คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเมื่อลูกคลอดออกมา นอกจากจะดูว่าลูกมีอวัยวะ ร่างกายครบสมบูรณ์ดีไหมแล้ว ลำดับต่อมาก็เริ่มดูว่าลูกหน้าตาเป็นอย่างไร คิ้วหน้าไหม ? ตากี่ชั้น ขาโก่งไหม ? ฯลฯ สารพัดความกังวลใจ และความคาดหวังเกี่ยวกับร่างกายลูกค่อย ๆ มีมากขึ้น
หนึ่งเรื่องที่คุณแม่ หรือ คุณปู่คุณย่า ญาติๆ ผู้ใหญ่จะคอยแนะนำคือทำอย่างไรไม่ให้ลูกขาโก่ง เมื่อเห็นขาลูกไม่ตรงแนบชิดติดกัน มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องขาโก่งอะไรบ้างที่บอกเล่าเชื่อต่อ ๆ กันมาคุณหมอจะมาไขข้อข้องใจค่ะ
ความเชื่อ : ขาโก่งเพราะใส่ผ้าอ้อม ไม่จริง เพราะจริงๆ แล้วการใช้ผ้าอ้อมอาจจะช่วยป้องกันสะโพกหลุดในเด็กได้ดีทีเดียว
ความเชื่อ : ขาโก่งเพราะอุ้มลูกเข้าเอว ไม่จริง การอุ้มลูกเข้าเอวอาจจะช่วยกันสะโพกหลุดได้ด้วย
ความเชื่อ : ดัดขาแก้ขาโก่งได้ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนในเรื่องนี้ แต่มีงานวิจัยส่วนใหญ่ว่าถึงจะไม่ดัดก็ทำให้ขาเด็กสามารถพัฒนาการตรงได้เอง
ความเชื่อ : ดัดขาลูกหลังอาบน้ำ ดัดบ่อยๆ จะหายขาโก่ง ในเด็กเล็กเอ็นต่างๆ ในร่างกายจะนิ่ม ดังนั้นการดัดเข่าจะทำให้ดูเหมือนเข่าตรงเล็กน้อย ตอนดัด สิ่งที่ดัดคือเอ็นยึดข้อเข่า โดยกระดูกไม่ได้รับการดัดแต่อย่างไร กระดูกขาโก่งจะหายได้เองอยู่แล้วเมื่อถึงเวลา ดังนั้นจึงทำให้บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นเพราะมือดัด ส่วนในรายขาโก่งเป็นโรค ดัดอย่างไร ก็ไม่หาย และจะยิ่งเป็นมากขึ้นด้วย ดังนั้นการดัดด้วยมือจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้ขาหายโก่งแต่อย่างใด - (ที่มา : เขาทักว่า...ลูกดิฉันเดินขาโก่ง)
ภาวะขาโก่ง เป็นภาวะที่คุณพ่อคุณแม่กังวล และนำลูกๆ มาพบคุณหมอกันมาก โดยเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วขาไม่ตรงชิดกันก็จะกังวลว่าลูกมีกระดูก มีโครงสร้างผิดปกติ ซึ่งคุณหมอได้ให้คำแนะนำว่า ภาวะขาโก่งนั้นมักจะเป็นกับเด็กทารกแรกเกิดเกือบทุกคนเพราะในขณะที่อยู่ในครรภ์ ในมดลูกที่มีพื้นที่อันน้อยนิดของแม่ช่วงสุดท้ายก่อนคลอดต้องอยู่ในท่างอตัว งอเข่า งอสะโพก ขา เท้าไว้เป็นเวลานาน เมื่อคลอดออกมาก็ทำให้เห็นว่าขาโก่งซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า Physiologic Bow Legs โดยเมื่อเวลาผ่านไปร่างกายจะเริ่มพัฒนาและขาก็จะเริ่มตรงได้เอง
ผ่านไปประมาณ 2-3 ปี ขาจะเริ่มตรงเอง และเมื่อเวลาผ่านไปอีก 1-2 ปีเด็กจะเริ่มยืนหรือเดินแบบเข่าชิด หรือที่เรียกว่า ขาเป็ด หรือ ขาฉิ่ง (Physiologic Knock Knee) โดยจะสังเกตเห็นชัดเมื่ออายุ 3-4 ปี หลังจากนั้นขาและเข่าของเด็กจะกลับมาตรงเหมือนเดิม
ขาของลูกที่เห็นว่าโก่งนั้น อาจเป็นโก่งจริงหรือโก่งหลอก หมายถึงกระดูกขาโก่งจริงๆ หรือกระดูกขาไม่ได้โก่งจริงแต่เนื่องจากท่ายืนไม่ตรง จึงทำให้ดูภายนอกเหมือนขาโก่ง ลองสังเกตดูเมื่อเรายืนปลายเท้าชี้ออกด้านนอก งอเข่าเล็กน้อย จะดูเหมือนขาโก่งโค้งออกด้านนอก ถ้ายืนหันปลายเท้าเข้าด้านใน งอเข่าเล็กน้อยก็เหมือนขาโก่งเข้าด้านใน เพราะในเด็กช่วงวัย 1-2 ปี ซึ่งเป็นช่วงหัดเดิน การทรงตัวยังไม่มั่นคง เด็กจะเดินขาถ่างๆ หน่อย เข่างอเล็กน้อย และกางแขนเป็นบางครั้ง เพื่อช่วยในการทรงตัว อันนี้ เป็นท่าเดินมาตรฐานของเด็กวัยนี้ ดังนั้นเวลาดูว่ากระดูกขาโก่งหรือไม่แบบง่ายๆ ต้องเหยียดเข่าให้ตรงสุด หันลูกสะบ้าตรงมาด้านหน้า หรือหันเข้ามาด้านหน้า นำข้อเท้ามาชิดกัน ถ้ามีช่องว่างระหว่างขอบในของเข่าห่างเกิน 2 นิ้วของคุณพ่อคุณแม่ ให้ลองนำลูกมาให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจต่อ หรือถ้าเมื่อนำข้อเท้ามาชิดกัน แล้วเข่าลูกซ้อนกันหรือเกยกัน ให้ลองนำลูกมาตรวจเช่นกัน - (ที่มา : เขาทักว่า...ลูกดิฉันเดินขาโก่ง)
แต่อย่างไรก็ตามจะมีภาวะขาโก่งที่เป็นโรคและต้องได้รับการรักษาจริงๆ เรียกว่า โรคบราวซ์ (Blount’s Disease) ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดโรคได้แก่ เด็กยืนหรือเดินเร็วก่อนวัย หรือพบในเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก เชื้อชาติ หรือขาโก่งที่เกิดจากโรคที่เรียกว่า Ricket คือ โรคที่เกิดจากกระดูกขาดแคลเซียม เป็นต้น ซึ่งบางครั้งอาจจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์กั้นขาโก่งหรือทำการผ่าตัดรักษาได้ เมื่ออายุ 3-4 ปี และหลังจากผ่าตัดจะต้องใส่เฝือกนาน 6-8 สัปดาห์
ขอบคุณข้อมูล
รศ.นพ.จตุพร โชติกวณิชย์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ไขข้อสงสัย เรื่องขาโก่ง
นพ.วีระศักดิ์ ธรรมคุณานนท์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์และออร์โธปิดิกส์ในเด็ก เขาทักว่า...ลูกดิฉันเดินขาโก่ง