไปพร้อมๆ กันตั้งแต่แรกเกิดจนเดินได้ ไล่ไปตั้งแต่ศีรษะ คอ ไหล่ ลำตัว ก้น สะโพก จนกระทั่งเท้า เมื่อพัฒนาการการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อช่วงสะโพกและเท้าแข็งแรงขึ้น จากเบบี๋ที่คลานไปทั่วบ้านก็จะเริ่มทรงตัวในท่ายืนและเกาะเดินค่ะ
แรกฝึกเดินลูกอาจจะเดินขากางๆ ทิ้งน้ำหนักตัวจากด้านหนึ่งไปด้านหนึ่งไม่คล่องแคล่ว หรือบางทีก็สะดุดล้มได้ง่ายๆ คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งตกใจนะคะ นั่นเป็นเพราะการทรงตัวในท่ายืนของลูกยังเป็นเรื่องใหม่และไม่สมดุลนัก แต่เชื่อเถอะว่าไม่นานนักเจ้าตัวเล็กจะเริ่มก้าวเดินเองได้ในที่สุด
เทคนิคช่วยลูกหัดเดิน ฝึกเดิน
- จัดสถานที่ให้เหมาะสม กว้างขวาง และปลอดภัย เพื่อให้ลูกมีที่พอตั้งไข่ เกาะเดินและหัดก้าวเดิน
- สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ด้วยการวางเส้นทางหัดเดิน เช่น ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มั่นคงและไม่เคลื่อนที่ง่ายๆ ให้ลูกใช้เป็นอุปกรณ์เกาะเดิน
- ปกปิดเหลี่ยมมุมตามขอบโต๊ะที่แหลมคม ด้วยฟองน้ำหรือผ้านุ่มๆ เพื่อป้องกันอันตรายหากลูกหกล้มไปโดน
- พ่อแม่ควรอยู่ใกล้ๆ คอยดูแล หรือช่วยเหลือยามที่ลูกต้องการ อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกด้วย
- แรกเริ่มหัดยืนคุณแม่อาจช่วยจับที่ข้อศอก ข้อมือของลูก เพื่อเป็นหลักให้ลูกยืนอย่างอุ่นใจ แล้วอย่าลืมเพิ่มความมั่นใจให้ลูกด้วยรอยยิ้มหวานๆ ของคุณแม่ด้วย
- วางของเล่นที่ลูกชอบ หรือคุณแม่ควรยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วเรียกชื่อเพื่อล่อให้ลูกเดินเข้าไปหา แต่ห้ามขยับหนีเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ลูกเบื่อหน่ายและหงุดหงิดได้
- ถ้าลูกตั้งไข่ค่อนข้างคล่องแล้ว คุณแม่อาจจูงลูกเดินทั้งสองมือ ต่อมาลดลงเหลือจูงมือเดียว แล้วค่อยเหลือแค่เกาะชายเสื้อเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ลูกนิดหน่อย
- เปิดโอกาส ชักชวน ชักจูง หรือลงมือทำไปด้วยกันกับลูก
ลูกเริ่มตั้งไข่ ฝึกเดินได้ตอนอายุกี่เดือน
- เดือนที่ 8 ลูกน้อยวัยคลานเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งไข่
- เดือนที่ 9 ลูกจะต้องอาศัยความมั่นใจและการฝึกการทรงตัวอีกสักระยะ
- เดือนที่ 10 ลูกคุณแม่จะยืนทรงตัวได้อย่างสมดุล
- เดือนที่ 11 ลูกจะเกาะโต๊ะหรือเก้าอี้ ประคองตัวเองยืนได้เพียงระยะสั้นๆ ก็จะปล่อยตัวลงนั่ง
- เดือนที่ 12 ลูกจะค่อยๆ ยืดตัวยืนได้ตามลำพัง และรู้จักก้าวขาออกไป
เป็นพัฒนาการของเด็กโดยทั่วไป ซึ่งบางคนอาจจะช้าหรือเร็วกว่านี้เดือนหรือสองเดือนก็ได้ค่ะ
การช่วยให้เจ้าตัวเล็กหัดเดินควรปล่อยไปตามธรรมชาติของพัฒนาการ ไม่รีบร้อนหรือเร่งรัดจนเกินไป และอย่าลืมว่าเด็กแต่ละคนเดินไม่พร้อมกัน ถึงลูกจะเดินช้าแต่ถ้าพัฒนาการด้านอื่นๆ ยังปกติดีอยู่ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรเป็นกังวลใจค่ะ
รถหัดเดิน ที่หัดเดิน ช่วยให้ลูกเดินได้เร็วขึ้นจริงไหม
กุมารแพทย์หลายคนยืนยันแล้วนะคะว่า รถหัดเดินไม่ได้ช่วยฝึกลูกเดินได้จริงนะคะ โดยเฉพาะรถทรงกลมมีล้อเลื่อนที่มีขายทั่วไป เพราะลูกจะนั่งในที่นั่งพยุงตัว ปลายเท้า หรือ ฝ่าเท้าแตะพื้น แต่เป็นการใช้เท้าไถเพื่อให้ล้อเคลื่อนตัวไป เราจึงเข้าใจไปเองว่าเป็นการฝึกเดิน
รถหัดเดินอันตรายอย่างไร
- เด็กอาจเลื่อนตัวรถไปชนสิ่งของ ของที่สูงหล่นใส่
- เด็กอาจไถรถหัดเดินตกที่สูง เช่น พื้นต่างระดับ บันได้ เป็นต้น
- เด็กไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อ การทรงตัว และการเคลื่อนไหว ตามหลักการของการหัดเดิน