facebook  youtube  line

4 อาการไข้หลังคลอดที่แม่หลังคลอดเป็นมากที่สุด บางอาการส่งผลถึงนมแม่

ไข้หลังคอด-อาการหลังคลอด-แม่หลังคลอด

 แม่หลังคลอดอาจมีอาการไข้ ปวดหัว ตัวร้อนขึ้นได้ แต่หากมีไข้พร้อมกับอาการอื่น ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคติดเชื้อรุนแรงที่จะตามมา

4 อาการไข้หลังคลอดที่แม่หลังคลอดเป็นมากที่สุด บางอาการส่งผลถึงนมแม่

คุณแม่หลังคลอดอาจมีอาการไข้ ปวดหัว ตัวร้อน เกิดขึ้นได้ค่ะ เป็นเพราะปฏิกิริยาตอบสนอง เมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรักษาง่าย ไม่นานก็หาย ไม่มีอันตราย แต่ถ้าคุณแม่มีไข้พร้อมกับอาการอื่น ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคติดเชื้อรุนแรงที่จะตามมา และต้องได้รับการดูแลรักษาโดยด่วน เพราะบางอาการไข้หลังคลอดส่งผลต่อนมแม่ และการให้นมด้วย

อาการไข้หลังคลอดลูกเป็นอย่างไร

หลังคลอด 1 วันแรก หากคุณแม่มีอาการไข้ ปวดเมื่อยตัว ปวดหัว ตัวร้อน ถือว่าเป็นอาการไข้ธรรมดา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากร่างกายเหน็ดเหนื่อยจากการคลอด และการอักเสบของเซลล์ต่างๆ จากการคลอดหรือผ่าตัดคลอด

วิธีรักษาอาการไข้หลังคลอด

  1. เพื่อป้องกันอาการไข้หลังคลอด วันแรกหลังคลอด คุณแม่ควรลุกจากเตียง ขยับตัว หรือเดินเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้เลือดภายในร่างกายไหลเวียนได้ดี

  2. ควรดื่มน้ำวันละ 2 ลิตร เพื่อช่วยให้มีน้ำในการใช้สร้างน้ำนม อุจจาระนิ่ม ถ่ายได้ง่าย และในกรณีมีไข้จะมีการสูญเสียน้ำ จึงควรดื่มน้ำเยอะ ๆ

  3. ควรฝึกไอจากช่องท้อง เพื่อขับเสมหะที่ค้างอยู่ภายในหลอดลมออกมาให้หมด หากเป็นคุณแม่ที่คลอดโดยการผ่าตัด ควรใช้มือกดแผลไว้ สูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วจึงไอออกมา

  4. ถ้าคุณแม่กำลังมีไข้สามารถทานยาพาราเซตามอลได้ ควรเช็ดตัวเพื่อลดไข้ และ กรณีที่นอนนาน ๆ ต้องระวังเรื่องการอุดตันของหลอดเลือด จึงควรหมั่นขยับขาและกระดกข้อเท้าบ่อยๆ เพราะการอุดตันของหลอดเลือดก็ทำให้มีไข้ได้ค่ะ

4 อาการไข้หลังคลอดที่แม่หลังคลอดเป็นมากที่สุด

  1. อาการไข้ ปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย และเจ็บมาถึงท้องน้อยเวลาปัสสาวะ หนาวสั่น (หลังคลอด 2-3 วัน)

    เกิดจากการอักเสบของกรวยไต หรือติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ส่วนใหญ่จะพบในคุณแม่ที่คลอดยาก ต้องตรวจภายในหลายครั้งก่อนคลอด หรือคุณแม่หลังคลอดปัสสาวะไม่ออก แล้วต้องให้คุณหมอสวนปัสสาวะหลายๆ ครั้ง และคุณแม่หลังคลอดที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะไว้นานจนเกินไป ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ เมื่อได้รับการตรวจปัสสาวะจะพบว่ามีเม็ดเลือดขาวและแบคทีเรียเจือปน

    วิธีรักษาอาการไข้ ปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย
    คุณหมอจะให้น้ำเกลือ ให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด และดื่มน้ำเยอะ ๆ 

  2. มีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บเต้านม เต้านมแดงคัดมาก (หลังคลอด 7 วัน)
    คุณแม่หลังคลอดจะมีอาการอักเสบที่เต้านมได้ถึง 15% โดยจะรู้สึกคัดตึงที่เต้านมและมีไข้ประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส แต่ถ้าคุณแม่ประคบเต้านม และหมั่นให้ลูกดูดนมบ่อยๆ อาการไข้ก็จะหายเองได้ แต่ถ้ามีอาการติดเชื้อที่เต้านม จะมีไข้สูงติดต่อกัน 7-10 วัน ส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากสิ่งสกปรกที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าคุณแม่มีหัวนมแตก เชื้อโรคจะเข้าไปได้ง่าย จนกลายเป็นหนองที่เต้านมได้ค่ะ

    วิธีรักษาอาการไข้สูง หนาวสั่น เจ็บเต้านม เต้านมแดงคัดมาก
    ในกรณีที่ไข้สูง อักเสบมากหรือเป็นหนอง จำเป็นต้องฉีดยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด ให้น้ำเกลือ และเจาะดูดหนองออก

  3. อาการไข้ ปวดบวมแดงที่ขา กดที่ขาแล้วเจ็บ (หลังคลอด 5-6 วัน)
    เป็นอาการอักเสบของหลอดเลือดดำบริเวณขา โดยปกติแล้วหลังคลอดภายใน 1-2 สัปดาห์ จะมีอาการขาบวมได้จากการที่เวลาเลี้ยงลูกแล้วต้องนั่งห้อยขานานๆ แต่ถ้าปวดบวม แดง กดเจ็บ และมีไข้ อาจมีการอักเสบของหลอดเลือดดำที่ขาได้ค่ะ

    วิธีรักษาอาการไข้ ปวดบวมแดงที่ขา กดที่ขาแล้วเจ็บ 
    นอนหงาย ยกขาสูง พยายามหลีกเลี่ยงการยืนหรือห้อยขานาน ๆ ในระหว่างที่มีอาการปวด หรือหากมีอาการไข้และปวดมากควรทานยาลดไข้ กรณีที่หลอดเลือดดำอักเสบ อาจต้องให้ยาทางหลอดเลือดด้วย

  4. อาการไข้ ปวดเมื่อย ปวดท้อง ปวดมดลูก น้ำคาวปลาสีเข้มขึ้น และปริมาณมากขึ้น มีกลิ่นเหม็นและเป็นหนอง (หลังคลอด 5-6 วัน)
    เป็นอาการอักเสบของมดลูกและเยื่อบุโพรงมดลูก เกิดจากการมีเชื้อโรคในโพรงมดลูก มีความเสี่ยงในกรณีที่ตอนคลอดแล้วรกค้าง ต้องใช้เครื่องมือเข้าไปในโพรงมดลูก ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ หรือกรณีที่คลอดยาก รอคลอดหลายชั่วโมง ต้องตรวจภายในบ่อย ๆ ก็จะเกิดการอักเสบติดเชื้อได้ค่ะ และอาการแผลผ่าตัดติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะเป็นในคุณแม่ที่น้ำเดินหลายชั่วโมงก่อนมาถึงโรงพยาบาลและต้องรอคลอดนานค่ะ

    วิธีรักษาอาการไข้ ปวดเมื่อย ปวดท้อง ปวดมดลูก น้ำคาวปลาสีเข้มขึ้น
    คุณหมอจะให้ยาปฏิชีวนะ ทางเส้นเลือด เพื่อรักษาการติดเชื้อค่ะ

อาการไข้รุนแรงหลังคลอดเหล่านี้ ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาโดยเร็วจะเป็นอันตราย อาจเกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ ดังนั้น ถ้าคุณแม่หลังคลอดมีอาการไข้สูงพร้อมกับอาการที่รุนแรงร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ

เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์
พญ.ธิศรา วีรสมัย สูตินรีแพทย์และแพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 1

 

6 เรื่องที่ไม่ควรทำเมื่อไปเยี่ยมเด็กแรกเกิดและแม่หลังคลอด

เยี่ยมหลังคลอด-เยี่ยมเด็กแรกเกิด

ไม่ว่าญาติ พี่น้อง หรือ เพื่อนเพิ่งคลอดลูกแล้วเราอยากไปแสดงความยินดีรับขวัญทารกแรกเกิดแค่ไหน ก็ยังมีข้อห้ามที่ไม่ควรทำอยู่นะคะ เพราะทารกแรกเกิดและคุณแม่หลังคลอดยังอยู่ในช่วงที่บอบบางและต้องระวังอย่างมาก ดังนั้นเมื่อจะไปเยี่ยมเบบี๋ตัวจิ๋ว และให้กำลังใจคุณแม่หลังคลอด นี่คือ 6 เรื่องที่ผู้ไปเยี่ยมทารกแรกเกิด "ห้ามทำเด็ดขาด" 

  1. ห้ามสัมผัสทารกแรกเกิดหากยังไม่ล้างมือให้สะอาด
    เพราะเด็กแรกเกิดนั้นมีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อทุกชนิด ดังนั้นต้องล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสเด็ก รวมถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่ต้องไม่สกปรก หากมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลแนะนำขอเสื้อคลุมได้เพื่อความสะอาดและปลอดภัย

  2. ห้ามหอมแก้ม จูบปาก เด็กแรกเกิด
    สิ่งนี้ห้ามทำเด็ดขาดเพราะสกปรกและทำให้ติดเชื้อได้ง่ายมาก และแม้ไม่ใช่เด็กแรกเกิดก็ไม่ควรจะไปหอมแก้มลูกใครโดยพลการ ทางที่ดีไม่หอมแก้มลูกคนอื่นจะดีกว่าไม่ว่าจะสนิทแค่ไหนก็ตาม หากเป็นสมาชิกในครอบครัวควรให้ผ่านสามเดือนแรกไปก่อน

  3. ห้ามมาเยี่ยมเด็กแรกเกิดหากเป็นไข้ เจ็บป่วยอยู่
    เนื่องจากทารกแรกเกิดยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เสี่ยงติดเชื้อโรคได้ง่าย ดังนั้นห้ามไปแพร่เชื้อเด็ดขาด รอให้หายป่วยดีก่อนจึงไปเยี่ยมที่บ้านและใส่หน้ากากอนามัยไปด้วย

  4. อย่าพูดหรือวิจารณ์อะไรที่ไม่น่ารัก
    เพราะแม่หลังคลอดเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าอยู่แล้ว ดังนั้นอะไรก็สามารถเก็บมาคิดได้ โดยเฉพาะเรื่องหน้าตาของลูกหรือนมแม่ พยายามอย่าพูดหากแม่หลังคลอดไม่ได้ถาม ควรพูดเชิงบวกจะดีที่สุด

  5. อย่าโพสต์รูปของแม่หลังคลอดและเด็กแรกเกิดหากไม่ได้รับอนุญาต
    หากถ่ายรูปกับคุณแม่หลังคลอดย่อมหน้าโทรม ตัวบวม เป็นธรรมดา ควรเก็บไว้ดูกันแค่สองคน หรือก่อนจะโพสรูปอะไรต้องถามคุณแม่ก่อนว่าโพสต์ได้ไหม 

  6. อย่าเอาความเชื่อแปลกๆ มาบอกคุณแม่หลังคอด
    หากได้ยินข่าวลือ หรือได้ฟังเรื่องแปลกๆ มาจากคนโบราณ ที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อ้างอิงอีก ไม่ควรมาพูดให้คุณแม่ได้ยิน เพราะการเลี้ยงลูกนั้นไม่ใช่ง่ายๆ ปล่อยให้คุณพ่อกับคุณแม่และคุณหมอคุยกันเองดีกว่า

แม่หลังคลอดและเด็กแรกเกิดกำลังต้องการการพักผ่อน ความสะอาด ปลอดภัย และกำลังใจสูงมากนะคะ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะไปเยี่ยมเมื่อไหร่ก็ตาม ควรจำไว้ให้แม่นว่า เรากำลังไปให้กำลังใจกับสิ่งที่สวยงามที่สุดในโลกอยู่ค่ะ 

7 ข้อห้ามหลังคลอด ที่แม่หลังคลอดต้องรู้และอย่าเสี่ยงทำ

ข้อห้ามหลังคลอด-หลังคลอด ห้ามทำ-แม่หลังคลอด ห้ามทำอะไร-หลังคลอด ห้ามกินของแสลง-ข้อ ห้าม หลัง ผ่า คลอด ห้ามออกกำลังกาย หลังคลอด-ห้ามมีเซ็ก หลังคลอด-แม่หลังคลอด ห้ามดื่มเหล้า เบียร์-หลังคลอด ทำอะไรไม่ได้บ้าง-ดูแลตัวเอง หลังคลอด

หลังคลอดลูก มีทั้งข้อห้ามและข้อควรระวังเรื่องอาหาร ยา และการใช้ชีวิตประจำวันอะไรบ้างที่ควรเลี่ยง เพื่อไม่ให้แม่หลังคลอดเสี่ยงทำจนอันตรายต่อตัวเองและการเลี้ยงลูก

7 ข้อห้ามหลังคลอด ที่แม่หลังคลอดต้องรู้และอย่าเสี่ยงทำ

1. แม่หลังคลอดห้ามเครียด (เกินเหตุ)

นอกจากจะทำให้น้ำนมน้อยแล้ว ความเครียดส่งผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจ ซึ่งลูกซึมซับและสัมผัสได้จากแม่โดยตรง โดยเฉพาะช่วงหลังคลอดคุณแม่อาจจะเกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้ (หากเป็นนานกว่า 4 สัปดาห์ควรพบคุณหมอค่ะ)

คำแนะนำ : ทางที่ดีคุณแม่ควรจะหาผู้ช่วยมาแบ่งเบาภาระต่างๆ เช่น งานบ้าน การดูแลลูกคนโต ฯลฯ เพื่อที่แม่จะได้มีเวลาพักผ่อนและมีอยู่กับตัวเอง จะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายทำให้ไม่เครียดจนเกินไปด้วยค่ะ

2. แม่หลังคลอดห้ามกินของแสลง

งดกินอาหารประเภทหมักดอง อาหารค้างคืน อาหารที่มีสารปรุงแต่ง เพราะอาจจะทำให้ท้องเสีย เสาะท้อง หรือท้องอืดได้ง่าย ส่วนยาหรือสมุนไพรที่อวดอ้างว่ามีสรรพคุณช่วยเพิ่มน้ำนมหรือเร่งให้มดลูกเข้าอู่เร็วไม่ควรกิน เพราะอาจจะมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ ยิ่งอยู่ในช่วงให้นมสิ่งที่แม่กินเข้าไปก็จะถ่ายทอดไปยังลูกด้วยค่ะ

คำแนะนำ : เลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้ รวมถึงดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำ

3. แม่หลังคลอดห้ามออกกำลังกาย (หนัก)

การออกกำลังกายที่หนักหน่วง รุนแรง โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้องอาจจะส่งผลกระทบต่อมดลูก ช่องคลอดและฝีเย็บ นอกจากนั้นการขยับเขยื้อนร่างกายอย่างรุนแรงและบ่อยครั้งในช่วงนี้จะทำให้มดลูกต่ำ

คำแนะนำ : หากต้องการออกกำลังกายควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเลือกท่าบริหารที่ไม่กระทบกับช่องท้อง มดลูก ฝีเย็บ สำหรับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติสามารถเริ่มออกกำลังกายได้เมื่อหลังคลอดไปแล้วประมาณ 2-3 วัน ส่วนคุณแม่ผ่าคลอดคงต้องรอจนครบ 1 เดือนหรือให้แผลผ่าตัดสมานกันสนิทแล้วจึงเริ่มออกกำลังกายได้ค่ะ

4. แม่หลังคลอดห้ามยกของหนัก

อย่าเพิ่งโชว์พลังยกของหนักเลยค่ะ เพราะการออกแรงยกของหนักจะต้องเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง ซึ่งอาจจะกระทบกระเทือนกับแผลผ่าคลอดหรือมดลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณแม่ผ่าคลอดยิ่งต้องระวังให้มากเพราะแผลผ่าคลอดอาจจะปริ ฉีดขาดได้ค่ะ

คำแนะนำ : ปกติแล้วหลังคลอด 1 เดือน ทั้งแผลผ่าคลอดและมดลูกจึงจะกลับมาเข้าทีและแข็งแรงขึ้น ดังนั้นช่วงนี้งานหนักหรือเรื่องยกของต่างๆ ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อไป คุณแม่เลี้ยงลูกให้นมแม่ก็พอแล้วค่ะ

5. แม่หลังคลอดห้ามมีเซ็กซ์

การมีเซ็กซ์หลังคลอดในช่วงที่ฝีเย็บยังไม่แห้งสนิทและน้ำคาวปลายังไหลอยู่ นอกจากจะไม่น่าอภิรมย์แล้ว ขณะร่วมเพศอาจจะเจ็บ แผลฉีกขาด เกิดการติดเชื้อได้ด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพคุณแม่อย่างแน่นอน

คำแนะนำ : ให้คุณพ่ออดใจรอหลังคลอดอย่างน้อย 6 สัปดาห์ เรียกว่าเป็นการรอให้ร่างกายกลับเข้าสู่สภาพปกติ แล้วยังถือเป็นการคุมกำเนิดอย่างธรรมชาติที่สุด เพราะคุณแม่บางคนหลังคลอด 4-5 สัปดาห์ก็เริ่มมีไข่ตกแล้ว หากตั้งครรภ์ช่วงนี้จะไม่ดีต่อสุขภาพแม่ค่ะ เพราะจะทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อน

6. แม่หลังคลอดห้ามดื่มแอลกอฮอล์

เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะนอกจากแอลกอฮอล์จะส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงแล้ว หากอยู่ในช่วงให้นมลูกอยู่แอลกอฮอล์ยังปนออกมากับน้ำนมแม่ นอกจากนั้นการดื่มแอลกอฮอล์ 1 แก้วจะทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงถึง 23 % และการดื่มมากกว่า 2 แก้ว อาจจะยับยั้งปฏิกิริยาน้ำนมพุ่งด้วย นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยพบว่าการดื่มเป็นประจำทุกวันจะมีผลทำให้ลูกน้ำหนักขึ้นช้าและกล้ามเนื้อมัดใหญ่พัฒนาช้าลงด้วยนะคะ (ข้อมูลจาก www.thaibreastfeeding.com)

คำแนะนำ : ดื่มน้ำสะอาด นมและน้ำผลไม้ จะช่วยสร้างความสดชื่นและมีประโยชน์กับสุขภาพมากกว่าเครื่องดื่มที่ทำให้มึนเมาทุกชนิดค่ะ

7. แม่หลังคลอดห้ามใช้ยาบางประเภท

งดใช้ยากลุ่มรักษาสิว ยาปฏิชีวนะ ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ยากระตุ้นฮอร์โมน หรือยารักษาโรคประจำตัว ฯลฯ รวมไปถึงยาที่อยู่ในกลุ่มสารเสพติด เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ชนิดต่างๆ เพราะจะถ่ายทอดไปถึงลูกผ่านทางน้ำนมค่ะ

คำแนะนำ : หากคุณแม่จำเป็นต้องกินยาควรปรึกษาคุณหมอก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดกับลูกและตัวคุณแม่เองค่ะ

7 อาการที่มักเกิดกับแม่หลังคลอด พร้อมวิธีแก้ไขรับมือสำหรับคุณแม่มือใหม่

แม่หลังคลอด, อาการหลังคลอด,  ซึมเศร้าหลังคลอด, ปวดท้องหลังคลอด, ท้องผูกหลังคลอด, เลือดออกหลังคลอด, ตัวบวมหลังคลอด, น้ำหนักตัวหลังคลอด, ปวดท้องน้อย หลังคลอด, อ่อนเพลีย หลังคลอด, ความผิดปกติหลังคลอด, วิธีดูแล หลังคลอด

แม่หลังคลอดอาจเจอปัญหา เช่น ท้องผูก อ่อนเพลีย ตัวบวม อาการหลังคลอดมีอะไรอีกบ้างและแต่ละปัญหาต้องแก้ไขอย่างไร เรามีคำแนะนำค่ะ

7 อาการที่มักเกิดกับแม่หลังคลอด พร้อมวิธีแก้ไขรับมือสำหรับคุณแม่มือใหม่

 1. แม่หลังคลอดปวดมดลูก และ อึดอัดจุดซ่อนเร้น

หลังคลอดมดลูกยังมีขนาดใหญ่อยู่ค่ะ โดยยอดมดลูกจะอยู่ระดับสะดือ เวลาเดินจึงรู้สึกเหมือนมีอะไรโยกเยกในท้อง เจ็บบริเวณเหนือขาหนีบ เพราะเป็นบริเวณที่มดลูกยืดเกาะกับกระดูกเชิงกราน ทำให้ตอนเดินรู้สึกเจ็บลุกเดินไม่สะดว นอกจากนี้มดลูกจะหดรัดตัวเพื่อขับน้ำคาวปลาออกมา ในช่วง 3-4 วันแรก น้ำคาวปลาจะมีสีแดงสด ผ่านไป 1-2 สัปดาห์ เป็นสีแดงจาง ๆ หลังจาก 1 เดือนไปแล้วจะมีสีใส ๆ โดยน้ำคาวปลาจะถูกขับออกมาพร้อม ๆ กับที่มดลูกมีขนาดเล็กลง ทำให้ช่วงเดือนแรกหลังคลอด คุณแม่จะรู้สึกไม่สบายตัว เฉอะแฉะ อึดอัด ปวดท้องน้อย และกังวลอยู่ตลอดเวลาได้

วิธีลดอาการปวดมดลูกสำหลับแม่หลังคลอด

  1. ให้ลูกกินนมแม่ จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่ไว เมื่อลูกดูดนมร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก ช่วยขับน้ำคาวปลาออกมา แม้ปวดท้องน้อยแต่ให้นึกไว้เสมอว่านี่คือการช่วยคุณแม่กลับมาเป็นคนเดิม น้ำหนักลดไว มีรูปร่างเหมือนเดิม
  2. เอนหลังผ่อนคลาย นอนพักในท่าตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกได้ดีขึ้น
  3. ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการปวดท้องน้อยได้
  4. เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เนื่องจากน้ำคาวปลาที่ออกมาอาจทำให้บริเวณจุดซ่อนเร้นอับ และคันได้

2. แม่หลังคลอดอ่อนเพลีย เพราะนอนน้อย

เพราะต้องตื่นมาดูแลลูกกลางดึก เวลาลูกร้องไห้ก็ต้องให้นม และคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมด้วย ทำให้นอนน้อย ระแวงว่าลูกจะร้องตอนไหน ขณะช่วงกลางวันก็ต้องทำงานบ้าน เตรียมอาหาร จึงอ่อนเพลียและเครียดได้ง่าย

วิธีช่วยแม่หลังคลอดนอนพักได้นานขึ้น

  1. หลับไปพร้อมกับลูกในช่วงสั้นๆ โดยหาจังหวะหลับเป็นระยะๆ เพื่อลดอาการง่วงและเพลีย
  2. ช่วงกลางคืนให้สลับเวรกับคุณพ่อในการช่วยอุ้มและกล่อมลูกนอนหากตื่นตอนดึก ยกเว้นในแรกที่แม่ยังจำเป็นต้องตื่นมาอุ้มและให้นมลูกจากเต้าเอง แต่เมื่อเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว อาจให้คุณพ่อช่วยและให้ดื่มนมแม่จากขวดบ้าง เพื่อสลับให้คุณแม่ได้นอนยาวๆ พักร่างกาย

 3. แม่หลังคลอดท้องผูก

ช่วงหลังคลอดจะยังมีฮอร์โมนช่วงตั้งครรภ์ที่ส่งผลต่อร่างกายอยู่อีก 2 เดือน ทำให้ลำไส้ขี้เกียจทำงาน ทั้งอยู่ในช่วงให้นมลูก ร่างกายเสียน้ำเพื่อไปสร้างน้ำนม ยิ่งคุณแม่ดื่มน้ำน้อยจะทำให้ท้องผูกมากขึ้น

วิธีช่วยลดอาการท้องผูกสำหรับหลังคลอด

  1. ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ วันละ 2-3 ลิตร
  2. กินผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง เช่น มะละกอ กล้วย ส้ม ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี
  3. เมื่อรู้สึกปวดอุจจาระ ไม่ควรอั้น ควรรีบเข้าห้องน้ำทันที

4. แม่หลังคลอดมีรูปร่างเปลี่ยนไป

ทั้งน้ำหนักตัวที่ยังเยอะอยู่ เต้านมก็หย่อนคล้อย ทำให้คุณแม่ขาดความมั่นใจในตัวเองได้ แต่ตามปกติหลังคลอดช่วงสัปดาห์แรก น้ำหนักจะลดลง 7 กิโลกรัมค่ะ และภายในหนึ่งเดือนก็จะลดลงอีกประมาณ 3 กิโลกรัม

วิธีช่วยแม่หลังคลอดกระชับรูปร่าง

  1. ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ จำกัดอาหารกลุ่มแป้งของทอดหรือแกงกะทิ
  2. ดื่มน้ำเยอะ ๆ ออกกำลังกายเบา ๆ ช่วยสลายไขมันและเสริมสร้างกล้ามเนื้อเป็นส่วน ๆ เช่น หน้าท้อง ต้นขา ช่วงอก
  3. ใส่ชุดชั้นในที่ช่วยประคองเต้านม ได้ทั้งน้ำหนักลดและรูปร่างฟิต 
  4. ให้นมลูกจากเต้าช่วยทำให้กร่างกายแม่ได้ใช้พลังงานสูง ช่วยลดน้ำหนัก กระชับรูปร่างได้ดี

แม่หลังคลอด, อาการหลังคลอด,  ซึมเศร้าหลังคลอด, ปวดท้องหลังคลอด, ท้องผูกหลังคลอด, เลือดออกหลังคลอด, ตัวบวมหลังคลอด, น้ำหนักตัวหลังคลอด, ปวดท้องน้อย หลังคลอด, อ่อนเพลีย หลังคลอด, ความผิดปกติหลังคลอด, วิธีดูแล หลังคลอด

5. แม่หลังคลอดช่องคลอดเปลี่ยนไป

ขณะตั้งครรภ์ อุ้งเชิงกรานและช่องคลอดต้องรับน้ำหนักทั้งมดลูก น้ำคร่ำ รก และลูกรวมกันกว่า 6-7 กิโลกรัม จึงมีโอกาสหย่อนคล้อยจนคุณแม่บางคนรู้สึกว่ามีลมออกทางช่องคลอดได้

วิธีช่วยแม่หลังคลอดกระชับช่องคลอด

  1. เลี่ยงการยกของหนักและการออกกำลังกายที่หักโหม
  2. กระชับช่องคลอดด้วยการขมิบช่องคลอดวันละประมาณ 50 ครั้ง ขมิบนานครั้งละ 5-10 วินาทีจะช่วยให้ช่องคลอดกระชับขึ้น

6. แม่หลังคลอดหน้าบวม ตัวบวม

อย่าเพิ่งตกใจว่าทำไมหลังคลอดตัวเองถึงตัวบวมขนาดนั้น จนไม่กล้าพบใคร ไม่กล้าถ่ายรูปกับลูกหรือญาติที่มาเยี่ยม ที่เป็นแบบนี้เพราะมดลูกกำลังลดขนาดลง มีการไหลเวียนของหลอดเลือดและหลอดน้ำเหลืองด้วย แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะยุบลงเองภายใน 2 สัปดาห์ค่ะ

วิธีช่วยแม่หลังคลอดลดอาการตัวบวม

  1. ลองปรับท่านั่งและท่านอน เช่น นั่งพักในท่ายกขาสูง
  2. หลีกเลี่ยงการนั่งห้อยขานาน ๆ จะช่วยลดการบวมได้เร็วขึ้น
  3. เลี่ยงการกินอาการทอด อาหารเค็ม

7. แม่หลังคลอดซึมเศร้า หดหู่

ความผิดปกติทางอารมณ์ของคุณแม่อาจเกิดขึ้นเองจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือเกิดจากความเครียด และอาจส่งผลต่อการเลี้ยงลูกได้ ยิ่งครรภ์แรกด้วยแล้ว การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องใหม่มาก ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ในครอบครัวให้คำแนะนำจะยิ่งเครียดหนัก จนทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากเลี้ยง และไม่อยากตั้งครรภ์อีกเลยก็ได้

วิธีแม่หลังคลอดลดอาการซึมเศร้าหลังคลอด

  1. กำลังใจสำคัญที่สุดคือคุณพ่อและสมาชิกในครอบครัว คุณพ่อควรอยู่เคียงข้างคุณแม่ คอยช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ เช่น ช่วยทำงานบ้าน ช่วยเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ของลูก เป็นต้น
  2. เป็นที่ปรึกษาเวลาคุณแม่เครียด เรียนรู้การเลี้ยงลูกไปด้วยกัน จะช่วยให้คุณแม่คลายซึมเศร้าไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง และมีกำลังใจเลี้ยงลูกน้อยต่อไปค่ะ

7 อาการผิดปกติหลังคลอดที่คุณแม่เป็นเมื่อไหร่ ต้องรีบไปพบหมอทันที

อาการผิดปกติหลังคลอด, เลือดออกหลังคลอด, น้ำคาวปลาหลังคลอด, แผลผ่าคลอดอักเสบ, เป็นไข้หลังคลอด, ปวดท้องน้อยหลังคลอด, ตกเลือด หลังคลอด, เจ็บเต้านมหลังคลอด, แผลคลอด, ฝีเย็บหลังคลอด, การดูแลแม่หลังคลอด, สุขภาพแม่หลังคลอด

ช็กตัวเองหน่อยค่ะคุณแม่ หากหลังคลอดแล้วมี 7 อาการผิดปกติแบบนี้ต้องรีบไปหาหมอโดยด่วน เพราะอาการบางอย่างส่งผลต่อสุขภาพแม่หลังคลอดระยะยาว

7 อาการผิดปกติหลังคลอดที่คุณแม่เป็นเมื่อไหร่ ต้องรีบไปพบหมอทันที

คุณแม่หลังคลอดอย่าชะล่าใจในอาการผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจตัวเองนะคะ เพราะถึงแม้ว่าคุณหมอจะมีการนัดตรวจสุขภาพคุณแม่หลังคลอดอยู่แล้ว แต่ในระหว่างนี้หากมี 7 อาการผิดปกติหลังคลอดแบบนี้เกิดขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนเลยค่ะ 

  1. แม่หลังคลอด​ปวดท้องรุนแรง
    มีอาการปวดท้องมาก ปวดท้องจนตัวบิด และไม่ได้เป็นผลมาจากอาหารการกินแต่อย่างใด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติโดยด่วน เพราะอาการปวดท้องอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ
  1. แม่หลังคลอดมีเลือดออกจากช่องคลอด
    เมื่อมีเลือดออกมาจากช่องคลอดจนชุ่มผ้าอนามัย 1 แผ่น ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง และเลือดที่ออกมานั้นมีลักษณะเป็นก้อนๆ โดยมั่นใจว่าไม่ใช่ประจำเดือน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติค่ะ
  1. แม่หลังคลอดแสบขัดหรือเจ็บเวลาขับถ่าย
    เวลาถ่ายปัสสาวะมักมีอาการแสบขัด หรือมีอาการเจ็บร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติค่ะ
  1. แม่หลังคลอดเต้านมผิดปกติ
    มีอาการปวดเต้านม เต้านมบวมแดง มีก้อนแข็งๆ ที่เต้านม ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของอาการเต้านมอักเสบ หรืออาจเป็นก้อนมะเร็งร้ายก็ได้ค่ะ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติค่ะ
  1. แม่หลังคลอดแผลฝีเย็บอักเสบ
    เมื่อแผลฝีเย็บมีหนอง หรือมีเลือดไหลออกมา และเกิดการบวมแดงจนมากขึ้นเรื่อยๆ จนปวดถ่วงไปถึงทวารหนัก แบบนี้ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ
  1. แม่หลังคลอดปวดหัวและมีไข้สูง
    คุณแม่มีอาการปวดศีรษะมาก หนาวสั่น และมีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส แม้จะกินยาลดไข้แล้วก็ยังไม่ดีขึ้น นั่นคืออาการของการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนบางอย่างนะคะ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติค่ะ
  1. แม่หลังคลอดน้ำคาวปลามีสีแดงผิดปกติ
    หลังจากคลอดมาได้ 15 วัน หากน้ำคาวปลาก็มีสีแดงตลอด อาจจะเกิดจากการที่มีเศษรกเหลือค้างอยู่ หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะมีการอักเสบติดเชื้อของโพรงมดลูกค่ะ ควรที่จะไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากน้ำคาวปลาที่ออกมาในช่วงหลังคลอด 3 – 4 วันจะเป็นเลือดสดๆ แต่ผ่านไปประมาณ 10-14 วันจะเป็นน้ำปนเลือด สีจะออกน้ำตาลดำ จากนั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นน้ำสีขาวออกเหลืองจนกระทั่งหมดไปภายในระยะเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ค่ะ

ประกันสังคมเหมาจ่ายค่าคลอดให้แม่ท้อง 15,000 บาท และค่าฝากครรภ์ 1,500 บาท

สิทธิ์ประกันสังคมแม่ตั้งครรภ์, ประกันสังคมคนท้อง, ค่าฝากครรภ์, ค่าฝากครรภ์เท่าไหร่, ค่าฝากครรภ์ 1,500, ประกันสังคม ค่าคลอดลูก, ค่าคลอดลูก 15,000, เบิกค่าคลอด ประกันสังคม ได้กี่ครั้ง, เบิกค่าคลอด ประกันสังคม ที่ไหน ยังไง, แบ่งจ่าย ค่าฝากครรภ์
 

 

แม่ท้องที่มีประกันสังคมสามารถเบิกค่าคลอด ค่าฝากครรภ์ได้เท่าไหร่ ได้ทุกครั้งที่ตั้งครรภ์ไหม ได้ครั้งเดียวทั้งก้อนหรือแบ่งจ่าย มาเช็กกันตรงนี้ค่ะ

ประกันสังคมเหมาจ่ายค่าคลอดให้แม่ท้อง 15,000 บาท และค่าฝากครรภ์ 1,500 บาท

แต่เดิมสำนักงานประกันสังคมมีการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีฝากครรภ์และคลอดบุตร ให้แก่ผู้ประกันตนในการฝากครรภ์ 3 ครั้ง 1,000 บาท คลอดลูก 13,000 บาท ล่าสุดได้มีการปรับเพิ่มค่าฝากครรภ์และค่าบุตรให้คุณแม่ได้ชื่นใจแล้วค่ะ โดยสิทธิประโยชน์ที่แม่ท้องจะได้รับเพิ่มเติมคือ ค่าตรวจ-ฝากครรภ์ในอัตราเหมาจ่าย 5 ครั้ง 1500 บาท ดังนี้ค่ะ

ประกันสังคมค่าตรวจและฝากครรภ์

ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท

ครั้งที่ 2 อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท

ครั้งที่ 3 อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท

ครั้งที่ 4 อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท

ครั้งที่ 5 อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท

ประกันสังคมค่าคลอดบุตร

สำหรับแนวทางการขอรับประโยชน์ทดแทนคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้หลักฐานการเข้ารับบริการฝากครรภ์จากสถานพยาบาลที่ไปใช้บริการ ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในส่วนค่าตรวจ และรับฝากครรภ์เพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องรอให้มีการคลอดบุตรค่ะ นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมยังได้ปรับเพิ่มค่าคลอดบุตร จาก 13,000 บาท เป็น 15,000 บาท

โดยผู้ประกันตนไปคลอดบุตร ที่โรงพยาบาลใดก็ได้ สามารถเบิกค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายจากสำนักงานประกันสังคมในอัตราใหม่จำนวน 15,000 บาท ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

 

************************************************

เช็กทุกสิทธิ์ประกันสังคมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ แม่ที่มีลูกเล็ก เงินสงเคราะห์บุตร ได้ที่นี่
  1. ประกันสังคมเหมาจ่ายค่าคลอดให้แม่ท้อง 15,000 บาท และค่าฝากครรภ์ 1,500 บาท
  2. คลอดลูกเบิกประกันสังคมได้ 15,000 บาท คุณแม่รู้และเคลมสิทธิ์นี้กันแล้วหรือยัง 
  3. มีค่าผ้าอ้อมมาบอก! ลาคลอด 3 เดือน แม่รับเงินประกันสังคม 50% ของเงินเดือน 
  4. รู้ให้ครบจบทีเดียว ทำยังไงถึงจะได้เงินสงเคราะห์บุตร 800 บาท 
  5. พ่อแม่ไม่จดทะเบียนสมรส ยังได้ค่าคลอด เงินชดเชยหยุดงาน และเงินสงเคราะห์บุตรไหม 
  6. แม่ฟรีแลนซ์สมัครใจจ่ายประกันสังคม คลอดลูกก็ได้ค่าคลอดและเงินชดเชยหยุดงาน 
  7. คลอดลูกคนละร.พ.กับประกันสังคม ยังเบิกค่าคลอดจากประกันสังคมได้ไหม 
  8. ท้องแล้วแท้ง มีสิทธิ์เบิกเงินชดเชยจากประกันสังคมได้นะ 

ปัสสาวะเล็ดหลังคลอด กลั้นฉี่ไม่อยู่ ปัญหาของแม่ลูกอ่อนหลังคลอดที่แก้ไขได้

ปัสสาวะเล็ดหลังคลอด, กลั้นปัสสาวะไม่ได้หลังคลอด, ฉี่เล็ดหลังคลอด, กลั้นฉี่ไม่ได้ หลังคลอด, อาการ ปัสสาวะเล็ด, อาการฉี่เล็ด, วิธีแก้ ปัสสาวะเล็ดหลังคลอด, อาการหลังคลอด, ความผิดปกติหลังคลอด, การดูแลหลังคลอด, แม่หลังหลอด, ปัญหาสุขภาพหลังคลอด
 
แม่หลังคลอดหลายคนมีอาการปัสสาวะเล็ด กั้นปัสสาวะไม่ได้ เกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนยาน ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ปัสสาวะเล็ดหลังคลอด กลั้นฉี่ไม่อยู่ ปัญหาของแม่ลูกอ่อนหลังคลอดที่แก้ไขได้

คุณแม่หลังคลอดคนไหนกำลังเจอปัญหาปัสสาวะเล็ดหลังคลอดบ้างค่ะ แค่ไอจามปัสสาวะก็เล็ด บางคนอาจจะถึงขั้นแค่เดิน นั่งลงก็ปัสสาวะเล็ดแบบควบคุมไม่ได้ ปัญหาปัสสาวะเล็ดหลังคลอดเกิดจากอะไร  รักษาได้หรือไม่ มาดูกันค่ะ 

ปัสสาวะเล็ดหลังคลอดเกิดจากอะไร

ปัสสาวะเล็ดหลังคลอดส่วนใหญ่เกิดจาก กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานจะหย่อนสภาพตามอายุ  หรือ หากผ่านการคลอดบุตรมาหลายคนก็อาจเกิดการฉีกขาด และการซ่อมแซมกลับเข้าที่อาจทำได้ไม่ดีพอ การยืดขยายของกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานจะส่งผลต่อผนังบุช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะทำให้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ บางครั้งเวลาไอหรือจามก็มักจะมีปัสสาวะเล็ดออกมา เนื่องจากอุ้งเชิงกรานไม่มีความแข็งแรงที่จะเกร็งตัวเพื่อกลั้นปัสสาวะเอาไว้ได้

การรักษาอาการปัสสาวะเล็ดหลังคลอด

  1. การรักษาทางเดินปัสสาวะอักเสบนั้นทำได้โดยการกินยาปฏิชีวนะ
  2. ดื่มน้ำเยอะ ๆ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
  3. การขมิบช่องคลอดบ่อยๆ ช่วยได้กล้ามเนื้อกระชับ แข็งแรงขึ้น โดยทำเหมือนการกลั้นปัสสาวะแล้วค้างไว้ นับหนึ่งถึงสิบแล้วก็ปล่อย ทำติดต่อกันห้าครั้ง ถือเป็นหนึ่งชุด ทำให้ได้สักสิบชุด วันละสองถึงสามเวลา
  4. หากมีการหย่อนมากๆ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการคลอดลูกหลายคน หมอจะรักษาโดยการผ่าตัดส่วนที่หย่อนคล้อยออก แล้วเย็บเพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นมีความแข็งแรงมากขึ้น หรือเรียกว่าการทำรีแพร์นั่นเอง 

คุณแม่หลังคลอด ไม่ว่าจะมีอาการปัสสาวะเล็ดหรือไม่ ก็ควรออกกำลังกายให้ร่างกายกลับมากระชับนะคะ เพราะการออกกำลังกายหลังคลอดจะทำให้คุณแม่รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขช่วยลดความเครียดหลังคลอด ช่วยกระตุ้นให้คุณแม่มีน้ำนมเลี้ยวลูกได้ยาวๆ แถมยังได้รูปร่างสมส่วนกลับมาเหมือนเดิมได้ไวด้วยค่ะ 

พ่อแม่ไม่จดทะเบียนสมรส ยังได้ค่าคลอด เงินชดเชยหยุดงาน และเงินสงเคราะห์บุตรไหม

พ่อแม่ไม่จดทะเบียนสมรส, ไม่จดทะเบียนสมรส ได้เงินสงเคราะห์บุตรไหม, ไม่จดทะเบียน ได้เงินค่าคลอดไหม, ค่าทำคลอด, เงินสงเคราะห์บุตร, ประกันสังคมสำหรับแม่ท้อง, เงินช่วยเหลือสำหรับแม่ท้อง, สิทธิ์ประโยชน์สำหรับแม่ตั้งครรภ์
ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่ยังไม่จดทะเบียนสมรส ยังมีสิทธิตามกฏหมายที่จะเบิกค่าคลอดได้ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขต่อไปนี้ค่ะ

พ่อแม่ไม่จดทะเบียนสมรส ยังได้ค่าคลอด เงินชดเชยหยุดงาน และเงินสงเคราะห์บุตรไหม

พ่อแม่ทำงานส่งเงินเข้าประกันสังคมทั้งคู่ แต่อยู่กินกันแบบไม่ได้จดทะเบียนสมรส เมื่อคลอดลูกยังมีสิทธิ์ได้รับค่าเหมาจ่ายคลอดบุตร เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตรอยู่ไหม เพราะตามข้อกำหนดที่ระบุต้องต้องยื่นสำเนาทะเบียนสมรสเพื่อขอรับเงินนี้ด้วย

คำถาม: สามีภรรยาอยู่กินกันโดยเปิดเผย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันภรรยาสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้หรือไม่ กรณีที่สามีเป็นผู้ประกันตนและมีภรรยาเพียงคนเดียว

คำตอบ: สามารถเบิกเงินดังกล่าวได้ โดยในการยื่นคำขอให้ใช้หนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสแทนทะเบียนสมรส

-------------------------------------------------------------------------------------------

ขอบขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม และหากคุณพ่อคุณแม่อยากรู้ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถเข้าไปสอบถามได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือ  SSO สายด่วน 1506 หรือสามารถคลิกรูปภาพด้านล่างเพื่อดูสิทธิที่คุณพ่อคุณแม่ต้องได้รับจากประกันสังคมในกรณีอื่นๆ กันค่ะ 

************************************************

เช็กทุกสิทธิ์ประกันสังคมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ แม่ที่มีลูกเล็ก เงินสงเคราะห์บุตร ได้ที่นี่

  1. ประกันสังคมสำหรับแม่ท้อง รับค่าตรวจและฝากครรภ์ 1,000 บาท 
  2. คลอดลูกเบิกประกันสังคมได้ 13,000 บาท คุณแม่รู้และเคลมสิทธิ์นี้กันแล้วหรือยัง 
  3. มีค่าผ้าอ้อมมาบอก! ลาคลอด 3 เดือน แม่รับเงินประกันสังคม 50% ของเงินเดือน 
  4. รู้ให้ครบจบทีเดียว ทำยังไงถึงจะได้เงินสงเคราะห์บุตร 600 บาท 
  5. พ่อแม่ไม่จดทะเบียนสมรส ยังได้ค่าคลอด เงินชดเชยหยุดงาน และเงินสงเคราะห์บุตรไหม 
  6. แม่ฟรีแลนซ์สมัครใจจ่ายประกันสังคม คลอดลูกก็ได้ค่าคลอดและเงินชดเชยหยุดงาน 
  7. คลอดลูกคนละร.พ.กับประกันสังคม ยังเบิกค่าคลอดจากประกันสังคมได้ไหม 
  8. ท้องแล้วแท้ง มีสิทธิ์เบิกเงินชดเชยจากประกันสังคมได้นะ 

มีค่าผ้าอ้อมมาบอก! ลาคลอด 3 เดือน แม่รับเงินประกันสังคม 50% ของเงินเดือน

ค่าคลอด, เงินชดเชยลาคลอด, ลาคลอด เงินเดือน, ลาคลอด เงินประกันสังคม, ประกันสังคมสำหรับแม่ท้อง, สิทธิ์ประโยชน์สำหรับแม่ตั้งครรภ์, เงินประกันสังคม, ชดเชยการคลอด

แม่ลาคลอด 3 เดือน มีสิทธิ์ได้เงิน 50% ของเงินเดือนจากประกันสังคมด้วยนะ ต้องทำยังไงให้ได้เงินช่วงลาคลอด เรามีคำแนะนำค่ะ

แม่ท้องลาคลอด 3 เดือน รับเงินประกันสังคม 50% ของเงินเดือน

นอกจากสิทธิ์ในการเบิกค่าคลอดลูกจากประกันสังคม 15,000 บาท แล้ว คุณแม่ลาคลอด 98 วันก็ยังมีสิทธิ์รับเงินจากประกันสังคมได้อีก 50% จากฐานเงินเดือนโดยเฉลี่ยในช่วงลาคลอดด้วยนะคะ เรามาดูกันว่าการจะรับสิทธิ์รับเงินช่วงลาคลอดจากประกันสังคมมีหลักเกณฑ์อะไร ต้องใช้เอกสารอะไร ยื่นที่ไหน และคำนวณอย่าางไร ไปดูกันเลย

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร

  1. จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร
  2. สำหรับผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน สำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

วิธีคำนวณเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดลูก

  1. คำนวณจากค่าจ่ายเฉลี่ย คือ ผู้ที่มีฐานเงินเดือนตั้งแต่ 1,650 บาท - 15,000 บาท
  2. นำเงินเดือนที่อยู่ในฐานข้อ 1 หาร 2 (50% ของเงินเดือน) จากนั้นคูณ 3 (3 เดือน หรือ 90 วัน)

ตัวอย่าง: เงินเดือน 15,000/2 = 7,500 x 3 = 22,500 บาท

เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน กรณีคลอดบุตร

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 ผู้ประกันตนกรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
  2. สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
  3. สำหรับผู้ประกันตนชายให้แนบสำเนาทะเบียนสมรส กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส
  4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอมี 11 ธนาคาร ดังนี้

           1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
           2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
           3) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
           4) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
           5) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
           6) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
           7) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
           8) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย   
           9) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
         10) ธนาคารออมสิน 
         11) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สถานที่ยื่นเรื่องการเบิกค่าคลอดลูกจากประกันสังคม

  • ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

สำหรับเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ขอรับประโยชน์ทดแทน หรือ การสั่งจ่ายกรณีพิเศษ คุณแม่สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือ SSO สายด่วน:1506 ค่ะ

************************************************

เช็กทุกสิทธิ์ประกันสังคมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ แม่ที่มีลูกเล็ก เงินสงเคราะห์บุตร ได้ที่นี่

  1. ประกันสังคมสำหรับแม่ท้อง รับค่าตรวจและฝากครรภ์ 1,000 บาท 
  2. คลอดลูกเบิกประกันสังคมได้ 13,000 บาท คุณแม่รู้และเคลมสิทธิ์นี้กันแล้วหรือยัง 
  3. มีค่าผ้าอ้อมมาบอก! ลาคลอด 3 เดือน แม่รับเงินประกันสังคม 50% ของเงินเดือน 
  4. รู้ให้ครบจบทีเดียว ทำยังไงถึงจะได้เงินสงเคราะห์บุตร 600 บาท 
  5. พ่อแม่ไม่จดทะเบียนสมรส ยังได้ค่าคลอด เงินชดเชยหยุดงาน และเงินสงเคราะห์บุตรไหม 
  6. แม่ฟรีแลนซ์สมัครใจจ่ายประกันสังคม คลอดลูกก็ได้ค่าคลอดและเงินชดเชยหยุดงาน 
  7. คลอดลูกคนละร.พ.กับประกันสังคม ยังเบิกค่าคลอดจากประกันสังคมได้ไหม 
  8. ท้องแล้วแท้ง มีสิทธิ์เบิกเงินชดเชยจากประกันสังคมได้นะ 

รวมสิทธิประโยชน์ที่คนมีลูก แม่ท้องต้องเบิกจ่ายได้จากประกันสังคม

ประกันสังคมคนท้อง, ประกันสังคมค่าคลอด, ประกันสังคมค่าตรวจครรภ์, เงินสงเคราะห์บุตร, สิทธิ์ลาคลอด, เบิกค่าคลอด, ชดเชยค่าแท้งลูก, ลาคลอด 98 วัน, ค่าคลอด 15,000 บาท, เงินสงเคราะห์บุตร 800 บาท, ค่าฝากครรภ์, ค่าตวรจครรภ์

แม่ท้อง แม่ที่มีลูกจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรจากประกันสังคมบ้าง ค่าคลอด ค่าตรวจครรภ์ เงินสงเคราะห์บุตร เบิกอย่างไร ได้เมื่อไหร่ เรามีคำตอบค่ะ

5 สิทธิประโยชน์ที่คนมีลูก แม่ท้องต้องเบิกจ่ายได้จากประกันสังคม

1. ประกันสังคมจ่ายสิทธิประโยชน์ค่าตรวจ-ฝากครรภ์ 1,500 บาท
รายละเอียดเพิ่มเติม: ประกันสังคม จ่ายค่าตรวจ ฝากครรภ์ 1,500 บาท

 

2. ได้เงินสงเคราะห์บุตร 800 ต่อเดือน จากประกันสังคมตั้งแต่ลูกแรกเกิดไปจบครบ 6 ปี  รวมทั้งหมด 43,200 บาท
รายละเอียดเพิ่มเติม: รู้ให้ครบจบทีเดียว ทำยังไงถึงจะได้เงินสงเคราะห์บุตร 800 บาท

3. สิทธิลาเพื่อคลอดบุตร 98 วัน จากเดิมมีสิทธิลา 90 วัน และยังได้รับค่าจ้างระหว่างลา 45 วันจากนายจ้าง (ตัวอย่าง : แม่เงินเดือน 15,000 + 7,500 = 22,500 บาท)
รายละเอียดเพิ่มเติม: แม่ท้องเฮ ประกันสังคมให้สิทธิ์ลาคลอด 98 วัน

4. คุณแม่ลาคลอด 90 วัน มีสิทธิ์รับเงินจากประกันสังคมได้อีก 50% จากฐานเงินเดือนโดยเฉลี่ย เป็นเวลา 90 วัน (ตัวอย่าง : แม่เงินเดือน 15,000/2 = 7,500 x 3 = 22,500 บาท)
รายละเอียดเพิ่มเติม: ลาคลอด 3 เดือน แม่รับเงินประกันสังคม 50% ของเงินเดือน

5. คุณแม่สามารถเบิกค่าคลอดลูกจากประกันสังคมได้ 15,000 บาท
(ส่วนกรณีแท้งบุตร มีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรได้ เนื่องจากการตั้งครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์)
รายละเอียดเพิ่มเติม: คลอดลูกเบิกประกันสังคมได้ 15,000 บาท

หากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมที่จะได้รับ สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคมประจำจังหวัด หรือ สายด่วน 1506 นะคะ

 

  • 1
  • 2