ลมหนาวเริ่มพัดเข้ามาปะทะแก้มบางๆของเจ้าหนูกันแล้วนะคะ แต่รู้ไหมว่าเมื่อ เข้าหน้าหนาว ไม่ใช่ลมแรงอย่างเดียว แสงแดดก็แรงด้วยเหมือนกัน เพราะฤดูหนาวเป็นฤดูที่มีเมฆน้อยท้องฟ้าแจ่มใส จึงไม่มีสิ่งใดช่วยปะทะหรือกั้นแสงแดดเลย แสงจึงสามารถส่องลงมากระทบผิวได้เต็มๆ แล้วแสงแดดลักษณะนี้มีอันตรายอะไรหรือเปล่า ลองมาดูกันเลย
เมื่อลูกโดนแสงแดดแรงนานๆ อาจทำให้เป็นไข้แดด ลมแดด หรือเกิดโรคผิวหนังอักเสบ เริ่มจากผิวไหม้แดด เป็นฝ้า หรือถึงขั้นร้ายแรงจนอาจเป็นมะเร็งผิวหนังได้เลย
รังสียูวี (Ultraviolat) ที่อยู่ในแสงแดดมี 2 ประเภทคือ ยูวีเอ และยูวีบี ยูวีเอ (UVA) จะผ่านชั้นโอโซนลงมาได้มาก แต่ให้ผลสะสมในระยะยาว ทำให้สีผิวเจ้าหนูเปลี่ยนไป โดยจะมีลักษณะดำขึ้นเรื่อยๆจนถึงไหม้เกรียม ส่วนยูวีบี (UVB) จะผ่านชั้นโอโซนลงมาได้บางส่วนเท่านั้น แต่มีพลังงานสูงมาก มีผลกระทบเร็วโดยทำให้ผิวหนังไหม้หรือแสบร้อนได้
แค่ลูกวิ่งเล่นกลางแจ้งในช่วงแดดแรงๆ สัก 15 นาที แดดก็อาจจะเผาผิวลูกได้แล้ว และแดดไม่ได้ทำร้ายแค่ผิวลูกค่ะ ดวงตาก็เป็นสิ่งสำคัญ แสงจ้าที่สะท้อนเข้าดวงตาลูกจะแสบและพร่าไม่เบา ซ้ำยังเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกได้ด้วย
เวลาแดดไหม้ผิวลูกไม่เพียงแต่สีผิวที่เปลี่ยนไปด้วยนะคะ เซลล์และโมเลกุลที่อยู่ในผิวหนังจะถูกทำลายไปด้วย หากปล่อยให้แดดไหม้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คอลลาเจนและเนื้อเยื่อที่อยู่ในผิวหนังจะถูกทำลาย เป็นสาเหตุของรอยเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควรด้วย
- ช่วงที่แดดแรงที่สุดจะอยู่ในช่วง 11.00 น. - 15.00 น. เพราะฉะนั้นให้ลูกออกไปเล่นกลางแจ้งนอกเหนือเวลาดังกล่าวจะดีกว่า
- ใช้เสื้อผ้าที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ หากลูกอยากจะออกไปเล่นขณะแดดค่อนข้างจัด ควรใส่เสื้อแขนยาวที่ผ้าบางสีอ่อนๆ เพื่อไม่ให้สีดูดความร้อน และ กางเกงขายาวน้ำหนักเบาใส่สบายไม่หนาจนร้อนเกินไป กันแดดปะทะผิว เวลาจะออกไปข้างนอกกับแม่ก็ควรมีหมวกปีกกว้างหรือร่มสักคัน คอยกันแดดค่ะ
- หากจะไปชายทะเลหรือท่องเที่ยวกลางแดดแรงๆ ควรทาครีมกันแดดสำหรับเด็กที่มีค่า SPF15 (Sun Protection Factor) ขึ้นไป และสามารถกันได้ทั้งรังสียูวีเอและยูวีบีด้วย ให้ลูกสวมแว่นตากันแดดสำหรับเด็กที่ช่วยปกป้องตาและหนังตาของลูกไม่ให้ได้รับแสงสะท้อนโดยตรง ลูกจะได้ไม่แสบตาหรือหยีตาเวลาเล่นนอกบ้าน