ดร.วรนาท รักสกุลไทย นักการศึกษาคนสำคัญเคยพูดถึงจุดมุ่งหมายของการเรียนในเด็กปฐมวัย หรืออนุบาลไว้ว่า "เด็กจะต้องเรียนรู้อย่างมีความสุข สุขจากธรรมชาติ สุขจากการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ และสุขจากการทำงาน การดำเนินชีวิต" ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ใฝ่ฝัน ไขว่คว้า อยากให้ลูกของเราอยู่ในบรรยากาศแบบที่ว่านี้
กิจกรรมแบบ Child centered
การจัดกิจกรรมให้เด็กได้พัฒนาโดยยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Child-centered) ในห้องเรียนนั้น จัดได้ทั้งแบบกลุ่มใหญ่ และกลุ่มเล็ก ซึ่งมีสมาชิก 2-3 คน หรืออาจมากถึง 7-8 คนแล้ว และยังสามารถจัดได้แบบกลุ่มเดี่ยวด้วย ซึ่งกิจกรรมเดี่ยวนี้เองสามารถตอบสนองการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของเด็กได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างกิจกรรมเดี่ยวที่จัดในห้องเรียน เช่น
1.กิจกรรมเสรี หรือ กิจกรรมศิลปะ
จัดให้เด็กทำงานศิลปะ เช่น ปั้น วาด พิมพ์ภาพ หยดสี พ่นสี และงานประดิษฐ์ เป็นต้น โดยครูจัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ และให้เด็กได้เลือกทำตามความต้องการของตนอย่างเสรี จะมากแค่ไหน หรือทำอย่างไรก็ได้ ระยะเวลาที่จัดกิจกรรมเสรีจะอยู่ในราว 45 นาที หรือ 1 ชั่วโมง
2.กิจกรรมเล่นตามมุม
นอกจากจะเล่นเป็นกลุ่มเล็กแล้ว เด็กยังสามารถเล่นคนเดียวตามความพึงพอใจของตน โดยคุณครูให้อิสระเด็กเลือก เข้าเล่นในมุมใดก็ได้ เล่นอย่างไรก็ได้ โดยคุณครูจะเข้ามาดูแลเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นกับเด็ก โดยทั่วไปกิจกรรมนี้มักจัดรวมกันกับกิจกรรมศิลปะ ในช่วงของการเล่นกิจกรรมเสรีคือเมื่อเด็กทำกิจกรรมศิลปะ 2-3 ชนิดแล้ว เด็กอาจจะเลือกไปเล่นกับสื่อในมุมต่างๆได้อย่างเสรี มุมการเล่นที่นิยมจัดไว้ในห้องเรียนให้เด็กได้เล่นอย่างเสรี ได้แก่
2.1.มุมบ้าน มุมร้านค้า มุมหมอ ฯลฯ
สื่อที่จัดไว้ในมุมนี้ ได้แก่ เครื่องครัว เครื่องใช้ในบ้าน เช่น กระจก ตุ๊กตา เสื้อผ้า เครื่องแบบอาชีพต่างๆ เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เด็กได้เล่นเลียนแบบ แสดงบทบาทสมมุติ
2.2.มุมหนังสือ
หนังสือนิทานภาพสวยๆ เป็นการจูงใจให้เด็กมาจับต้องเปิดดู เป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน สื่อในมุมนี้มีหมอน เสื่อ หนังสือที่อยู่ในความสนใจของเด็ก จะช่วยให้เด็กเพลิดเพลิน ทั้งที่ยังอ่านหนังสือไม่ได้
2.3.มุมธรรมชาติ หรือมุมวิทยาศาสตร์
มุมนี้เปิดโอกาสให้เด็กได้สังเกต ทดลอง หาความรู้ด้วยตนเอง สื่อและอุปกรณ์ที่จัดไว้ เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ เช่น แว่นขยาย เครื่องชั่ง พืชต่างๆ เปลือกหอย สำลี สื่อลอย-จม หินชนิดต่างๆ จัดไว้เป็นหมวดหมู่
2.4.มุมบล็อก
จัดไม้บล็อกมาตรฐาน หรือบล็อกที่ผลิตขึ้นทดแทนจากกล่องหรือสิ่งอื่นๆซึ่งมีผิวเรียบ ไม่มีเสี้ยน อาจมีเครื่องเล่นตัวต่อพลาสติกต่างๆ ตุ๊กตายางรูปสัตว์ คน พาหนะ จัดวางไว้ เพื่อให้เกิดการเล่นสร้างสรรค์
เมื่อเด็กเข้าไปเล่นในมุม ถ้าหากมีสื่อหรืออุปกรณ์ใหม่ ครูจะต้องแนะนำวิธีใช้สื่อชิ้นนั้นอย่างถูกวิธี และหลังจากนั้นก็ปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ ทั้งนี้ต้องไม่ผิดกฏระเบียบของห้องที่ได้ตกลงและปฏิบัติกันมา เช่น ไม่ขว้างปาหรือแย่งของจากมือเพื่อน หรือนำอุปกรณ์จากมุมนี้ไปเล่นในมุมอื่น เป็นต้น
3.กิจกรรมที่เด็กเลือกขึ้นมาเอง
เมื่อเด็กสำรวจกิจกรรมและพบว่า ตนต้องการที่จะทำหรือเล่นอย่างอื่นแทน คุณครูสามารถอนุญาตให้เด็กคนนั้นหยิบสิ่งที่ตนต้องการขึ้นมาทำอย่างเสรีได้ แต่ทั้งนี้ยังคงอยู่ในบริเวณที่คุณครูมองเห็นได้ เป็นไปตามกฎระเบียบของห้องเรียน และไม่เกิดอันตราย
ระยะเวลาที่จัดกิจกรรมเดี่ยวให้เด็กได้กระทำอย่างเสรีนี้ เด็กยิ่งเล็กยิ่งต้องการมาก เพราะเด็กยังคงยึดตนเองเป็นศูนย์กลางอยู่ พัฒนาการด้านสังคมที่จะเล่นหรือทำงานร่วมกับผู้อื่นยังพัฒนาไปไม่มาก แต่พอโตขึ้นอายุ 5-6 ปี การอยู่ร่วมกัน เล่นร่วมกันกับผู้อื่นจะพัฒนาขึ้น รูปแบบของการเล่นและการทำกิจกรรมจะเปลี่ยนจากเดี่ยวเป็นการเล่นกลุ่มมากขึ้น แต่ยังคงต้องการเวลาและความเป็นอิสระเสรีเพื่อจะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง สร้างองค์ความรู้ขึ้นมาจากการเล่นของตน ซึ่งตรงจุดนี้ สำคัญที่การให้เวลา ถ้าคุณครูให้เวลาเด็กเพียงพอ จะช่วยให้เด็กได้เล่นตามความคิดของตนบรรลุสู่เป้าหมาย หรือมีผลิตผลเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กวัยนี้ หากว่าให้เวลาน้อยเกินไป เช่น 15-20 นาที อาจจะไม่เพียงพอต่อการนำความคิดของตนสื่อออกมาในการเล่นได้
บทบาทของครูในกิจกรรมเสรีแบบ Child-centered
บทบาทของครูในการเป็นผู้จัดเตรียมสื่ออุปกรณ์ให้พร้อม และเร้าต่อความสนใจของเด็ก บางครั้งเป็นผู้ช่วยในกรณีที่เด็กร้องขอ แม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็นในยามที่เด็กร้องขอ แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ครูเห็น ไม่ใช่สิ่งที่ครูคิด อีกทั้งเสนอหนทางในการขยายกิจกรรมต่อไป และที่สำคัญที่สุดคือ ครูต้องให้ความเป็นอิสระเสรีอย่างเต็มที่แก่เด็กภายใต้กฎระเบียบของห้องเรียน ครูต้องไม่ยึดเอาความคิดความต้องการของตนเป็นหลัก หรือเน้นผลิตผล (product)เป็นสำคัญ
คุณครูคอยเปิดโอกาสให้เด็กมีความเป็นอิสระ ได้เล่น ได้ทำกิจกรรมที่เด็กสนใจแล้ว ยังเป็นผู้คอยกระตุ้น ดูแลให้เกิดความเรียบร้อย เป็นไปตามกฎระเบียบของห้อง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายด้วย และเมื่อเด็กต้องการความช่วยเหลือ ข้อคิดเห็น หรือผู้ร่วมเล่นด้วยกัน ครูก็ควรจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวนั้นได้
สิ่งที่เด็กจะได้รับจากการเรียน Child-centered
การเรียนและการจัดกิจกรรมแบบ Child-centered เพื่อให้เด็กได้พัฒนาร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา เด็กจะได้ร่วมกิจกรรมจากการจัดกิจกรรมเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งห้องเรียน กลุ่มเล็กและกิจกรรมเดี่ยว ซึ่งกิจกรรมทั้ง 3 แบบนี้จะต้องมีความสมดุล เหมาะสมกับวัยและความสนใจของเด็ก เช่น ออกกำลังกาย ร้องเพลง เล่นเกม ทำงานศิลปะ เล่นน้ำ เล่นทราย ออกมาสำรวจต้นไม้ใบไม้นอกห้องเรียน ได้ทำกิจกรรมประกอบอาหาร ฟังนิทาน เล่นละคร ได้เล่นเกมการศึกษา ได้ฝึกสังเกต ทดลอง ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
กิจกรรมที่จัดให้นั้น เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กทุกด้านไปพร้อมกัน ไม่ได้เน้นแต่การเรียนเขียนอ่าน และบวกลบเลข แต่เด็กเรียนรู้มากมายผ่านกิจกรรมที่หลากหลายอย่างสนุกสนาน ท้าทายให้เด็กได้คิด ลงมือทำ ได้ฝึกแก้ปัญหาและทำงานร่วมกับเพื่อนๆ เด็กจึงได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำมากกว่าการฟังครูพูด ทำกิจกรรมผ่านสื่อการสอนต่างๆ