บางบ้านตีแล้วได้ผล ควรรู้ว่ามักจะได้ผลชั่วคราว จะมีพฤติกรรมอื่นที่ยากกว่าเก่ากลับมา ไม่นับว่าการตีสร้างรอยแผลในใจเสมอ รอยแผลนั้นจะส่งผลต่อชีวิตของเขาในอนาคตไม่มากก็น้อยต่างๆกันไป
บางบ้านพูดยาวมาก ยกแม่น้ำทั้งห้าให้เหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาอธิบายให้ลูกฟังจนกระทั่งลูกไม่รู้ว่าแม่กำลังพยายามจะสอนอะไรกันแน่ หากเป็นเช่นนี้วิธีที่ดีกว่าคือพูดให้สั้นลงและตรงประเด็นว่าแม่ห้ามทำอะไร ขอชัดๆ สั้นๆ เสียงจริงจัง และอย่าเบื่อที่จะต้องพูดซ้ำอีกเมื่อเวลาผ่านไป แต่ก็สั้น ชัด เอาจริง
เมื่อเราพบว่าวิธีไหนก็ไม่ได้ผล อับจนปัญญาแล้ว จึงมาถึงการไทมเอาท์ การไทมเอาท์ทำได้ด้วยการอุ้มหรือจูงลูกออกจากพื้นที่เกิดเหตุ คือพื้นที่ที่เขากำลังควบคุมตัวเองไม่ได้ กรี๊ด งอแง ดิ้น เตะต่อย เอาเขาออกมา ไปหาพื้นที่ใหม่ที่สงบ ปลอดภัย เป็นส่วนตัวมากกว่าเดิม
ไทมเอาท์มิใช่การทำโทษหรือทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว หรือการขังห้องน้ำหรือการขังในห้องนอน เรายังคงนั่งอยู่กับลูก เป็นเพื่อนลูก นั่งด้วยกัน เป็นสถานที่ที่เราได้นั่งพักไม่มีหน้าตาต้องรักษา ไม่มีกริยาต้องระวัง เราเพียงนั่งกับลูกแล้วรอเขาสงบ
ประเด็นคือเราเงียบ ลูกเงียบ สิ่งแวดล้อมสงบ ลูกสงบ เป็นหลักการพื้นฐานที่สุดข้อหนึ่งของการปรับพฤติกรรม เมื่อพฤติกรรมใดๆพบกับความเงียบ สงบ ไร้การตอบสนอง ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ พฤติกรรมนั้นจะไร้ประโยชน์แล้วหายไปเสมอ (extinction) ระหว่างรอ คุณแม่ยิ้มเล็กน้อย มีเมตตา เอ็นดูที่เขาควบคุมตัวเองไม่ได้และเรายินดีจะรอให้เขาเรียนรู้ว่ากริยาที่ทำไม่เกิดประโยชน์ จะไม่ได้อะไรเลยไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ แม่ไม่ให้พอๆกับแม่ไม่ว่า แม่คนใหม่นี้รอได้
แล้วเมื่อเด็กเบาลง เรากอด อันที่จริงจะบอกเขาก่อนก็ได้ครับว่าเงียบเมื่อไรแม่จะกอด เมื่อกอดแล้วบอกเขาด้วยว่าแม่ชอบแบบนี้มากกว่าคือลูกสงบ ในขั้นตอนนี้พอเท่านี้อย่าสั่งสอนหรือต่อความยาวสาวความยืดอะไรอีก เด็กๆจะค่อยๆเรียนรู้เอาเองว่าทำอะไรที่จะไม่ได้อะไร และทำอะไรที่แม่จะปลื้มมากกว่า มีแต่เขาเรียนรู้ได้เองจึงจะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม
บางทีระหว่างการไทมเอาท์เด็กอาจจะตีแม่เตะแม่ ทำลายข้าวของหรือทำร้ายตีอกชกหัวตัวเอง กริยาทั้ง 3 อย่างเป็นข้อห้ามพื้นฐานทั้งสิ้น มิให้ทำ เราต้องจับเสมอ อย่าลืมว่าเรารุ่นเฮฟวี่เวท เราควรจับได้
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล