กระตุ้น 5 ประสาทสัมผัสทารกด้วยการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่
การกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของทารกเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างพัฒนาการ ที่แม่ควรเริ่มตั้งแต่วันแรกที่คลอด โดยเริ่มได้ง่าย ๆ ผ่านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้ลูกเข้าเต้า ตามวิธีต่อไปนี้
กระตุ้น 5 ประสาทสัมผัสทารกด้วยการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่
- เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่กระตุ้นการมองเห็น
ในนมแม่มีสารดีเอชเอ กรดอะมิโน และไขมันอื่นอๆ ที่ช่วยให้ลูกมีสายตาเฉียบคม โดยเฉพาะดีเอชเอที่ช่วยให้เนื้อเยื่อประสาทและจอประสาทตามีการรับภาพอย่างคมชัด สายตาที่ดีมีความสำคัญมาก เพราะเมื่อสายตาดีพัฒนาการที่ทำงานประสานกับการมองเห็นอื่น ๆ ก็จะตามมา การเรียนรู้ต่างๆ ก็จะดีด้วยเช่นกัน แต่ถ้าสายตาไม่ดี จะเดิน จะคลาน พัฒนาการต่าง ๆ หรือการเรียนรู้ก็จะมีปัญหาได้ค่ะ
นอกจากนี้เวลาให้นมแม่ ดวงตาแม่ดวงตาลูกได้มองสบตากัน ลูกจะได้เห็นความเคลื่อนไหวบนใบหน้าของแม่ ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้ม เสียงพูดคุย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้ดีทั้งสิ้นค่ะ
- เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่กระตุ้นการได้ยิน
เมื่อลูกกินนมแม่จากเต้า เป็นช่วงเวลาที่แม่มักส่งเสียงพูดคุยกับลูก ลูกจะได้ยินเสียงสูงต่ำเป็นจังหวะจากแม่ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการฟังให้ดีขึ้น ยิ่งแม่ร้องเพลง เล่านิทาน หรือพูดคุยมากเท่าไร ลูกก็จะได้ยินเสียงที่หลากหลาย ส่งผลให้สมองได้รับการกระตุ้น เซลล์ประสาทเชื่อมโยงส่งข้อมูลไปมาระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งยิ่งเซลล์ประสาทส่งสัมผัสรับส่งข้อมูลกันมากเท่าไหร่ ระบบประสาทและการทำงานของสมองลูกก็จะยิ่งเปี่ยมประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น
- เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่กระตุ้นการดมกลิ่น
นมแม่ช่วยให้พัฒนาการเรื่องการรับกลิ่นของลูกดีขึ้น โดยนมแม่จะมีกลิ่นเฉพาะค่ะ และกลิ่นนี้เองจะไปกระตุ้นให้การดูดนมแรงขึ้นด้วย โดยมีการศึกษาชัดเจนในทารกที่คลอดก่อนกำหนดเมื่อนำนมแม่และนมผสมมาให้ พบว่าเด็กที่ได้กลิ่นของนมแม่ก็จะดูดนมได้แรงขึ้น และดีขึ้น ทำให้เด็กน้ำหนักขึ้นดี เด็กที่คลอดก่อนกำหนดก็จะแข็งแรงและกลับบ้านได้เร็วขึ้นกว่าเด็กที่กินนมผสม
- เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่กระตุ้นการรับรส
เด็กที่กินนมแม่จะกินอาหารได้หลากหลายกว่าเด็กที่กินนมผสมค่ะ เพราะในน้ำนมแม่นั้นกลิ่นและรสชาติจะแปลไปตามอาหารที่กิน ซึ่งกลิ่นที่ออกมาไม่ได้แรงนะคะ แค่ พอได้กลิ่นบ้าง ที่เป็นเล่นนี้ก็สอดคล้องกับการที่คนชาติเดียวกัน กลุ่มเดียวกัน ชอบอาหารกลิ่นคล้ายๆ กันค่ะ นอกจากนี้เด็กที่กินนมแม่มีโอกาสเป็นเด็กที่เลือกกินน้อยกว่าเด็กที่กินนมผสม เนื่องจาก กลิ่นและรสชาติของน้ำนมแม่ จะแปรเปลี่ยนไปตามอาหารที่กินทุกวัน และต่อมรับรสของเด็กจะมีความไว เวลาที่เราไปแนะนำให้ชิมของใหม่ๆ เด็กก็จะพอรับได้ แต่ถ้าเด็กกินแต่นมผสม ซึ่งทุกขวดจะเหมือนกันหมด มีรสชาติเดิมๆ ต่อมรับรสของเด็กไม่ได้รับการกระตุ้น จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่กินยากได้ค่ะ
- เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่กระตุ้นการสัมผัส
การให้นมแม่นั้น แม่ต้องกอดลูกเอาไว้แนบอกอย่างนุ่มนวล ซึ่งทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ได้รับสัมผัสที่อ่อนโยน มีผลต่อการกระตุ้นพัฒนาการ กระตุ้นอารมณ์ จะสังเกตได้ว่าเด็กที่กินนมแม่จะอารมณ์ดี เพราะรับรู้ถึงความรักของแม่ได้ตลอดจากสัมผัสนั้น
ขบวนการกินนมแม่ จะมีการพัฒนาเรื่องของการกินตามลำดับขั้นเริ่มตั้งแต่ระยะแรกเกิด ลูกน้อยจะอ้าปากพยายามงับเต้านม พอหัวขยับได้ ก็จะผงกเข้าหาเต้า ต่อมามือก็จะเริ่มไขว่คว้าหาเต้าแม่ ธรรมชาติจะสอนให้เด็กรู้จักวิธีกินค่ะ พอโตขึ้นหน่อย พัฒนาการของกล้ามเนื้อมือ การนั่งการนอน การเคลื่อนไหวของลูกก็จะดีขึ้นด้วย รวมถึงพัฒนาการด้านการกิน กลืน ดูด ก็จะก้าวหน้าอย่างเป็นระบบพร้อมรับกับการกินอาหารที่แข็งขึ้นในอนาคตได้
หากลูกกินนมผสม มีโอกาสไม่ต้องทำอะไรมาก เมื่อเทียบกับวิธีการให้นมแม่ เพราะฉะนั้นหากลูกกินนมขวดพัฒนาการต่างๆ ก็ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน โอกาสการเรียนรู้ตามธรรมชาติของลูกจะน้อยลง ความสุขจากการสัมผัสและความอบอุ่นจากแม่สู่ลูกก็จะน้อยลงตามไปด้วยค่ะ