เมื่อคนที่เจอเหตุการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องที่คาดไม่ถึงและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต จะทำให้เกิดความกลัว กังวล รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิต ซึ่งแต่ละคนมีการตอบสนองต่อการเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงที่แตกต่างกัน จนทำให้มีความรู้สึกกังวล เศร้า โกรธ นอนไม่หลับ เสียสมาธิ คิดวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนส่วนใหญ่จะมีอาการค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเหตุการณ์ผ่านไประยะหนึ่ง แต่บางคนยังคงมีอาการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง อาจเกิดเป็นโรคทางจิตเวชที่เรียกว่า โรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง posttraumatic stress disorder (PTSD) หรือโรคเครียดฉับพลัน Acute stress disorder (ASD)
1. เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีความเครียด มีอารมณ์ร่วมกับข่าวมากไป ให้ดึงตัวเองออกจากการรับรู้ข่าวสาร งดการเข้าไปมีส่วนร่วมกับข่าว ทั้งการแชร์ การคอมเมนท์ที่รุนแรงเกรี้ยวกราว เนื่องจากเป็นการส่งต่อความรุนแรง
2. ใช้เวลาอยู่กับคนที่คุณอยู่ด้วยแล้วสบายใจ ไว้ใจ พูดคุย ระบายความรู้สึก อย่าแยกตัวไปอยู่คนเดียว
3. สงบจิตใจตัวเองด้วยการทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิกำหนดลมหายใจ เข้าสังคม พบปะเพื่อนฝูง ออกกำลังกาย
4. ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ดูแลตัวเอง นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ควรใช้สุรายาเสพติด
5. ถ้ามีความรู้สึกอยากร่วมช่วยเหลือในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถมีส่วนร่วมได้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น บริจาคเงิน
6. ถ้ามีคนรู้จักมีความเครียดมากในเรื่องนี้ คุณสามารถช่วยเขาได้โดยการเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างไม่ตัดสินความคิดความรู้สึกของเขา ช่วยเหลือเขาเท่าที่คุณสามารถทำได้
7. สังเกตอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง หากเครียดมากไป ไม่สามารถรับมือได้ ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา
ทั้งนี้ การจัดการความเครียดจากเหตุการณ์รุนแรงเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและอาศัยความอดทน ผู้ที่พบเจอเหตุการณ์ความรุนแรงควรใจเย็นและค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม แต่ถ้าไม่สามารถจัดการความเครียดได้ แนะนำให้มาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
ขอบคุณข้อมูลจาก แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ Bangkok Mental Health Hospital