![ลำไส้ กลืน กัน, โรคลำไส้กลืนกัน, อาการลำไส้กลืนกัน, อาการ ลํา ไส้ กลืน กัน ทารก, โรค ลํา ไส้ กลืน กัน อาการ, ลํา ไส้ กลืน กัน คือ, สาเหตุ ลำไส้กลืนกัน, รักษา ลำไส้กลืนกัน, ป้องกัน ลำไส้กลืนกัน, ลำไส้กลืนกันในเด็ก, ลำไส้อักเสบ, ติดเชื้อในลำไส้, โรคลำไส้ในเด็ก, รักลูก Community of The Experts, The Healthy Kid, สุขภาพเด็ก, โรคเด็ก, พัฒนาการเด็ก](/images/2020/expert-healthy-kid/3696.jpg)
ลำไส้กลืนกันเป็นหนึ่งในโรคลำไส้ที่พบมากในเด็กค่ะ ถ้าพ่อแม่รู้ช้า รักษาไม่ถูกต้องและทันท่วงที จะส่งผลต่อพัฒนาการเด็กในระยะยาวแน่นอน พญ.ลั่นทม ตันวิเชียร กุมารศัลยศาสตร์ ศูนย์กุมารเวชกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ มีคำแนะนำเรื่องโรคลำไส้กืนกันมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
โรคลำไส้กลืนกัน ภัยเงียบของลูกน้อยที่พ่อแม่ต้องรู้
ลำไส้กลืนกันเป็นอย่างไร ลำไส้กลืนกันมีอาการอย่างไร
ลำไส้กลืนกันมักพบมากในเด็กวัย 3 เดือน - 2 ปี ซึ่งเป็นวันที่มีความเสี่ยงที่สุดค่ะ โดยลำไส้ส่วนต้นมุดเข้าสู่โพรงของลำไส้ส่วนที่อยู่ถัดไปทางด้านปลาย เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพราะถ้าลำไส้กลืนกันอยู่เป็นเวลานานจะเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดจนเกิดการเน่า ลำไส้แตกทะลุ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ รวมทั้งติดเชื้อในกระแสเลือดและอาจจะเสียชีวิตได้
วิธีสังเกตอาการโรคลำไส้กลืนกัน
- อาการปวดท้อง
- กระสับกระส่าย มือเท้าเกร็ง
- ร้องไห้เป็นพัก ๆ ประมาณ 15-30 นาทีก็เริ่มร้องอีก เวลาที่ร้องไห้ลูกจะงอเข่าขึ้นทั้งสองข้าง (Colicky pain)
- ท้องอืดและอาเจียน โดยช่วงแรกมักจะเป็นนมหรืออาหารที่ลูกกินเข้าไป แต่ระยะหลังจะมีสีเหลืองหรือเขียวของน้ำดีปนออกมา
- อุจจาระมีเลือดคล้ำ ๆ ปนเมือก
- เด็กบางคนอาจจะมีอาการซึมหรือชักร่วมด้วย
2 วิธีรักษาโรคลำไส้กลืนกัน
- การดันลำไส้ส่วนที่ถูกกลืนให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่ โดยการใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก ซึ่งอาจจะใช้การสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารของเหลวที่เป็นสารทึบรังสี barium หรือใช้ก๊าซเป็นตัวดัน ถ้ากระบวนการสวนลำไส้ใหญ่สามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกได้สำเร็จ ก็ไม่จำเป็นจะต้องผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรับประทานอาหารได้ภายใน 1-2 วัน
- การผ่าตัดเปิดช่องท้อง ในการผ่าตัดนั้นศัลยแพทย์จะใช้มือบีบดันให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกันคลายตัวออกจากกัน มีเพียงผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีการเน่าหรือมีการแตกทะลุของลำไส้แล้ว ซึ่งในกรณีเช่นนี้จำเป็นจะต้องตัดลำไส้ส่วนที่เน่าตายออกและทำการต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน กลุ่มนี้จะรุนแรงและให้การดูแลรักษาแบบกลุ่มลำไส้อุดตัน นอนในโรงพยาบาลนาน และมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่า
คุณพ่อคุณแม่ที่มีมลูกวัย 3 เดือน - 2 ปี ต้องหมั่นสังเกตอาการข้างต้นนี้ไว้นะคะ หากเกิดอาการและสงสัยว่าจะเป็นโรคลำไส้กลืนกัน ต้องรีบพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และรับการรักษาทันทีค่ะ
รักลูก Community of The Experts
พญ.ลั่นทม ตันวิเชียร
กุมารศัลยศาสตร์ ศูนย์กุมารเวชกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ