เพราะสมองของลูกไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน..
'การนอน' จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของเด็ก พบว่าฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) จะหลั่งมากในเวลากลางคืน หลังจากที่หลับไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้เติบโตสมวัย ถ้าร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลให้การหลั่งของฮอร์โมนการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลเสียพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกได้
ภาวะการนอนหลับแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
1.REM (Rapid Eye Movement)
-หลับไม่สนิท
-มีการกลอกตา
-นิ่วหน้านิ่วตา
-หายใจแรง
-ดิ้นหรือขยับตัว
ทางการแพทย์มีความเชื่อว่า การนอนหลับในช่วง REM มีผลและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาการของเด็กทารก เมื่อเด็กโตขึ้นช่วงการนอนในระดับ REM จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อลูกอายุครบ 3 ปีอาจจะเหลือเพียง 30% ของชั่วโมงการนอนทั้งหมดของลูก และจะลดลงเรื่อยๆ อีกเหลือเพียงประมาณ 20% เมื่อลูกก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
2.NON-REM (Non Rapid Eye Movement)
-นอนนิ่ง
-หลับลึก
-ร่างกายหลั่ง Growth Hormone ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้เติบโตสมวัย
ขณะที่ลูกเริ่มนอนหลับ หากเป็นเด็กทารกแรกเกิด - 6 เดือน จะเริ่มหลับในช่วง REM ก่อน และจะค่อยๆ เข้าสู่การหลับลึกหรือ Non REM และก็จะสลับกลับไปเป็นช่วง REM แบบนี้ทุกๆ 20 นาทีพอลูกอายุครบ 3 เดือน การเปลี่ยนจาก REM ไปเป็น Non REM จะขยายเวลาเป็น 60 นาที และเมื่อโตมากขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเปลี่ยนเป็น 90 นาทีต่อรอบ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกที่การนอนของลูกในระดับ Non REM ยังไม่สมบูรณ์ ลูกของคุณจึงตื่นได้ง่าย หรือดูเหมือนว่า ลูกของคุณจะนอนเพียงครั้งละ 20 นาทีก็รู้สึกตัวแล้ว ขอให้คุณพ่อคุณแม่อดทนและเข้าใจลูกด้วย เมื่อลูกอายุมากขึ้น จะสามารถนอนหลับได้นานขึ้น และตื่นยากขึ้น
สาเหตุ
1.ใส่เสื้อผ้าไม่สบายตัว
2.ผ้าอ้อมที่เปียกชื้น
3.ฝันร้าย
4.รู้สึกหวาดกลัวกับสภาพแวดล้อม
5.คลื่นสมองมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
6.เล่นกับเด็กมากเกินไปในช่วงเย็นหรือหัวค่ำ
วิธีป้องกัน
1.สวมใส่เสื้อผ้าผ่อนคลาย และสบายตัว
2.เช็กดูผ้าอ้อม เปลี่ยนผ้าอ้อมก่อนนอนทุกครั้ง
3.ใช้ผ้าห่อลูกให้เขารู้สึกปลอดภัย
4.ไม่ปลุกหรือเขย่าตัวให้ตื่น
การนอนหลับอย่างมีคุณภาพจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ สมาธิ ความจำ และการตัดสินใจ มีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้สมบูรณ์ สังเกตได้จากโรคภูมิแพ้จะกำเริบมากขึ้นหากนอนน้อย นอกจากนี้ โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยเร่งความสูงของเด็กๆ จะหลั่งได้ดีในช่วงกลางดึกที่เด็กหลับสนิทระยะหนึ่ง หากเด็กนอนน้อยจะกระทบต่อการหลั่งโกรทฮอร์โมน และอาจมีผลต่อศักยภาพในด้านความสูงของเด็กได้
ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข, พญ.ศุภรัตนา คุณานุสนธิ์ กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล