เคยสังเกตไหมคะ ว่าทำไมเด็ก ๆ บางคน ถึงมักจะกระพริบตาบ่อย กระพริบตาถี่มาก ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งอาการผิดปกติของสายตา ที่ต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์นะคะ และการกระพริบตาบ่อย ๆ นอกจากจะมองแล้วรู้สึกรำคาญ ยังทำให้เด็กดูบุคลิกไม่ดีอีกด้วย
อาการที่เด็กกระพริบตาบ่อย ๆ คืออะไร
อาการกระพริบตาบ่อย เป็นอาการผิดปกติ ที่พบได้บ่อยในเด็ก ที่เรียกว่า TICS ซึ่งพบได้ประมาณ 20% ในเด็ก และพบในเด็กผู้ชาย มากกว่าในเด็กผู้หญิงประมาณ 3 เท่า อายุที่พบบ่อยมักจะเป็นในช่วงวัยเรียน 6-10 ปี และจะพบว่าอาการมักจะเป็นมากขึ้น เมื่อเด็กมีความเครียด และอาการจะหายไปเวลาไม่เครียด และเวลาที่เด็กนอนหลับ
มักพบในเด็กที่ขี้อาย หรือมีความรู้สึกอ่อนไหว ต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือตำหนิจากผู้อื่น กลัวที่จะทำอะไรผิดหรือไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น เด็กที่พบว่ามีอาการ TICS ส่วนใหญ่พบว่าเป็นเด็กปกติที่ค่อนข้างฉลาด แต่อ่อนไหวง่าย
เด็กจะมีอาการเพราะคนรอบข้าง ที่ส่วนใหญ่จะตั้งความคาดหวังไว้ค่อนข้างสูง เกินกว่าที่เด็กเองจะทำได้ พบว่าผู้ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไช หรือขี้บ่นกับการกระทำของเด็กอยู่ตลอดเวลา หรือคอยที่จะเปรียบเทียบในทางลบอยู่เป็นประจำ
การกระพริบตาบ่อย ๆ หรือการกระตุกของกล้ามเนื้อแก้มที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นวิธีการระบายความเครียดของเด็ก ที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดขึ้น และเป็นไปอย่างไม่ได้กำหนดเอง เพราะเป็นจากจิตใต้สำนึก
ในกรณีที่เด็กเริ่มมีอาการกระพริบตาบ่อย ๆ คุณพ่อคุณแม่อาจจะพาเด็กไปพบกุมารแพทย์เพื่อให้ช่วยดูว่า จะมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองของตาหรือไม่ เช่น ขนตาแยงตา ปัญหาภูมิแพ้ทางตา หรือวินิจฉัยแยกโรคจากปัญหาทางกายอย่างอื่น ๆ
โดยช่วยให้ลูกได้มีเวลาว่าง และพักผ่อนได้เพียงพอ เช่น ได้มีโอกาสเล่นตามประสาเด็กกับเพื่อน ๆ เพราะปัจจุบันหลังเลิกเรียน เด็กมักจะไม่ค่อยได้เล่นที่โรงเรียน แต่กลับต้องเรียนพิเศษต่ออีก จึงควรจัดเวลาให้ลูก ในเรื่องการเรียนพิเศษ ไม่ให้มากจนเกินไป
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกินอาหาร การแต่งตัว การทำการบ้าน การอ่านหนังสือ ดูทีวี หรือเรื่องคะแนนสอบที่อาจจะไม่ได้ดั่งใจ แม้ว่าพ่อแม่อาจจะรู้สึกหงุดหงิด และคิดว่าคุณจำเป็นต้องพูดเตือนลูกอยู่เสมอ ๆ แต่ต้องเลือกใช้วิธีอื่น ที่เป็นในเชิงบวกกับลูก
หากคอยดุลูกเรื่องกระพริบตาบ่อย ๆ ลูกก็จะเกิดความเครียดมากขึ้น ยิ่งทำให้กระพริบตาบ่อยขึ้น ให้ทำเป็นไม่เห็นบ้างเพื่อให้ลูกผ่อนคลาย และควรจะบอกคุณครู คุณปู่ คุณย่า และคนอื่น ๆ รอบข้าง ให้ใช้วิธีการเดียวกัน และไม่ล้อเลียนเด็ก
ลูกมีอาการกระพริบตาบ่อย ๆ ลูกไม่ได้แกล้งทำ แต่ที่จริงแล้ว เด็กเองก็ไม่สามารถควบคุมอาการ TICS ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึก ที่จะปลดปล่อยความเครียด ดังนั้นอย่าดุหรือทำโทษลูก เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเครียด ให้กระพริบตามากขึ้นไปอีก
ทุกข้อที่กล่าวมา เริ่มต้นช่วยเหลือลูกได้จากการกระทำของคุณพ่อคุณแม่เอง แต่ถ้าช่วยเหลือลูกแล้วไม่เป็นผล ก็ควรปรึกษาแพทย์ร่วมด้วยนะคะ เพื่อให้ลูกสายตากลับมาปกติโดยเร็วค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานนท์