Coding คืออะไร ช่วงนี้พ่อแม่หลายคนคงหาข้อมูลกันใหญ่ เนื่องจากมีคนพูดถึงกันเยอะ และดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อหลายๆ ประเทศในเอเชียต่างก็สนับสนุนให้เด็กๆ ได้เรียนกัน แถมยังมีแนวโน้มว่าเด็กที่เรียนจะมีอายุน้อยลง
Coding คือวิชาคอมพิวเตอร์?
โค้ดดิ้ง (Coding) คือการเขียนโปรแกรม หรือชุดคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ เป็นโค้ด รหัส หรือสัญลักษณ์ โดยมีภาษาที่ใช้ในการ Coding หลายภาษา เช่น C++, PHP, Java และ Python
รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ นักวิทยาการคอมพิวเตอร์อดีตรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายเรื่องโค้ดดิ้งในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “โค้ดดิ้ง (Coding) เป็น Broader term ส่วน คอมพิวเตอร์ โค้ดดิ้ง (Computer coding) หรือ โปรแกรมมิ่ง (Programming) เป็น Narrow term คือมีความหมายที่แคบกว่า หรือเป็น Subset
การแต่งเพลง วางลำดับตัวโน้ตดนตรี จึงเป็นการโค้ดดิ้ง การออกแบบท่าเต้น ลำดับท่าเต้น ท่ารำ ก็เป็นการวางโค้ด การเขียนกลอน การเขียนแผนธุรกิจ ลำดับการวางแผน การเขียนลำดับความคิด เช่น Mind map ก็เป็นการโค้ดดิ้ง เด็กๆ จะเขียนบอกเพื่อน ถึงขั้นตอนการทอดไข่เจียว ก็ใช้หลักการโค้ดดิ้ง หรือแม้แต่การเขียนสื่อสารลำดับขั้นตอนการทำงานใดๆ เช่น การทำโครงงาน ก็เป็นการเขียนเป็นผังงานหรือโค้ดได้ โค้ดดิ้งจึงเกี่ยวพันกับชีวิต การวางแผน การคิด และการแก้ปัญหา
คอมพิวเตอร์โค้ดดิ้ง หรือ การเขียนโปรแกรม หมายถึงการเขียนลำดับขั้นตอน การวางคำสั่ง การสั่งงานให้ คอมพิวเตอร์ทำงาน ซึ่งมี ข้อตกลง รหัส หรือภาษาสั่งการที่สร้างขึ้นมาเฉพาะ มีกฎเกณฑ์ไวยากรณ์ Syntax ที่กำหนดความหมาย (Semantic) ที่แน่นอน ไม่ให้กำกวม
คอมพิวเตอร์โค้ดดิ้ง จึงเป็นคำที่มีความหมายที่แคบกว่า เพราะเน้นเฉพาะใช้กับคอมพิวเตอร์
วิชาโค้ดดิ้งในโรงเรียน
แต่เดิมวิชาคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นวิชาหนึ่งในกลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพ แต่ปัจุบันได้ปรับตามหลักสูตร พ.ศ. 2560 ให้เป็นวิชา วิทยาการคำนวณ และย้ายมาเป็นวิชาในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ โดยให้เริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6
Computer Science (วิทยาการคอมพิวเตอร์) ให้ผู้เรียนสามารถคิดเป็นขั้นตอน นำการเขียนโปรแกรมมาเป็นเครื่องมือในการฝึกคิดเป็นขั้นตอน ตามแนวทาง Computational Thinking
ICT (เทคโนโลยีสารสนเทศ) ให้ผู้เรียนสามารถรวบรวมข้อมูล จัดการข้อมูล นำข้อมูลมาประมวลผล และทำการตัดสินใจจากพื้นฐานของข้อมูลได้
Digital Literacy (รู้เท่าทันดิจิทัล) ให้ผู้เรียนรู้ทันเทคโนโลยี ไม่ตกเป็นทาสเทคโนโลยี สามารถสร้างสรรค์ผลงานบนเทคโนโลยีได้
ทั้งนี้ในแต่ละช่วงชั้นจะมีการปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับแต่ละระดับ เช่น ในระดับชั้น ป. 1 ยังเป็นการเขียนชุดคำสั่งแบบง่ายๆ แบบที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ (Unplugged) จากนั้นจะค่อยๆ ซับซ้อนขึ้น มีระดับความคิดที่ยากขึ้น ในระดับชั้นที่สูงขึ้น
ที่มา : pinterest.Kelsey Beagle
วิชาวิทยาการคำนวณเน้นการพัฒนาความคิดที่เป็นระบบ การแก้ปัญหา การใช้เหตุผล เน้นให้เด็กๆ มีหลักการวางลำดับขั้นตอนการคิด กระบวนการ เพื่อบูรณาการกับชีวิต และศาสตร์อื่นๆ รู้จักคิดแบบเป็นระบบ มีลำดับขั้นตอน ทำงานเป็นกระบวนการ มีเหตุผล รู้แนวทางการแก้ปัญหา เข้าใจความซับซ้อนของปัญหา
การเรียนโค้ดดิ้ง ไม่ใช่การส่งเสริมให้เด็กๆ โตขึ้นไปทำงานด้านคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่การเรียนโค้ดดิ้ง หรือเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ คือการปลูกฝังตรรกะ กระบวนการความคิด การวางลำดับขั้นตอน และแนวทางการแก้ปัญหาให้เด็กๆ ซึ่งเขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้
ที่มา : blognone Facebook ยืน ภู่สุวรรณ สาขาคอมพิวเตอร์ สวทช