
ช่วงอากาศเย็นขึ้นจนหนาว จะต้องอาบน้ำลูกทารกช่วงหน้าหนาวยังไงให้เขายังอบอุ่น ไม่ป่วยเพราะอากาศเย็น ต้องอาบบ่อยแค่ไหน เรามีคำแนะนำค่ะ
อาบน้ำลูกทารกในหน้าหนาว ต้องอาบบ่อยแค่ไหน
เทคนิคอาบน้ำให้ลูกช่วงหน้าหนาว อาบน้ำหน้าหนาว
- ควรสระผมและเช็ดศีรษะลูกน้อยให้แห้งก่อนอาบน้ำทุกครั้งเพื่อให้เจ้าตัวเล็กไม่หนาวสั่น และในขณะสระผมไม่จำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าลูกออก เพื่อร่างกายของลูกจะได้อบอุ่นอยู่เสมอ
- หลังสระผมเสร็จคุณแม่สามารถเช็ดทำความสะอาดบริเวณหน้าได้เลย จากนั้นจึงถอดเสื้อผ้าเจ้าตัวเล็กเพื่ออาบน้ำเพราะหากจัดการทำความสะอาดส่วนบนเรียบร้อยแล้วการอาบน้ำจะเร็วขึ้น ลูกน้อยไม่ต้องหนาวมาก
- อาบน้ำอุ่นวันละ 1 ครั้งก็พอ เพราะการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายของลูกยังทำงานไม่เต็มที่ อาจผสมเบบี้ออยล์ลงไปในน้ำที่ใช้อาบเล็กน้อย หรือใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก และพยายามเช็ด ถู ทำความสะอาดผิวของลูกขณะอาบน้ำอย่างเบามือที่สุด
- หลังอาบน้ำให้รีบเช็ดและห่อตัวลูกด้วยผ้าขนหนู จากนั้นใช้โลชั่นหรือครีมบํารุงผิวเด็กทาผิวลูกทันที โดยบีบใส่มือแล้วลูบให้เนื้อครีมกระจาย ทาให้ทั่วแขน ขา และลำตัวของลูก เพื่อให้เนื้อครีมซึมซาบเข้าสู่ผิว รูขุมขนก็จะถูกเคลือบปิดทำให้ผิวคงความชุ่มชื่นได้ดี
- เลือกเวลาอาบเป็นช่วงกลางวันที่อากาศไม่หนาวเย็นมากจนเกินไป
แต่ถ้าวันไหนที่อากาศเย็นเกินไป คุณพ่อคุณแม่จะเช็ดตัวให้ลูกแทนการอาบน้ำก็ได้นะคะ
คุณแม่หลายคนไม่กล้าอุ้มลูกแบบเข้าเอว เพราะกลัวลูกขาโก่ง เรื่องนี้เป็นเพียงความเชื่อหรือเรื่องจริง เรามีคำตอบค่ะ
อุ้มเข้าเอวบ่อย ๆ นาน ๆ ลูกจะขาโก่งจริงไหม
คุณพ่อคุณแม่เคยไหมคะ? อุ้ม ๆ ลูกอยู่แล้วมีคนมาทักว่าถ้าอุ้มเข้าเอวแล้วลูกจะขาโก่ง เสียเซลฟ์ไหมคะแม่ ๆ บอกเลยว่าเราต้องสตรองค่ะ อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ ที่เขาว่ามา เพราะบางอย่างก็ไม่จริงเสียทั้งหมดค่ะ
เพราะปกติเด็กเล็กก่อน 1 ขวบ ขาจะดูค่อนข้างโก่งอยู่แล้ว เนื่องจากตอนอยู่ในท้องขาจะทับกัน และโค้งไปตามมดลูก เมื่อคลอดออกมาขาด้านล่างจึงโค้งเล็กน้อย แต่เมื่อร่างกายมีการเจริญเติบโตตามวัย ลำตัวและขายาวขึ้น กระดูกก็จะค่อย ๆ ยาวและยืดออกด้วยเช่นกัน ทำให้ขาตรงขึ้นได้เองตามธรรมชาติ
ส่วนการอุ้มลูกเข้าเอวนั้น ถ้าไม่ได้ทำเป็นประจำก็คงไม่มีผลกระทบที่จะทำให้ลูกขาโก่งได้ และเด็กวัย 6-12 เดือนกำลังจะยืน จึงชอบให้พ่อแม่ช่วยประคองเดิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติสามารถทำได้ ไม่ส่งผลให้ขาโก่ง นอกจากนี้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ตามอายุจะทำให้ลูกมีความสุขมากขึ้นด้วยค่ะ
แต่หากสงสัยเรื่องลูกขาโก่งจริง ๆ พาลูกไปให้คุณหมอตรวจได้ค่ะ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากหลาย ๆ องค์ประกอบ ทั้งท่ายืน ท่านอน เพื่อดูลักษณะขาว่ามีความโค้งอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ หรือมีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อมีความโก่งหรือพลิกกว่าธรรมดาหรือเปล่า ซึ่งกุมารแพทย์ทั่วไปสามารถให้คำแนะนำได้ค่ะ
อยากรู้ว่าพัฒนาการเด็กแต่ละเดือนเป็นอย่างไร ต้องทำอะไรได้ เรามีวิธีสังเกตพัฒนาการทารกวัย 0-1 ปี มาแนะนำให้พ่อแม่เช็กกันได้ตรงนี้ค่ะ
เช็กพัฒนาการเด็ก ลูกวัย 0-1 ปี ได้ง่าย ๆ ทุกวันด้วยตัวพ่อแม่เอง
พัฒนาการทารกแรกเกิด - 1 เดือน
- กล้ามเนื้อมัดใหญ่
- งอแขนขาทั้งในท่านอนคว่ำและนอนหงาย
- ชันคอได้ชั่วขณะในท่านอนคว่ำ
- กล้ามเนื้อตาและมือ
- มองเหม่อ อาจจ้องมองในระยะ 8-12 นิ้ว
- กำมือเมื่อถูกกระตุ้นที่ฝ่ามือ
- การรับรู้ภาษา
- สะดุ้งหรือ เปิดตากว้างเมื่อได้ยินเสียง
- การสื่อภาษา
- สติปัญญา
- ไม่สนใจเมื่อสิ่งที่มองเห็นหายไป
- อารมณ์และสังคม
พัฒนาการทารก 2-3 เดือน
- กล้ามเนื้อมัดใหญ่ - ชันคอได้เองเมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ
- กล้ามเนื้อตาและมือ - มือกำหลวม ๆ และ มองตามสิ่งของได้ข้ามกึ่งกลางลำตัว
- การรับรู้ภาษา - หยุดเคลื่อนไหว หรือกะพริบตาตอบสนองต่อเสียง
- การสื่อภาษา - ส่งเสียงอ้อแอ้
- สติปัญญา - จ้องมองในจุดที่เห็นสิ่งของหายไปชั่วขณะ
- อารมณ์และสังคม - สบตาและยิ้มโต้ตอบเวลามีคนเล่นด้วย
พัฒนาการทารก 3-6 เดือน
- กล้ามเนื้อมัดใหญ่
- คว่ำหรือหงายได้เอง
- นั่งได้เองชั่วครู่
- กล้ามเนื้อตาและมือ
- เอื้อมมือคว้าของ
- ประคองขวดนม
- การรับรู้ภาษา
- การสื่อภาษา
- เลียนเสียงพยัญชนะหรือสระเช่น “อา” “บอ”
- สติปัญญา
- จ้องมองมือของพ่อแม่ที่ถือของเล่นไว้แล้วปล่อยให้ตกไปชั่วครู่
- อารมณ์และสังคม
- ดีใจเวลาเห็นผู้เลี้ยงดูที่คุ้นเคย
พัฒนาการทารก 6-9 เดือน
- กล้ามเนื้อมัดใหญ่ - นั่งบนพื้นเองได้นานขึ้น
- กล้ามเนื้อตาและมือ - หยิบของด้วยมือทั้งมือ และประคองขวดนม
- การรับรู้ภาษา - รู้จักชื่อตัวเอง
- การสื่อภาษา - เล่นเสียงพยัญชนะหรือสระติดต่อกันเช่น “ปาปา มามา”
- สติปัญญา - มองตามของที่ตก
- อารมณ์และสังคม - แยกแยะคนแปลกหน้าและคนใกล้ชิดได้ และร้องตามแม่
พัฒนาการทารก 9-12 เดือน
- กล้ามเนื้อมัดใหญ่ - เกาะยืน
- กล้ามเนื้อตาและมือ - หยิบของโดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้
- การรับรู้ภาษา - ทำตามคำสั่งง่ายๆได้เช่น “บ๊ายบาย” “ขอ” เข้าใจคำสั่งเช่น “หยุด” “อย่า”
- การสื่อภาษา - สื่อสารภาษากาย เช่น ชี้ แบมือขอของ อวดของเล่น ฯลฯ
- สติปัญญา - เปิดหาของที่ซ่อนไว้
- อารมณ์และสังคม - เลียนแบบท่าทาง เช่น โบกมือ สาธุ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการตามวัยที่ระบุในที่นี้เป็นพัฒนาการขั้นต่ำที่เด็กในแต่ละวัยสามารถทำได้ครับ หากลูกยังไม่สามารถทำได้และคุณแม่มีข้อสงสัยควรปรึกษากุมารแพทย์ แต่ขณะเดียวกันเด็กบางคนอาจพัฒนาได้เร็วกว่าเกณฑ์นี้ได้เช่นกันค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
รศ.นพ. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
จะสังเกตยังไงว่าลูกขาโก่ง เด็กขาโก่ง แล้วควรดัดขาลูกไหมให้ขาตรง ก่อนทำให้ลูกได้รับอันตรายจากการดัดขา มาอ่านเรื่องจริงเกี่ยวกับลูกขาโก่งที่บทความนี้ก่อนค่ะ
เด็กขาโก่ง ลูกขาโก่ง ต้องดัดขาไหม ลูกขาโก่งต้องรักษาแก้ไขอย่างไร
หนึ่งเรื่องที่คุณแม่ หรือ คุณปู่คุณย่า ญาติๆ ผู้ใหญ่จะคอยแนะนำคือทำอย่างไรไม่ให้ลูกขาโก่ง เมื่อเห็นขาลูกไม่ตรงแนบชิดติดกัน มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องขาโก่งอะไรบ้างที่บอกเล่าเชื่อต่อ ๆ กันมาคุณหมอจะมาไขข้อข้องใจค่ะ
ความเชื่อเรื่องเด็กทารกขาโก่ง ลูกขางโก่ง
- ความเชื่อ : ขาโก่งเพราะใส่ผ้าอ้อม ไม่จริง เพราะจริงๆ แล้วการใช้ผ้าอ้อมอาจจะช่วยป้องกันสะโพกหลุดในเด็กได้ดีทีเดียว
- ความเชื่อ : ขาโก่งเพราะอุ้มลูกเข้าเอว ไม่จริง การอุ้มลูกเข้าเอวอาจจะช่วยกันสะโพกหลุดได้ด้วย
- ความเชื่อ : ดัดขาแก้ขาโก่งได้ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนในเรื่องนี้ แต่มีงานวิจัยส่วนใหญ่ว่าถึงจะไม่ดัดก็ทำให้ขาเด็กสามารถพัฒนาการตรงได้เอง
ความเชื่อ : ดัดขาลูกหลังอาบน้ำ ดัดบ่อย ๆ จะหายขาโก่ง ในเด็กเล็กเอ็นต่าง ๆ ในร่างกายจะนิ่ม ดังนั้นการดัดเข่าจะทำให้ดูเหมือนเข่าตรงเล็กน้อย ตอนดัด สิ่งที่ดัดคือเอ็นยึดข้อเข่า โดยกระดูกไม่ได้รับการดัดแต่อย่างไร กระดูกขาโก่งจะหายได้เองอยู่แล้วเมื่อถึงเวลา ดังนั้นจึงทำให้บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นเพราะมือดัด ส่วนในรายขาโก่งเป็นโรค ดัดอย่างไร ก็ไม่หาย และจะยิ่งเป็นมากขึ้นด้วย ดังนั้นการดัดด้วยมือจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ขาหายโก่งแต่อย่างใด - (ที่มา : เขาทักว่า...ลูกดิฉันเดินขาโก่ง)
ลูกทารกขาโก่ง เด็กขาโก่ง ทำอย่างไรดี ต้องแก้ไขไหม
ภาวะขาโก่ง เป็นภาวะที่คุณพ่อคุณแม่กังวล และนำลูกๆ มาพบคุณหมอกันมาก โดยเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วขาไม่ตรงชิดกันก็จะกังวลว่าลูกมีกระดูก มีโครงสร้างผิดปกติ ซึ่งคุณหมอได้ให้คำแนะนำว่า ภาวะขาโก่งนั้นมักจะเป็นกับเด็กทารกแรกเกิดเกือบทุกคนเพราะในขณะที่อยู่ในครรภ์ ในมดลูกที่มีพื้นที่อันน้อยนิดของแม่ช่วงสุดท้ายก่อนคลอดต้องอยู่ในท่างอตัว งอเข่า งอสะโพก ขา เท้าไว้เป็นเวลานาน เมื่อคลอดออกมาก็ทำให้เห็นว่าขาโก่งซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า Physiologic Bow Legs โดยเมื่อเวลาผ่านไปร่างกายจะเริ่มพัฒนาและขาก็จะเริ่มตรงได้เอง
ผ่านไปประมาณ 2-3 ปี ขาจะเริ่มตรงเอง และเมื่อเวลาผ่านไปอีก 1-2 ปีเด็กจะเริ่มยืนหรือเดินแบบเข่าชิด หรือที่เรียกว่า ขาเป็ด หรือ ขาฉิ่ง (Physiologic Knock Knee) โดยจะสังเกตเห็นชัดเมื่ออายุ 3-4 ปี หลังจากนั้นขาและเข่าของเด็กจะกลับมาตรงเหมือนเดิม

สังเกตขาอย่างไรว่าโก่งหรือไม่โก่ง
ขาของลูกที่เห็นว่าโก่งนั้น อาจเป็นโก่งจริงหรือโก่งหลอก หมายถึงกระดูกขาโก่งจริงๆ หรือกระดูกขาไม่ได้โก่งจริงแต่เนื่องจากท่ายืนไม่ตรง จึงทำให้ดูภายนอกเหมือนขาโก่ง ลองสังเกตดูเมื่อเรายืนปลายเท้าชี้ออกด้านนอก งอเข่าเล็กน้อย จะดูเหมือนขาโก่งโค้งออกด้านนอก ถ้ายืนหันปลายเท้าเข้าด้านใน งอเข่าเล็กน้อยก็เหมือนขาโก่งเข้าด้านใน เพราะในเด็กช่วงวัย 1-2 ปี ซึ่งเป็นช่วงหัดเดิน การทรงตัวยังไม่มั่นคง เด็กจะเดินขาถ่างๆ หน่อย เข่างอเล็กน้อย และกางแขนเป็นบางครั้ง เพื่อช่วยในการทรงตัว อันนี้ เป็นท่าเดินมาตรฐานของเด็กวัยนี้ ดังนั้นเวลาดูว่ากระดูกขาโก่งหรือไม่แบบง่ายๆ ต้องเหยียดเข่าให้ตรงสุด หันลูกสะบ้าตรงมาด้านหน้า หรือหันเข้ามาด้านหน้า นำข้อเท้ามาชิดกัน ถ้ามีช่องว่างระหว่างขอบในของเข่าห่างเกิน 2 นิ้วของคุณพ่อคุณแม่ ให้ลองนำลูกมาให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจต่อ หรือถ้าเมื่อนำข้อเท้ามาชิดกัน แล้วเข่าลูกซ้อนกันหรือเกยกัน ให้ลองนำลูกมาตรวจเช่นกัน - (ที่มา : เขาทักว่า...ลูกดิฉันเดินขาโก่ง)
ขาโก่งแบบนี้ต้องรักษา
แต่อย่างไรก็ตามจะมีภาวะขาโก่งที่เป็นโรคและต้องได้รับการรักษาจริงๆ เรียกว่า โรคบราวซ์ (Blount’s Disease) ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดโรคได้แก่ เด็กยืนหรือเดินเร็วก่อนวัย หรือพบในเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก เชื้อชาติ หรือขาโก่งที่เกิดจากโรคที่เรียกว่า Ricket คือ โรคที่เกิดจากกระดูกขาดแคลเซียม เป็นต้น ซึ่งบางครั้งอาจจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์กั้นขาโก่งหรือทำการผ่าตัดรักษาได้ เมื่ออายุ 3-4 ปี และหลังจากผ่าตัดจะต้องใส่เฝือกนาน 6-8 สัปดาห์
ขอบคุณข้อมูล
- รศ.นพ.จตุพร โชติกวณิชย์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ไขข้อสงสัย เรื่องขาโก่ง
- นพ.วีระศักดิ์ ธรรมคุณานนท์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์และออร์โธปิดิกส์ในเด็ก เขาทักว่า...ลูกดิฉันเดินขาโก่ง

เด็กเริ่มหัดเดินได้ตอนอายุประมาณ 8 เดือนค่ะ พ่อแม่ควรช่วยลูกหัดเดิน ฝึกเดินได้อย่างคล่องแคล่วด้วยเทคนิคต่อไปนี้
เทคนิคช่วยลูกหัดเดิน ฝึกเดิน กระตุ้นกล้ามเนื้อขาให้ลูกหัดเดินได้อย่างมั่นคง
ขาที่แข็งแรงมีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ของลูกไม่น้อยเลยค่ะ เพราะช่วยเปิดโอกาสให้ลูกได้ออกไปสัมผัสโลกภายนอก โดยปราศจากการคอยช่วยเหลือ (อุ้ม) ของพ่อแม่ ซึ่งสังคมภายนอกที่ลูกได้พบเจอจะช่วยสอนทักษะสังคม ทักษะการใช้ชีวิต และยังเป็นจุดแรกที่ช่วยสร้างความมั่นใจว่าลูกจะยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้
3 ประสาน กล้ามเนื้อ การทรงตัว และการเคลื่อนไหว ช่วยลูกหัดเดิน
กว่าลูกจะยืนได้ด้วยตัวเองต้องอาศัยพัฒนาการกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวให้ทำงานประสานกันดีเสียก่อน ซึ่งหากสังเกตจะพบว่าพัฒนาการทั้งสามนี้จะพัฒนาไปพร้อมๆ กันตั้งแต่แรกเกิดจนเดินได้ ไล่ไปตั้งแต่ศีรษะ คอ ไหล่ ลำตัว ก้น สะโพก จนกระทั่งเท้า เมื่อพัฒนาการการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อช่วงสะโพกและเท้าแข็งแรงขึ้น จากเบบี๋ที่คลานไปทั่วบ้านก็จะเริ่มทรงตัวในท่ายืนและเกาะเดินค่ะ
แรกฝึกเดินลูกอาจจะเดินขากางๆ ทิ้งน้ำหนักตัวจากด้านหนึ่งไปด้านหนึ่งไม่คล่องแคล่ว หรือบางทีก็สะดุดล้มได้ง่ายๆ คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งตกใจนะคะ นั่นเป็นเพราะการทรงตัวในท่ายืนของลูกยังเป็นเรื่องใหม่และไม่สมดุลนัก แต่เชื่อเถอะว่าไม่นานนักเจ้าตัวเล็กจะเริ่มก้าวเดินเองได้ในที่สุด
เทคนิคช่วยลูกหัดเดิน ฝึกเดิน
- จัดสถานที่ให้เหมาะสม กว้างขวาง และปลอดภัย เพื่อให้ลูกมีที่พอตั้งไข่ เกาะเดินและหัดก้าวเดิน
- สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ด้วยการวางเส้นทางหัดเดิน เช่น ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มั่นคงและไม่เคลื่อนที่ง่ายๆ ให้ลูกใช้เป็นอุปกรณ์เกาะเดิน
- ปกปิดเหลี่ยมมุมตามขอบโต๊ะที่แหลมคม ด้วยฟองน้ำหรือผ้านุ่มๆ เพื่อป้องกันอันตรายหากลูกหกล้มไปโดน
- พ่อแม่ควรอยู่ใกล้ๆ คอยดูแล หรือช่วยเหลือยามที่ลูกต้องการ อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกด้วย
- แรกเริ่มหัดยืนคุณแม่อาจช่วยจับที่ข้อศอก ข้อมือของลูก เพื่อเป็นหลักให้ลูกยืนอย่างอุ่นใจ แล้วอย่าลืมเพิ่มความมั่นใจให้ลูกด้วยรอยยิ้มหวานๆ ของคุณแม่ด้วย
- วางของเล่นที่ลูกชอบ หรือคุณแม่ควรยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วเรียกชื่อเพื่อล่อให้ลูกเดินเข้าไปหา แต่ห้ามขยับหนีเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ลูกเบื่อหน่ายและหงุดหงิดได้
- ถ้าลูกตั้งไข่ค่อนข้างคล่องแล้ว คุณแม่อาจจูงลูกเดินทั้งสองมือ ต่อมาลดลงเหลือจูงมือเดียว แล้วค่อยเหลือแค่เกาะชายเสื้อเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ลูกนิดหน่อย
- เปิดโอกาส ชักชวน ชักจูง หรือลงมือทำไปด้วยกันกับลูก
ลูกเริ่มตั้งไข่ ฝึกเดินได้ตอนอายุกี่เดือน
- เดือนที่ 8 ลูกน้อยวัยคลานเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งไข่
- เดือนที่ 9 ลูกจะต้องอาศัยความมั่นใจและการฝึกการทรงตัวอีกสักระยะ
- เดือนที่ 10 ลูกคุณแม่จะยืนทรงตัวได้อย่างสมดุล
- เดือนที่ 11 ลูกจะเกาะโต๊ะหรือเก้าอี้ ประคองตัวเองยืนได้เพียงระยะสั้นๆ ก็จะปล่อยตัวลงนั่ง
- เดือนที่ 12 ลูกจะค่อยๆ ยืดตัวยืนได้ตามลำพัง และรู้จักก้าวขาออกไป
เป็นพัฒนาการของเด็กโดยทั่วไป ซึ่งบางคนอาจจะช้าหรือเร็วกว่านี้เดือนหรือสองเดือนก็ได้ค่ะ
การช่วยให้เจ้าตัวเล็กหัดเดินควรปล่อยไปตามธรรมชาติของพัฒนาการ ไม่รีบร้อนหรือเร่งรัดจนเกินไป และอย่าลืมว่าเด็กแต่ละคนเดินไม่พร้อมกัน ถึงลูกจะเดินช้าแต่ถ้าพัฒนาการด้านอื่นๆ ยังปกติดีอยู่ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรเป็นกังวลใจค่ะ
รถหัดเดิน ที่หัดเดิน ช่วยให้ลูกเดินได้เร็วขึ้นจริงไหม
กุมารแพทย์หลายคนยืนยันแล้วนะคะว่า รถหัดเดินไม่ได้ช่วยฝึกลูกเดินได้จริงนะคะ โดยเฉพาะรถทรงกลมมีล้อเลื่อนที่มีขายทั่วไป เพราะลูกจะนั่งในที่นั่งพยุงตัว ปลายเท้า หรือ ฝ่าเท้าแตะพื้น แต่เป็นการใช้เท้าไถเพื่อให้ล้อเคลื่อนตัวไป เราจึงเข้าใจไปเองว่าเป็นการฝึกเดิน
รถหัดเดินอันตรายอย่างไร
- เด็กอาจเลื่อนตัวรถไปชนสิ่งของ ของที่สูงหล่นใส่
- เด็กอาจไถรถหัดเดินตกที่สูง เช่น พื้นต่างระดับ บันได้ เป็นต้น
- เด็กไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อ การทรงตัว และการเคลื่อนไหว ตามหลักการของการหัดเดิน

โกนผมไฟเด็ดแรกเกิด เป็นหนึ่งในความเชื่อโบราณที่จะทำให้เด็กเลี้ยงง่าย แต่จริง ๆ เราต้องโกนผมไฟลูกแรกเกิดไหม มาหาคำตอบกันค่ะ
โกนผมไฟ เด็กแรกเกิดจำเป็นต้องโกนผมไฟตามความเชื่อโบราณหรือไม่
ความเชื่อเรื่องการโกนผมไฟ การโกนผมไฟคืออะไร
การโกนผมไฟเด็กทารกเป็นความเชื่อโบราณที่สืบทอดมายาวนาน โดยมีความเชื่อว่า เส้นผม เล็บมือ เล็บเท้า ที่ติดตัวมาตั้งแต่ในครรภ์เป็นของไม่สะอาด ดังนั้นเมื่อเด็กทารกอายุครบ 1 เดือน จะเข้าสู่พิธีกรรมการโกนผมไฟ ซึ่งเหมือนเป็นพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่านเป็น “ลูกคน” โดยสมบูรณ์ หรืออาจจะมีนัยว่าแข็งแรงสมบูรณ์ดีแล้ว เพราะในอดีต เด็กแรกเกิดอาจจะมีอัตราการเสียชีวิตได้ง่ายเพราะยังอ่อนแอ ไม่มีเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน
เมื่อเด็กเล็กที่คลอดออกมามีอายุครบ 1 เดือนก็จะให้โกนผม โกนคิ้ว ตัดเล็บมือ เล็บเท้าออก โดยอาจจะมีการดูฤกษ์ นิมนต์พระสงฆ์ เชิญญาติพี่น้อง พิธีใหญ่โตแค่ไหนแล้วแต่ฐานะทางครอบครัว ซึ่งหลังจากพิธีโกนผมไฟแล้วเชื่อว่า เด็กจะเลี้ยงง่าย ไม่ดื้อ ไม่ซน และเส้นผมขึ้นดกดำดี
ในปัจจุบัน พิธีกรรม ความเชื่อ เรื่องการโกนผมไฟอาจจะลดน้อยลงไปมาก บางครอบครัวก็ลดทอนขั้นตอนลงเพียงแค่ให้ญาติผู้ใหญ่มาโกนผม อวยพรให้กับเด็กเท่านั้น หรือเด็กบางคนก็ไม่ได้โกนผมไฟเลยก็มีเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับพิธีกรรมอื่นๆ ที่มีโอกาสเลือนหายไปตามกาลเวลา และความเชื่อของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
จำเป็นต้องให้ลูกโกนผมไฟไหม
การโกนผมไฟนั้นจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อของครอบครัว เพราะไม่มีอะไรเสียหาย หากทำแล้วสบายใจ ครอบครัวมีความสุขทุกฝ่ายก็สามารถทำได้ แต่ถ้าจะจัดพิธีโกนผมไฟ นอกจากจะดูฤกษ์ยามแล้ว อาจจะต้องดูแลเรื่องความสะอาด สุขอนามัย และดูว่าลูกแข็งแรงดีพอหรือยังด้วยนะคะ เพราะถ้าต้องเจอคนจำนวนมาก และลูกไม่ค่อยแข็งแรงอาจจะทำให้ป่วยได้ค่ะ
ความเชื่อเรื่องการเลี้ยงดูหลังจากโกนผมไฟ
เด็กจะเลี้ยงง่าย ไม่ดื้อ ไม่ซน จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับคนเลี้ยงดูในการอบรมขัดเกลา ปลูกฝัง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เด็กเติบโตขึ้นมามากกว่าแค่การผ่านพิธีกรรมการโกนผมไฟ
ความเชื่อเรื่องโกนผมไฟแล้วผมจะได้ดกดำ
จริง ๆ แล้ว ผมดกหรือไม่ดก ก็จะอยู่ตรงพันธุกรรมด้วยส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเด็กโกนผมไฟ แต่พันธุกรรมผมไม่ดก ผมที่ขึ้นใหม่ก็ไม่ได้ดกขึ้นจะปริมาณเท่าเดิม เพียงแต่ผมที่ขึ้นใหม่จะดูแข็งกว่าผมอ่อนที่ติดมาตั้งแต่แรกเกิด ทำให้ดูเหมือนมันหนาดกขึ้น แต่โดนปกติถึงไม่โกน แต่ผมที่ติดมาตั้งแต่แรกเกิดก็จะผลัดหลุดออกไปเอง และสร้างขึ้นใหม่อยู่แล้ว ซึ่งจะหลุดประมาณ 2-3 เดือนก็จะผลัดทีหนึ่ง อย่างที่โบราณเขาพูดว่า ช่วงไหนที่ลูกผมร่วงก็แสดงว่าลูกจำหน้าแม่ได้